หลายปีที่ผ่านมานักวิจัยมหาวิทยาลัยโคลัมเบียทดสอบการใช้หลอดไฟรังสีอัลตราไวโอเลตเพื่อฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย ไวรัส ซึ่งใช้แพร่หลายในโรงพยาบาลและอุตสาหกรรมอาหาร ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ทีมวิจัยเริ่มศึกษาประสิทธิภาพของรังสี UVC ชนิดคลื่นไกล (far-UVC) เพื่อทำลายแบคทีเรียดื้อยา จากนั้นก็ใช้กับไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ 

ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เทคโนโลยีนี้ก็ได้รับความสนใจมากขึ้น  ตอนนี้นักวิจัยก็เริ่มหันมาศึกษาการใช้ UVC ทำลายไวรัสของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่แล้ว ปกติแล้ว รังสีอัลตราไวโอเลต-ซี (UVC) ซึ่งทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังและส่งผลต่อดวงตาได้จะใช้ในเวลาที่ไม่มีคนอยู่เท่านั้น ปัจจุบันนักวิจัยจากศูนย์วิจัยด้านรังสีวิทยากำลังทดลองรังสี UVC ชนิดคลื่นไกล (far-UVC) ซึ่งมีความยาวคลื่น 222 นาโนเมตร ซึ่งปลอดภัยกับมนุษย์มากกว่า และยังคงใช้ทำลายไวรัสได้ด้วย เดวิด เบรนเนอร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยกล่าวว่า รังสีที่มีความถี่ระดับนี้ไม่สามารถแพร่กระจายทะลุผิวหนังหรือดวงตาได้ ดังนั้นจึงสามารถใช้ในพื้นที่ปิดและมีคนอยู่หนาแน่น ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดสูงได้

หลังจากทดลองเมื่อ 4 สัปดาห์ก่อน ผลออกมาว่ารังสี UVC นี้ทำลายโคโรนาไวรัสที่อยู่บนพื้นผิวได้ภายในเวลาไม่กี่นาที จากนี้นักวิจัยจะทดสอบว่าหลอดไฟสามารถยับยั้งเชื้อที่อยู่ในอากาศหรือไม่ ตอนที่ผู้ติดเชื้อจามหรือไอ 

นอกจากนี้ก็ได้ทดสอบผลกระทบต่อมนุษย์ไปพร้อมกันด้วย โดยหลังจากฉายรังสีนี้ไปยังหนูทดลอง 8 ชั่วโมงต่อวันเป็นเวลา 5 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งถือว่าเข้มข้นกว่าที่จะใช้กับมนุษย์ 20 เท่า มานานติดต่อกัน 40  สัปดาห์ก็พบว่า ไม่เจอรอยใดๆ บนผิวหนัง หนูยังปกติดี อย่างไรก็ตาม จะมีการทดลองต่อไปอีก 20 สัปดาห์

เบรนเนอร์กล่าวว่า เทคโนโลยีนี้สามารถสร้างจุดเปลี่ยนที่สำคัญในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ ระบบนี้ราคาถูกและปลอดภัยในการทำลายไวรัสในอากาศเพียงไม่กี่นาที ไม่ใช่แค่ใช้งานกับโคโรนาไวรัสนี้เท่านั้น แต่ยังใช้สำหรับไวรัสอื่นๆ ได้ในอนาคต

แม้ตอนนี้ผลการศึกษายังไม่มีการตรวจสอบเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการจนกว่าจะมีการทดสอบในพื้นที่อื่นๆ อีก เช่น สำนักงาน ร้านอาหาร หรือสนามบิน ซึ่งต้องใช้เวลาอีกนาน แต่ความเร่งด่วนจากสถานการณ์ปัจจุบันทำให้โรงงานต่างๆ พากันเร่งผลิตหลอดไฟอัลตราไวโอเลต โดยไม่รอการยืนยัน บริษัทผู้ผลิตหลอดไฟแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ตอนนี้ขายหลอดไฟ 222 นาโนเมตร ที่มีราคาตั้งแต่ 500-800 ดอลลาร์สหรัฐให้กับโรงพยาบาลหลายแห่งในญี่ปุ่นไปแล้ว และจะมียอดขายเพิ่มมากขึ้นในเดือนตุลาคม

ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคมนี้จะมีการติดตั้งหลอดไฟ UVC ภายในตู้รถไฟใต้ดินนิวยอร์ก และรถเมล์ โดยจะเปิดใช้งานช่วงกลางคืนที่ไม่มีคนอยู่ หลังจากที่สัปดาห์ที่แล้ว ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กและนายกเทศมนตรีเมืองนิวยอร์กประกาศว่าจะปิดบริการเดินรถในช่วงเวลาตี 1-ตี 5 เพื่อฆ่าเชื้อ

 

ที่มา:

https://www.japantimes.co.jp/news/2020/05/10/world/science-health-world/uvc-lamps-coronavirus

https://www.theverge.com/2020/5/4/21246491/nyc-mta-ultraviolet-light-uvc-subway-bus-coronavirus

https://news.columbia.edu/ultraviolet-technology-virus-covid-19-UV-light

ภาพ: COREY SIPKIN / AFP

 

Tags: , , ,