ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาใช้งบประมาณไปกับการสู้รบในตะวันออกกลางเป็นจำนวนมหาศาล รายงานจากสถาบันวิจัยด้านกิจการต่างประเทศ (Watson Institute for International and Public Affairs) มหาวิทยาลัยบราวน์ เผยว่าการทำสงครามของสหรัฐอเมริกาในอัฟกานิสถาน อิรัก ซีเรีย และปากีสถานใช้เงินภาษีไปแล้ว 5.9 ล้านล้านเหรียญระหว่างปี 2001 – 2018
ปลายปีก่อน โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าสหรัฐฯ มีชัยชนะเหนือกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรีย และจะถอนทหารออกจากซีเรีย 2,000 นายโดยเร็วที่สุด กระทั่งเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทรัมป์ประกาศว่าจะยังคงมีทหารสหรัฐฯ อยู่ในซีเรียอีก 200 นาย เพื่อเป็นกองกำลังรักษาสันติภาพ ซึ่งเป็นการตัดสินใจหลังจากทรัมป์พูดคุยกับแอร์โดอันทางโทรศัพท์
ตั้งแต่ปี 2014 กลุ่มไอเอสครอบครองพื้นที่ขนาดเท่ากับประเทศอังกฤษ มีประชากรราว 10 ล้านคน ถือเป็นความสำเร็จจากปฏิบัติการของอัลกออิดะห์และกลุ่มนักรบจีฮัดต่างๆ อย่างไรก็ตาม การดำเนินยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ซี่งหนุนหลังกองกำลังชาวเคิร์ด ก็ทำให้กลุ่มไอเอสอ่อนกำลังลง ช่วงแรกของสงคราม สหรัฐฯ ใช้วิธีทิ้งระเบิดไปยังพื้นที่ที่ถูกยึดครอง จากนั้น ประธานาธิบดีบารัค โอบามา และชาติพันธมิตรก็ส่งทหารไปสนับสนุนการโค่นล้มรัฐบาลอัสซาดของซีเรีย ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ผนวกกับความอ่อนแอของผู้นำท้องถิ่นในรัฐอิสลามและการคอร์รัปชั่น ก็ทำให้กลุ่มไอเอสอ่อนกำลังลง จนกระทั่งสูญเสียดินแดนที่ครอบครองจนขนาดเล็กลง
นักรบของไอเอสที่มาจากชาติตะวันตก เช่น อังกฤษและสหรัฐอเมริกา ต่างก็พากันย้ายกลับไปยังประเทศของตัวเอง ตุรกีถูกใช้เป็นทางผ่านจากซีเรียเพื่อเดินทางออกไปยังประเทศที่สาม จนถึงปัจจุบัน หลายฝ่ายกังขากับบทบาทของตุรกีว่า ไม่มีท่าทีแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง แถมยังดูเหมือนเปิดโอกาสให้กลุ่มไอเอสหลบอยู่ในตุรกีด้วย
หนึ่งในความคลางแคลงใจมาจากกระบวนการพิจารณาคดีของกลุ่มไอเอสในตุรกี เมื่อปี 2014 กลุ่มไอเอสก่อเหตุโจมตี 13 ครั้งในเมือง Nigde ของตุรกี จนมีผู้เสียชีวิต 3 คน และบาดเจ็บ 8 คน ผู้ก่อเหตุ 9 คนถูกดำเนิินคดี ในจำนวนนี้มีชาวเยอรมัน สวิส และมาซิโดเนียอยู่ด้วย มีความผิดปกติหลายอย่างระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ตัวอย่างเช่น ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ปรากฏตัวที่ศาล แต่เข้าร่วมการพิจารณาคดีผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์
อาลี ซิล หนึ่งในทนายฝ่ายเหยื่อกล่าวว่า พวกเขาไม่ได้ตอบคำถามของผู้พิพากษาเลย ไม่แม้แต่ตอบว่าชื่ออะไร “มีอยู่ครั้งหนึ่ง หนึ่งในนั้นตะโกนสรรเสริญพระเจ้าว่า “Allahu Akbar””
ส่วนการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์โจมตีครั้งรุนแรงที่สุดในตุรกีเมื่อ 10 ตุลาคม 2015 ที่เมืองอังการา ซึ่งมีผู้ก่อเหตุระเบิดพลีชีพขณะที่มีการเดินขบวนเรียกร้องสันติภาพจนมีผู้เสียชีวิต 102 คน ก็ถูกตั้งคำถามว่า รัฐบาลร่วมมือกับกลุ่มไอเอสหรือไม่ เซวินช์ โฮเจาก์อู ทนายความซึ่งเป็นตัวแทนของญาติผู้เสียชีวิตบอกว่า เธอและเพื่อนร่วมงานเข้าถึงเอกสารต่างๆ ได้อย่างจำกัดมาก การสอบสวนไม่มีการเปิดเผยเครือข่ายของสมาชิกไอเอสที่ก่อตัวขึ้นในตุรกี การไต่สวนดำเนินไปอย่างครึ่งๆ กลางๆ
ขณะเดียวกัน ตอนนั้นเป็นที่รู้กันดีว่ามีกลุ่มไอเอสมาอยู่นเมืองกาเซียนเต็ป (Gaziantep) ที่อยู่ติดชายแดนซีเรีย หากศาลใช้ภาพจากกล้องวงจรปิดก็จะติดตามกลุ่มไอเอสได้ไม่ยาก แต่กลับไม่ยอมทำ นอกจากนี้ ยังมีบันทึกทางโทรศัพท์ที่พิสูจน์ได้ว่า นักรบไอเอสที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เธอสงสัยว่า “สมาชิกกลุ่มไอเอสเดินทางเข้าออกตุรกีได้อย่างไร และเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายมีบทบาทอย่างไร ไม่เห็นมีการสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้แต่อย่างใด”
ส่วนเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกีย้ำมาตลอดว่า ตุรกีต่อสู้กับองค์กรก่อการร้ายหลายกลุ่มในซีเรีย ทั้งกลุ่มไอเอส กลุ่มปกป้องประชาชนชาวเคิร์ดที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา รวมทั้ง YPG ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต่อต้านไอเอส นอกจากนี้ เขายังบอกว่า ตำรวจตุรกีบุกจับสมาชิกไอเอสหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
สำหรับการจัดการกับกลุ่มก่อการร้ายในตะวันออกกลาง หลังจากที่กลุ่มไอเอสอ่อนแอลง เมติน เกอร์แคน นักวิจัยด้านความมั่นคงแห่งศูนย์นโยบายอิสตันบูลซึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว DW ของเยอรมนีเสนอว่า ผู้นำประเทศในภูมิภาคนี้ควรหารือร่วมกัน และอียูและตุรกีควรทำงานประสานความร่วมมือกัน เพื่อจัดการกับอดีตนักรบของไอเอส เพราะแม้พวกเขาจะสูญเสียพิ้นที่ไป แต่สมาชิกของกลุ่มก็ยังกระจายตัวอยู่ในอิรักและซีเรีย
ที่มาภาพ: REUTERS/Carlo Allegri
ที่มา:
- https://www.dw.com/en/leaving-syria-many-islamic-state-members-to-transit-turkey/a-47623491
- https://foreignpolicy.com/2019/02/22/isiss-success-was-also-its-undoing-syria-sdf-islamic-state/
- http://news.trust.org/item/20190221231920-yjamx/
- https://www.cnbc.com/2018/11/14/us-has-spent-5point9-trillion-on-middle-east-asia-wars-since-2001-study.html