ในขณะที่อเมริกาเสริมกำลังในย่านอ่าวเปอร์เซีย พร้อมกับเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน เริ่มมีเสียงไถ่ถามว่า สหรัฐฯ กำลังจะทำสงครามรุกรานอิหร่าน เหมือนที่เคยบุกเข้าไปเปลี่ยนระบอบปกครองในอิรัก หรือเปล่า
นับแต่ สหรัฐฯ ถอนตัวฝ่ายเดียวจากข้อตกลงยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ผ่านมาครบปี ความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับเตหะรานยิ่งเสื่อมถอยลงไปอีก
รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ใช้มาตรการคว่ำบาตรน้ำมัน และล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคว่ำบาตรแร่โลหะ แหล่งรายได้ต่างประเทศอันดับสองรองจากน้ำมัน เพิ่มขึ้นอีกอย่าง เพื่อบีบคั้นให้อิหร่านยอมขึ้นโต๊ะเจรจาจัดทำข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับใหม่
ทว่าเมื่อวันศุกร์ (17 พฤษภาคม) รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน โมฮัมหมัด จาหวัด ซาริฟ พูดชัดเจนว่า อิหร่านจะไม่เจรจากับสหรัฐฯ แถมบอกด้วยว่า กรณีสหรัฐฯ ส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบิน พร้อมเครื่องบินที่สามารถทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ได้ เข้ามาเสริมกำลังในอ่าวเปอร์เซียนั้น เตหะรานกำลังอดกลั้นอย่างถึงที่สุด
ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา สถานการณ์ในย่านอ่าวเปอร์เซียร้อนระอุขึ้นด้วยกรณีการวางกำลังของสหรัฐฯ กรณีสหรัฐฯ กล่าวหาอิหร่านว่า ใกล้ลงมือโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และมิตรประเทศ และกรณีมือมืดโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันและสถานีสูบน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย
สหรัฐฯ เสริมกำลัง
ความตึงเครียดรอบนี้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 5 พ.ค. หลังจากที่ปรึกษาด้านความมั่นคงประจำทำเนียบขาว จอห์น โบลตัน ผู้เคยผลักดันให้รัฐบาลของจอร์จ ดับเบิลยู. บุช บุกเข้าไปโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซนแห่งอิรักเมื่อปี 2003 ประกาศว่า กระทรวงกลาโหมกำลังส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส อับราฮัม ลินคอล์น กับเครื่องบินทิ้งระเบิด บี-52 ไปยังตะวันออกกลาง
ตามด้วยถ้อยแถลงของเพนตากอนเมื่อ 7 พ.ค. ที่ว่า จะมีการติดตั้งขีปนาวุธแพทริออตกับเรือจู่โจมสะเทินน้ำสะเทินบกในย่านอ่าวเปอร์เซีย
วันรุ่งขึ้น อิหร่านประกาศที่จะระงับพันธะบางส่วนในข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำกับชาติมหาอำนาจเมื่อปี 2015 โดยจะผลิตยูเรเนียมเสริมคุณภาพและน้ำมวลหนักเพิ่มขึ้นภายใน 60 วัน หากว่าอังกฤษ จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซีย ซึ่งเป็นภาคีในข้อตกลงฉบับนี้ ยังคงไม่ปฏิบัติตามพันธะที่จะต้องซื้อน้ำมันจากอิหร่านตามสัญญาที่จะผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร
ประธานาธิบดีทรัมป์ตอบโต้คำขู่ของเตหะรานด้วยมาตรการคว่ำบาตรชุดใหม่ นั่นคือ การส่งออกเหล็กกล้าและโลหะอุตสาหกรรม รวมทั้งกิจการเหมืองแร่ของอิหร่าน
ใครก่อวินาศกรรม
เหตุการณ์ที่ยกระดับบรรยากาศตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านก็คือ กรณีเมื่อวันจันทร์ที่แล้ว (13 พ.ค.) ที่ซาอุดิอาระเบียกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ระบุว่า เรือบรรทุกน้ำมัน 3 ลำกับเรือท้องแบนลำหนึ่งซึ่งทอดสมออยู่ที่เมืองท่าฟูไจราห์ของยูเออี ถูกวินาศกรรม
เหตุโจมตีดังกล่าวเป็นฝีมือใคร หรือคนกลุ่มไหน ยังไม่รู้ ในวันต่อมา ผลประโยชน์ของซาอุดิฯ ก็ถูกโจมตีอีก กลุ่มกบฏฮูซีในเยเมน ซึ่งนิยมอิหร่าน ใช้โดรนโจมตีท่อส่งน้ำมันหลักของซาอุดิฯ ซึ่งเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันไปยังท่าขนส่งที่ทะเลแดง ทำให้ต้องปิดใช้งานเป็นเวลา 2 วันเพื่อสำรวจซ่อมแซมความเสียหาย
ถัดมาอีกวัน กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ บอกว่า พวกนักรบชาวอิรักซึ่งเชื่อว่าอยู่ในความควบคุมของอิหร่านกำลังจะลงมือโจมตีเจ้าหน้าที่อเมริกันในอิรัก จึงสั่งอพยพเจ้าหน้าที่ที่ไม่จำเป็นออกจากสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงแบกแดดและสถานกงสุลในเมืองอาร์บิล
นักวิเคราะห์ในวอชิงตันหลายรายมองว่า คำสั่งอพยพนี้อาจมาจากการประเมินข่าวกรองที่ว่า กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่านอาจกำลังวางแผนที่จะแก้เผ็ดหลังจากสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีองค์กรแห่งนี้เป็นกลุ่มก่อการร้ายเมื่อเดือนเมษายน ซึ่งอิหร่านโต้กลับด้วยการประกาศให้สหรัฐอเมริกาเป็นรัฐก่อการร้าย และกำหนดให้กองทหารสหรัฐฯ ทุกหมู่เหล่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย
ความเคลื่อนไหวที่จุดชนวนคำถามถึงสงครามมาจากข่าวของ นิวยอร์กไทมส์ ซึ่งนำเสนอรายงานในสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า รักษาการรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ แพทริก ชานาฮัน เสนอแผนกับทำเนียบขาว ขอให้ส่งทหารอเมริกันไปยังตะวันออกกลางจำนวน 120,000 นาย ถึงแม้กำลังขนาดนี้ยังไม่มากพอที่จะเปิดฉากบุกอิหร่าน แต่ก็มากพอที่จะโจมตีจากนอกเขตแดนของอิหร่านได้ อย่างไรก็ดี ทรัมป์ปฏิเสธในเวลาต่อมาว่า เขาไม่ได้พิจารณาแผนการนี้ พร้อมกับแสดงความหวังว่า มาตรการกดดันอิหร่านจะใช้ได้ผล
กลยุทธ์ของอิหร่าน
รัฐบาลเตหะรานตระหนักดีว่า ถ้าทำสงครามกับอเมริกา อิหร่านไม่มีทางชนะ ประตูสู้จึงไม่ได้อยู่ที่การทหาร หากแต่อยู่ที่การเมืองและการทูต
อิหร่านมีกำลังพล ทั้งในกองทัพและในกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติ ประมาณ 475,000 นาย แต่ยุทโธปกรณ์นับว่าล้าสมัย กำลังทางอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในสงคราม ก็ไม่เข้มแข็ง เพราะถูกคว่ำบาตรด้านอาวุธมาเป็นเวลานาน
ยิ่งเรื่องกำลังทางเศรษฐกิจแทบไม่ต้องพูดถึง ในเมื่อส่งออกน้ำมันไม่ได้ อิหร่านจึงไม่มีเงินที่จะเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม ในขณะที่สหรัฐฯ มีขนาดเศรษฐกิจที่วัดด้วยจีดีพีใหญ่โตกว่าของอิหร่าน 47 เท่า
เพราะฉะนั้น เราจึงได้เห็นอิหร่านตอบโต้บรรยากาศตึงเครียดด้วยท่าทีสงบ ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อะยาตุลเลาะห์ อาลี คามาเนอี บอกเมื่อวันอังคารที่แล้ว ว่าอิหร่านไม่ได้ต้องการทำสงคราม
แนวทางของอิหร่านในการรับมือแรงกดดันจากสหรัฐฯ ก็คือ แสดงให้โลกเห็นว่า เตหะรานใช้ขันติธรรมในการเผชิญหน้ากับอเมริกา และเดินตามกรอบกติกาของข้อตกลงนิวเคลียร์ ฝ่ายที่ต้องการฉีกข้อตกลงที่มหาอำนาจอื่นๆ ทุกฝ่ายยังคงยึดมั่น ก็คือ อเมริกา ต่างหาก.
อ้างอิง:
AFP via Yahoo! News, 17 May 2019
ภาพ: REUTERS/Carlos Barria
Tags: สงคราม, อ่าวเปอร์เซีย, ความขัดแย้ง, อิหร่าน, สหรัฐอเมริกา