มาตรการคว่ำบาตรน้ำมันอิหร่านเริ่มมีผลแล้ว หลังสหรัฐฯ ผละข้อตกลงนิวเคลียร์ พร้อมกับเรียกร้องให้อิหร่านเปลี่ยนพฤติกรรมหลายข้อ ท่ามกลางการช่วงชิงอำนาจของสารพัดฝักฝ่ายในตะวันออกกลาง

คำประกาศมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่ ซึ่งมุ่งเป้าปิดกั้นไม่ให้รัฐบาลเตหะรานมีรายได้จากการขายน้ำมัน มีกำหนดเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 5 พฤศจิกายน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ หวังว่า กลยุทธ์บีบคั้นในทางเศรษฐกิจเช่นนี้จะกดดันให้อิหร่านยอมขึ้นโต๊ะเจรจา เพื่อจัดทำข้อตกลงฉบับใหม่

ทรัมป์โจมตีว่า ข้อตกลงที่อิหร่านทำกับมหาอำนาจโลกเมื่อปี 2015 ในสมัยของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เป็นข้อตกลงที่ไม่ได้ความ เพราะไม่ครอบคลุม 2 เรื่องใหญ่ที่บั่นทอนผลประโยชน์ของอเมริกา คือ เรื่องขีปนาวุธของอิหร่าน กับบทบาทอิหร่านในตะวันออกกลาง

ข้อตกลงหลายฝ่าย

ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านไม่ได้มีเพียงอิหร่านกับสหรัฐฯ เป็นภาคี ยังมีชาติสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คือ อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย บวกเยอรมนี และสหภาพยุโรป ร่วมด้วย

แม้ว่าทรัมป์นำสหรัฐฯ ถอนตัว แต่ประเทศสมาชิกที่เหลือของข้อตกลงที่เรียกว่า Joint Comprehensive Plan of Action (JCPOA) ยังคงยืนยันสนับสนุนข้อตกลงฉบับนี้ต่อไป ซึ่งตามข้อตกลงนี้ อิหร่านจะไม่สามารถสร้างระเบิดนิวเคลียร์ได้ แต่เปิดทางให้อิหร่านพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติ

นับแต่ข้อตกลงเจซีพีโอเอมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนมกราคม 2016 ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ(ไอเออีเอ) ได้เข้าตรวจสอบเหมืองยูเรเนียมและโรงงานเสริมคุณภาพแร่ยูเรเนียมมาโดยตลอด ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม ไอเออีเอรายงานว่า รัฐบาลเตหะรานปฏิบัติตามข้อตกลงด้วยดี

4 พฤศจิกายน 2018 นอกจากจะเป็นวันสุดท้ายก่อนที่ประเทศอิหร่านจะถูกสหรัฐคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอีกครั้ง ในกรุงเตหะรานยังมีการชุมนุมในวาระครบรอบการประท้วงของนักศึกษา จนเกิดเหตุบุกสถานทูตสหรัฐฯ แล้วจับเจ้าหน้าที่สถานทูตเป็นตัวประกัน เมื่อ 4 พฤศจิกายน 1979 ซึ่งทำให้สถานทูตปิดตัวลงจนทุกวันนี้ ภาพถ่ายโดย ATTA KENARE / AFP

มาตรการฝ่ายเดียว

เมื่อเดือนพฤษภาคม ทรัมป์ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนี้แต่ฝ่ายเดียว และนำมาตรการคว่ำบาตรชุดเดิมที่สหรัฐฯ เคยใช้กับอิหร่านก่อนมีข้อตกลงกลับมาใช้อีก โดยมาตรการชุดที่สองจะเริ่มในวันที่ 5 พฤศจิกายน

มาตรการชุดที่สองพุ่งเป้าเล่นงานภาคการผลิตน้ำมันและภาคการธนาคาร โดยบีบให้นานาชาติยุติการค้าการลงทุนในอิหร่าน และหยุดซื้อน้ำมันจากอิหร่าน บริษัทไหนประเทศใดยังคบค้ากับอิหร่านจะไม่สามารถทำธุรกรรมกับธนาคารของสหรัฐฯได้

รัฐบาลทรัมป์เรียกร้องให้อิหร่านทำข้อตกลงฉบับใหม่ นอกจากยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์แล้ว เตหะรานต้องยุติโครงการพัฒนาขีปนาวุธ และเลิกแทรกแซงกิจการในตะวันออกกลางด้วย

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ ปอมเปโอ แถลงเมื่อ 22 พฤษภาคม แจกแจงข้อเรียกร้องที่อเมริกาต้องการให้อิหร่านยอมรับในข้อตกลงฉบับใหม่ รวม 21 ข้อ เช่น อิหร่านต้องยอมให้ไอเออีเอเข้าตรวจสอบทุกที่ทุกเวลา ต้องเลิกแพร่กระจายขีปนาวุธ ต้องเลิกพัฒนาระบบปล่อยขีปนาวุธที่ติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้ อิหร่านต้องเลิกสนับสนุนกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอน กลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ นักรบชีอะห์ในอิรัก พวกกบฏในเยเมน กลุ่มตอลิบันในอัฟกานิสถาน และต้องถอนกำลังภายใต้การบัญชาการของอิหร่านออกจากซีเรีย

นอกจากนี้ อิหร่านต้องเลิกคุกคามพันธมิตรของสหรัฐฯ เช่น อิสราเอล ต้องเลิกยิงจรวดเข้าไปในซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งต้องเลิกขู่ที่จะปิดเส้นทางเดินเรือนานาชาติ

ภาพถ่ายโดย ATTA KENARE / AFP

‘การเมืองเรื่องอำนาจ’

มองดูแล้ว ข้อเรียกร้องของรัฐบาลทรัมป์ไม่ได้จำกัดวงเฉพาะประเด็นที่เป็นพฤติกรรมนโยบายต่างประเทศของอิหร่านที่ดำเนินสืบเนื่องจากอดีตเท่านั้น แต่ยังพ่วงปัญหาปัจจุบัน เช่น สงครามในซีเรีย สงครามในเยเมน เข้าไปด้วย  ทั้งๆ ที่การเจรจาข้อตกลงเจซีพีโอเอซึ่งเริ่มเมื่อปี 2013 ตั้งโจทย์อยู่ที่การยุติโครงการนิวเคลียร์

ยิ่งกว่านั้น ปัญหาปัจจุบันในตะวันออกกลางที่สหรัฐฯ เรียกร้องให้อิหร่านเปลี่ยนพฤติกรรม ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่สหรัฐฯ เข้าไปมีส่วน ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ในการทำให้เกิดขึ้นและยังไม่อาจแก้ไขได้

ปมปัญหาในตะวันออกกลาง มีตั้งแต่มิติการเมืองระดับภูมิภาค เช่น การประชันอิทธิพลระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย มิติทางศาสนา เช่น การแข่งขันระหว่างมุสลิมซุนนีกับชีอะห์ มิติทางเชื้อชาติ เช่น ยิวกับอาหรับปาเลสไตน์ ไปจนถึงมิติภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามในซีเรีย

มิติหลากหลายเหล่านี้มักพันกันอิรุงตุงนัง คาบเกี่ยวกับผลประโยชน์สำคัญของชาติมหาอำนาจ ประเทศพี่เบิ้ม และกลุ่มพลังสารพัดหมู่เหล่าในภูมิภาค ตัวละครทั้งหมดเป็นพันธมิตรหรือเป็นปรปักษ์กันแบบไขว้ไปมาอย่างซับซ้อนและไหลเลื่อน เนื่องจากผลประโยชน์ตรงกันในบางเรื่อง สวนทางกันในบางเวลา

อิหร่านในฐานะประเทศใหญ่ในตะวันออกกลาง ย่อมมีผลประโยชน์เกี่ยวพันกับความเป็นไปในภูมิภาค มีมิตรที่ต้องอุ้มชู มีศัตรูที่ต้องต่อกร เช่นเดียวกับพันธมิตรของอเมริกาในย่านนั้น นี่คือ ธรรมชาติของ ‘การเมืองเรื่องอำนาจ’

คำถามเบื้องแรกจึงมีว่า ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่บีบให้อิหร่านเลิกแสวงหาและปกป้องอำนาจและผลประโยชน์ ในท่ามกลางการมะรุมมะตุ้มของตัวแสดงมากหน้า รวมทั้งอเมริกาเอง นั้น คำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติเพียงใด และมีความสมเหตุสมผลแค่ไหน

 

อ้างอิง:

 

Tags: , , , ,