ประเทศไทยที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘เมืองร้อน’ อาจจะคุ้นเคยกับแดดเปรี้ยงในช่วงกลางวันเป็นอย่างดี แต่หากต้องทำงานตลอดทั้งวันท่ามกลางสภาพอากาศเช่นนั้น ก็นับว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ยิ่งจะส่งผลให้อุณหภูมิความร้อนพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ 

ปีนี้ สหรัฐอเมริกาเผชิญกับคลื่นความร้อนมากกว่า 40 องศาเซลเซียส แผ่เข้าปกคลุมหลายพื้นที่แถบชายฝั่งแปซิฟิกทางตะวันตกเฉียงเหนือนานนับเดือน ส่งผลให้แรงงานราว 32 ล้านคนที่ต้องทำงานกลางแจ้ง มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย

อีกทั้งสำนักพยากรณ์อากาศของสหรัฐ (NWS) ยังรายงานด้วยว่า อากาศร้อนจัดเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งในการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ โดยแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตกว่าหลายร้อยคน เพื่อจัดการกับผลกระทบด้านสุขภาพอันเกิดจากความร้อน ฝ่ายบริหารของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จึงผลักดันมาตรฐานแรงงานฉบับแรกที่มุ่งเป้าไปเพื่อปกป้องคนงานที่ต้องทำงานอยู่กลางแจ้ง เช่น ภาคการเกษตร การก่อสร้าง บริการขนส่ง ตลอดจนคนงานในโกดัง โรงงาน และห้องครัว ที่ต้องเผชิญกับความร้อนอบอ้าว 

“ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปทั่วประเทศเพื่อดูผลกระทบต่อมนุษย์และความเสียหายทางเศรษฐกิจอันเกิดจากสภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme weather) ที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นภัยคุกคามต่อคนงานชาวอเมริกันหลายล้านคน เด็กในโรงเรียนที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราที่ไม่มีอุปกรณ์ให้ความเย็น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อชุมชนผู้ด้อยโอกาส ฝ่ายบริหารของผมจะไม่ปล่อยให้ชาวอเมริกันต้องเผชิญกับภัยคุกคามนี้เพียงลำพัง” ไบเดนกล่าวในแถลงการณ์

เบื้องต้น ฝ่ายบริหารของไบเดนจะจัดตั้งกลุ่มป้องกันการเจ็บป่วยจากความร้อนขึ้น เพื่อให้เข้าใจถึงความท้าทายและวิธีที่ดีที่สุดในการปกป้องคนงาน โดยจะกำหนดอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับอันตรายจากความร้อน จัดลำดับความสำคัญโรคที่เกี่ยวข้องกับความร้อน และการตรวจสอบการทำงานในวันที่อุณภูมิสูงเกิน 26 องศาเซลเซียส 

ด้านผู้เชี่ยวชาญก็แสดงความเห็นว่า มาตรฐานใหม่ที่รัฐบาลกลางจะเสนอนั้น บางส่วนอาจหมายถึงการอนุญาตให้ผู้ทำงานอยู่ท่ามกลางความร้อนสูงสามารถหยุดพักได้ระยะเวลาหนึ่ง หรือกำหนดให้นายจ้างจัดสรรร่มเงา น้ำ และเครื่องปรับอากาศให้แก่คนงาน ตลอดจนอำนวยความสะอวดให้คนงานที่ต้องสัมผัสกับความร้อนเป็นประจำสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ ซึ่งหากแนวทางดังกล่าวกลายเป็นข้อบังคับของรัฐบาลกลางจริง อาจเพิ่มต้นทุนหรือทำให้อุตสาหกรรมบางประเภทมีผลผลิตลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการก่อสร้างหรืองานกลางแจ้งอื่นๆ 

ทั้งนี้ ในการกำหนดกฎเกณฑ์สำหรับมาตรฐานแรงงานฉบับใหม่ยังคงต้องใช้ระยะเวลารับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะก่อน ถึงจะสามารถเริ่มกระบวนการทางกฎหมายต่อได้ ซึ่งกระบวนการนี้อาจใช้เวลาหลายปีกว่าที่มาตรฐานสุดท้ายจะมีผลบังคับใช้ แต่นับเป็นก้าวสำคัญของสหรัฐฯ ในการมองว่า ความปลอดภัยของคนงานเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อความพยายามรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย 

ที่มา: 

https://www.nytimes.com/2021/09/20/climate/biden-heat-workplace-rules.html

https://www.washingtonpost.com/business/2021/09/20/biden-osha-heat-standard/

Tags: , , , ,