รัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่ได้ลงโทษประหารชีวิตมาตั้งแต่ปี 2003 แต่เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา อัยการสูงสุด วิลเลียม พี บาร์ประกาศว่าจะมีการประหารชีวิตนักโทษชาย 5 คน ซึ่งต้องโทษจากการฆาตกรรมเด็กในเดือนธันวาคมและมกราคมที่จะถึง
ในปี 1972 ศาลสูงสุดตัดสินให้การประหารชีวิตทั้งในระดับรัฐและรัฐบาลกลางผิดกฎหมาย แต่ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ก็ตัดสินให้บางรัฐมีโทษประหารชีวิตได้ในปี 1976 จนกระทั่งปี 1988 ในคดีระดับรัฐบาลกลางมีการใช้โทษประหารชีวิต หลังจากสภาคองเกรสผ่านกฎหมายต่อต้านการใช้ยาเสพติด
ระหว่างปี 1988-2018 รัฐบาลกลางประหารชีวิตนักโทษไป 3 คนเท่านั้น จากนักโทษประหารชีวิต 78 คน โดยเป็นผู้ก่อเหตุระเบิดในปี 2001 และนักโทษข่มขืนและฆาตกรรมทหารหญิงในปี 2003
ในบางคดีของรัฐบาลกลาง จำเลยต้องโทษประหารชีวิต เช่น คดีที่ชายที่บูชาคนผิวขาวสังหารชาวแอฟริกันอเมริกันเสียชีวิต 9 คน ในโบสถ์ เมื่อปี 2015 และคดีลอบวางระเบิดในบอสตันมาราธอน แค่ทั้งคู่ก็ถูกจำคุกตลอดชีวิต
คำประกาศล่าสุดนี้เป็นการกลับลำการหยุดโทษประหารชีวิตชั่วคราวของรัฐบาลกลางเมื่อปี 2003 บาร์ไม่ได้ให้เหตุผลว่าเหตุใดรัฐบาลทรัมป์จึงนำโทษประหารชีวิตมาใช้ในตอนนี้ เขากล่าวว่า “กระทรวงยุติธรรมจะใช้โทษประหารชีวิตกับนักโทษที่เลวร้ายที่สุด และเรามีหน้าที่ต่อเหยื่อและครอบครัวของพวกเขาในการลงโทษตามระบบยุติธรรมของเรา” เขายังได้ออกโปรโตคอลเป็นการฉีดยาครั้งเดียวด้วยเพนโทบาร์บิทอลแทนการฉีดยา 3 ขั้นตอนที่เคยใช้ก่อนหน้านี้
คำถามก็คือ จะเอายามาจากไหน บริษัทยาเดนมาร์กที่ชื่อ ลุนด์เบคผู้ผลิตเพนโทบาร์บิทอลประณามการนำยามาใช้ประหารชีวิต และได้แบนผู้จัดจำหน่ายสหรัฐอเมริกาไม่ให้จัดหายาสำหรับการประหารชีวิต
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์สนับสนุนโทษประหารชีวิตมาตลอด ปีที่แล้วเขาประกาศว่าผู้ค้ายาเสพติดต้องถูกประหารชีวิต บาร์ก็สนับสนุนโทษประหารชีวิตเช่นเดียวกับทรัมป์ในตอนที่เขานั่งตำแหน่งรักษาการอัยการสูงสุดก็ได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ว่า การมีโทษประหารชีวิตเป็นการส่งสัญญาณเตือนถึงผู้ค้ายาเสพติดและอันธพาล
สมาชิกพรรคเดโมแครตคัดค้านโทษประหารชีวิต โดยวุฒิสมาชิกรัฐแมสซาชูเซ็ตต์เตรียมเสนอกฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิตของรัฐบาลกลาง
ทั้งนักสิทธิพลเมืองและนักโทษต่างก็โต้ว่า โทษประหารชีวิตของรัฐและรัฐบาลกลางนั้นไร้มนุษยธรรม รวมไปถึงการใช้ยาที่ทำให้นักโทษทรมานก่อนที่จะเสียชีวิต นักสิทธิพลเมืองยังตั้งข้อสังเกตว่าโทษประหารชีวิตถูกนำมาใช้กับคนผิวดำเป็นสัดส่วนที่มากกว่า
สำหรับความเห็นของชาวอเมริกันต่อโทษประหารชีวิตนั้นเปลี่ยนไป จากผู้สนับสนุนให้ประหารชีวิตอาชญากรกว่า 80% เมื่อปี 1996 ลดลงเหลือ 50% ในปี 2016 ส่วนในปี 2018 ศูนย์วิจัยพิวซึ่งสำรวจความเห็นของชาวอเมริกันพบว่า มีชาวอเมริกันที่สนับสนุนโทษประหารชีวิต 54% ส่วนสถิติการประหารชีวิตที่เคยสูงสุดถึงปีละ 98 คนเมื่อปี 1999 ก็เหลือปีละไม่ถึง 20 คน และมี 21 รัฐที่ห้ามประหารชีวิต
ที่มา:
https://www.nytimes.com/2019/07/25/us/politics/federal-executions-death-penalty.html
https://www.vox.com/2019/7/25/8930191/federal-execution-death-penalty-bill-barr-trump-administration
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-49122869
ภาพ: REUTERS/File Photo
Tags: สหรัฐอเมริกา, โทษประหารชีวิต