นับเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ แสดงท่าทีสอดรับกับชาติอาเซียนในปมพิพาททะเลจีนใต้ การเปลี่ยนจุดยืนของวอชิงตันจะส่งผลให้ประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกับจีนเลือกกลยุทธ์ทางกฎหมายเป็นหมากตัวใหม่หรือไม่ อีกไม่นาน เราอาจได้เห็นกัน
ที่ผ่านมา ชาติอาเซียนที่อ้างเขตแดนทางทะเลทับซ้อนกับจีน เลือกใช้หนทางการทูตเป็นด้านหลัก รูปธรรมก็คือ การเจรจาหลายฝ่ายที่มีกลุ่มอาเซียนเป็นกลไกกลาง จัดทำ ‘แนวปฏิบัติว่าด้วยทะเลจีนใต้’ ซึ่งกินเวลามานานหลายปี
แน่นอนว่า มาตรการทางทหารไม่ใช่ทางเลือก ทั้งด้วยเหตุของกำลังรบที่ห่างกันลิบลับ ความสัมพันธ์ที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนของการแก้ไขข้อพิพาท และเสถียรภาพของภูมิภาคโดยรวม
อีกกลยุทธ์หนึ่งที่อาจนำมาใช้ได้ คือ ช่องทางกฎหมาย ผ่านการร้องขอคำวินิจฉัยจากกลไกตุลาการระหว่างประเทศ ฟิลิปปินส์เคยเลือกเดินหมากเกมนี้มาแล้ว และได้รับ ‘ชัยชนะ’ มาแล้ว
ถ้าคู่พิพาทกับจีนอีกราย คือ เวียดนาม ตัดสินใจทำอย่างเดียวกัน และหากได้รับผลลัพธ์อย่างเดียวกัน นั่นจะบั่นทอนน้ำหนักคำกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนลงไปอีก นักสังเกตการณ์บางรายมองว่า ท่าทีของสหรัฐฯ ที่ประกาศสนับสนุนชาติอาเซียนในข้อพิพาทกับจีน อาจกระตุ้นให้ประเทศเหล่านี้ลุกขึ้นฟ้องร้องปักกิ่งต่อศาลนานาชาติก็เป็นได้
จีนรุกหนัก
ปักกิ่งอ้างแผนที่เมื่อทศวรรษ 1940 แสดงแนวเขตกรรมสิทธิ์ด้วยเส้นประ 9 เส้น แนวเส้นที่ว่านี้ครอบคลุมทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด
ท้องทะเลย่านนี้ นอกจากเป็นแหล่งปลาชุกชุม ยังเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซ รวมทั้งเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญ
ปัญหาคือ แนวเส้นรูปตัวยูในภาษาอังกฤษ ลากผ่านเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเวียดนามกับฟิลิปปินส์ รวมทั้งของบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไต้หวัน รายหลังนี้จีนถือเป็นดินแดนของตัว
เขตเศรษฐกิจจำเพาะถือเป็นพื้นที่ที่รัฐริมฝั่งมีสิทธิ์แสวงประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล สิทธินี้เป็นไปตามอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ซึ่งจีนเป็นภาคีในสนธิสัญญาฉบับนี้ด้วย
ในระยะหลัง จีนเดินหน้ารุกอย่างหนักในการอ้างกรรมสิทธิ์ ตามหมู่เกาะน้อยใหญ่ สันดอนปะการัง มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวร สิ่งอำนวยความสะดวกทางทหาร รวมถึงสำรวจปิโตรเลียม ไม่ว่าประเทศที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนจะประท้วงอย่างไรก็ตาม
การอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนทำให้เกิดเหตุเผชิญหน้า คุมเชิง และกระทบกระทั่งในทะเล ระหว่างเรือของจีน ทั้งเรือของพลเรือนและทหาร กับเรือของชาติอาเซียนต่างๆอยู่เนืองๆ
เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ฟิลิปปินส์ยื่นเรื่องต่อศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก เมื่อปี 2012 ขอให้วินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายของแนวเส้นประที่จีนกล่าวอ้างแสดงกรรมสิทธิ์ จีนปฏิเสธเข้าร่วมในกระบวนการ ศาลดังกล่าวออกคำวินิจฉัยในปี 2016 ว่า จีนไม่มี ‘สิทธิทางประวัติศาสตร์’ อย่างที่อ้างในแผนที่เส้นประ 9 เส้น
คำวินิจฉัยนี้เป็นคุณแก่ฝ่ายฟิลิปปินส์ แต่จีนไม่ยอมรับ เรื่องจึงยังคาราคาซังเรื่อยมา
อเมริกาเชียร์ชาติอาเซียน
ในโอกาสครบรอบ 4 ปีของคำวินิจฉัยดังกล่าว เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ ปอมเปโอ ออกถ้อยแถลงด้วยถ้อยคำค่อนข้างดุเดือด
ปอมเปโอ บอกว่า สหรัฐฯ ถือว่าการแสวงหาทรัพยากรของจีนในทะเลจีนใต้เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่นเดียวกับการโหมกระหน่ำรังแกเพื่อนบ้านเพื่อควบคุมทะเลดังกล่าว โลกจะไม่ยอมให้จีนฮุบเอาทะเลจีนใต้เป็นจักรวรรดิทางทะเลของจีน
เขาบอกด้วยว่า สหรัฐฯ ยืนเคียงข้างพันธมิตรและหุ้นส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะปกป้องอธิปไตยของตนเหนือทรัพยากรนอกชายฝั่งตามสิทธิและพันธะภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ยืนเคียงข้างประชาคมนานาชาติในการปกป้องเสรีภาพในการเดินทะเล ปฏิเสธการดึงดันในลักษณะ ‘พลังอำนาจคือความถูกต้อง’ ในทะเลจีนใต้ หรือในภูมิภาคนั้น
ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เล่นบทเสมอนอก ไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับข้อพิพาทนี้โดยตรง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถือว่าแต่ละประเทศต้องหาทางตกลงกันเอง แต่ในท่ามกลางความระหองระแหงในความสัมพันธ์กับปักกิ่ง วอชิงตันดูจะหันมาถือหางฝ่ายตรงข้ามกับจีนในปมพิพาทนี้
ถ้อยแถลงของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยังลงรายละเอียดด้วยว่า สหรัฐฯ ไม่ยอมรับคำกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนเหนือพื้นที่ต่างๆในทะเลจีนใต้ คือ แวนการ์ดแบงก์นอกฝั่งเวียดนาม สันดอนลูคาเนียนอกฝั่งมาเลเซีย สันดอนเจมส์ในความถือครองของมาเลเซีย น่านน้ำในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของบรูไน และเกาะนาทูนานอกฝั่งอินโดนีเซีย
คู่พิพาทรุกกลับ?
เมื่อสหรัฐอเมริกาให้ท้ายเช่นนี้ ชาติอาเซียนที่พิพาทกับจีนจะเดินตามอย่างฟิลิปปินส์หรือเปล่า ริชาร์ด เฮย์แดเรียน นักวิชาการในกรุงมะนิลา วิเคราะห์ว่า เวียดนาม—ซึ่งปีนเกลียวกับจีนอย่างหนักด้วยเรื่องนี้เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ อาจตัดสินใจใช้ ‘มะนิลา โมเดล’
เขาบอกว่า เวียดนามจะเอาอย่างไรต่อไป คงต้องรอดูหลังจากผลัดเปลี่ยนคณะผู้นำในปีหน้า ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของเวียดนาม เลฮวยเตรือง บอกว่า ฮานอยอยากใช้วิธีเจรจามากกว่า แต่วิธีอื่นๆ ก็ยังคงเป็นทางเลือก ไม่ว่าการไกล่เกลี่ย การใช้อนุญาโตตุลาการ หรือการฟ้องศาลโลก
อย่างไรก็ดี นายพลเรือนอกราชการของสหรัฐฯ ไมเคิล แม็กเดวิด นักวิจัยอาวุโสด้านยุทธศาสตร์ศึกษาประจำซีเอ็นเอ หน่วยงานคลังสมองในสหรัฐฯ มองว่า ชาติอาเซียนคงยึดถือแนวทางเดิมมากกว่า นั่นคือ รักษาดุลในความสัมพันธ์ทั้งกับอเมริกาและจีน ประคองตัวไม่ให้พลัดเข้ามาในวงปะทะระหว่างยักษ์ใหญ่ทั้งสอง
ทอมัส แดเนียล นักวิเคราะห์ของสถาบันยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา มาเลเซีย ฟันธงว่า ชาติอาเซียนคงไม่ฟ้องร้องจีน เพราะจีนมีอิทธิพลมหาศาลในภูมิภาค เป็นคู่ค้ารายสำคัญ และเป็นพี่ใหญ่ในย่านนี้ นี่คือความจริงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จะอยู่กับเราต่อไปอีกนาน
ปมพิพาททะเลจีนใต้จะพัฒนาต่อไปอย่างไร ถึงแม้ไทยไม่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง แต่คงหลีกเลี่ยงแรงกระเพื่อมไม่พ้น
อ้างอิง:
AFP via Japan Times, 14 July 2020
South China Morning Post, 17 July 2020
Tags: ทะเลจีนใต้