กรณีผู้นำสหรัฐฯ ออกคำสั่งให้สังหารผู้บัญชาการทหารคนสำคัญของอิหร่านในดินแดนของอิรัก อาจฟื้นกระแสต่อต้านอเมริกันในตะวันออกกลาง ต้องคอยดูว่ารัฐบาลแบกแดดจะยกเลิกข้อตกลงทางทหารกับวอชิงตันหรือไม่ เหล่าพลพรรคติดอาวุธที่นิยมอิหร่านในประเทศต่างๆ จะแก้เผ็ดอเมริกาอย่างไร และรัฐบาลเตหะรานจะตอบโต้หนักหน่วงแค่ไหน
สถานการณ์ในตะวันออกกลางดูจะร้อนฉ่าขึ้นในทันใดหลังจากกองทัพสหรัฐฯ ส่งโดรนไปสังหารนายทหารคนสำคัญของอิหร่าน พลตรี กาซิม สุไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังเยรูซาเลม ขณะอยู่ในขบวนรถใกล้กับสนามบินแบกแดดเมื่อวันศุกร์ (3 ม.ค.)
ข่าวบอกว่า เหตุโจมตีทางอากาศครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 10 คน คนสำคัญอีกคนที่เสียชีวิตในคราวเดียวกัน คือ อะบู มะห์ดี อัลมุฮันดิส รองผู้บัญชาการกองกำลังฮาชิด หน่วยทหารที่นิยมอิหร่าน ทหารหน่วยนี้เคยเป็นกองกำลังติดอาวุธ แต่ต่อมาได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกองทัพอิรัก ตามนโยบายสร้างความสมานฉันท์ของรัฐบาลแบกแดด
ยุทธการปลิดชีพนายพลของอิหร่าน กับผู้นำกองกำลังอิรักที่นิยมเตหะราน นับเป็นปฏิบัติการที่ท้าทายศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของอิหร่าน และละเมิดอธิปไตยของอิรัก ปฏิบัติการโดรนสังหารของอเมริกาจึงอาจก่อให้เกิดผลตามมาใน 2 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นการตอบโต้จากรัฐ อีกด้านเป็นการตอบโต้จากตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ
ปฏิบัติการครั้งนี้จะนำไปสู่สงครามอ่าวเปอร์เซียรอบใหม่หรือไม่ อิหร่านจะปิดเส้นทางลำเลียงน้ำมันออกสู่ตลาดโลกหรือเปล่า บรรดากลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลางที่อิหร่านหนุนหลังจะโจมตีตอบโต้อย่างไร ต้องคอยดูกัน
อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะคาดการณ์ถึงสถานการณ์ข้างหน้า ควรย้อนดูภูมิหลังของปฏิบัติการดังกล่าวเสียก่อน เพื่อให้เข้าใจว่า ปฏิบัติการโดรนสังหารในครั้งนี้ อยู่ตรงไหนในความขัดแย้งของภูมิภาคตะวันออกกลาง
พลิกปูมคู่ปรปักษ์ สหรัฐฯ-อิหร่าน
การทำความเข้าใจภาพใหญ่ของความขัดแย้งในที่นี้ ขอเล่าขมวดอย่างสั้นที่สุด โดยจับภาพ 2 ภาพมาฉายร่วมกัน ภาพแรกคือ การแข่งอิทธิพลระหว่างรัฐที่ทรงอำนาจในภูมิภาค อีกภาพคือ การเมืองเรื่องนิวเคลียร์ของอิหร่าน
ในภาพแรก ตะวันออกกลางคุกรุ่นด้วยการประชันอำนาจระหว่างรัฐ 2 ขั้ว คือ ขั้วพันธมิตรอเมริกัน กับขั้วปฏิปักษ์อเมริกัน ขั้วหลังนี้นำโดยอิหร่าน มีซีเรียเป็นพวก มีกลุ่มติดอาวุธในหลายประเทศเป็นแนวร่วม
ส่วนขั้วแรกนั้นนำโดยซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับอิหร่านด้วยเหตุความต่างของระบอบปกครองและนิกายศาสนา บวกกับเหตุของการช่วงชิงอิทธิพลระหว่าง ‘สองเสือร่วมถ้ำ’ ขณะเดียวกัน ขั้วแรกยังมีอิสราเอล ซึ่งเตหะรานปฏิเสธความชอบธรรมในการดำรงคงอยู่ของรัฐยิว เป็นอีกหนึ่งพันธมิตรหลักด้วย
ในภาพที่สอง ด้วยเหตุที่ต้องเผชิญหน้ากับมหาอำนาจนิวเคลียร์อย่างอเมริกา และพันธมิตรอเมริกันอย่างซาอุดีอาระเบียและอิสราเอล ซึ่งต่างเสริมสร้างกำลังรบด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์เมดอินยูเอสเอ อิหร่านจึงพัฒนาขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์
ถึงแม้ยังไม่ก้าวหน้าเท่าเกาหลีเหนือในแง่อานุภาพของระเบิดและระบบนำส่ง แต่นั่นก็ทำให้นานาชาติวิตก และร่วมกันกดดันด้วยมาตรการคว่ำบาตร จนกระทั่งอิหร่านยอมทำข้อตกลงยุติการพัฒนานิวเคลียร์ในยุครัฐบาลบารัก โอบามา
ความตึงเครียดระหว่างวอชิงตันกับเตหะรานหวนกลับมาเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์นำสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์
ภายใต้บรรยากาศของการช่วงชิงอิทธิพลในภูมิภาคและความเป็นอริกับรัฐยิว ผนวกกับการเมืองเรื่องนิวเคลียร์ อิหร่านจำเป็นต้องสร้างพลังอำนาจที่จะสามารถทัดทานและบั่นทอนกำลังของฝ่ายตรงข้ามได้ นี่คือที่มาของปฏิบัติการนอกประเทศของกองกำลังเยรูซาเลม
เมื่อกองกำลังของนายพลกาซิม สุไลมานี ขยายบทบาทคืบหน้าอย่างมากในหลายประเทศ ที่สำคัญคือในอิรัก สหรัฐฯ ย่อมจำเป็นต้องกำจัดภัยคุกคามที่อาจเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของอเมริกาและพันธมิตรในภูมิภาค
อิหร่านลั่นทวงคืน
กองกำลังเยรูซาเลม (Quds Force) เป็นหน่วยรบพิเศษสำหรับภารกิจนอกประเทศ ทำงานด้านการข่าวและงานสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในประเทศต่างๆ เช่น กลุ่มฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอน กลุ่มอิสลามิกญิฮาดในดินแดนปาเลสไตน์ กลุ่มฮูธีในเยเมน และบรรดากลุ่มนักรบชีอะห์ในอิรัก ซีเรีย อัฟกานิสถาน
ทหารหน่วยนี้อยู่ภายใต้สังกัดหน่วยพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guard Corps) ซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งในกองทัพอิหร่าน เมื่อสหรัฐฯกระทำการอุกอาจถึงขั้นสังหารนายพลคนสำคัญเช่นนี้ อิหร่านจึงประกาศที่จะแก้แค้น
อิหร่านจะเอาคืนอย่างไร นักสังเกตการณ์บอกว่า รูปแบบวิธีการมีหลายอย่าง เพียงแต่ว่าอิหร่านเองจะต้องคำนวณผลสะท้อนกลับด้วย ถ้าตอบโต้แรงเกินเหตุ กระแสอาจพลิกกลับ เมื่อฝ่ายตรงข้ามสวนหมัด เตหะรานอาจโดดเดี่ยวในเวทีโลก
คาดกันว่า วิธีแก้เผ็ดของอิหร่านต่อคู่ปรับที่มีกำลังเหนือกว่า คงเป็นการสงครามนอกแบบ เช่น สนับสนุนให้แนวร่วมติดอาวุธในประเทศต่างๆ โจมตีผลประโยชน์ของอเมริกันและอิสราเอล เปิดฉากโจมตีทางไซเบอร์ หรือกระทั่งปิดช่องแคบฮอร์มุซ เส้นทางขนส่งน้ำมันหลักของโลก อย่างไรก็ตาม วิธีหลังสุดนี้มีความเป็นไปได้น้อย
สำหรับวิธีใช้แนวร่วมออกหน้านั้น นักสังเกตการณ์บอกว่า น่าวิตกไม่น้อย เพราะสมรภูมิที่เป็นไปได้มากที่สุดสำหรับวิธีนี้ย่อมไม่พ้นอิรัก ซึ่งมีพรมแดนติดกับอิหร่าน
หากอิหร่านกับสหรัฐฯ ต่างหนุนหลังให้กลุ่มติดอาวุธในความอุปถัมภ์ของตนเข้าห้ำหั่นกันในรูปของสงครามตัวแทน อิรักคงบอบช้ำอีกรอบ ทั้งๆ ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการรุกรานโค่นซัดดัม ฮุสเซนของสหรัฐฯ เมื่อสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช
อิรักขับทหารอเมริกัน
นายกรัฐมนตรีอิรัก อะเดล อับเดล มะห์ดี ประณามการโจมตีของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ว่า เป็นการละเมิดอธิปไตยของอิรัก และวิจารณ์ว่า อเมริกาทำเกินข้อตกลงกับอิรัก ซึ่งอนุญาตให้ทหารอเมริกันอยู่ในอิรักได้ เพื่อช่วยฝึกทหารอิรักในการสู้รบกับพวกนักรบกลุ่มไอเอส ซึ่งเป็นศัตรูร่วมของประเทศทั้งสอง
เวลานี้ ในอิรักมีทหารอเมริกันราว 5,200 นาย โดยล่าสุด ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระฉุกเฉินของอิรัก เมื่อวันอาทิตย์ (5 ม.ค.) ได้มีมติขับกองกำลังสหรัฐฯ ออกไป และจะยื่นคำร้องต่อองค์การสหประชาชาติว่าสหรัฐฯ ได้ละเมิดอำนาจอธิปไตยของอิรักจากการลอบสังหารพลตรี กาซิม สุไลมานี ในกรุงแบกแดก
พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิรัก ยังเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประณามการระเบิดและการลอบสังหารนี้ด้วย
อ้างอิง:
New York Times, 3 January 2020
AFP via The Express Tribune, 4 January 2020
AFP via The Economic Times, 4 January 2020
ภาพ: REUTERS/Eduardo Munoz
Tags: อิหร่าน, สหรัฐอเมริกา, อิรัก, อ่าวเปอร์เซีย