“เดี๋ยวเก็บปัสสาวะให้หมอหน่อยนะครับ” ผมไม่ได้หมายความว่าจะให้คนไข้เก็บปัสสาวะไป ‘รักษาโรค’ เหมือนกับที่ประชาชนหลายคนเชื่ออยู่นะครับ แต่กำลังบอกให้คนไข้เก็บปัสสาวะเพื่อส่งตรวจกับห้องแล็บอยู่ เพราะบางอาการปัสสาวะก็สามารถช่วยในการ ‘วินิจฉัยโรค’ ได้ โดยอาจช่วยยืนยันว่าเป็นโรคนั้นจริง หรือช่วยตัดโรคที่กำลังสงสัยอยู่ทิ้งไปก็ได้ 

คล้ายกับกำลังทำข้อสอบกากบาท แต่หมอเป็นคนสร้างแต่ละตัวเลือกขึ้นมาเอง และจะต้องหาเหตุผลหรือหลักฐาน เช่น ผลการตรวจปัสสาวะมาหักล้างเองด้วย

ปัสสาวะเป็นน้ำสีเหลืองที่ได้จากการกรองของไต แต่ไม่เหมือนกับเครื่องกรองน้ำเสียทีเดียว เพราะน้ำที่ผ่านเครื่องกรองแล้วจะเป็นน้ำที่ ‘สะอาด’ แต่น้ำที่ผ่านไตแล้วจะมีแต่ ‘ของเสีย’ หรือของส่วนเกินที่ร่างกายไม่ต้องการ เช่น ยูเรีย เกลือแร่ ส่วนประกอบของยา เป็นต้น ผ่านท่อไตสองข้างลงมาที่กระเพาะปัสสาวะตรงบริเวณท้องน้อย และออกจากร่างกายทางท่อปัสสาวะ 

คนไข้จะต้องรองใส่กระปุกของโรงพยาบาลมาส่งห้องแล็บ โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องเก็บกลางลำปัสสาวะเท่านั้น คือปล่อยปัสสาวะช่วงแรกและตอนสุดท้ายทิ้งไป เพราะจะได้ไม่ปนเปื้อนกับสิ่งสกปรกบริเวณปากท่อปัสสาวะ

สำหรับอาการของคนไข้ที่ผมต้องส่งตรวจปัสสาวะเพิ่มเติมบ่อยที่สุดคือ ปัสสาวะแสบขัด ปวดท้องด้านขวาล่าง เวียนศีรษะ และตรวจคัดกรองโรค (ยังไม่มีอาการ) ตามลำดับ

ปัสสาวะเป็นน้ำสีเหลืองที่ได้จากการกรองของไต แต่ไม่เหมือนกับเครื่องกรองน้ำเสียทีเดียว เพราะน้ำที่ผ่านเครื่องกรองแล้วจะเป็นน้ำที่ ‘สะอาด’ แต่น้ำที่ผ่านไตแล้วจะมีแต่ ‘ของเสีย’ หรือของส่วนเกินที่ร่างกายไม่ต้องการ เช่น ยูเรีย เกลือแร่ ส่วนประกอบของยา เป็นต้น ผ่านท่อไตสองข้างลงมาที่กระเพาะปัสสาวะตรงบริเวณท้องน้อย และออกจากร่างกายทางท่อปัสสาวะ 

ปัสสาวะแสบขัด

“มีปัสสาวะแสบขัดไหมครับ” ผมถามคนไข้ผู้หญิงที่ปวดท้องน้อยมาโรงพยาบาลเพิ่มเติมเพื่อแยกว่าโรคเกิดจากระบบทางเดินปัสสาวะหรือระบบภายในผู้หญิง เพราะทั้งสองระบบอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกัน ซึ่งอย่างหลังมักจะมีอาการตกขาวร่วมด้วย แต่ถ้าอาการยังไม่ชัดเจนก็จะอาศัยการตรวจปัสสาวะช่วยในการวินิจฉัยก่อน เพราะถ้าเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบก็จะได้ไม่ต้องตรวจภายใน

โดยเมื่อนำปัสสาวะที่เก็บได้ไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ หากพบ ‘เม็ดเลือดขาว’ มากกว่าปกติก็แสดงว่ามีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เพราะเม็ดเลือดขาวทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรค

ส่วนถ้าพบ ‘เม็ดเลือดแดง’ ซึ่งคนไข้อาจสังเกตว่าปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อก็น่าจะมีโรคนิ่วร่วมด้วย เพราะก้อนนิ่วจะไปครูดกับผนังทางเดินปัสสาวะ เหมือนผิวหนังถลอกแล้วมีเลือดออก

ปวดท้องด้านขวาล่าง

เดากันได้ไหมครับว่าถ้าคนไข้บอกว่า “มีอาการปวดท้องด้านขวาล่าง” หมอจะนึกถึงโรคอะไรเป็นอย่างแรก? ติ๊กต๊อก… ติ๊กต๊อก… ใช่แล้วครับ ‘ไส้ติ่งอักเสบ’ ที่หลายคนกลัวเวลามีอาการปวดท้องมาก โดยอาการของไส้ติ่งอักเสบจะเริ่มจากปวดตรงกลางท้องก่อน แล้วค่อยย้ายมาที่ด้านขวาล่าง เวลาหมอกดตรงตำแหน่งนั้นก็จะสะดุ้งโอ้ย! ขึ้นมาทันที

อย่างไรก็ตามบริเวณนั้นก็ยังมีท่อไตอยู่ด้วย หากมีนิ่ว หรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะก็อาจทำให้มีอาการคล้ายกันได้ หมอจึงต้องส่งตรวจปัสสาวะเพื่อการวินิจฉัยแยกโรคเหล่านี้ออกไป ก่อนที่จะ ‘ฟันธง’ ว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบจริง เหมือนที่ผมเปรียบเทียบกับการตัดข้อ ก. ข. ค. หรือ ง. ออกไปนั่นเอง

เวียนศีรษะ ร่วมกับประจำเดือนขาด

อาการเวียนศีรษะเพียงอย่างเดียวไม่จำเพาะกับโรคใดเป็นพิเศษ ถ้าได้กินยาแก้เวียนศีรษะก็มักจะหายเป็นปกติ ส่วนประวัติ ‘ประจำเดือนขาด’ ผมก็มักจะไม่ได้เป็นคนแรกที่ถามคนไข้ เนื่องจากถ้าเป็นผู้หญิงวัยประมาณ 15-35 ปี (สามารถตั้งท้องได้) มีอาการเวียนศีรษะ พี่พยาบาลคัดกรองที่ ‘เก๋าเกม’ หน่อยก็จะถาม “ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายเมื่อไร” ให้ก่อนเข้ามาในห้องตรวจแล้ว

ส่วนผมเป็นคน ‘รับลูก’ ต่อ ขอคนไข้เก็บปัสสาวะเพื่อตรวจหาฮอร์โมนตัวหนึ่งที่สร้างขึ้นมาจากรกของตัวอ่อน ปนอยู่ในกระแสเลือดของแม่ และถูกขับออกมาในปัสสาวะ ถึงจะฟังดูยุ่งยาก แต่ก็เป็นหลักการของชุดตรวจที่ขึ้นผลเป็นขีดแบบเดียวกับที่สามารถซื้อได้ตามร้านขายยานั่นแหละครับ

คนไข้ส่วนใหญ่ที่เคยพบมักไม่คิดถึงการตั้งท้องมาก่อน อาจเป็นเพราะประจำเดือนเลื่อนหรือมาไม่สม่ำเสมอ แต่ก็เวียนศีรษะ คลื่นไส้มาหลายวันแล้วจึงมาโรงพยาบาล สุดท้ายผลออกมาว่าเกิดจาก ‘อาการแพ้ท้อง’

อ้อ… ผมลืมบอกไปอีกอย่างในหัวข้อปวดท้องด้านขวาล่างว่า ถ้าเป็นผู้หญิงวัยที่มีโอกาสตั้งท้อง หมอก็จะส่งตรวจการตั้งครรภ์ด้วย เพื่อตัดตัวเลือก ‘การตั้งครรภ์นอกมดลูก’ ที่ปีกมดลูกข้างขวาออกไป เพราะมีอาการคล้ายกัน

 

 ตรวจคัดกรองโรค (ยังไม่มีอาการ)

หลายคนเคยตรวจปัสสาวะในการตรวจสุขภาพประจำปี ทั้งนี้เพราะเลือดถูกไตกรองออกมาเป็นปัสสาวะ จึงสามารถใช้ ‘ตรวจคัดกรอง’ โรคไตและโรคบางโรคได้ตั้งแต่ระยะแรก โดยถ้าหากมีภาวะไตเสื่อมจะมีโปรตีนชนิดหนึ่งหลุดออกมาในปัสสาวะ หรือที่หมออาจแจ้งว่า ‘ไข่ขาวในปัสสาวะ’ เพราะโปรตีนชนิดนี้พบมากในไข่ขาว

ส่วนถ้าหากเป็นโรคเบาหวาน น้ำตาลในเลือดจะสูงมากจนกระทั่งไตก็ไม่สามารถกรองน้ำตาลเก็บไว้ได้หมดก็จะทำให้ตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะได้ (วิธีสังเกตด้วยตาเปล่าคือมดที่บ้านมาตอมปัสสาวะ) แต่ในบางครั้งถ้าตรวจหลังกินข้าวใหม่ๆ น้ำตาลในเลือดขึ้นสูงอย่างรวดเร็วก็อาจพบน้ำตาลในปัสสาวะได้เช่นกัน

ในขณะที่การ ‘ตรวจยืนยัน’ โรคเบาหวานจะเจ็บตัวมากกว่า เพราะต้องเจาะเลือดขณะงดน้ำงดอาหารไปตรวจ 

นอกจากนี้ผู้หญิงที่เคยฝากท้องก็น่าจะคุ้นเคยกับการตรวจปัสสาวะเป็นอย่างดี เพราะจะต้องปัสสาวะใส่กระปุกทุกครั้งที่มาฝากครรภ์ เพื่อคัดกรอง ‘ภาวะครรภ์เป็นพิษ’ ซึ่งจะตรวจพบไข่ขาวออกในปัสสาวะ และคัดกรอง ‘โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์’ ซึ่งจะตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะไม่ต่างจากโรคเบาหวานทั่วไป

00000

ผมไม่เคยแนะนำ และยังไม่เคยได้ยินหมอที่โรงพยาบาลท่านไหนแนะนำให้คนไข้ใช้ปัสสาวะในการรักษาโรค เพราะปัสสาวะเป็นของเสียและมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรค เนื่องจากท่อปัสสาวะเป็นช่องเปิดเชื่อมกับสิ่งแวดล้อมภายนอก

ส่วนจะให้คนไข้เก็บปัสสาวะก็เพียงเพื่อส่งห้องแล็บช่วยวินิจฉัยโรคเท่านั้น โดยเป็นการตรวจว่ามีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหรือไม่ มีการตั้งครรภ์หรือการตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือไม่ ซึ่งทั้งสองโรคอาจมีอาการคล้ายกับโรคไส้ติ่งอักเสบได้ และสุดท้ายถึงแม้จะยังไม่มีอาการ ปัสสาวะก็สามารถบอกว่าเป็นโรคไตเสื่อมและโรคเบาหวานได้

เอกสารอ้างอิง

พรรธนมณฑน์ อุชชิน บรรณาธิการ. พยาธิวิทยาคลินิก (Clinical pathology). พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550. 

Tags: , ,