“วันนี้หมอปรับยา 2 ตัวนะครับ” ผมแจ้งคนไข้ “ตัวแรกเป็นยาเบาหวานที่กินหลังอาหาร ให้เพิ่มเป็นครั้งละ 2 เม็ด”

“ใช่ยาเม็ดใหญ่ๆ รึเปล่าหมอ” คุณป้าถามกลับ คงเพื่อยืนยันความเข้าใจของตัวเอง

“น่าจะใช่นะครับ” ผมไม่แน่ใจเรื่องลักษณะยา “ส่วนอีกตัวเป็นยาความดันที่เคยกินหลังอาหารอยู่ครึ่งเม็ด วันนี้ความดันดีมาก ให้หยุดไปเลยนะครับ”

“ตัวนั้นเป็นยาขับปัสสาวะหนิ” คนไข้แย้ง “เม็ดกลมสีเหลือง แผงสีม่วง”

“อ่าใช่ครับ เราใช้ยาขับปัสสาวะลดความดัน” ผมก็เพิ่งรู้จากคนไข้เดี๋ยวนั้นว่ายาตัวที่ว่ามีหน้าตาอย่างไร

ครึ่งปีแรกที่ออกตรวจคลินิกโรคเรื้อรัง ซึ่งคนไข้มียาประจำอยู่หลายตัว ผมมักจะมีปัญหาตอนทบทวนการกินยาเดิม และตอนแจ้งปรับยาใหม่กับคนไข้ คือไม่สามารถเรียกชื่อยาตามตรง เช่น “เมทฟอร์มิน” “เอชซีทีแซด” (ยา 2 ตัวที่พูดถึงตอนต้นตามลำดับ) เหมือนกับที่ผมใช้เรียกเวลาคุยกับเภสัชกรหรือพยาบาล

เนื่องจากคนไข้จำชื่อยาไม่ได้

น่าจะเป็นเพราะชื่อยาบนแผงยาเป็นภาษาอังกฤษ คนไข้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุอ่านภาษาอังกฤษไม่ได้อยู่แล้ว ถึงจะสะกดเป็นภาษาไทยไว้บนฉลากยาก็ยังอ่านออกเสียงยากและไม่คุ้นปากคนไทยอยู่ดี

มีบางคนที่จำพยางค์แรก หรือพยางค์สุดท้ายของชื่อได้ เช่น เมทฟอร์มิน ก็อาจเหลือแค่ “ยามินๆ อะไรใช่มั้ย” (Metformin วงเล็บไว้ อยากรู้เหมือนกันว่าคนที่รู้ภาษาอังกฤษจะอ่านชื่อยาในภาษาอะไรง่ายกว่ากัน)

ผมจึงเลี่ยงการเรียกชื่อด้วยการเรียกสรรพคุณแทน น่าสนใจว่าคนไข้ส่วนใหญ่ยังพอทราบว่ายาที่กินตัวไหนใช้รักษาโรคอะไร เช่น “ยาเบาหวาน” “ยาไขมัน” ตามด้วยวิธีการกินยาให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น “ยาเบาหวานที่กินก่อนอาหาร” “ยาไขมันที่กินก่อนนอน”

ส่วนยารักษาโรคความดันโลหิตสูงจะยากขึ้นอีกตรงที่ยาเกือบทุกตัวกินหลังอาหาร ก็อาจแยกได้จากจำนวนมื้อที่กิน เช่น “ยาความดันหลังอาหารที่กินครั้งเดียว” “ยาความดันที่กินหลังอาหารเช้า-เย็น” แต่ถ้ายังเหมือนกันอีกก็ต้องยอมยกธงขาว

“เดี๋ยวคนไข้อ่านวิธีกินยาที่ฉลากยาอีกทีนะครับ เพราะหมอปรับยาตัวความดันอยู่ตัวหนึ่ง”

หลังจากที่คุณลุงคุณป้าย้อนถามเรื่องลักษณะของยาอยู่เรื่อยๆ ก็ทำให้ผมบรรยายรูปร่างของเม็ดยาบางตัวจนคนไข้เข้าใจว่าเป็นยาตัวนั้นๆ โดยไม่เคยเห็นหน้าตาจริงๆ มาก่อน โดยเฉพาะยาเบาหวานที่คนใช้มักจะลืมกินมื้อเที่ยงหรือปรับลดยาเอง เลยต้องทบทวนกับคุณลุงคุณป้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้แทบทุกคน

จนกระทั่งวันหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าไม่อยากตอบคนไข้แบบอ้ำๆ อึ้งๆ อีกต่อไปแล้ว เลยทำให้ตัดสินใจลุกเดินออกจากห้องตรวจ

เดินดุ่มๆ เข้าไปตรงเคาน์เตอร์ในห้องยา

“หยุด! นี่คือการปล้น” พูดพร้อมยกปืนขึ้นมาจี้เภสัช “ส่งยาโรคเรื้อรังมาให้หมด!”

เปล่านะครับ ก็แค่ขอเภสัชกรเข้าไปหยิบยาโรคเรื้อรังทั้งหมดที่มีอยู่ในโรงพยาบาลมาอย่างละแผงใส่ตะกร้ากลับมานั่งดูที่ห้องตรวจเท่านั้นเอง

แกะยาออกจากแผงอย่างละเม็ดมาสังเกตดู—ก็ตรงกับที่คนไข้บอกผมมาจนจำได้ แล้วก็ทิ้งลงถังขยะ ส่วนบางชนิดอยู่ในแผงพลาสติกใสอยู่แล้วก็ปล่อยไว้บนแผงต่อไป ตั้งแต่นั้นมาผมก็ใช้การยื่นแผงยานี้เองให้คนไข้ดูแทนการบรรยายยาวๆ

แต่นานๆ ไป คนไข้ก็อยากเห็นเม็ดยาภายในแผงทึบให้แน่ใจ “ขอป้าแกะดูหน่อยได้มั้ย”

“ยาตัวนี้คนไข้กินยังไงครับ” ผมถามพร้อมกับยื่นซองยาซิปล็อคใสขนาดเล็กเท่าบัตรประชาชนให้คนไข้ดู ภายในนั้นมีแผงยาสีดำ และเม็ดยากลมๆ เล็ก สีขาว มีรอยขีดตรงกลางบรรจุอยู่

“นี่ยาเบาหวานใช่มั้ย” คนไข้หยิบซองไปพลิกหน้าพลิกหลังดูแป๊บเดียวก็นึกออก “กินก่อนอาหาร ครั้งละ 1 เม็ด”

“แล้วกินวันละกี่ครั้งเหรอครับ” ผมทบทวนวิธีการกินยาของคนไข้ว่าตรงกับที่สั่งไว้บนฉลากหรือไม่

วิธีล่าสุดของผม ซึ่งใช้มาเกือบปีแล้วคือ คนไข้จะต้องเห็นตัวอย่างยา ทั้งแผงภายนอกและยาเม็ดที่อยู่ข้างใน เพราะบางคนจำแผงได้ แต่อีกคนจำเม็ดยาได้ หรือบางทีแผงยาก็คล้ายกันต้องแยกที่เม็ดยาอีกที

โดยเอาแผงยาปกติมาตัดแบ่งครึ่ง (ห้องตรวจคลินิกโรคเรื้อรังมี 2 ห้องพอดี) แล้วตัดออก 1 เม็ด แกะเม็ดยาออกมาเก็บไว้ด้วยกันในซองเล็กๆ ที่สามารถหยิบฉวยได้ง่าย—ผม ‘หยิบ’ ออกจากกล่อง ส่วนคนไข้ ‘ฉวย’ เอาไปดู

ทำให้คนไข้นึกออกทันทีว่าผมพูดถึงยาตัวไหนอยู่ และไม่สลับกับยาตัวอื่น โดยเฉพาะยาที่เป็น “เม็ดกลม เล็กๆ สีขาว” เหมือนกัน

ในขณะที่ผมเองก็จะได้รู้ว่ายาตัวไหนมีร่องตรงกลางให้คนไข้สามารถหัก-ตัดแบ่งครึ่งเม็ดยาได้ง่ายบ้าง เวลาสั่งยาก็จะค่อยๆ เพิ่ม-ลดทีละ ½ เม็ด แต่ถ้าไม่มีก็จะเลี่ยงการสั่งแบบนี้ไม่ให้ลำบากคนไข้อีกด้วย เพราะมักจะมีปัญหาแบ่งยาไม่เท่ากัน แบ่งแล้วยากระเด็นหล่นหาย หรือยุ่งยากจนคนไข้ไม่อยากกินยาเลยก็มี

“เหมือนปั๊มน้ำมัน หน้าตาแต่ละปั๊มไม่เหมือนกัน” ผมเปรียบเทียบให้คนไข้ฟังเกี่ยวกับหน้าตาของยา “แต่เวลาเข้าไปเติมน้ำมัน ก็จะได้น้ำมันชนิดตามที่เราสั่งเหมือนกัน”

เพราะคนไข้มักจะเข้าใจผิดว่าถ้าลักษณะของแผงยาหรือเม็ดยาเปลี่ยนไป เท่ากับหมอเปลี่ยนยาตัวใหม่ แต่ความจริงแล้วยังเป็นยาตัวเดิม เช่น ยังเป็นเมทฟอร์มินเหมือนเดิม ขึ้นกับว่าโรงพยาบาลซื้อยาของบริษัทใด หน้าตายาจึงไม่เหมือนกันแบบหน้าตาปั๊มน้ำมันแต่ละเจ้านั่นเอง

ตอนแรกเลยผมนึกอะไรไม่ออกก็เปรียบเทียบเป็นผัดกะเพรา (สิ้นคิดมั้ยล่ะครับ) “จะสั่งร้านไหนก็ได้ผัดกะเพราเหมือนกัน” (ยาอาจแตกต่างกันในระดับโครงสร้าง เปรียบเป็นผัดกะเพราก็สมจริงอยู่ไม่น้อย) แต่ถ้าจะยกตัวอย่างเป็นยาก็คือ ไม่ว่าจะเป็นไทลินอล (เม็ดแท่ง), ซารา (มีทั้งเม็ดแท่งและเม็ดกลม), Para GPO ขององค์การเภสัช (เม็ดกลม) ก็คือยาพาราเซตามอลตัวเดียวกัน

ดังนั้นผมจะต้องอัปเดตยาบนโต๊ะทุกครั้งที่วนมาตรวจคลินิกโรคเรื้อรังว่าห้องยาเปลี่ยนบริษัทยาบ้างหรือไม่ ไม่อย่างนั้นเวลาคนไข้รับยาก็จะงงว่าในห้องหมอพูดถึงยาตัวหนึ่ง แต่เภสัชฯ พูดถึงยาอีกตัว

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้สนับสนุนให้คนไข้โรคเรื้อรังจดจำยาแต่ละชนิดตามลักษณะยา เพราะยาแต่ละตัวมีหลายบริษัทที่ผลิต ถ้าเปลี่ยนโรงพยาบาลหรือจำเป็นต้องส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดก็อาจไม่ได้ใช้ยาบริษัทเดียวกัน ลักษณะยาจึงไม่ใช่ภาษาสากล แต่ถ้าหากเรียกเป็นชื่อยาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นระหว่างคนไข้ด้วยกันเอง หรือระหว่างคนไข้กับหมอ ย่อมเข้าใจตรงกันอย่างแน่นอน

ผมจึงมีความคาดหวังอีกอย่างคือ คนไข้โรคเรื้อรังอายุน้อยจะสามารถจำชื่อยาที่ตัวเองกินอยู่ประจำได้ เพราะคุ้นชินกับภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก สามารถอ่านสะกดภาษาอังกฤษได้ และยาที่ใช้ก็มีเพียง 2-3 ชนิด พออีก 10-20 ปีข้างหน้ากลายเป็น “คุณลุง” “คุณป้า” ของหมอจบใหม่แล้ว ถึงตอนนั้นพวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องมาทำแบบเดียวกับผมแล้วก็ได้

Tags: