1

การหลงทางกับชีวิตในมหานครใหญ่ดูเหมือนจะเป็นของคู่กัน เชื่อว่าหลายคนเคยมีประสบการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันไม่มากก็น้อย ลองจินตนาการหากสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ต้องเร่งรีบที่สุดจะเป็นอย่างไร คงไม่อยากคิดหากต้องมาติดอยู่บนท้องถนนที่มีรถคับคั่งหาทางออกกันไม่ได้เป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง คิดว่าคงทรมานไม่น้อย หรืออาจต้องเดินเท้าอย่างเร่งรีบเพื่อออกจากเขาวงกตในร้านรวงที่ขนาบข้างไปด้วยรถที่วิ่งไปมาบนท้องถนน นอกจากจะพาให้อารมณ์เสียแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกายไปพร้อมกัน

อาการหลงทิศทาง ส่วนหนึ่งอาจเกิดจาก ทักษะทิศทางและการนำทาง (Sense of direction) และ แผนที่ทางความคิด (Mental map) กำลังทำงานผิดพลาด โดย 2 สิ่งนี้จะเกิดการทำงานก็ต่อเมื่อเรากำหนดสถานที่เป้าหมายในการเดินทาง และ 2 สิ่งนี้จะช่วยในการนำทางไปโดยที่เราไม่รู้ตัว

ทักษะทิศทางและการนำทาง เป็นสิ่งที่ทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกได้รับมา เช่น การเดินทางของนกอพยพ หรือเส้นทางวางไข่ของแม่เต่าในทะเล แต่ในมนุษย์เราทักษะดังกล่าวนี้อาจไม่ดีนัก เพราะมนุษย์ในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ มนุษย์มีการสร้างที่อยู่อาศัยแน่นอนเป็นหลักแหล่งอย่างชัดเจน การเดินทางลักษณะนี้ คือ การเดินทางแบบแน่นอน (Route-based navigation) ที่ใช้ทักษะทิศทางและการนำทางทำงานร่วมกับความทรงจำ หรือความคลับคล้ายคลับคลาในสถานที่บางอย่างก็จะจำเส้นทางได้ เช่น เดินตรงไปข้างแล้วหน้าเลี้ยวขวาจะเจอร้านสะดวกซื้อ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าซอยอีก 300 เมตร จะเจอบ้านอาที่เคยมาเล่นกับเราในอดีต ถัดไปอีก 2 หลังคือบ้านป้าที่เป็นเป้าหมาย 

ทักษะเช่นนี้จะใช้ได้ดีกับ ‘รูปแบบเมือง’ ที่จำเป็นต้องคุ้นเคยในระดับหนึ่ง กลับกันหากในสถานการณ์ดังกล่าวมีถนนกำลังซ่อม เราจำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางโดยกะทันหัน ไปยังเส้นทางที่ไม่คุ้นเคยเส้นทางในการเดินทางเริ่มสลับซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงต้องมีอีกทักษะหนึ่งที่มาทดแทนช่องว่างดังกล่าว คือ แผนที่ทางความคิด ซึ่งเป็นการสร้างแผนที่จินตนาการขึ้นมาว่า จะสามารถเดินทางไปยังเส้นทางใดได้ โดยให้ไปถึงจุดหมายเดิม บางครั้งทักษะนี้ก็เราสามารถสร้างทางลัดขึ้นในหัว และใช้ทางลัดนั้นไปสู่จุดหมายได้เช่นกัน

ดังนั้นแล้วการอยู่อาศัยในเมืองใหญ่ ย่อมต้องใช้ทั้ง 2 ทักษะไปพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม มีการค้นพบว่า ยิ่งเมืองใดที่มีความซับซ้อน การเดินทางยิ่งไม่สามารถคาดเดาได้ การทำงานของทั้ง 2 ทักษะนี้ย่อมแสดงให้เห็นประสิทธิภาพที่มากขึ้น ยิ่งเติบโตมาในเมืองหรือที่ซับซ้อนจะยิ่งเก่งเรื่องเส้นทาง มากกว่าคนที่เติบโตมาในพื้นที่เป็นระเบียบแบบแผน

 

2

งานวิจัยร่วมจาก 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งลอนดอน มหาวิทยาลัยแห่งบริเตน และมหาวิทยาลัยลียง ประเทศฝรั่งเศส ที่ศึกษาผู้คนในเมืองใหญ่ อธิบายว่า ผู้คนที่เติบโตท่ามกลางเมืองใหญ่ อย่างเช่น ชิคาโก (Chicago) หรือนิวยอร์ก (New York) ที่มีผังเมืองส่วนใหญ่เป็นช่องหรือตารางสี่เหลี่ยมตัดกันเป็นจตุรัสมักจะประสบปัญหาการหลงทางได้ง่ายกว่า หากไปอยู่ในสถานที่ไม่คุ้นเคยหรือพบเป็นครั้งแรก มากกว่าคนที่อยู่ในเมืองที่กำลังพัฒนาหรือแถบชนบท ที่การวางผังเมืองยังซับซ้อนและไม่เป็นระเบียบ

อัลโตนีโอ คาทาต นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลียง กล่าวว่า “การเติบโตในที่มีการจัดวางถนนหรือเส้นทางที่ซับซ้อนมาก อาจช่วยเรื่องทักษะการนำทางได้ เนื่องจากต้องใช้ทักษะการติดตามทิศทางและขัดเกลาแผนที่ทางความคิดไปพร้อมกัน เช่น เลี้ยวหลายครั้งในมุมต่างๆ กัน ขณะที่คุณอาจต้องจำถนนเพิ่มเติม และจุดสังเกตสำหรับการเดินทางแต่ละครั้งมากขึ้น”

งานวิจัยนี้ตรงกับการทดลองของบริษัทวิจัย Alzheimer’s Research UK และบริษัทผู้ให้บริการด้านมือถือและแอปพลิเคชัน Deutsche Telekom ที่ได้ร่วมกันออกแบบเกม Sea Hero Quest ซึ่งใช้ในงานวิจัยภาวะสมองเสื่อม โดยเมื่อเกมดังกล่าวเริ่มเล่น จะปรากฏแผนที่เดินเรือพร้อมเส้นทางไปยังภารกิจมาให้ผู้เล่นจดจำ แต่เมื่อเริ่มเดินทางแผนที่จะหายไป และต้องใช้ทักษะในการปะติดปะต่อเส้นทางเอง เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายให้ได้ แอปพลิเคชันดังกล่าวมีผู้ร่วมเข้าทดสอบกว่า 4.3 ล้านคน จาก 38 ประเทศทั่วโลก

ไมเคิล ฮอร์นเบอร์เกอร์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมวิจัยและนักวิจัยด้านภาวะสมองเสื่อม จากมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย (University of East Anglia) ชี้แจงผลการวิจัยว่า ผู้คนที่มาร่วมทดสอบ หากพวกเขาเติบโตขึ้นนอกเมืองใหญ่ ที่ไม่มีจุดชี้บอกเส้นทางเป็นหลักแหล่ง มักจะมีทักษะการนำทางที่ดีกว่าผู้ที่มาจากในเมืองที่ไม่ซับซ้อน

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยด้านภาวะสมองยังพบว่า ทักษะในการนำทางมีความสัมพันธ์กับความมั่งคั่งของประเทศ ผู้เล่นจากประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross domestic product: GDP) ต่อหัวสูงกว่าจะทำคะแนนได้ดีกว่า และผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในสถานที่ที่ไม่มีความเท่าเทียมทางเพศจะได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์เสมอในเรื่องของเส้นทาง

รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาที่มีประชากรเติบโตเป็นจำนวนมาก และขนาดของเมืองก็ขยายใหญ่ขึ้นตามสัดส่วนประชากรที่เพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการขยายที่อยู่อาศัยกลับไม่เป็นไปตามระบบผังเมืองที่มีคุณภาพมากพอ ความซับซ้อนที่พอดีจะฝึกทักษะไม่ให้คนหลงทางในขณะที่เจอกับประสบการณ์ใหม่ๆ แต่ความแออัดของผู้คนในเมืองใหญ่ผสมปนเปกับเส้นทางที่เลี้ยวลด กลับกลายเป็นเขาวงกตกลางเมืองที่ทำให้ประชากรที่อาศัยในเมืองต่างปวดหัวทุกครั้งที่ต้องออกจากบ้าน ซ้ำร้ายในบางประเทศยังมีปัญหาการจราจรที่คับคั่งหาทางออกไม่ได้ เขาวงกตแบบนี้คงไม่ใช่สถานที่ขัดเกลาที่ดีพอ ผลลัพธ์การวิจัยจึงชี้ชัดว่า บางครั้งเมืองเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทักษะทิศทางและการนำทาง และแผนที่ทางความคิด ทำงานผิดพลาดและเกิดความสับสน จึงไม่แปลกที่จะมี ‘อาการหลงทิศทาง’ ในเมืองที่ซับซ้อนและบิดเบี้ยวมากเกินไปอยู่ตลอดเวลา

ทางด้าน แอมเบอร์ วัตต์ (Amber Watts) รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยแคนซัส (University of Kansas) ซึ่งศึกษารูปแบบพื้นที่การจัดการประชากรและการออกแบบผังเมืองกล่าวว่า การทำให้เมืองมีความซับซ้อนที่มากเกินไป ไม่ได้ก่อให้เกิดความคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องดูแลจัดการ และความซับซ้อนดังกล่าวยังส่งผลให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ดังนั้นต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการมีเมืองที่ซับซ้อนอย่างพอดี กับเมืองที่ซับซ้อนมากเกินไปจนปัญหาตามมาไม่รู้จบ

“ต้องตั้งคำถามไปถึงรัฐว่า เราควรออกแบบสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่มีความท้าทาย มากกว่าการให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตของประชาชนหรือไม่ อันที่จริง หน้าที่ของรัฐควรทำให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตในเมืองอย่างสบายและดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มากกว่าจะมาสนใจว่าพวกเขาจะต้องขัดเกลาทักษะเพื่อไม่ให้หลงทางในอนาคต มันเป็นไปได้มากกว่าที่ประชาชนจะหลงทิศทางเพราะความซับซ้อนมากเกินไปจากผังเมืองที่ไม่ได้คุณภาพตลอดเวลา

 “ถ้าไปหานักวางผังเมืองแล้วพูดว่า ทำให้สับสนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คงไม่มีนักวางผังเมืองและประชาชนคนไหนชอบแน่ๆ”

 

3

ย้อนกลับมามองประเทศไทย เชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นภาพมุมสูงของกรุงเทพมหานคร เส้นทางบ้านเรือนดูค่อนข้างน่าสับสน วนไปวกมาอย่างกับเขาวงกตย่อมๆ ยิ่งขับรถในเมืองยิ่งแล้วใหญ่ ถ้าไม่ใช้จีพีเอสหรือมีความคุ้นเคยกับเส้นทางมากพอ คงหลงไปได้ง่ายๆ ดังนั้นการให้ความสำคัญกับผังเมืองเป็นสิ่งที่ต้องหันมาใส่ใจเสมือนเป็นกระดุมเม็ดแรกที่จะกลัดให้เมืองออกมาสวย ซับซ้อนหรือสับสน แต่จากที่เห็นมุมสูงทำไมจึงกลายเป็นมหานครที่พื้นที่บางแห่งยังมีความทับซ้อน แยกวกวน เป็นไปได้ไหมว่าประเทศไม่มีผังเมืองตั้งแต่เริ่มต้น คำตอบคือเรามีการพัฒนาผังเมืองมาอยู่เสมอ ดังนี้

จากงานวิจัย ‘วิวัฒนาการการผังเมืองของประเทศไทย’ ของ ปานปั้น รองหานาม พบว่าประเทศไทยมีการดำเนินการด้านผังเมืองมายาวนาน โดยสรุปไว้ว่า การผังเมืองของประเทศไทยในช่วงแรกเป็นการดําเนินงานวางแผนพัฒนาพื้นที่ ซึ่งเป็นภารกิจของ ‘เจ้า’ หรือกษัตริย์ในการครองเมืองจากอริราชศัตรู จนถึงการปรับเปลี่ยนการปกครอง พ.ศ. 2475 การวางรากฐานดำเนินการด้านสาธารณูปโภค เช่น การไฟฟ้า และการประปา รวมถึงการพัฒนาย่านพาณิชยกรรมถนนราชดำเนินกลาง และด้านอื่นๆ อีกมากมาย จน พ.ศ. 2495 ประเทศไทยมีกฎหมายพระราชบัญญัติการวางผังเมืองและชนบทฉบับแรก ที่เอื้อการวางแผนแบบอุดมคตินิยม (Utopianism) จึงโยกย้ายให้การวางผังเมืองเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอย่างเบ็ดเสร็จ

กระทั่งมีกำหนดนิยามของ ‘การผังเมือง’  ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 หมายถึงว่า การวาง จัดทำ และดำเนินการให้เป็นไปตามผังเมืองรวมและผังเมืองเฉพาะ ในบริเวณเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท เพื่อสร้างหรือพัฒนาเมืองหรือส่วนของเมืองขึ้นใหม่ หรือแทนเมืองหรือส่วนของเมืองที่ได้รับความเสียหาย เพื่อให้มีหรือทำให้ดียิ่งขึ้นซึ่งสุขลักษณะ ความสะดวกสบาย ความเป็นระเบียบ ความสวยงาม การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน ความปลอดภัยของประชาชน และสวัสดิภาพของสังคม เพื่อส่งเสริมการเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม เพื่อดำรงรักษาหรือบูรณะสถานที่หรือวัตถุที่มีประโยชน์ หรือคุณค่าในทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี หรือเพื่อบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิประเทศที่งดงาม หรือมีคุณค่าในทางธรรมชาติ และการผังเมืองก็พัฒนาตลอดเวลา มีการแก้ไขปัญหาพื้นที่ต่างๆ ให้เป็นไปตามการวางแผนพัฒนา

โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีการวางผังเมืองที่ดูได้มาตรฐานแล้ว แต่ปัญหาก็คือ ผังเมืองในกรุงเทพฯ นั้น ยิ่งแก้ยิ่งซับซ้อน และไม่แก้ไขก็ไม่ได้ เพราะจำเป็นต้องขยายการรองรับการอยู่อาศัยให้เพียงพอต่อทั้งคนกรุงเทพฯ และประชากรแฝง ทั้งหมดที่กล่าวมาจึงดูเป็นภารกิจที่ยากและท้าทายไม่น้อย

ดังนั้นแล้ว ผู้ที่เข้ามาจัดการเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครแห่งนี้ ต้องตัดสินใจให้ดีว่า จะให้กรุงเทพมหานครแห่งนี้ อยู่บนเส้นคาบเกี่ยวระหว่างความซับซ้อนที่พอดีกับมากเกินไปจนก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ทั้งหมดอยู่ในมือผู้ที่จะเข้ามาดูแลเมืองใหญ่แห่งนี้ในอนาคต และหวังว่า จะนำทางผู้คนไม่ให้เกิดการอาการ ‘หลงทิศทาง’ อีกต่อไป

 

ที่มา

https://www.nytimes.com/2022/03/30/science/navigation-directions-brain-dementia.html

https://www.sciencenews.org/article/navigation-skills-childhood-city-grid-country

https://www.fastcompany.com/90736518/do-you-have-a-poor-sense-of-direction-your-hometown-could-be-to-blame

https://www.tuda.or.th/index.php/2018/08/02/000005/

https://www.popsci.com/science/sea-hero-quest-shaping-navigational-skills/

Tags: , ,