“ทำไมอากาศมันร้อนอย่างนี้!”
ช่วงที่ผ่านมาหลายคนน่าจะเผลอบ่นอุบประโยคข้างต้น เพราะสภาพภูมิอากาศในกรุงเทพมหานครที่ร้อนระอุทะลุ 40 องศาเซลเซียส ยังไม่นับรวมแดดยามเที่ยงที่แผดเผาจนแสบผิวหนัง จึงไม่แปลกใจที่การเดินเดินห้างสรรพสินค้าหรือเลือกอยู่บ้านเฉยๆ จะเป็นวิธีหลบร้อนที่ดีที่สุดในเวลานี้
ปัญหา ‘ความร้อนในเมือง’ ไม่ได้พบเจอแค่ในกรุงเทพฯ เมืองเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถพบได้ในหลายแห่ง เมื่อเป็นเช่นนั้น หลายที่จึงพยายามลดอุณหภูมิให้เมือง ยกตัวอย่างเช่น ‘สิงคโปร์’ ที่มีโครงการ Cooling Singapore ที่ออกแบบโครงข่ายทำความเย็นใต้ติน เพื่อลดอุณหภูมิของพื้นผิวทางเดิน หรือที่เรียกว่า District Cooling System โดยอาศัยชุดข้อมูลมหาศาลจากสภาพแวดล้อม การจราจร และสภาพอาคารมาคำนวณ ก่อนจะลำเลียงน้ำเย็นไปยังบริเวณที่มีเกาะความร้อน (Urban Heat Island: UHI) สูง หรือในมหานครใหญ่อย่าง ‘นิวยอร์ก’ สหรัฐอเมริกา ก็มีการแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการเปิดพื้นที่สาธาณะอย่างห้องสมุดหรือพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้ประชาชนเข้าไปหลบร้อน
เมื่อมองกลับมายังกรุงเทพฯ พบว่า เราเคยพยายามสรรหาวิธีลดอุณหภูมิเช่นเดียวกัน ผ่านโครงการ ‘ปลูกต้นไม้ล้านต้น’ ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ปัจจุบันปลูกไปแล้วกว่า 8.83 แสนต้น ทว่ายังไม่สามารถทำให้อุณหภูมิเมืองเย็นลงสักเท่าไรนัก
ด้วยปัญหาดังกล่าวนำมาซึ่งคำถามสำคัญ คือเหตุใดกรุงเทพฯ ยังคงมีอุณหภูมิสูง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสมควรแก้ไขปัญหานี้อย่างไร?
The Momentum ชวนผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกวลี สุธีธร อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดคุยถึงปัจจัยที่ส่งผลให้กรุงเทพฯ มีอุณหภูมิสูงผิดปกติ รวมไปถึงแนวทางการลดอุณหภูมิเมืองระยะยาวว่าควรทำเช่นไร
กนกวลีเริ่มต้นบทสนทนาให้เราฟังว่า มี 3 ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่ออุณหภูมิเมืองสูง คือ
- การที่เมืองมีพื้นดาดแข็ง อย่างคอนกรีตหรือแอสฟัลต์ (Asphalt) ที่รู้จักกันในชื่อ ‘ยางมะตอย’ เป็นพื้นผิวที่มี ‘ค่าอัลบีโด’ (Albedo) หรือค่าสะท้อนแสงต่ำ ทำให้พื้นผิวเหล่านั้นกักเก็บความร้อนไว้ในปริมาณที่สูง
- การใช้ชีวิตของผู้คนทำให้มีการใช้พลังงานสูง เช่น การใช้ยานพาหนะ หรือการเปิดเครื่องปรับอากาศ ก็ส่งผลต่ออุณหภูมิเมืองได้เช่นเดียวกัน
- ปรากฏการณ์เกาะความร้อน เนื่องจากเมืองมีอาคารสูงซึ่งกักความร้อนไว้จำนวนมาก อีกทั้งยังบังทิศทางของลมทำให้ไม่สามารถถ่ายเทความร้อนออกจากพื้นที่นั้นๆ ได้
เมื่อถามถึงแนวทางการการลดความร้อนในเมือง กนกวลีตอบว่า ‘ต้นไม้’ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยอธิบายให้ฟังว่า
“หนึ่ง ต้นไม้จะให้ร่มเงาและปกคลุมพื้นผิวดาดแข็งทำให้มีการกักเก็บความร้อนต่ำ
“สอง ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการแลกเปลี่ยนก๊าซและคายน้ำ การที่มีต้นไม้อยู่ในบริเวณนั้นๆ จะทำให้มีความชื้น เพิ่มออกซิเจน และให้ความรู้สึกว่าอากาศดีขึ้น ในการกรองมลพิษ”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านภูมิสถาปัตย์อธิบายเพิ่มเติมว่า ต้นไม้ที่ปลูกไม่จำเป็นต้องเป็นไม้ยืนต้น แต่อาจเป็นไม้พุ่มหรือไม้คลุมดินเพื่อเพิ่มความชื้นในบริเวณพื้นที่ดาดแข็ง ในต่างประเทศมีการออกแบบทางเท้าโดยเพิ่มส่วนขอบขยายของทางเท้า (Bulb-Outs) สำหรับการปลูกต้นไม้และพืชคลุมดินเพื่อลดอุณหภูมิของผิว
นอกจากนี้ การทำสวนแนวตั้ง (Green Wall) หรือสวนหลังคา (Green Roof) ยังเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการช่วยลดการดูดซับความร้อนและลดการสะท้อนของอาคารได้ อย่างไรก็ดี กนกวลีระบุว่า วิธีลดอุณหภูมิเมืองของ กทม. ด้วยการปลูกต้นไม้ แม้จะเป็นวิธีที่ใช้ต้นทุนต่ำ แต่ก็ต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะเห็นผลเช่นกัน
“โจทย์ที่สำคัญของกรุงเทพฯ คือมันร้อนมาก และมีจุดความร้อนเต็มไปหมด หลายเมืองก็มีวิธีลดความร้อนต่างกัน แต่การปลูกต้นไม้คือทางออกที่เบสิกและไม่แพง ซึ่งจะอยู่ได้ยั่งยืน
“แต่ก็ต้องเข้าใจว่า ปลูกต้นไม้วันนี้กว่าที่มันจะโตจนให้ร่มเงาใช้เวลา 5-10 ปี และจะใช้โตเต็มที่จนสร้าง Carbon Neutral กักเก็บคาร์บอนอาจจะต้องใช้เวลา 30 ปี เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนในระยะยาวและต้องเริ่มทำเลย”
กนกวลียังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในปัจจุบันหลายเมืองมีการบูรณการศาสตร์ของต้นไม้ในเขตเมือง (Urban Forest Plan) ว่าจะมีสัดส่วนต้นไม้คลุมเมือง หรือ ‘Canopy Cover’ เป็นเท่าไร อย่างในยุโรปมีเพียงแค่ 15% ขณะที่สหรัฐอเมริกาตั้งเป้าว่าจะมี Canopy Cover อยู่ที่ 30% เพื่อที่จะทำให้อุณหภูมิของเมืองอยู่ได้ และลดความทรมานจากคลื่นรังสีความร้อน
“เวลาปลูกต้นไม้ก็ให้ความสำคัญกับตัวเลขในเขตพื้นที่ที่มีสัดส่วนน้อยก่อน บางเขตที่ไม่มีพื้นที่ในถนนจริงๆ แต่ใช่ว่าการเพิ่มต้นไม้มันไม่ใช่จะเป็นไม่ได้ อาจจะทำเป็นสวนหลังคาในพื้นที่ราชการ หรือวัด เราสามารถเพิ่มสัดส่วนต้นไม้ได้”
ทั้งนี้ เมื่อถามถึงแนวนโยบายของ กทม.ในการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น เพื่อลดอุณหภูมิและมลพิษ ตนมองว่าเป็นความพยายามที่ดี แต่ต้องมองหาพื้นที่ที่เหมาะสม และมีความเข้าใจว่ามีความเสี่ยงที่บางต้นอาจจะตายได้ เพราะมีความท้าทายในเมืองหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นแสงสว่างที่มากเกินไป หรืออุณหภูมิที่สูงเกินไป
“ถ้าเราวางแผนและเข้าใจถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น พยายามให้จำนวนต้นไม้ที่ปลูกรอดให้มากที่สุด นอกจากนั้นแล้ว การปลูกต้นไม้ต้องดูลักษณะของต้นไม้ด้วย ว่าจะปลูกไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่ม ซึ่งสามารถเพิ่มการปกคลุมได้มากแค่ไหน”
สุดท้ายกนกวลีระบุว่า ปัจจุบันรุกขกรเป็นอาชีพที่สำคัญ เพราะเป็นอาชีพที่คอยดูแลรักษาต้นไม้ให้เหมาะสม เช่นการตัดแต่งและรักษาทรงพุ่มให้สมดุล เพื่อในระยะยาวต้นไม้จะสามารถเติบโตอย่างแข็งแรง แต่แม้หน้าที่ดูแลต้นไม้จะเป็นของรุกขกร ถึงกระนั้นก็เป็นหน้าที่ของทุกๆ คนที่ต้องเข้าใจความสำคัญ และหันมาดูแลรักษาต้นไม้อย่างจริงจัง
“เราต้องมองว่าต้นไม้เป็นเครือข่ายหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานของเมือง นี่ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นและวางแผนอยู่คู่กับเมือง เมืองที่ดีเป็นเมืองที่ทุกคนอยู่ได้อย่างมีสุขภาพที่ดี ทั้งสุขภาพการและใจ” กนกวลีกล่าวทิ้งท้าย
อ้างอิง
– https://urbancreature.co/district-cooling-system-in-singapore/
– https://citycracker.co/city-design/how-city-cope-with-urban-heat-island/
Tags: อุณหภูมิ, กรุงเทพมหานคร, สิ่งแวดล้อม, ความร้อน