หากเอ่ยถึงอาณาจักร ‘โบนันซ่าเขาใหญ่’ (Bonanza Khaoyai) ภาพของรีสอร์ตพักผ่อนหย่อนกายหย่อนใจ พร้อมวิวทิวทัศน์เขียวขจีสุดลูกหูลูกตาคงจะเป็นสิ่งที่ใครต่อใครนึกออกเป็นอันดับแรก ในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวช่วงไฮซีซันอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ที่จังหวัดนครราชสีมา

ย้อนกลับไปปี 2535 ไพวงษ์ เตชะณรงค์ นักธุรกิจมือฉมัง ได้บุกเบิกแผ้วถางพื้นที่ทองคำใจกลางเขาใหญ่ราว 5,000 ไร่ ก่อนตัดสินใจเนรมิตให้กลายแหล่งอสังหาริมทรัพย์ และสถานที่ท่องเที่ยวครบวงจรไล่ตั้งแต่โรงแรม รีสอร์ต สนามกอล์ฟ และสวนสัตว์แปลกนานาชนิด มูลค่ารวมแล้วกว่า 4,200 ล้านบาท ภายใต้ชื่อเครือโบนันซ่า กรุ๊ป

ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน (2565) อาณาจักรโบนันซ่ากำลังจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง เมื่อ ‘เมย์-ไพพรรณี เตชะณรงค์’ บุตรสาวและทายาทลำดับที่ 2 ของไพวงษ์ กำลังปลุกปั้นให้ ‘โบนันซ่า เอ็กโซติก พาร์ก’ (Bonanza Exotic Park) เป็นมากกว่าสวนสัตว์แปลก เพราะเธอได้ร่วมมือกับบริดจ์ อาร์ต เอเจนซี (Bridge Art Agency) เพื่อเนรมิตพื้นที่ส่วนหนึ่งให้กลายเป็นนิทรรศการศิลปะประยุกต์ ที่ใช้ชื่องานว่า Creature is Party Animal ด้วยคอนเซปต์การนำจินตนาการ สิ่งแวดล้อม และสรรพสัตว์มาผนวกเข้าด้วยกัน ซึ่งจะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2565 – 31 มกราคม 2566

เราชวนไพพรรณีเจาะลึกถึงโปรเจกต์ดังกล่าว เพื่อหาคำตอบว่าเพราะเหตุใด ‘สวนสัตว์แปลก’ และ ‘งานศิลปะ’ จึงอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทั้งที่ทั้ง 2 อย่างแทบจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง 

โบนันซ่า เอ็กโซติก พาร์ก เป็นอย่างไรบ้างหลังผ่านพ้นช่วงวิกฤตโควิด-19 และผู้คนกล้าที่จะออกมาเที่ยวเหมือนก่อนหน้านี้

ถือว่าค่อยยังชั่วมากขึ้นค่ะ ต้นปีที่ผ่านมาเริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มทยอยเดินทางเข้ามามากขึ้น ถึงจะไม่มากเท่าแต่ก่อน ทว่าส่วนใหญ่ตอนนี้จะเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มาเที่ยวกันเสียมากกว่า 

อย่างตอนนี้ที่เป็นช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นหน้าโลว์ซีซันก็มีคนมาท่องเที่ยวที่นี่เยอะ ส่วนตัวคิดว่านักท่องเที่ยวน่าจะอัดอั้นอยากเดินทางมาพักผ่อนที่เขาใหญ่กันจริงๆ

ถ้าให้เล่าย้อนกลับไปตอนช่วงโควิด เราก็ลำบากกันพอสมควร รายได้ที่เข้ามาตลอดอยู่ๆ ก็หายไป สวนทางกับค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถลดได้ เพราะธุรกิจที่เราทำเกี่ยวกับสัตว์ทั้งเรื่องของค่าอาหาร ยา วัคซีน แต่ถือว่าโชคดีค่ะที่เรามีผู้ดูแลฝ่ายการเงินที่ดีซึ่งอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เมย์เริ่มรับตำแหน่ง (ปี 2017) คอยช่วยวางแผนเรื่องเงินสำรองให้สามารถใช้จ่ายมากพอผ่านพ้นวิกฤต

ถือว่าเป็นความท้าทายพอสมควรที่จะต้องบริหารทั้งคนและสัตว์ให้ผ่านพ้นช่วงเวลาดังกล่าวไปพร้อมกัน

ใช่ค่ะ โดยเฉพาะในส่วนของพนักงานเรายังดูแลพวกเขาตามปกติ ไม่มีให้ออกแบบกะทันหัน หรือปรับลดค่าแรง เพราะทุกคนมีหน้าที่ต้องดูแลสัตว์ตามปกติ และพนักงานส่วนใหญ่ต่างมีครอบครัวต้องรับผิดชอบ เราเลยคิดหาวิธีช่วยพวกเขาอีกแรง เช่น เปิดพื้นที่บางส่วนในโบนันซ่าให้พนักงานสามารถปลูกพืชผักสวนครัว แล้วเอากลับไปกินที่บ้านได้

คุณต้องทำการบ้านเยอะพอสมควรเพื่อมารับช่วงต่อหน้าที่บริหาร โบนันซ่า เอ็กโซติก พาร์ก

เมย์เข้ามารับหน้าที่บริหาร โบนันซ่า เอ็กโซติก พาร์ก ช่วงปี 2017 บอกตามตรงเราไม่แทบไม่มีความรู้ตรงนี้เลย เพราะเราเรียนจบสายศิลปะมา ทุกอย่างตอนเรียนรู้ใหม่หมด เช่น สัตว์ประเภทใดบ้างที่เราสามารถนำเข้ามาเลี้ยงได้ สัตว์ฟาร์มประเภทนี้ เด็กสามารถเล่นกับเขาได้ไหม สัตว์ประเภทไหนที่นำมาให้นักท่องเที่ยวเข้ามาดูเข้ามาศึกษาได้ด้วยตาตนเอง เราต้องคิดเยอะพอสมควรให้สวนสัตว์ของเรามีความหลากหลาย

ไม่ใช่แค่เลือกพันธุ์สัตว์ แต่ยังต้องลงพื้นที่ไปทำงานจริงๆ ทั้งให้อาหาร ป้อนยาหรือให้น้ำเกลือแก่สัตว์ที่ป่วย ศึกษาพฤติกรรมเขาเพื่อจัดการสภาพแวดล้อมเขาให้มีความเป็นอยู่ได้ดีที่สุด

ตอนนี้เรามีสัตว์ในโบนันซ่า เอ็กโซติก พาร์ก มากกว่า 40 สายพันธุ์ ส่วนใหญ่สัตว์ที่มีจะเป็นประเภทนกเป็นหลักเสียส่วนใหญ่ เพราะเราสามารถลงมือเพาะพันธุ์ได้ด้วยตัวเอง หรือล่าสุดจะเป็นสิงโต ที่เราสามารถเพาะพันธุ์ได้เช่นกันปีนึงอย่างน้อย 3-4 ตัว ส่วนที่เหลือก็จะเป็นพวกสัตว์แปลกหายาก เช่น อัลปากา ยีราฟ วัลลาบี ลีเมอร์ ฯลฯ 

คุณเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อก่อนหน้านี้ว่า การทำงานกับธรรมชาติเป็นสิ่งที่ยากที่สุดจนถึงตอนนี้ยังคิดแบบเดิมอยู่ไหม

ไม่แล้วค่ะ (หัวเราะ) ต้องอธิบายว่าตอนนั้นเราอาจจะรู้จักสัตว์แต่ละชนิดได้ไม่มากพอ ต้องมีวิธีการดูแลอย่างไร สภาพแวดล้อมที่เขาอยู่ต้องเป็นแบบไหน แต่ตอนนี้ถือว่าง่ายขึ้นเยอะเราเริ่มมีความคุ้นชินกับวิธีการจัดการ เช่น ถ้าถึงฤดูกาลนี้เราต้องดูแลสัตว์อย่างไรไม่ให้เจ็บป่วย ไม่ให้ตาย จะมีการวางแผนระยะยาวไว้ป้องกัน

หลายคนอาจจะยังมีทัศนคติด้านลบต่อธุรกิจสวนสัตว์ ว่าเป็นหนึ่งในการสนับสนุนให้มนุษย์ทารุณกรรมสัตว์ป่าทางอ้อม ในฐานะที่เป็นผู้บริหารของโบนันซ่า เอ็กโซติก พาร์ก คุณจะอธิบายให้ผู้คนเหล่านั้นเข้าใจได้อย่างไรถึงสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ว่าไม่ใช่เรื่องโหดร้ายอย่างที่คิด

เอาเข้าจริงสวนสัตว์หลายๆ ที่ไม่ว่าจะในต่างประเทศหรือประเทศไทยถือเป็นแหล่งรับเลี้ยงและช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ถูกทำร้ายหรือถูกทอดทิ้ง อย่างในต่างประเทศเขาก็จะนำสัตว์ป่าที่ถูกคณะละครสัตว์ทารุณมารับเลี้ยงดูต่อในสถานที่ปลอดภัย เพราะพวกมันเองก็ไม่เหลือสัญชาติญาณที่จะกลับสู่ป่าได้อีก

และความจริงทุกๆ สวนสัตว์มักจะร่วมมือกันแลกเปลี่ยนความรู้รวมถึงหาวิธีในการเพาะพันธุ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ อย่างเมื่อ 2 ปีก่อน ทางเราได้แลกเปลี่ยนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์สิงโตกับสวนสัตว์ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และไนท์ซาฟารีแห่งหนึ่ง จนได้ทายาทมา 3-4 ตัว อีกหนึ่งเหตุผลหลักก็เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกออกมาพิการเจ็บป่วยง่ายจากวงศ์ญาติที่ใกล้ชิดกันเกินไป

ช่วยเล่าให้เราฟังถึง Creature is Party Animal โปรเจ็กต์ล่าสุดของคุณที่นำเอางานศิลปะมารวมกันสวนสัตว์หน่อยว่ามีแรงบันดาลใจจากอะไร

จุดเริ่มต้นเกิดจากการที่เรามีโอกาสได้ไปชมงานบอลลูนอาร์ต (BalloonArt) ที่โรงแรม The Standard (เดอะ สแตนดาร์ด) เราเลยฉุกคิดไอเดียขึ้นได้ว่าถ้างานนิทรรศการศิลปะจัดขึ้นที่นี่ได้ ถ้างั้นไม่ว่าจะที่ไหนก็ต้องจัดได้บ้างสิ ไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่ตามหอศิลป์หรือแกลลอรีอาร์ทในกรุงเทพฯ เสมอไป ถ้าอย่างนั้นลองเอางานศิลปะแบบนี้มาจัดในสวนสัตว์เราบ้างดีไหม คนที่มาเที่ยวจะได้ดูงานศิลป์และสัตว์ไปพร้อมกัน จุดนี้ยังช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่ครอบครัวได้อีกด้วย เราเลยติดต่อไปยังบริดจ์ อาร์ต เอเจนซี ที่เป็นผู้ออกแบบงานบอลลูนอาร์ทให้มาช่วยวางแผนโปรเจกต์

ส่วนคอนเซปต์ของงานนี้คือ Creature Is ที่ชวนศิลปินชื่อดัง อาทิ DEE SWEETDRUG (ชาญณรงค์ ขลุกเอียด), GOH M (กิตติพงษ์ คำศาสตร์ หรือ เอ็ม บุดด้า เบลส) และ TIKKYWOW (พิเชฐ รุจิวรารัตน์) มารังสรรค์งานประติมากรรมขนาดใหญ่ (Large Scale Sculpture) ด้วยโจทย์ของการเล่นนำสิ่งแวดล้อมและสัตว์ต่างๆ มาเสนอในรูปแบบคาแรกเตอร์การ์ตูน สิ่งมีชีวิต ไปจนถึงสัตว์ประหลาด ที่สร้างตามจินตนาการของพวกเขา

นอกจากนี้ยังมีงานบอลลูนอาร์ตที่ออกแบบโดย 6 ศิลปินฝีมือดีได้แก่ NEV3R, LOLAY, FREAK, KASSY, CUSCUS, และ MAX

ฟังดูแล้วทั้งสองสิ่งแทบไม่น่าจะเข้ากันได้เลย

จริงๆ ต่างประเทศก็มีจัดงานแบบนี้เหมือนกันค่ะ อย่างสวนสัตว์โตรอนโต (Toronto Zoo) ในแคนาดา เขาออกแบบสวนสัตว์ให้เป็นธีม Light Inspiration ให้คนเข้าเดินสำรวจเส้นทางดูไฟตอนกลางคืนพร้อมฟังเสียงสัตว์ไปพร้อมกัน แต่ของเราคงจัดขึ้นในช่วงเช้าเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถถ่ายภาพได้สะดวก

 ไฮไลต์ของงาน Creature is Party Animal ที่อยากนำเสนอมีอะไรบ้าง

อยากจะบอกว่าเป็นไฮไลต์ทั้งหมดเลยค่ะ (หัวเราะ) เพราะทุกงานศิลปินตั้งใจทำออกมาเป็นพิเศษ มีการวางแผนลงพื้นที่ว่าชิ้นงานของเขาควรจัดแสดงอยู่ตรงไหนจึงจะดึงดูดคนดูได้ อย่างชิ้นงานประติมากรรมของ DEE SWEETDRUG ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเสาโทเทม  (Totem Pole) ของชาวอินเดียนแดง มาตีความประยุกต์ใหม่ในคอนเซปต์ Totem of Happiness หรือเสาแห่งความสุขที่หยิบเอาสัตว์ในโบนันซ่า เอ็กโซติก พาร์ก มาประดับประดา

อย่างของ GOH M  ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากความชื่นชอบใน UFO เขาเลยตั้งใจเอามาผสานเข้ากับบรรยากาศในพื้นที่สวนสัตว์ ด้วยจินตนาการที่ว่าหากมี UFO มาปรากฏตัวที่นี่ แล้วแอบดูดพวกสัตว์ขึ้นไปบนยานจะเป็นอย่างไร 

ส่วนของ TIKKYWOW ศิลปินสายกราฟิตี้ เขาได้หยิบบรรดาคาแรกเตอร์สัตว์เอ็กโซติกมาแปลงโฉมเป็นลวดลายการ์ตูนสีสันจัดจ้านได้อย่างกลมกลืนเข้ากับสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ตามคอนเซปต์ที่มีชื่อว่าสัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นทั้งเพื่อนรัก มาสนุกปาร์ตี้กันเถิด

 อีกทั้งศิลปินทั้งสามคนยังร่วมกันออกแบบของที่ระลึกไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืด กระติกน้ำ และร่มให้ขายเฉพาะในงาน และเรายังชวน Temporary West ที่เป็นกลุ่มศิลปินสตรีตอาร์ตมาร่วมเวิร์กช็อปแก่ผู้ที่เข้าร่วมงานได้ออกแบบสกรีนลายกราฟิตีบนกระเป๋าและเสื้อตามจินตนาการ (จำกัดสิทธิ์เฉพาะลูกค้า 100 ท่านแรก) 

ทราบมาว่างานจัดแสดงนี้เปิดให้เด็กนักเรียนเข้าดูฟรีเพราะต้องการเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจด้านศิลปะ

ด้วยความที่งาน Creature is Party Animal จัดในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เด็กนักเรียนกำลังปิดเทอมอยู่พอดี ทางเราเลยติดต่อกับโรงเรียนในตำบลละแวกใกล้เคียงให้อาจารย์สามารถจัดโปรแกรมมาทัศนศึกษาได้ฟรี ให้เขาได้ซึมซับงานศิลปะกันตั้งแต่เด็ก เพราะถ้าหากดูดีๆ แถวเขาใหญ่ไม่มีที่ไหนเลยที่มีที่จัดงานศิลปะ ส่วนใหญ่อาร์ตแกลลอรีต่างๆ แทบจะกระจุกตัวอยู่แค่ใน กทม. ทั้งที่ความจริงไม่ว่าจะที่ไหนก็สามารถจัดงานศิลปะได้แม้แต่ภายในชุมชนเองก็ตาม

เมย์ว่าไม่ใช่แค่เรื่องของศิลปะ แต่เรื่องอื่นๆ ที่เด็กแถวนี้จะได้เรียนรู้ยังค่อนข้างน้อย ทางโบนันซ่าเองก็มีโรงเรียนที่อยู่ในความดูแล เราก็พยายามจะปลูกฝังเขาให้เรียนรู้การอนุรักษ์สัตว์ ไม่แน่ว่าเมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่อาจจะมาประกอบอาชีพช่วยเหลือสัตว์ หรืออาจกลายเป็นศิลปินที่ดีในอนาคตก็ได้

อนาคตเรายังวางแผนกับเจ้าของกิจการจากชุมชนใกล้เคียงมาร่วมกันจัดงานศิลปะ Khaoyai Art Week ในแต่ละสัปดาห์ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ ขณะที่ลูกค้าก็จะได้สนุกไปกับการตามรอยโร้ดแมปดูงานศิลปะตามจุดต่างๆ

ในอนาคตคุณวางเป้าหมายให้โบนันซ่า เอ็กโซติก พาร์ก เป็นไปในทิศทางใด

เรื่องของการขยายพื้นที่ยังไม่ได้นึกถึง แต่เร็วๆ นี้เราวางแผนที่จะทำให้สวนสัตว์ของเราเป็น Sustainable Zoo ที่มีการปลูกผักรวมถึงผลไม้ปลอดสารพิษต่างๆ ไว้ให้สัตว์บริโภค ทั้งยังเอามูลสัตว์แต่ละวันมาเป็นปุ๋ยสำหรับปลูกผลผลิตหมุนเวียนกันเป็นวงจรยั่งยืน และเป็น Zero Waste Zoo สวนสัตว์ที่ปราศจากขยะ ซึ่งตอนนี้ถือว่าเริ่มทำกันไปได้แล้วส่วนหนึ่งอย่างหลังบ้านพนักงานก็จะมีจุดคัดแยกขยะ คอยนำกล่องกระดาษและขวดพลาสติกไปรีไซเคิล แม้แต่งานศิลปะที่จัดแสดงบางชิ้นเราก็นำขยะเหลือใช้มาดัดแปลงเช่นกัน (ยิ้ม)

Fact Box

  • งาน Creature is Party Animal จัดแสดงงานศิลปะตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2565 – 31 มกราคม 2566 ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. (เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์) และ 09.00-18.00 น. (เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
    สามารถซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่ https://www.facebook.com/bonanzazoo99/ หรือบริเวณหน้าสวนสัตว์
    ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: Bridge Art Agency และ Instagram: BONANZA EXOTIC PARK หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่เบอร์ 091 013 1934
  • บริดจ์ อาร์ต เอเจนซี (Bridge Art Agency) คือบริษัทออกแบบและรับจัดงานด้านศิลปะ ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของผู้มีความคิดสร้างสรรค์และมีใจรักในงานศิลปะ
  • ไพวงษ์ เตชะณรงค์ ถือเป็นนักธุรกิจที่คร่ำหวอดอยู่แวดวงการเมืองมาโชกโชน โดยในปี 2554 ได้ถูกแต่งตั้งเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งยังมีความสนิทชิดเชื้อกับอดีตรองนายกรัฐมนตรีพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
  • ปัจจุบันภาพรวมของธุรกิจในเครือโบนันซ่า กรุ๊ป ไพวงษ์ เตชะณรงค์ ได้ส่งมอบให้แก่ ร้อยตำรวจเอก สงกรานต์ เตชะณรงค์ บุตรชายคนโต
  • ชื่อของโบนันซ่าเขาใหญ่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการที่ ไพวงษ์ เตชะณรงค์ ชื่นชอบในภาพยนตร์แนวแอ็กชัน-คาวบอยเรื่องโบนันซ่า (Bonanza) ที่โด่งดังในยุค 90s ทำให้แปลนที่อยู่อาศัยถูกออกแบบให้เป็นสไตล์ American Country ที่ใช้ไม้เป็นวัสดุมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
Tags: , , , , , , , ,