วันนี้ (30 ตุลาคม 2567) ที่ศูนย์การค้าสามย่าน มิตรทาวน์ มีการจัดงานเสวนา ‘Adapting to Climate Change ปรับไทยให้รอดในยุคโลกเดือด’ ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดย สุเมธ องกิตติกุล รองประธาน TDRI ได้ขึ้นปาฐกถาภายใต้หัวข้อ ‘สร้างเมืองใหม่ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ’ ระบุว่า ปัจจุบันกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งจากภัยความร้อน อุทกภัย และน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง
สุเมธเริ่มกล่าวปูพื้นปัญหาของมหานครไว้ว่า ตลอด 25 ปีที่ผ่านมาของอุณหภูมิเฉลี่ยในเพิ่มสูงขึ้น 5 องศาเซลเซียส จากการขยายตัวของเมืองทำให้เกิดปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Heat Island) นำมาซึ่งการบริโภคพลังงานของเมืองสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่เรื่องน้ำท่วม จากการศึกษาพบว่า กรุงเทพฯ มีพื้นที่น้ำท่วมขังกว่า 737 จุด นอกจากนั้นแล้ว ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งยังมีความรุนแรงมากขึ้น โดยตัวเลขจากข้อมูล GISTDA ระบุว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ถูกกัดเซาะไปแล้วกว่า 2,735 ไร่
ในปัญหา ‘ภัยความร้อน’ สุเมธอ้างข้อมูลจากกรมควบคุมโรคว่า ระหว่างปี 2561 มาจนถึง 2567 แนวโน้มของผู้เสียชีวิตจากความร้อนเพิ่มสูงขึ้นจาก 18 รายเป็น 62 ราย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง และกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเขตชุมชนแออัด
แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการในการเก็บข้อมูล เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยงแล้ว รองประธานสถาบัน TDRI มองว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวยังไม่เพียงพอ เนื่องจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังไม่มีแผนการลงทุนเพื่อปรับตัวของเมืองในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปรับปรุงอาคารให้มีมาตรฐานเป็นอาคารสีเขียวเป็นอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ขณะที่ปัญหา ‘อุทกภัย’ ส่งผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชน รวมไปถึงเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ สุเมธระบุว่า ประเทศไทยยังขาดการส่งเสริมมาตรการเชิงระบบนิเวศ การจัดผังเมือง และแผนการลงทุน เพื่อปรับตัวของเมืองสำหรับแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภาครัฐยังเน้นคงการแก้ไขปัญหาไปที่การก่อสร้างเป็นหลัก เช่น เขื่อนและคันกั้นน้ำ
ด้านปัญหา ‘น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง’ รองประธานสถาบัน TDRI กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า พื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทยกว่า 26% กำลังเผชิญกับปัญหาดังกล่าว ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามแก้ไขปัญหา ผ่านการบูรณาการของคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแล้วก็ตามในการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น อย่างไรก็ตามก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้
โดยสุเมธมองว่า เป็นอุปสรรคสำคัญที่ไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังคือ ผลการศึกษาความเป็นไปได้ทางการเงิน (Feasibility Study) และการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA) ที่กระบวนการศึกษามีข้อจำกัดด้านข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้ผลการศึกษาไม่แม่นยำ อีกทั้งส่วนใหญ่ ผู้จัดการรายงานมีสถานะเป็นลูกจ้าง การประเมินโครงการจึงเป็นประโยชน์ต่อผู้ว่าจ้าง ทำให้ผลการประเมินนั้นมีผลประโยชน์สูงเกินจริงและมีต้นทุนที่ต่ำเกินจริง นอกจากนั้นระดับของการมีส่วนร่วมภาคประชาชนในกระบวนการศึกษายังไม่มากเพียงพอ
สุเมธกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันแนวทางการรับมือของมหานครใหญ่ทั่วโลก จะใช้แนวคิดการผสมผสานโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เข้าด้วยกัน ทั้งโครงการก่อสร้างทางวิศวกรรม (Grey Infrastructure) โครงการพื้นที่สีเขียวต่างๆ (Green Infrastucture) โครงการองค์ประกอบทางน้ำ (Blue Infrastructure) เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำ และการกำหนดพื้นที่ร่นถอย (White Measurement) เพื่อลดความเสี่ยงเข้าไว้ด้วยกัน
โดยตัวอย่างแนวทางการแก้ไขปัญหา ‘ภัยความร้อน’ สุเมธยกตัวอย่างประเทศที่มีระบบการจัดการที่อย่างสิงคโปร์ขึ้นมากล่าวในปาฐกถาว่า รัฐบาลสิงคโปร์รับมือภัยร้อนอย่างครบครับ ทั้งการปรับปรุงระบบปรับอากาศ ผ่านการใช้น้ำหล่อเย็นเข้าอาคาร การจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนตัว การปรับอาคารให้คำนึงถึงการถ่ายเทของลม และเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อทำให้เมืองนั้นเย็นมากขึ้น
ขณะที่ประเทศจีนเป็นตัวอย่างที่ดีของการแก้ไขปัญหา ‘อุทกภัย’ ในเมืองที่ใช้มาตรการเมืองฟองน้ำ (Sponge City) ผ่านการผสานโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน โดยใช้พื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับน้ำฝน มีบ่อน้ำกักเก็บน้ำ และออกแบบให้ผิวถนนสามารถซึมน้ำได้ ทำให้เมืองอู่ฮั่น (Wuhan) สามารถลดงบประมาณได้ถึง 4,000 ล้านหยวน (คิดเป็น 1.9 หมื่นล้านบาท) ในการทำมาตรการแก้ไขน้ำท่วมในเมืองแบบเดิม
นอกจากนั้น สุเมธยกได้หยิบยกตัวอย่างประเทศอินโดนีเซียมาเป็นตัวอย่างในการแก้ไขปัญหา ‘น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง’ ที่ได้ออกแผนการจัดน้ำและการกัดเซาะของจาการ์ตาทุกมิติ เช่น โครงการ Pluit Reservoir Revitalization Project เพื่อเปลี่ยนพื้นที่เสี่ยงที่มีประชากรอาศัยอยู่ 1.5 หมื่นหลังคา ให้กลายเป็นพื้นที่รับน้ำริมชายฝั่ง โดยรัฐบาลจะจัดสรรที่ดินใหม่รองรับให้ พร้อมขอความช่วยเหลือจากเอกชนในการจัดหาสิ่งของจำเป็นให้กับประชาชน
อีกทั้งอินโดนีเซียยังมีโครงการ Muara Angka Wildlife Refuge เพื่อฟื้นฟูระบบป่าชายเลน เพราะเป็นระบบนิเวศที่เป็นส่วนสำคัญในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติดังกล่าวของเมือง ทำให้ภาพรวมการกัดเซาะชายฝั่งของจาการ์ตาลดน้อยลงไป
ดังนั้นแล้ว สุเมธจึงได้นำเสนอแนวทางการปรับเมืองให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้ดังนี้
- ประเมินและผสานการลงทุนโครงการพื้นฐานทั้งสีเทา สีเขียว และสีฟ้าในระดับแผนงาน โดยเน้นการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านและเป็นภาพใหญ่มากกว่าระดับโครงการ
- เปลี่ยนพื้นที่รกร้างของเมืองให้เป็นพื้นที่สีเขียว และพื้นที่ชุ่มน้ำด้วยมาตรการจูงใจทางภาษี
- ส่งเสริมการปรับปรุงอาคารเก่าในเมืองให้เป็นอาคารสีเขียว โดยเริ่มจากอาคารสำนักงานภาครัฐและข้าราชการ
- จำกัดการพัฒนาใหม่ๆ และย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่เสี่ยง โดยกระบวนการชดเชยที่เป็นธรรม และมีส่วนร่วมของภาคประชาชน