เราคิดว่ามีหลายอย่างที่เราจำได้ดีจากมินิซีรีส์ Unorthodox เราจำได้ดีถึงบรรยากาศระทึกขวัญในตอนแรก ความตื่นตาตื่นใจเยี่ยงหนังสืบสวนสอบสวนในตอนที่สอง ความตื่นเต้นเมื่อเกิดการไล่จับกันในตอนที่สาม และการคลี่คลายปมปัญหาต่างๆ ในตอนสุดท้าย ที่ทำให้เราคิดอะไรหลายอย่างขึ้นมาได้ ทั้งในฐานะคนดูธรรมดาๆ ในฐานะคนที่เคยแตกหักกับความเชื่อที่มีมานมนาน และในฐานะลูกสาวและหญิงสาวคนหนึ่งที่ถูกสังคมคาดหวัง
เราเชื่อว่าเรื่องเล่าในมินิซีรีส์ความยาว 4 ตอนจบที่ปล่อยออกมาทางเน็ตฟลิกซ์เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ เป็นเรื่องเล่าที่ถึงแม้จะเกิดขึ้นในบริบททางสังคมที่ต่างไป นั่นคือมีความเข้มงวดและมีบทลงโทษที่รุนแรงกว่า แต่มันกลับมีความเป็นสากลอย่างยิ่ง เพราะถึงประเด็น ตัวละคร และส่วนประกอบของเรื่องเล่าจะมีความหนักหนาสาหัส ในส่วนของการตัดต่อและดนตรีประกอบนั้นจะมีความเร้าอารมณ์อยู่มาก และตัวละครยังแบ่งเป็นตัวดีตัวร้ายอย่างเห็นได้ชัด แต่ในส่วนของบทสนทนาและทางลงของซีรีส์นั้นไม่ได้ดึงดราม่าอย่างที่เราคาด แต่กลับทำให้เรากล้าที่จะโยนตัวเองเข้าไปในเรื่องได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ
Unorthodox เล่าเรื่องของ ‘เอสตี้’ หรือในชื่อเต็มว่า ‘เอสเทอร์’ หญิงสาวอายุ 19 ที่ถูกจับคลุมถุงชนแต่งงานกับ ยันกี ชายหนุ่มจากอีกครอบครัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ไม่ห่างกันนัก เอสตี้ยินดีกับการคลุมถุงชนครั้งนี้และใจจดใจจ่อรอให้ถึงวันแต่งงาน เพราะถูกปลูกฝังว่ามันเป็นเรื่องปกติมาโดยตลอด โดยหารู้ไม่ว่าในอีกหนึ่งปีถัดมา เธอจะต้องระหกระเหินเดินทางออกจากที่แห่งนั้นไปยังที่ที่จะให้เสรีภาพกับเธอได้มากกว่า พูดถึงตรงนี้ เราเองก็ยังคิดไม่ถึงว่า เมืองที่เธอจากมาและมีความอนุรักษ์นิยมสุดโต่งคือนิวยอร์ก ดินแดนแห่งเสรีภาพ และเมืองที่เธอจะจากไปสู่คือเบอร์ลิน ดินแดนซึ่งเคยมีกำแพงที่เป็นดั่งจุดด่างพร้อยของประวัติศาสตร์โลกตั้งอยู่
อย่างไรก็ดี มันไม่น่าประหลาดใจนักเมื่อเราได้รู้ว่าเธอมาจากวิลเลียมสเบิร์กในบรู๊คลิน ซึ่งเป็นแหล่งพักอาศัยของชุมชนซัตมาร์-ฮาซิดิกในนิวยอร์ก ชุมชนชาวยิวเคร่งศาสนาที่มีต้นกำเนิดจากประเทศฮังการีในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเขามีความเชื่อแรงกล้าว่า จะต้องทำตามข้อกำหนดที่ถูกบัญญัติไว้ในคัมภีร์อย่างเคร่งครัด และจะต้องเร่งผลิตลูกหลานชาวยิวออกมาให้ได้มากที่สุดเพื่อทดแทนชาวยิว 6 ล้านคนที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคนั้น ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในปริมณฑลของครอบครัวคือการบังคับให้สามีภรรยาต้องมีเพศสัมพันธ์กันทุกสัปดาห์เพื่อผลิตทายาทออกมาให้ได้เร็วที่สุด กำหนดว่าผู้ชายจะต้องอยู่ด้านบนเท่านั้น และกดดันผู้หญิงที่ไม่ตั้งท้องอย่างมากและมองว่าพวกเธอผิดปกติ อย่างเช่นในกรณีของเอสตี้ และทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้เธอตัดสินใจทำสิ่งที่เธอไม่เคยคิดจะทำ
เส้นเรื่องนิวยอร์กของ Unorthodox สร้างจากเรื่องจริงในหนังสือ Unorthodox: The Scandalous Rejection of My Hasidic Roots ของเดบราห์ เฟลด์แมน ส่วนเส้นเรื่องเบอร์ลินถูกแต่งขึ้นใหม่ทั้งหมด มินิซีรีส์เรื่องนี้วางตัวเองอยู่บนสามธีมใหญ่ๆ นั่นคือการจัดวางตัวเองในสังคมเมืองสมัยใหม่ของชุมชนฮาซิดิกที่เป็นพื้นหลังของเรื่อง (ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงว่าผู้สร้างทำได้สมจริงพอและไม่ตัดสินจริงหรือไม่) การก้าวข้ามความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมาแต่เด็กและเติบโตไปเป็นคนที่ตัวเองจะรักได้อย่างเต็มหัวใจ และการฉายภาพประวัติศาสตร์ยุโรปโดยมีกำแพงเบอร์ลินและเรื่องราวโดยรอบเป็นฉากหลัง
ในฐานะซีรีส์ coming-of-age เราคิดว่าเรื่องราวของเอสตี้เป็นเรื่องน่าสะเทือนใจและเจ็บปวด หากถามวัยรุ่นหญิงในสังคมเปิดแบบที่เราอยู่ คงไม่มีใครอยากมีชีวิตแบบเอสตี้ตอนอยู่ในวิลเลียมสเบิร์ก การคลุมถุงชนคงเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และการมองว่าผู้หญิงเป็นเครื่องจักรผลิตลูกคงเป็นเรื่องน่ารังเกียจ แต่ตัวละครเอสตี้บวกกับการแสดงระดับมือโปรของ ชีร่า ฮาส กลับทำให้เรานึกถึงตัวเองสมัยอายุ 15 ที่ยังเชื่อว่าการรักนวลสงวนตัวเป็นสิ่งจำเป็น ผู้หญิงไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เมื่อโตขึ้นผู้หญิงต้องแต่งงานมีครอบครัว พ่อแม่ครูบาอาจารย์คือบุคคลที่เราต้องเชื่อฟัง ความเป็นไทยและมารยาทไทยเป็นสิ่งที่เราต้องหวงแหน ฯลฯ
ในตอนนั้นเราเชื่อในทัศนคติที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่โดยปราศจากคำถาม ปราศจากข้อสงสัย และปราศจากการต่อต้าน เหมือนกับเอสตี้ที่แม้จะเจ็บปวดเจียนตายที่ถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจเพื่อให้พร้อมกับการแต่งงานและมีครอบครัว แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกอิ่มใจที่สามารถเติมเต็มความต้องการที่จะเป็นผู้หญิงในแบบที่ตัวเองเชื่อว่าดีและสมบูรณ์แบบได้ แต่หลังจากที่เราและเอสตี้เริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่มีและสิ่งที่เป็น เราทั้งสองก็ได้ก้าวเข้ามาสู่อีกโลกหนึ่ง แม้คำถามของเราจะเอามาวางเทียบกับของเอสตี้ไม่ได้ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือเราต่างไม่คุ้นเคยกับโลกใหม่นั้น เราใช้เวลาเรียนรู้มันเนิ่นนาน แต่เรากลับเชื่อเหลือเกินว่า วันหนึ่งเราจะเป็นส่วนหนึ่งของมันอย่างเต็มภาคภูมิ
แม้จะสะท้อนภาพประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้อย่างประดักประเดิดไปบ้างในบางจังหวะ แต่ความเรียบง่ายและตรงไปตรงมาของวิธีการเล่ากลับทำให้เราเชื่อมโยงกับโลกใหม่ที่เราว่าไว้ข้างต้นได้อย่างประหลาด และโลกใบที่ว่านั้นคือ ‘ยุโรป’—ไม่แปลกที่ Unorthodox จะเล่าถึงยุโรป พื้นที่ส่วนนี้ของยุโรป และชิ้นส่วนประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ผ่านมุมมองที่ร่วมสมัยและเป็นบวกมากๆ เพราะนี่เป็นโปรดักชั่นเยอรมันและผลิตขึ้นใหม่เอี่ยมเพื่อฉายในปีนี้
แต่มากไปกว่านั้น ซีรีส์เรื่องนี้ยังนำเสนอว่า “การก้าวข้ามประวัติศาสตร์ยุคนั้นคือการมุ่งไปสู่อนาคตที่เปิดกว้างและมีความหวัง” และคงไม่ใช่แค่เพียงชาวเยอรมันที่จะต้องก้าวข้ามประวัติศาสตร์อันน่ารังเกียจของชาติตัวเองเพื่อไปต่อ แต่ยังรวมไปถึงชาติอื่นทั้งในและนอกยุโรป อย่างที่แสดงให้เห็นในเชิงสัญลักษณ์ผ่านความหลากหลายและการผสมผสานทางเชื้อชาติของตัวละครวัยรุ่นในเส้นเรื่องเบอร์ลิน เพราะเอาเข้าจริงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่ใช่วิกฤติของเยอรมัน ไม่ใช่วิกฤติของชาวยิว แต่เป็นวิกฤติของมนุษยชาติภายใต้บริบทของทวีปยุโรปและมีเหยื่อเป็นชนชาติยิว
เราจะมองเห็นภาพแทนของ ‘อนาคตที่เปิดกว้างและมีความหวัง’ ได้ในส่วนของเส้นเรื่องปัจจุบันที่เอสตี้ได้เรียนรู้ถึงแง่มุมต่างๆ ของชีวิตใหม่ในเบอร์ลิน ผ่านกลุ่มนักเรียนในวิทยาลัยดนตรีที่เธอบังเอิญได้พบพานและผูกมิตรด้วย ในที่นี้เบอร์ลินคืออีกตัวละครหลักของเรื่องและเป็นตัวละครที่มีอัตลักษณ์ชัดเจนยิ่ง ในภาพจำของคนทั่วไปและนักท่องเที่ยวอย่างเรา เบอร์ลินคือเมืองฮิปสเตอร์ เมืองแห่งศิลปะร่วมสมัย เมืองที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย เมืองที่ผู้คนมีหลากหลายเชื้อชาติ เมืองที่มีนักท่องเที่ยวมากมาย และเมืองที่ความแตกต่างเป็นที่ยอมรับได้ไปจนถึงเป็นสิ่งที่ควรมีติดตัว เบอร์ลินยุคใหม่ที่ Unorthodox นำเสนอก็เช่นกัน มันคือภาพแทนของสังคมยุโรปที่เปิดกว้างและอนุญาตให้ทุกคนมีส่วนร่วม (ซึ่งต่างจากสังคมยุโรปในประวัติศาสตร์) ขอเพียงแค่คนคนนั้นเป็นตัวของตัวเองและรักสิ่งที่ตัวเองเป็นมากพอ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พวกเขาต้องก้าวข้ามประวัติศาสตร์และความเกลียดชังเสียไปให้ได้เสียก่อน จึงจะเป็นตัวของตัวเอง รักสิ่งที่ตัวเองเป็น และมุ่งไปสู่อนาคตได้ หลายฉากหลายตอนที่เชื่อมโยงวัยรุ่นกลุ่มนี้เข้ากับประวัติศาสตร์ก้อนกำแพงเบอร์ลิน จึงเป็นเหมือนการพูดแบบโต้งๆ ว่า “เราไม่ได้ลืมอดีต แต่เราแค่ไม่แคร์อดีตพวกนั้นแล้วต่างหาก” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการพูดโต้งๆ ผ่านการ ‘เคยมีอยู่’ ของสถานที่และพื้นที่หลายแห่งในเบอร์ลิน ฉากหนึ่งในตอนต้นเรื่อง ตัวละครหนึ่งเล่าให้เอสตี้ฟังว่าทะเลสาบที่พวกเขากำลังอาบแดดและลงเล่นน้ำกันอยู่เคยเป็นอะไรมาก่อน แต่ตอนนี้ “มันก็แค่ทะเลสาบ” หรืออีกฉากหนึ่งในตอนท้ายที่มีเรื่องราวเล่าขานในเชิงประวัติศาสตร์ แต่ตอนนี้ “มันก็แค่สนามเด็กเล่น” ยิ่งเมื่อย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของความเชื่อของชุมชนซัตมาร์-ฮาซิดิกเรื่องเหตุผลในการผลิตทายาทอย่างที่ผู้สร้างนำเสนอ เรายิ่งเห็นว่ามินิซีรีส์เรื่องนี้กำลังทำตัว ‘นอกรีต’ สมกับชื่อเรื่อง และสมกับการนิยามอัตลักษณ์ของตัวละครเอก (และผู้เขียนหนังสือต้นฉบับเอง) ผู้เลือกที่จะไม่จดจำและไม่เจ็บปวดตามที่เหยื่อรุ่นเก่าก่อนได้พร่ำสอน ทั้งนี้เพื่อจะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อชั้นสองของคนเหล่านี้อีกทีหนึ่ง
และท้ายที่สุดแล้ว แม้รายละเอียดทางโปรดักชั่นและน้ำเสียงในการเล่าเรื่องของ Unorthodox จะ ดูเหมือนกับให้ความเคารพชุมชนวิลเลียมสเบิร์ก วัฒนธรรมฮาซิดิก และภาษายิดดิชเป็นอย่างมาก รวมถึงการพยายามไม่ตัดสินตัวละครยันกี สามีของเอสตี้ แถมยังทำให้คนดูรู้สึกเห็นใจเขาที่ติดกับของความเชื่อและธรรมเนียมปฏิบัติเหล่านี้จนไม่สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ให้เกียรติผู้อื่นได้ แต่หากการเสียใจแต่ไม่แคร์ของวัยรุ่นในเบอร์ลินกลุ่มนี้ ถูกนำเสนอว่าเป็นทางรอดเดียวของผู้ที่ถูกกักขัง ก็ไม่แปลกที่เราจะรู้สึกว่า มินิซีรีส์เรื่องนี้มีท่าทีโปรยุโรปสมัยใหม่อยู่มากทีเดียว
Tags: Netflix, Unorthodox