1
บ้านผมอยู่ในตลาดปากน้ำโพ นครสวรรค์ นั่งรถสองแถวไปโรงเรียนตั้งแต่ประถมจนจบมัธยม ครั้งแรกจ่ายเงินในราคาเที่ยวละสองบาท ต่อมาค่าโดยสารขึ้นเป็นสามบาท ห้าบาท และสิบบาทตามลำดับ นั่นก็ผ่านมาหลายปีแล้ว
ความที่บ้านอยู่สถานีต้นทางบนเส้นทางที่โรงเรียนตั้งอยู่สถานีปลายทาง ผมจึงมักได้นั่งเป็นคนแรกๆ ที่ซึ่งเมื่อรถสองแถววิ่งผ่านไปสองถึงสามป้าย ผู้โดยสารคนอื่นขึ้นตาม คุณน้ากระเป๋ารถเมล์ก็จะบอกให้ผมขยับชิดเข้าไปข้างใน บางวันก็ฝั่งซ้าย บางวันก็ฝั่งขวา รถสองแถวบรรจุคนเต็มทุกเช้า สิบสองคน แถวละหก จากประถมหนึ่งถึงมัธยมหก ผมเติบโตมาเช่นนั้น เด็กนักเรียนที่นั่งอยู่มุมในสุดของรถทุกเช้า
จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ชินกับการต้องนั่งเบียดคนแปลกหน้าไปพร้อมกับเผชิญหน้ากับคนแปลกหน้าอีกคนที่นั่งอยู่ตรงข้ามอยู่ดี ระหว่างไปโรงเรียนในตอนนั้น ผมจึงหันหน้าเข้าไปฝั่งที่ไม่มีคน หันมองโครงสแตนเลสที่ห่มคลุมรถ น้อยครั้งผมจะเห็นใบหน้าที่มัวเบลอของตัวเองสะท้อนกลับมาจากเงาในนั้น เพราะโดยมากสแตนเลสจะถูกวาดทับด้วยทิวทัศน์ของท้องนา กระท่อมกลางป่า น้ำตก หรือไม่ก็ชายหาดและท้องทะเลด้วยสีสันอันฉูดฉาด
ไม่ใช่งานที่งามวิจิตรเลิศล้ำอะไร เหมือนภาพที่ถูกวาดเพราะแค่เจ้าของรถสองแถวไม่อยากให้รถของเขาถูกต่อเติมด้วยโลหะโล่งๆ เปล่าดาย กระนั้นเมื่อย้อนกลับไปในวัยนั้น ผมก็พบว่ามันเป็นภาพที่สวยแปลกตา และน่ามองมากกว่าใบหน้าของเพื่อนร่วมทางอยู่ดี แต่นึกออกไหม เมื่อคุณต้องนั่งอยู่บนที่นั่งในสุดในระยะประชิดกับทิวทัศน์ดังกล่าวทุกเช้าติดต่อกันเป็นสิบปี การมองภาพเหล่านั้นจึงเป็นกิจวัตรภาคบังคับอย่างไม่ตั้งใจ หาได้มีความสลักสำคัญอันใด
2
คุณคิดว่าจะพบอะไรในแกลเลอรี่ศิลปะร่วมสมัย — งานจิตรกรรมที่จำลองภาพจริงหรือจินตนาการที่ทั้งเหมือน ไม่เหมือน หรือดูไม่รู้เรื่องด้วยฝีแปรงอันวิจิตร ประติมากรรมรูปทรงแปลกล้ำราวกับพวกมันไม่ได้ถูกปั้นโดยน้ำมือมนุษย์ วิดีโอหรืองานศิลปะติดตั้งที่หลายชิ้นก็ดูไม่เป็นเรื่องเป็นราว หรือดูไม่เป็นศิลปะ หากนักวิจารณ์บอกว่ามันบรรจุด้วยความคิดหรือสัญลักษณ์อันล้ำลึก ฯลฯ
ตั้งแต่การเปลี่ยนความหมายของโถปัสสาวะให้เป็นงานศิลปะของ Marcel Duchamp ใน Fountain (1917), การบรรจุอุจจาระของตัวเองในกระป๋องดีบุกเพื่อเป็นงานศิลปะใน Artist’s Shit (1961) ของ Piero Manzoni, การเรียงก้อนอิฐเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าใน Equivalent VII (1966) ของ Carl Andre มาจนถึงการเอากล้วยสดๆ มาแปะผนังใน Comedian (2019) ของ Maurizio Cattelan โลกศิลปะเดินทางมาไกลเกินกว่าจะจำกัดรูปแบบและเป้าประสงค์ กระทั่งบทความที่ตั้งคำถามว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นศิลปะก็ดูเป็นสิ่งที่ล้าหลังไปแล้ว เราสามารถพบเห็นสิ่งที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นในห้องโล่งๆ ขาวๆ ของแกลเลอรี่หรือพิพิธภัณฑ์ – ห้องโล่งและขาวที่คล้ายจะปล่อยที่ว่างให้เราทดจินตนาการไว้ในขณะรับชมวัตถุทางศิลปะ ประหนึ่งกระดาษทดเลข
อย่างไรก็ดี การได้มาเห็นสิ่งอันเป็นสามัญมากๆ อย่างจิตรกรรมสีน้ำมันรูปแบบเดียวกับที่ปรากฏอยู่บนสแตนเลสของรถสองแถว ภายในแกลเลอรี่ศิลปะร่วมสมัย ผมกลับพบว่ามันเป็นภาพที่ดูผิดที่ผิดทางกว่าการได้ทราบว่ากล้วยหอมแปะผนังของ เมาริสซิโอ คัตเตลาน ถูกขายไปในราคา 120,000 ดอลลาร์เสียอีก
3
สมโภชน์ อั่ง บอกผมว่าเขาเป็นคนเชยๆ เติบโตมาแบบไหน รสนิยมหรือความชื่นชอบเป็นอย่างไร เมื่อจะถ่ายทอดอะไรออกมา ก็เป็นแบบนั้น ขณะที่เด็กต่างจังหวัดหลายคนอันหมายรวมถึงผม มองภาพทิวทัศน์ที่ประดับบนรถสองแถวด้วยความชินชา เหมือนลวดลายเสื่อน้ำมัน เหมือนโปสเตอร์สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่แปะอยู่บนผนังตามบ้าน หรือเสาโรมันที่ค้ำยันอยู่หน้าอาคารพาณิชย์ สมโภชน์กลับมองภาพเขียนเหล่านั้นว่าคือความละเมียดละไม เขาจึงหยิบความชินชาของคนอื่นที่ว่า มาสร้างงาน
อันที่จริงการหยิบความเรียบซื่อ (naïve) ของชนบทหรือรูปแบบอันดาษดื่นของศิลปะชาวบ้านมาใช้ในงานศิลปะร่วมสมัย หาได้เป็นสิ่งที่น่าตื่นตาเท่าไหร่ในปัจจุบัน อารยา ราษฎร์จำเริญสุข เคยบันทึกวิดีโอกลุ่มชาวบ้านนั่งวิจารณ์งานศิลปะระดับเวิลด์มาสเตอร์พีชจากศตวรรษที่ 19 ใน Two Planets (2008) และ Village and Elsewhere (2011) นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล นำเส้นสายของการ์ตูนเล่มละหนึ่งบาทมาใช้ในงานจนเป็นอัตลักษณ์ รวมถึงศิลปินรุ่นเดียวกับนาวินอย่าง โฆษิต จันทรทิพย์ ก็มักใช้ตัวอักษรแบบเดียวกับที่สติกเกอร์ติดท้ายรถบรรทุกมาเป็นสื่อศิลปะหลายโครงการของเขา
กระนั้นกับงานจิตรกรรมของสมโภชน์ก็ต่างออกไป เพราะในขณะที่ศิลปินข้างต้นนำ naïve และความดาษดื่น มาเป็นเครื่องมือหรือองค์ประกอบหนึ่งของแนวคิด (concept) ทางศิลปะ หรือจะกล่าวได้ว่าแม้จะเป็นความชนบท ก็กลับเป็นชนบทที่มีมาด มีสไตล์ และถูกบอกเล่าด้วยน้ำเสียงของผู้มีการศึกษา แต่กับงานของสมโภชน์ ผมกลับรู้สึกถึงความตรงไปตรงมา — ความเชยที่ถูกสร้างโดยศิลปินเชยๆ การที่เขาตั้งชื่อนิทรรศการใหม่ล่าสุดว่า ‘ไม่รู้’ จึงเป็นได้ทั้งความที่เขา ‘ไม่รู้’ ว่าจะตั้งชื่อนิทรรศการว่าอะไร หรือสถานะของศิลปินเองที่ก็ ‘ไม่รู้’ อะไรมากไปกว่าชาวบ้าน
4
ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน ในสมัยที่สมโภชน์ยังเป็นนักศึกษาจิตรกรรมที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาเคยส่งผลงานที่มีลักษณะแบบเดียวกันนี้ให้อาจารย์ตรวจ เพื่อจะพบว่าอาจารย์ไม่ตรวจงานของเขา ก่อนจะบอกให้เขากลับไปทำงานแบบเดิม หรือแบบที่เขาได้ร่ำเรียนมา (หรืออย่างผู้มีการศึกษา) มาส่งใหม่
ไม่ใช่การลองของ แต่เขาคิดด้วยความสัตย์จริงว่าภาพสีน้ำมันรูปกระท่อมหรือท้องทุ่งก็เป็นศิลปะเช่นกัน แต่นั่นล่ะ เมื่อกรอบคิดจากบุคลากรในสถาบันศิลปะมองว่าภาพเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับภาพเขียนเพื่อการประดับตบแต่ง เป็นงานสร้างสรรค์เพื่อรสนิยมสาธารณ์ นั่นพานให้เขาเลิกทำงานจิตรกรรมไปหลายสิบปี ด้วยความรู้สึกว่าเขาไม่มีที่มีทาง และสิ่งที่เขาชอบกลับไม่ถูกค่านิยมส่วนกลางอนุญาตให้เป็นศิลปะ
ทั้งนี้ หลังจากว่างเว้นไปหลายสิบปี เมื่อศิลปินกลับมาเขียนรูปใหม่อีกครั้งด้วยวิธีการเดิม จึงอาจอนุมานได้ว่า หนึ่ง. มันเป็นความปรารถนาอันแรงกล้าของศิลปินที่จะซื่อสัตย์ต่อรสนิยมตัวเอง หรือ สอง. เป็นความตั้งใจยืนกรานต่อสถาบันทางศิลปะหรือรสนิยมอันดีและมีมาตรฐานของผู้คนส่วนใหญ่ (ที่หมายความถึงชนชั้นกลางขึ้นไป) ว่า การวาดภาพกระท่อม หรือผลงานสร้างสรรค์โดยชาวบ้านเพื่อชาวบ้าน ก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นศิลปะด้วยเช่นกัน
5
เช่นนั้นแล้ว ผมจึงคิดว่าการได้เห็นภาพทิวทัศน์ชนบทของสมโภชน์ในแกลเลอรี่ศิลปะร่วมสมัย เป็นภาพที่ผิดที่ผิดทาง
แต่ก็เป็นความผิดที่ผิดทางในทางที่ดี เมื่อแกลเลอรี่ศิลปะที่ผู้ชมคาดหวังจะได้เห็นชิ้นงานที่มีมิติล้ำลึกหรือชวนตั้งคำถาม หากจัดแสดงภาพเขียนที่ไม่ได้ทำหน้าที่อะไรไปมากกว่าการบันทึกทัศนียภาพ เป็นศิลปะไร้เดียงสา (Naïve Art) ดังที่สมโภชน์บอกว่าเขาเขียนงานด้วยความมุ่งหมายไม่ต่างอะไรจากมนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่เขียนภาพวิถีชีวิตและสัตว์ป่าที่พบลงบนผนังถ้ำ หรือช่างศิลป์ที่ได้รับการว่าจ้างให้วาดจิตรกรรมฝาผนังในวัดบ้านนอก
แม่จูงลูกเดินริมถนน, กลุ่มเด็กวิ่งเล่นใต้ต้นไม้ใหญ่, ชาวนากำลังปักดำข้าวในนา, ผู้คนนั่งล้อมวงชมลิเก ไปจนถึงหมาเห่าเครื่องบิน ฯลฯ — ทัศนียภาพที่ถูกศิลปินชาวบ้านผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเราทุกคนต่างเคยได้ผ่านตาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ชินชาเสียจนเราไม่ได้สนใจเนื้อหาในภาพ ไม่แม้แต่จะฉุกคิดว่าที่จริงศิลปินอยากสื่อสารอะไร
เช่นนั้นแล้ว การจัดแสดงภาพเหล่านี้ในแกลเลอรี่ที่ซึ่งสิ่งแวดล้อมได้สร้างบรรยากาศแกมบังคับให้ผู้ชมหยุดพินิจรายละเอียดชาชินภายในภาพ จึงก่อให้เกิดกระบวนการทางศิลปะที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อใครก็ตามที่มองว่าภาพทิวทัศน์อันเรียบง่ายหรือซึมกระทือเหล่านี้ ไม่ได้มีค่าพอจะยกให้มันเป็นงานศิลปะ
นอกจากนั้น ความเป็นแกลเลอรี่ ก็ยังช่วยขับเน้นอารมณ์ขันที่สมโภชน์จงใจใส่ไว้ในบางภาพ เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อสารออกมาอย่างโจ่งแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นภาพชาวบ้านกำลังขี่เครื่องบินของสายการบินสัญชาติเยอรมัน, เด็กชายเดินตามแม่ไปพร้อมกับจูงรถถัง, ป้ายประกาศขายที่ดินที่จงใจเขียนผิดว่ามีขนาด 9 ไล่ 10 ตะรางวา, ชายเสื้อแดงนั่งปลดทุกข์อยู่กลางทุ่งพลางจ้องมองไปยังหลักกิโลเมตร หมายเลข 10 หรือภาพทิวทัศน์กระท่อมที่ถูกซ้อนทับด้วยใบเสร็จจากร้านโชห่วย แสดงให้เห็นถึงราคาของสินค้าอุปโภคบริโภคที่ถูกซื้อรวมกัน 112 บาท เป็นอาทิ
เพราะหากสมโภชน์นิยามตนเองว่าเป็นศิลปินที่สร้างงานแบบเดียวกับช่างศิลป์ที่วาดจิตรกรรมฝาผนังในวัดบ้านนอก เขาก็เป็นช่างศิลป์ที่ยียวนและสัปดนพอที่จะใส่ภาพคนนั่งปลดทุกข์, ฉากฆาตกรรม หรือการสังวาสของหนุ่มสาวในภาพพุทธประวัติ ดังที่เราเห็นจากวัดหลายแห่งทั่วประเทศ
และหากสมโภชน์นิยามตนเองว่าเป็นมนุษย์ดึกดำบรรพ์ผู้บันทึกสิ่งที่เห็นลงบนผนังถ้ำ เขาก็ซื่อตรงพอจะบันทึกทุกอย่างจริงๆ ทั้งทิวทัศน์ทั่วไป ภาพทุ่งนาในอุดมคติ, ความปรารถนาถึงความมั่งมีของคนชนบทในโลกทุนนิยม, ความเจ็บแค้นของคนบ้านนอกที่ถูกโครงสร้างทางสังคมและการเมืองกดทับ ไปจนถึงความไม่แยแสของชาวบ้านต่อความศักดิ์สิทธิ์อย่างไร้เหตุผลที่ทรงอิทธิพลอยู่ในประเทศนี้
เป็นทัศนียภาพที่ศิลปินทั้งจงใจและไม่จงใจเล่าเรื่องไปพร้อมกัน
6
ดังที่กล่าวไว้ตอนต้น ภาพเขียนของสมโภชน์ ทำให้ผมนึกถึงอดีต ขณะขึ้นรถโดยสารไปโรงเรียน การจ้องมองภาพเขียนเดิมๆ ในระยะประชิด จนหลุดพ้นจากความใคร่ครวญเกี่ยวกับพวกมัน เช่นเดียวกับเมื่อต้องลงจากรถประจำทาง เพื่อเข้าแถวเคารพธงชาติ ห้าวันต่อสัปดาห์ติดต่อกัน 12 ปี ที่ซึ่งไม่แน่ใจว่าพิธีกรรมดังกล่าวเป็นไปเพื่อกล่อมเกลาให้เราจงรักหรือเป็นการยัดเยียดอย่างเป็นระบบ
ภาพเขียนของสมโภชน์สร้างตำหนิในความคุ้นชินเหล่านี้ ก่อกวนความชาญฉลาดของศิลปะร่วมสมัยด้วยความไร้เดียงสา ปั่นป่วนค่านิยมอันดีด้วยความดิบและซื่อของชนบท คนชั้นกลางในเมืองอาจคิดถึงชนบทด้วยทิวทัศน์อันสุขสงบ ผู้คนใสซื่อและดำรงชีพด้วยความพอเพียง ซึ่งนั่นก็มีส่วนถูก แต่อย่าลืมว่าก็มีอีกไม่น้อยที่เมื่อพวกเขารู้สึกปวดท้องหนักขณะเดินอยู่บนเถียงนา ก็อาจถอดกางเกงเพื่อปลดทุกข์มันตรงนั้นเสียเลย
และพวกเขาไม่แยแสเสียด้วยว่าจะมีใครเดินผ่านมา หรือเมื่อมองออกไปเบื้องหน้า มันจะเป็นหลักกิโลเมตร หมายเลข 10
Fact Box
นิทรรศการ ‘ไม่รู้’ โดย สมโภชน์ อั่ง จัดแสดงที่ Cartel Artspace ในโครงการ N22 (ติดกับ Gallery VER) ถ.นราธิวาส 22 จัดแสดงไปจนถึงวันที่ 30 มีนาคม 2563 ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.facebook.com/Cartelartpace/