นายอังเดร มาเฮกิก โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แถลงข่าวว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และองค์กรพันธมิตร ยกระดับการรับมือในค่ายผู้ลี้ภัยเมืองค็อกซ์ บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศ หลังพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มผู้ลี้ภัยเมื่อวันก่อน
ข้อมูลจากรัฐบาลบังกลาเทศพบว่า ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา 1 คนในที่พักพิงผู้ลี้ภัยกูตูปาลอง ประเทศบังกลาเทศพบผลตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นบวก และมีชาวบังกลาเทศอีก 1 คนตรวจพบเชื้อเป็นผลบวกด้วยเช่นกัน หลังจากทั้ง 2 คนได้ขอเข้าไปทดสอบการตรวจเชื้อที่สถาบันระบาดวิทยา การควบคุมโรค และการวิจัย บังกลาเทศ (IEDCR) ในค็อกซ์ บาซาร์
จากการยืนยันผลตรวจของสถาบัน ได้มีการจัดตั้งฝ่ายสืบสวนเร่งด่วนเพื่อติดตามผลของการติดเชื้อในครั้งนี้ มีการแยกตัวและแยกรับการรักษา รวมถึงการสืบประวัติการติดต่อและสัมผัสกับบุคคลอื่น เพื่อกักตัวและทดสอบตามขั้นตอนการปฏิบัติขององค์การอนามัยโลก (WHO)
จากข้อมูลเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 มีผู้ลี้ภัยได้รับการตรวจเชื้อไวรัสในเมืองค็อกซ์ บาซาร์ รวมแล้ว 108 คน นับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงมากถึง 860,000 คน และยังมีชาวบังกลาเทศอีกกว่า 400,000 คนที่อาศัยอยู่ในเขตชุมชนที่ให้ที่พักพิงโดยรอบ การอยู่อาศัยในพื้นที่หนาแน่นเช่นนี้ยังความกังวลและผลกระทบที่อาจตามมาอย่างรุนแรงเป็นอย่างมาก พวกเขาเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่สุดในโลกในวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสครั้งนี้ ในพื้นที่ชุมชนที่แออัดและโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำสะอาดและสุขอนามัยที่มีจำกัด ความพยายามในการรับมือกับการติดเชื้อต้องเป็นไปอย่างรอบด้านมากที่สุดเพื่อเลี่ยงอัตราการเสียชีวิต
จากการสนับสนุนด้านสาธารณสุขของรัฐบาลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและผลกระทบของไวรัสโควิด-19 UNHCR และองค์กรพันธมิตรต่างๆ ได้เตรียมมาตรการการเตรียมพร้อมและป้องกันมาตั้งแต่เดือนมีนาคม มีการวางมาตรการการรับมือผู้ที่อาจติดเชื้อและผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับชุมชนที่ให้ที่พักพิงและผู้ลี้ภัยในค็อกซ์ บาซาร์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสถานพยาบาลทุกแห่งในค่ายได้รับการอบรมขั้นตอนการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ และการใช้อุปกรณ์ป้องกันและคุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลอย่างทั่วถึง
บุคลากรในสถานพยาบาลกว่า 250 คนได้รับการฝึกอบรมเรื่องการเตือนภัยล่วงหน้าและการรับมือในภาวะฉุกเฉิน และยังมีอาสาสมัครผู้ลี้ภัยมากกว่า 3,000 คนที่เข้ารับการฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 รวมถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชน ผู้ดูแลชุมชนที่ปฏิบัติงานเชิงรุก และผู้นำอิหม่ามของแต่ละชุมชนและกลุ่มประชาสังคมที่คอยประสานงานภายในค่ายเพื่อถ่ายทอดข้อความสำคัญแก่ผู้ลี้ภัยให้ทั่วถึง
อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือที่รวดเร็วและความพร้อมจากรัฐบาล ภาคเอกชน และบุคคลทั่วไปยังคงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการทำงานเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 แก่ผู้ลี้ภัยและชุมชนที่ให้ที่พักพิงในบังกลาเทศ รวมถึงในประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ปัจจุบันแผนความร่วมมือด้านมนุษยธรรมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาได้รับงบประมาณเพียงร้อยละ 26
Fact Box
ร่วมป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นกับ UNHCR ได้ที่เว็บไซต์ http://unh.cr/5e69e77f1d2