ปรากฏการณ์ที่แนวปะการังทั่วโลกตายหรือเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีนี้มานี้ สร้างความวิตกต่อนักวิทยาศาสตร์และนักนิเวศวิทยาเป็นอย่างมาก และมีความพยายามหาวิธีฟื้นฟูแนวปะการังที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

ล่าสุด นักวิจัยจากสหราชอาณาจักรและออสเตรเลียทดลองวางลำโพงใต้น้ำในกลุ่มปะการังที่ตายแล้วที่เกรทแบริเออร์ รีฟ แนวปะการังชายฝั่งประเทศออสเตรเลีย และเปิดเสียงของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่เคยใช้ชีวิตอยู่รอบปะการังที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเสียงที่เคยบันทึกไว้เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ เพื่อดูว่าวิธีนี้จะสามารถล่อลวงให้ปลาต่างๆ ให้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ด้วยได้หรือไม่

ในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน นักวิจัยเปิดเผยว่า เมื่อทดลองวางลำโพงกลางแนวปะการังซึ่งตายแล้ว 33 แนวในมุมเงย เพื่อให้มีเสียงกระจายทุกทิศทาง บนพื้นทรายกว้าง 27 หลา ระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2017 ในช่วงที่ปลาวางไข่และเริ่มโตเต็มวัย ตลอด 40 คืน ซึ่งทีมวิจัยเปิดเสียงของสิ่งมีชีวิตใต้น้ำบนแนวปะการังส่วนหนึ่ง เปรียบเทียบกับอีกส่วนที่วางลำโพงไว้เฉยๆ และส่วนที่เหลือไม่วางลำโพงไว้เลย 

ผลปรากฏว่า ปริมาณปลาในบริเวณที่มีลำโพงตั้งอยู่มีปลามากกว่าจุดที่ไม่มี 2 เท่า แนวปะการังที่เงียบเป็นป่าช้าด้วยความเสื่อมโทรม กุ้งและปลาต่างๆ หายไป แต่เมื่อใช้ลำโพงเปิดเสียงสัตว์น้ำต่างๆ ในละแวกแนวปะการังที่สมบูรณ์ที่เคยอัดไว้ มาเปิดในแนวปะการังที่เสื่อมโทรม สามารถดึงดูดให้ปลากลับมาได้

สตีเฟน ดี ซิมป์สัน ศาสตราจารย์ชีววิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยเอ็กซเตอร์ หนึ่งในทีมวิจัยบอกว่า เสียงอึกทึกเป็นสัญญาณหนึ่งของปะการังที่แข็งแรง เสียงจากกุ้งและปลาที่วนเวียนอยู่สร้างเสียง (soundscape) ที่น่าอัศจรรย์ทางชีววิทยาขึ้นมา เวลาปลามองหาบ้าน มันจะฟังจากเสียงเหล่านี้ 

นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่า สิ่งมีชีวิตในบริเวณที่วางลำโพงไว้มีความหลากหลายมากกว่าพื้นที่อื่น 50% มีปลาพันธุ์ใหม่ๆ จากทุกขั้นของห่วงโซ่อาหาร เช่น ปลาที่กินพืช ปลาที่ล่าเหยื่อ ที่น่าสนใจก็คือ มันมีแนวโน้มที่จะอยู่ที่นี่

นักวิจัยตระหนักดีว่า การนำพาปลากลับมายังปะการังที่ตายแล้วไม่ได้ทำให้ปะการังที่ตายแล้วหรือกำลังจะตายฟื้นคืนชีพ แต่มันพอจะช่วยฟื้นฟูปะการังเสื่อมโทรมได้หากมีประชากรปลาในปริมาณมาก นอกจากนี้การเพิ่มประชากรปลาด้วยวิธีนี้จะช่วยกระบวนการฟื้นฟูระบบนิเวศได้อย่างเป็นธรรมชาติอีกได้

ที่มา:

https://www.washingtonpost.com/climate-environment/2019/12/01/scientists-used-loudspeakers-make-dead-coral-reefs-sound-healthy-fish-flocked-them

https://edition.cnn.com/2019/12/02/world/speakers-dead-coral-reef-fish-scn/index.html

https://www.cnet.com/news/underwater-loudspeakers-could-help-restore-damaged-coral-reefs/

ภาพ : handout/REUTERS

Tags: , ,