หลังจากที่ประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะแช่แข็งทางเศรษฐกิจ การเมือง และการแสดงออกอย่างเสรี มายาวนานกว่า 5 ปี ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ทำการรัฐประหารและก้าวขึ้นมาอยู่ในอำนาจ วันนี้ผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 4 เดือนแล้วนับตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ประชาชนชาวไทยได้กลับมาใช้สิทธิและเสียงของตัวเองในการเลือกตั้งอีกครั้ง และถึงแม้ว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีหลากหลายปัจจัยซึ่งส่งผลให้ประชาชนไม่อาจเชื่อมั่นได้อย่างเต็มที่ว่าเป็นการเลือกตั้งที่โปร่งใสและเป็นธรรมอย่างแท้จริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวันที่ 24 มีนาคม ยังคงเป็นวันที่ทำให้ผู้คนซึ่งหมดหวังในเสียงของตัวเองไปแล้ว กลับมามีความหวังในระบอบเสรีประชาธิปไตยอีกครั้ง

เมื่อการเลือกตั้งผ่านมานานถึง 4 เดือน แต่ประเทศไทยยังคงอยู่ในสภาวะที่แทบไม่มีอะไรแตกต่างจาก 5 ปีที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีและรัฐบาลใหม่ยังคงไร้การแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ คสช.ยังคงมีอำนาจมาตรา 44 อยู่ในมือ และที่สำคัญคือสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนที่มีต่อคสช. ยังคงถูกลิดรอนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าจะในกรณีที่ยาน มาแชล ชายชาวฝรั่งเศสซึ่งทำคลิปวิดีโอร้องเพลงล้อเลียน คสช. ถูกตำรวจ 2 นายบุกไปสั่งให้ลบคลิปและลงชื่อในเอกสารบันทึกความเข้าใจเพื่อแสดงความสำนึกและยอมรับว่าการทำคลิปล้อเลียนคสช. เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ไปจนถึงกรณีที่บิ๊กป้อมรองนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นข้อเสนอในการคุ้มครองความปลอดภัยให้กับจ่านิว หรือนักกิจกรรมทางการเมืองซึ่งถูกทำร้ายร่างกายโดยมีเงื่อนไขแลกเปลี่ยนคือการห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่แปลกเลยที่ความหวังซึ่งเคยลุกโชนในจิตใจของผู้คนจะเริ่มมอดดับลงอีกครั้ง

และความตั้งใจที่อยากจะเป็นตัวจุดชนวนให้ผู้คนกล้ากลับมาแสดงออกทางการเมืองด้วยเสียงและศิลปะของตัวเองอีกครั้งนี้เอง จึงทำให้ Headache Stencil, RAD (Rap Against Dictatorship) , ต้อม ยุทธเลิศ สิปปภาค และศิลปินที่มีแนวคิดต่อต้านเผด็จการอีกมากมาย ตัดสินใจรวมตัวกันจัดงาน Uncensored ขึ้นในวันที่ 7 กรกฎาคม 2562

ทุกคนควรจะสามารถแสดงออกถึงความคิดเห็นที่ตัวเองคิดว่าจะทำให้ประเทศชาติดีขึ้นได้ และงาน Uncensored จะเป็นการขีดเส้นให้ประชาชนรู้ว่า ถ้าเราจัดงานวันนี้แล้วไม่มีใครมาบุก ต่อไปนี้จะต้องไม่มีใครโดนจับเพราะวิจารณ์รัฐบาลอีกแล้ว” – Headache Stencil

เรื่องเล่าจากศิลปะในวันที่สิทธิเสรีภาพถูกลิดรอน

ภายในงาน Uncensored มีงานศิลปะน่าสนใจหลายชิ้นจากศิลปินผู้มีอุดมการณ์เป็นหนึ่งเดียวกันโดยงานศิลปะเหล่านี้ล้วนรังสรรค์มาเพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวของผู้คนในประเทศที่โดนลิดรอนอิสระและเสรีภาพไป 

Watchผลงานของวีร์ วีรพร

ผลงานชิ้นนี้เคยจัดแสดงในนิทรรศการของยูเนสโกมาแล้วครั้งหนึ่ง และนี่เป็นอีกครั้งที่คุณวีร์ได้ให้เกียรตินำงานศิลปะมาจัดแสดง โดยผลงานชิ้นนี้คือการต่อบล็อกสี่เหลี่ยมเล็กๆ ซึ่งมาจากภาพข่าวโครงการและค่าใช้จ่ายต่างๆ ของรัฐบาลที่มีข้อกังขา ไม่ว่าจะในเชิงความสมเหตุสมผล หรือประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ เช่น เรื่องอุทยานราชภักดิ์ หีบเลือกตั้ง เครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 มาสค็อตน้องเกี่ยวก้อย และอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อสื่อสารว่าทุกวันนี้แม้เราจะมีอินเทอร์เน็ตที่ทำให้สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรัฐบาลและนำมาปะติดปะต่อกันได้ แต่หากคุณยืนไกลออกไปอีกสักหน่อยจะพบว่าภาพปะติดปะต่อเหล่านี้ก็คือสายตาที่ทุกคนคุ้นเคย เป็นสายตาของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาที่มองตรงกลับมายังประชาชน ไม่ต่างจากการที่รัฐบาลเองก็ใช้ช่องทางเหล่านี้ในการจับตามองประชาชนเช่นกัน

คุณวีร์ วีรพร ได้เล่าว่า เขามายืนดูเพื่อสังเกตว่าใครดูออกบ้างว่าดวงตาคู่นี้เป็นของใคร และถ้าดูออก คนจะดูออกที่ระยะเท่าไหร่ โดยคุณวีร์บอกว่าเดิมทีงานนี้ต้องจัดแสดงที่ Warehouse30 ซึ่งเป็นพื้นที่ปิด แต่มีเหตุขัดข้องล่วงหน้าก่อนวันงานจริงประมาณสองถึงสามวัน จากที่เคยวางแผนว่าจะจัดแสงให้งานมีมิติและเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น เมื่อเปลี่ยนมาจัดแสดงที่ The Jam Factory ซึ่งเป็นสวนและเป็นพื้นที่เปิดจึงทำให้ไม่สามารถจัดแสดงได้สมตามความตั้งใจ แต่ผู้คนก็ยังคงมองเห็นสายตาที่คุ้นเคยซ่อนอยู่ในผลงาน

ผลงานอีกชิ้นของคุณวีร์ วีรพรคือ Free Speech Zone ซึ่งเป็นโซนที่ใช้กรวยกั้นไว้ โดยการชมงานชิ้นนี้ผู้ชมต้องเข้าไปยืนข้างในพร้อมกล่องโมเสกที่ห้อยลงมาครอบศีรษะ เพื่อสื่อสารถึงพื้นที่ในการแสดงออกของประชาชนที่นอกจากจะลดน้อยลงทุกวันแล้ว แม้เราจะอยู่ในพื้นที่เล็กๆ ที่เป็นของตัวเอง เราก็ยังถูกเซ็นเซอร์เอาไว้ไม่ให้ใครสามารถมองเห็นหรือได้ยินเสียงของเราอยู่ดี ไม่ต่างจากกล่องโมเสกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเซ็นเซอร์ที่ครอบศีรษะของผู้ชมเอาไว้

คุณวีร์เล่าว่า เขาคอยเชียร์ให้คนเข้าไปถ่ายรูป และก็ได้เห็นว่าคนที่เข้าไปทำท่าทางต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นท่าชูสามนิ้ว ท่าชี้นิ้วกลาง ท่าโดนปิดปาก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะแต่ละคนทำท่าทางไม่เหมือนกัน

นอกจากนั้นยังมีผลงานของศิลปินคนอื่นอีก ที่แม้เราจะไม่ได้มีโอกาสพูดคุยกับศิลปินโดยตรง แต่เราก็ได้เก็บภาพมาด้วยเช่นกัน

ผลงาน Past Box ของ Headache Stencil

ผลงานชิ้นนี้เป็นห้องขนาดเล็กที่ทำจากไม้ ด้านนอกมีตัวอักษรพ่นคำว่ากรุณาส่งอดีตกาลด้านในพ่นสีรูปหน้าประยุทธ์ และเลข 2475 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยได้เกิดการปฏิวัติและแปลงเปลี่ยนเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก โดยมีจุดเด่นอยู่ตรงกลางซึ่งเป็นภาพของพลเอกประยุทธ์สวมใส่หน้ากากโม่งที่ดูคล้ายโจรพร้อมกับเลขห้าร้อย ซึ่งสื่อความหมายว่าคนในภาพก็เปรียบเสมือนโจรห้าร้อยที่ปล้นเอาประชาธิปไตยไปจากประชาชน

ไม่เพียงเท่านั้น  Headache Stencil ยังได้แสดงการพ่นสีสดบนเวทีให้พวกเรารับชมอีกด้วย โดยงานชิ้นนี้ถูกพ่นเป็นคำว่าเสรีภาพที่ถูกประกอบมาจากอาวุธยุทโธปกรณ์ ปืน ระเบิดมือ รถถัง เหมือนคำกล่าวที่ว่า บ้านเมืองมีเสรีภาพ แต่เป็นเสรีภาพภายใต้ปากกระบอกปืน

ผลงานอื่นๆ ที่จัดแสดงภายในงาน

ผลงานจาก Alex Face

ผลงานจาก Fckn’Gns Bkk

ในภาพเขียนว่า “The state calls its own violence, law; but that of the individual, crime.”

รัฐเรียกความรุนแรงของตัวเองว่ากฎหมาย ทว่าสำหรับบุคคล นั่นคืออาชญากรรม

ผลงานศิลปะทั้งหมดในงานไม่ได้มีเพียงเท่านี้ หากคุณอยากชมผลงานอื่นๆ เพิ่มเติม ทาง Headache Stencil ได้แจ้งว่างาน Uncensored ครั้งที่สองจะจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้

ในงาน Uncensored ไม่ได้มีเพียงนิทรรศการศิลปะ แต่ยังมีเวทีสำหรับศิลปินแร็ป และเวทีทอล์กอีกด้วย โดยทาง RAD (Rap Against Dictatorship) เป็นหัวขบวน ขนแร็ปเปอร์มากหน้าหลายตาขึ้นเวที โดยมีคอนเส็ปต์หลักอยู่ที่การพูดถึงเรื่องของการถูกลิดรอนอิสรภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ค่อนไปทางปัจเจก เช่น การถูกห้ามหรือดูถูกเมื่อเลือกเส้นทางแร็ปเปอร์ หรือเรื่องของกลุ่มคนจำนวนมากและสังคม อย่าง ระบบโซตัสที่รุ่นพี่กดขี่ข่มเหงรุ่นน้อง อันเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบสร้างของอำนาจนิยม หรือระบอบเผด็จการในไทย เพลงหนักแผ่นดิน เวอร์ชั่น 2019 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่แต่งขึ้นใหม่ หรือ ประเทศกูมี ที่เป็นกระแสไวรัลไปทั่วโลก

ในช่วงท้ายของงานต้อมยุทธเลิศ สิปปภาคผู้กำกับเจ้าของผลงานบุปผาราตรี, มือปืน/โลก/พระจัน, รัก/สาม/เศร้า, ตุ๊กแกรักแป้งมาก ฯลฯ ได้มาร่วมพูดคุยถึงเรื่องความหมายที่แท้จริงของคำว่าศิลปิน การเคลื่อนไหวด้วยวิธีแบบศิลปิน การถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และแสดงจุดยืนกับผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกันในการสนับสนุนประชาธิปไตย

โดยได้กล่าวว่ากลุ่มคนที่มีความคิดนอกกรอบและมีความคิดสร้างสรรค์อย่างศิลปินมักจะเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ถูกอำนาจเผด็จการเลือกจัดการก่อนเป็นอันดับแรกเสมอศิลปินในที่นี้ ต้อม ยุทธเลิศ ไม่ได้หมายถึงคนที่วาดรูปได้หรือเล่นดนตรีเป็นเท่านั้น แต่หมายถึงคนที่มีอิสระเสรีและจินตนาการในแบบที่มนุษย์ควรจะพึงมีเพราะเขาเชื่อว่าชิ้นงานของศิลปินเริ่มมาจากความคิด หากมนุษย์ไม่มีอิสระทางความคิดก็จะไม่สามารถสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาได้ และเหนือสิ่งอื่นใด ศิลปะยังเป็นการสื่อสารความแตกต่างทางความคิดที่สวยงามของมนุษย์ และความแตกต่างทางความคิดคือสิ่งที่ระบอบเผด็จการกลัวที่สุด

ต้อม ยุทธเลิศ บอกว่า มีคนเคยถามว่าเราจะยืนหยัดต่อสู้กับอำนาจเผด็จการที่กุมทั้งอาวุธ อำนาจศาล และความยุติธรรมได้อย่างไร โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ ในฐานะศิลปินที่อาจจะวาดรูปไม่ได้ ร้องแร็ปไม่เป็น งาน Uncensored เป็นเสมือน Installation Art ที่เขาสร้างงานศิลปะผ่านการจัดการวางความคิดผู้คนอันเป็นหนึ่งเดียวกันให้กลายเป็นพลังงานที่ยิ่งใหญ่ เพราะเผด็จการจะหวาดกลัวก็ต่อเมื่อคนจำนวนหนึ่งลุกขึ้นมาทำบางสิ่ง แม้จะเป็นแค่การยืนเฉยๆ และทำสิ่งที่ดูไม่มีความหมายแฝงอะไร แต่เมื่อการกระทำที่ดูไม่มีความหมายนั้นถูกทำโดยคนจำนวนมากขึ้น ความหมายของการกระทำนั้นก็จะเกิดขึ้นเอง ไม่ต่างจากแคมเปญใส่ผ้าปิดปากสีดำที่ยุทธเลิศเคยทำขึ้น เพราะเมื่อหน้ากากสีดำที่ใครๆ ก็ใส่ได้ทั่วไปถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ของการสื่อสาร ความหมายของมันก็จะส่งผลกระทบกับผู้คนในที่สุด

“แม้คุณจะวาดรูปเก่งแค่ไหน แต่ถ้าหากคุณไม่สนับสนุนสิทธิเสรีภาพ คุณก็ไม่ใช่ศิลปิน และการต่อสู้ของศิลปินก็ง่ายมาก เราใช้ศิลปะในการแสดงตัวตนและความแตกต่างทางความคิดในการต่อสู้ และทุกคนมีศิลปะอยู่ในตัวอยู่แล้ว ถ้าเรารู้สึกว่าไม่มีอิสระ เราต้องทำให้ตัวเองมีอิสระ เราต้องคิดอะไรก็ได้ พูดอะไรก็ได้ ถ้าไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ดนตรีไม่เคยทำให้เกิดสงคราม มีแต่ปืนและอำนาจเท่านั้นที่ทำ

ในขณะที่ยุทธเลิศกำลังพูด ภาพความฝันที่เจือจางก็เริ่มกลับมาสว่างไสว เมื่อผู้คนในงานรอบตัวเริ่มหยิบผ้าปิดปากสีดำขึ้นมาสวมใส่ รวมถึงชูสัญลักษณ์สามนิ้วที่หมายถึงเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพพร้อมๆ กัน 

หากต้อม ยุทธเลิศ บอกว่างาน Uncensored ในครั้งนี้ เป็นเสมือนงานศิลปะของคนที่วาดรูปไม่ได้ ร้องเพลงไม่เป็นอย่างเขา ดังนั้นไม่ว่าเราจะเป็นใคร จะวาดรูปและร้องเพลงเป็นหรือไม่ การสื่อสารความรู้สึกของตัวเองออกมาอย่างอิสระเสรีไม่ว่าจะในรูปแบบไหน หากไม่ถูกกดเอาไว้ด้วยอำนาจของเผด็จการก็ล้วนแต่ทำให้เรากลายเป็นศิลปินได้ไม่ต่างกัน และบรรยากาศที่เราได้เห็นในตอนนั้นทำให้เราพบว่า หากเรายังไม่ยอมแพ้และยืนหยัดต่อสู้กับการลิดรอนข่าวสารและสิทธิเสรีภาพของอำนาจเผด็จการต่อไป คนกลุ่มเล็กๆ งาน Uncensored ในครั้งนี้ อาจสามารถกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ และทำให้ความหวังที่เริ่มจางหายไปหลังการเลือกตั้งค่อยๆ กลับมาลุกโชนอีกครั้ง

Tags: , , , , , , ,