กลายเป็นประเด็นร้อนในชั่วข้ามคืน เมื่อองค์การสหประชาชาติปล่อยรายงานว่าด้วย “ความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ, ผู้แทนขององค์การสหประชาชาติ และกลไกด้านสิทธิมนุษยชน” (Cooperation with the United Nations, its representatives and mechanisms in the field of human rights) ออกมาเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา
โดยตัวรายงานพูดถึงการ ‘เอาคืน’ (Reprisals) ที่รัฐบาลประเทศต่างๆ กระทำต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานกับองค์การสหประชาชาติด้วยวิธีการหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทางกฎหมาย การเมือง การใช้กลไกรัฐ หรือแม้กระทั่งวิธีการนอกกฎหมาย
รายงานฉบับนี้มองว่า การกระทำเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อยับยั้งไม่ให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทำงานกับองค์การสหประชาชาติ ผลที่ตามมาก็คือ ทำให้คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศนั้นๆ เซ็นเซอร์ตัวเอง
รายงานของสหประชาชาติฉบับนี้ใช้คำสุดสตรอง โดยเรียกการกระทำของรัฐที่เอาคืนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ว่าเป็นการกระทำที่ ‘น่าอับอาย’ ซึ่งมันก็คงจะไม่เป็นเรื่องเป็นราวอะไรขึ้นมา หากว่าประเทศไทยที่รักของเราซึ่งปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารมานานกว่าสี่ปีจะไม่รวมอยู่ในรายชื่อของ 38 ประเทศที่ถูกพูดถึงในรายงานฉบับนี้ เคียงข้างกับประเทศอย่างอียิปต์ ตุรกี และพม่า
จนพลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องออกมาตอบโต้เป็นพัลวันว่า “เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของยูเอ็นโดยตรง แต่เป็นเรื่องของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ หรือ UNHRC”
เนื่องจากวันนี้ (19 กันยายน 2561) จะมีการนำเสนอรายงานฉบับนี้ต่อหน้าที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เราจะมาดูกันว่า ศึกวันทรงชัยไฟต์เตอร์นัดนี้ ระหว่างสหประชาชาติและรัฐบาลไทย ใครจะมีสิทธิแพ้น็อก แพ้แตก หรือถูกนับคะแนน โดยวัดกันหมัดต่อหมัดจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ
ยกที่ 1 รายงานของใครกันแน่?
สหประชาชาติบอกว่า รายงานฉบับนี้เป็นรายงานประจำปีของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติคนปัจจุบัน นายอันโตนิโอ กูเตร์เรซ อดีตนายกรัฐมนตรีโปรตุเกส ตัวรายงานจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยนายแอนดรูว์ กิลมอร์ ผู้ช่วยเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ
รัฐบาลไทย โดยพลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของยูเอ็นโดยตรง แต่เป็นเรื่องของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ หรือ UNHRC” ซึ่งเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เพราะรายงานฉบับนี้ไม่ได้จัดทำโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แต่จัดทำโดยเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นผู้นำสูงสุดขององค์กร
ยิ่งไปกว่านั้น คำพูดของพลโทสรรเสริญในส่วนนี้ มีการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) ก็เป็นหนึ่งในกลไกขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งมีหน้าที่ในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทั่วโลก
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก่อตั้งขึ้นในปี 2549 ด้วยมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ
ส่วนคำแก้ต่างของกระทรวงการต่างประเทศที่อ้างว่า รายงานฉบับนี้จัดทำโดยนายแอนดรูว์ กิลมอร์ ผู้ช่วยเลขาธิการองค์การสหประชาชาติก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน เพราะรายงานฉบับนี้ถือเป็นหนึ่งในรายงานประจำปีของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติที่พูดถึงการ ‘เอาคืน’ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานกับกลไกสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
คะแนนยกที่ 1 : สหประชาชาติ 1 รัฐบาลไทย 0
ยกที่ 2 เนื้อหาในรายงาน – ชัวร์หรือมั่วนิ่ม?
สหประชาชาติบอกว่า การ ‘เอาคืน’ หรือ Reprisals ในความหมายขององค์การสหประชาชาติ นับรวมรูปแบบการคุกคามหลากหลาย เช่น การไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ การข่มขู่ การละเมิด การใส่ร้ายป้ายสี การสอดส่องติดตาม การออกกฎหมายจำกัดสิทธิ การทำร้ายร่างกาย การจับกุมคุมขังโดยพลการ การซ้อมทรมาน การใช้ความรุนแรงทางเพศต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือแม้กระทั่งการสังหาร
ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 38 ประเทศที่ถูกกล่าวถึงว่ามีการ ‘เอาคืน’ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานกับกลไกสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติในสองกรณี คือ กรณีของ ไมตรี จำเริญสุขสกุล นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวลาหู่ที่ถูกคุกคามและขู่ฆ่าหลังจากเข้าพบกับ มิเชล ฟรอสต์ ผู้ตรวจการพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในเดือนพฤษภาคม 2560 และกรณีของ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ถูกตั้งข้อหาแจ้งความเท็จหลังเดินทางกลับมาจากการเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 33
ในรายงานส่วนภาคผนวก ก็มีการติดตามกรณีการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกกล่าวถึงในรายงานประจำปี 2560 ซึ่งประกอบด้วยการฟ้องร้อง สมชาย หอมลออ, พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ การใช้สื่อออนไลน์คุกคาม พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ, อัญชนา หีมมิหน๊ะ และอังคณา นีละไพจิตร โดยกล่าวหาว่าทั้งสามคนสนับสนุนการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกรณีของ อิสมาแอ เต๊ะ ที่ถูกฟ้องร้องโดยกองทัพภาค 4 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 หลังจากอิสมาแอให้สัมภาษณ์กับรายการโทรทัศน์ถึงประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยโดนซ้อมทรมานในค่ายทหาร
รัฐบาลไทย โดยพลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด กล่าวว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายหรือเจตนาจะคุกคาม ข่มขู่ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และยังให้ความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชนให้มีความปลอดภัยและสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติงานและดำรงชีวิตได้
คะแนนยกที่สอง: สหประชาชาติ 1 รัฐบาลไทย -1
ยกที่ 3 แนวทาง – เชื่อใครดี?
ในรายงานของสหประชาชาติเสนอว่า องค์การสหประชาชาติเองก็ต้องขยายฐานข้อมูลที่ว่าด้วยการละเมิดและคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคุกคามที่เกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิง และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ที่ต้องเก็บข้อมูลแยกและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเหมาะสม รวมถึงการสนับสนุนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายรายงานกรณีที่เกิดขึ้นต่อองค์การสหประชาชาติเพื่อการติดตามและมีการดำเนินงานต่อไป
นอกจากนั้นองค์การสหประชาชาติยังเน้นย้ำว่า รัฐบาลแต่ละประเทศมีหน้าที่หยุดยั้งการ ‘เอาคืน’ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน รับประกันว่าการเอาคืนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะไม่เกิดขึ้นอีก รวมถึงนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
ในส่วนของรัฐบาลไทย พลโทสรรเสริญระบุว่า รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการจำนวนมาก เช่น การแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนามาตรการคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิด บรรจุเรื่องของนักสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 – 2566 รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ
ทั้งนี้การแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนามาตรการคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิด หรือที่มีชื่อเล่นว่า White List นั้น มีการพูดคุยกันมายาวนาน แต่กลับไม่มีความคืบหน้าเท่าใดนัก ส่วนการร่างพัฒนาแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 4 ก็ไม่ได้มีการพิจารณาข้อคิดเห็นของภาคประชาสังคมที่มีต่อแผนสิทธิมนุษยชนฉบับนี้
ส่วนการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญก็เป็นไปเพื่อชดเชยความล้มเหลวในการผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายของรัฐบาลชุดนี้
คะแนน: สหประชาติ 1 รัฐบาลไทย 0
สรุปผลศึกวันทรงชัยไฟต์เตอร์
งานนี้รัฐบาลไทยแพ้คะแนนขาดลอย หลังจากไฟต์นี้ ต้องติดตามกันต่อไปว่า จะมีไฟต์ล้างตาในปีหน้าอีกหรือไม่ หากรัฐบาลยังไม่สามารถปลดล็อคข้อครหาของประชาคมโลกว่า รัฐบาลไทยคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะทำให้ภาพลักษณ์ของไทยดูย่ำแย่ในสายตานานาชาติแล้ว สิ่งที่อาจจะตามมาคือผลกระทบด้านการลงทุนและเศรษฐกิจการค้า เมื่อคู่ค้ารายใหญ่ของไทยอย่างสหภาพยุโรปมีนโยบายหลักในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐบาลทหารอาจจะไม่มีทางเลือกมากนักหลังจากศึกนี้ นอกจากจะหยุดทุกมาตรการในการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และให้หลักประกันทั้งต่อภาคประชาสังคมไทยและนานาชาติว่า แนวทางการปฏิบัติต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ ‘น่าละอาย’ นี้จะไม่เกิดขึ้นอีก
Tags: UNHRC, Reprisals, เอาคืน, UN, สิทธิมนุษยชน, องค์การสหประชาชาติ