สหประชาชาติ หรือ UN ได้รายงานประเมินกระทบทางเศรษฐกิจของโควิด-19 ในประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่าการระบาดของโควิด 19 อาจส่งผลให้จีดีพีของประเทศไทยในปี 2568 ลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ

โดยอัตราการว่างงานในกลุ่มผู้หญิงจะสูงถึงร้อยละ 4.5 ในขณะที่อัตราการว่างงานโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.1 สำหรับทั้งปี 2563 ซึ่งในระหว่างปี การว่างงานจะเพิ่มสูงกว่านี้ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานนอกระบบ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์และการท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างรุนแรง ขณะที่ผลิตผลทางการเกษตรจะได้รับความเสียหายเพิ่มเติมจากการระบาดของไวรัส นอกเหนือจากที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ส่วนภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การดูแลสุขภาพ สินค้าอุปโภคบริโภค และบริการทางการเงิน ได้รับผลกระทบน้อยกว่า และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วได้ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ได้ในระดับหนึ่ง 

กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 อาจกระทบต่อความพยายามของประเทศไทย ที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และส่งผลลบต่อความก้าวหน้าในการดำเนินการตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา

“ความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเกือบครึ่งของตลาดแรงงานได้รับผลกระทบรุนแรงอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าทั้งผู้หญิงและผู้ชายได้รับผลกระทบเท่าๆกัน แต่ผู้หญิงมีความเสี่ยงสูงกว่าทั้งทางสังคมและทางเศรษฐกิจ” นางซับบระวาล กล่าว “อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจะบรรเทาลงได้ด้วยการมุ่งเน้นไปที่นโยบายที่ส่งผลต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม การฟื้นตัวอย่างยั่งยืนต้องอาศัยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสู่เป้าหมายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ การสร้างงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สหประชาชาติยังคงให้การสนับสนุนประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านสู่ความปกติใหม่”

รายงานของสหประชาชาติ ได้ตระหนักถึงการดำเนินนโยบายที่รวดเร็วของรัฐบาล เพื่อสะกัดกั้นและลดผลกระทบของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 15 ของจีดีพีและมีสัดส่วนใกล้เคียงกับ

เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า โควิด-19 มีผลกระทบต่อประชากรที่มีความเปราะบางมากที่สุด

“โควิดส่งผลหนักที่สุดต่อประชาชนกลุ่มที่เปราะบางมากที่สุด และยิ่งเน้นย้ำความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคม” นายเมแยร์กล่าว “กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้พิการ กลุ่ม LGBTI และสมาชิกชาติพันธุ์ต่าง ๆ กำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง นอกจากนี้ กลุ่มผู้หญิงจะมีความเสี่ยงสูงต่อการว่างงาน เพราะบางส่วนอยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่กระทบหนักที่สุด เช่น การท่องเที่ยว” 

นายเมแยร์กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่แรงงานนอกระบบ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าครึ่งของภาคแรงงาน ก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นกัน เนื่องจากกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในประกันสังคม และไม่สามารถได้รับสิทธิ์ต่างๆในสถานที่ทำงาน เช่น เงินอุดหนุนช่วยเหลือค่าจ้าง การลากิจ หรือ ลาป่วย ทั้งหมดนี้ ล้วนแต่ต้องการมาตรการเยียวยาที่ตรงเป้าหมาย

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะเผยแพร่ผลการศึกษาเพิ่มเติมในเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งจะมีการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบทางสังคมของวิกฤตโควิด 19 ที่มีต่อความยากจน อาหารและภาวะโภชนาการ สุขภาพ การศึกษา การคุ้มครองทางสังคม และการป้องกันความรุนแรงและการละเมิด 

ภาพ: MLADEN ANTONOV / AFP

Tags: