บังกลาเทศมีแผนที่จะย้ายชาวโรฮิงญาหลายพันครอบครัวที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่แออัดไปยังเกาะที่ห่างไกลเริ่มต้นในเดือนนี้ แต่ยังไม่สามารถปฏิบัติการตามแผนได้ หลังจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ

แผนการเคลื่อนย้ายชาวโรฮิงญาในครั้งนี้ เกิดจากการที่จำนวนผู้คนและสิ่งปลูกสร้างในค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองชายแดนตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศเพิ่มสูงขึ้น จึงมีการวางแผนว่าตั้งแต่เดือนนี้จะเคลื่อนย้ายชาวโรฮิงญา 100,000 คนไปยังเกาะพาร์ซานชาร์ ที่เต็มไปด้วยโคลนและมีแนวโน้มว่าน้ำจะท่วม โดยมีระยะเวลาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เพราะเป็นช่วงเวลาที่คลื่นลมสงบ โดยชาวโรฮิงญาหลายพันครอบครัว สมัครใจและอาสาที่จะย้ายถิ่นฐานรวมไปถึงชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอีก 3,500 คนด้วย 

แต่แผนการดังกล่าวที่ปรากฏเป็นข่าวมานับปีนี้ ยังเป็นที่สงสัยว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เพราะองค์การสหประชาชาติไม่สนับสนุนแผนการย้ายถิ่นฐานของชาวโรฮิงญาในครั้งนี้ 

แผนนี้กลายเป็นเรื่องไม่แน่นอน เพราะหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ ยังไม่เห็นด้วยกับแผนการย้ายถิ่นฐานอีนามูร์ ราห์มาน รัฐมนตรีกระทรวงการจัดการภัยพิบัติและบรรเทาทุกข์ของบังกลาเทศกล่าว 

หน่วยงานที่จะให้ความช่วยเหลือในแผนนี้ ได้แก่ หน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ UNHCR องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และโครงการอาหารโลก (WFP) ซึ่งหลังจากการประชุมกับรัฐบาลบังกลาเทศ หน่วยงานเหล่านี้กล่าวว่าเกาะดังกล่าวนั้นห่างไกล โดดเดี่ยว และมีแนวโน้มที่น้ำจะท่วม จึงไม่เห็นด้วยกับแผนการย้ายชาวโรฮิงญาในครั้งนี้ และมีการตั้งเงื่อนไขหากมีการย้ายถิ่นฐานตามแผน ไม่ว่าจะเป็น บริการการคมนาคมระหว่างเกาะนี้และแผ่นดินใหญ่

ซึ่งองค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวโรฮิงญาเกือบหนึ่งล้านคนในค่ายผู้ลี้ภัย รวมไปถึงอีกกว่า 740,000 คนที่หนีการปราบปรามทางทหารในเมียนมาในเดือนสิงหาคม 2017 เรื่อยมา

หลุยส์ โดโนแวน โฆษกของยูเอ็นเอชซีอาร์กล่าวว่า การย้ายถิ่นฐานในครั้งนี้ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ และทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์

การย้ายถิ่นฐานในครั้งนี้เราต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและความยั่งยืนของชีวิตบนเกาะพาซานชาร์ด้วย สหประชาชาติคิดว่า มีความจำเป็นที่จะต้องทำการประเมินทางเทคนิคซึ่งต้องทำอย่างอิสระและทั่วถึงก่อนที่จะมีการย้ายถิ่นฐานโดโนแวนกล่าว

การประเมินจะพิจารณาถึงความเสี่ยงของภัยพิบัติทางธรรมชาติ การจัดหาน้ำที่เพียงพอและการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน เช่น สุขภาพและการศึกษา และความสามารถในการโยกย้ายภายในเกาะพาซานชาร์ หรือแม้กระทั่งการติดต่อคมนาคมระหว่างเกาะพาซานชาร์และแผ่นดินใหญ่

โดยทางการบังกลาเทศจะจัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติอีกครั้งในประเด็นนี้ นอกจากนี้กลุ่มสิทธิมนุษยชน Fortify Rights ซึ่งมีโอกาสได้สัมภาษณ์ชาวโรฮิงญา 14 คนที่อยู่ในลิสต์ผู้ที่สมัครใจจะย้ายถิ่นฐานในค่ายอพยพสามแห่ง พบว่าไม่มีใครได้รับคำปรึกษาในประเด็นที่น่าเป็นห่วงเลยแม้แต่น้อย ในขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ก็ได้แสดงความกังวลว่าเกาะดังกล่าวนั้นมักจะเจอกับพายุไซโคลนเป็นประจำ 

อ้างอิง

https://www.asiatimes.com/2019/11/article/un-concerns-delay-rohingya-island-relocation/

https://www.voanews.com/south-central-asia/bangladesh-rohingya-island-relocation-uncertain-after-un-doubts

https://www.straitstimes.com/asia/south-asia/bangladesh-rohingya-island-relocation-uncertain-after-un-doubts

ภาพ : MUNIR UZ ZAMAN / AFP

Tags: , ,