ก่อนที่จะกลายเป็นประเทศมาเลเซียที่มีเอกราชสมบูรณ์ในปัจจุบัน จริงๆ แล้วคนจีน คนอินเดีย คนมลายูที่อาศัยอยู่ในสหพันธรัฐมลายูนั้นมีปัญหาทางชาติพันธุ์กันมาอย่างยาวนาน จวบจนกระทั่ง ตนกู อับดุล ราห์มาน ที่เป็นผู้นำการเรียกร้องเอกราชและนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศมาเลเซีย เข้ามาแก้ปัญหา

ถึงแม้ว่าพรรคอัมโนจะเป็นพรรคการเมืองที่ดำรงอยู่มานานกว่า 67 ปี และพูดได้ว่าเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่และทรงอำนาจที่สุดในมาเลเซีย ทว่าการเลือกตั้งครั้งที่ 14 ที่ผ่านมา ร่วมไปกับคดีทุจริตโครงการความมั่งคั่งแห่งมาเลเซีย หรือ 1MBD ที่อื้อฉาวที่สุดในประวัติศาสตร์มาเลเซีย ก็ได้ถือเป็นการทำลายอำนาจของพรรคอัมโนอย่างแท้จริง

มลายูสำหรับชาวมลายู (Malaya for the Malay) : จากสหพันธ์มลายู สู่การก่อกำเนิดพรรคอัมโน

จากแนวคิดแบ่งแยกแล้วปกครองของอังกฤษ ที่เอื้อโอกาสให้แก่คนอินเดีย และคนจีนมากกว่า ชาวมาเลย์เชื้อสายมลายูไม่มีงานทำ ไม่ได้รับการส่งเสริมงานจากรัฐ ส่งผลให้เกิดอคติทางด้านเชื้อชาติจนกลายเป็นปัญหาทางด้านการสร้างเอกภาพในสังคมมาเลเซีย 

การต่อต้านแนวคิดการปกครองของอังกฤษเริ่มจาก ดาโต๊ะ ออนน์ บิน จาร์ ฟา มุขมนตรีของรัฐยะโฮร์ก่อตั้ง ‘แนวร่วมองค์การชาตินิยมมลายู’ หรือที่รู้จักกันในนามพรรคอัมโน (United Malay National Organization / UMNO) ที่ถือคำขวัญสำคัญในการก่อตั้งว่า ‘มลายูสำหรับชาวมลายู (Malaya for the Malay)’ ทั้งนี้ เพื่อรักษาชาติพันธุ์มลายูให้เป็นชาติพันธุ์หลักในการปกครองประเทศ 

ตนกู อับดุล ราห์มาน

ตนกู อับดุล ราห์มาน เข้ามารับช่วงต่อจากดาโต๊ะ ออนน์ บิน จาร์ ฟา และต้องการสร้างเอกภาพทางการเมืองและคลายปัญหาทางชาติพันธุ์ที่สั่งสมมานานตั้งแต่อังกฤษเข้ามาปกครอง ในปี 1956 รัฐบาลกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ฉบับแรกขึ้นมา มุ่งเน้นยกระดับเศรษฐกิจ แก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางชาติพันธุ์ เน้นแก้ปัญหาการตกงานของชาวมาเลย์เชื้อสายมลายู แบ่งงานตามแต่ละชาติพันธุ์ถนัด คนจีนเน้นการค้าขาย คนอินเดียเน้นเป็นแรงงานประมงและเหมืองแร่ ในขณะที่คนมาเลย์ทำการเกษตร ปลูกข้าว ค้าขาย 

นอกจากนี้ ในปี 1957 ตนกู อับดุล ราห์มาน ยังได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐมลายูฉบับแรก จนกระทั่งได้รับเอกราช และมีการจัดการเลือกตั้งระดับประเทศขึ้นครั้งแรก ในปี 1959 และไม่ผิดคาด ภายใต้การนำของตนกู อับดุล ราห์มาน พรรคอัมโนได้รับที่นั่งในสภา 74 ที่นั่ง จาก 104 ที่นั่ง เขาจึงขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของสหพันธรัฐมลายู

พรรคอัมโนจากการสร้างรากฐานทางอำนาจ ถึงความอื้อฉาวไปทั่วโลก

พรรคอัมโมมีประวัติและบทบาทมาอย่างยาวนานในมาเลเซีย ทั้งก่อนและหลังได้รับเอกราช พรรคอัมโนมักเป็นผู้ถือครองอำนาจนำในสภาโดยตลอด โดยจะเห็นได้ว่านายกรัฐมนตรีของมาเลเซียก่อนหน้านี้ 7 คน ล้วนมาจากพรรคอัมโนทั้งสิ้น 

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งล่าสุดของมาเลเซีย เมื่อปี 2019 นับเป็นครั้งแรกที่พรรคอัมโนพ่ายแพ้ในการจัดตั้งรัฐบาล และเป็นผู้นำฝ่ายค้าน มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีในวัย 94 ปี ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในนามของกลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้าน ‘ปากาตัน ฮาราปัน (Pakatan Harapan)’ หรือ พันธมิตรแห่งความหวัง สร้างความผิดหวังในแก่นาจิบ ราซัคที่หวังขึ้นเป็นนายกฯ สมัยที่ 3

มหาเธร์ โมฮัมหมัด

แต่ก็ไม่อาจกล่าวได้เต็มปากว่ามหาเธร์ไม่ใช่พรรคอัมโน เพราะเขาเคยเป็นหัวหน้าพรรคอัมโน ซึ่งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 1981 และดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 22 ปี 

ความได้เปรียบของมหาเธร์ข้อหนึ่งคือ วัยวุฒิทางการเมืองครั้งที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ และพาพรรคอัมโนก้าวเข้าสู่ยุคทอง สร้างเครือข่ายทางการเมืองให้พรรค มอบสัมปทานให้นักธุรกิจเชื้อสายมลายู ควบคุมสื่อ ตลอดจน บังคับใช้กฎหมายเพื่อจำกัดอำนาจฝ่ายค้าน กล่าวได้ว่ามหาเธร์อ่านเกมของพรรคอัมโนออกเกือบทุกทาง เพราะสร้างพรรคมากับมือ

รวมถึงการเอาชนะใจกลุ่ม ‘ภูมิบุตร (Bumiputeras)’ หรือชาวมาเลย์เชื้อสายมลายูที่มีมากถึงร้อยละ 68 ของประเทศ ด้วยนโยบาย ‘ภูมิบุตร (Bumiputeras)’ ที่ให้สิทธิพิเศษแก่ชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายู ตั้งแต่ การเข้ารับราชการ การศึกษา ตลอดจนทำธุรกิจ สัมปทาน 

นาจิบ ราซัค

สาเหตุสำคัญอีกประการที่ทำให้นาจิบพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งคือ กรณีการทุจริตกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติมาเลเซีย หรือ 1MDB โดยกองทุนดังกล่าวตั้งขึ้นมาเพื่อผลักดันเศรษฐกิจมาเลเซีย และทำให้กัวลาลัมเปอร์เป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค แต่ผ่านไป 6 ปี กองทุนกลับขาดทุนอย่างน่าสงสัย จนนำไปสู่การเปิดเผยจากรัฐบาลหลายประเทศว่ากองทุนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินระดับนานาชาติ และเงินราว 2 หมื่นล้านล้านบาทถูกโอนเข้าบัญชีส่วนตัวของนาจิบ นอกจากนี้ยังมีปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น จากการยกระดับภาษีมูลค่าเพิ่มของรัฐบาล

และในที่สุด ผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2019 ก็ออกมาว่าพรรคอัมโนพ่ายแพ้ด้วยสัดส่วน 50.87% ต่อ 47.38% และเป็นมหาเธร์ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งในระยะเวลาสั้นๆ ตามที่เคยกล่าวไว้ว่า ตนลงเลือกตั้งเพื่อเป็นการเปิดทางให้แก่ อันวาร์ อิบราฮิม และจะลาออกหลังจากดำรงตำแหน่งได้ 2 ปี ซึ่งก็ไม่เกินจริงไปนัก เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2020 มีแถลงการณ์จากสำนักนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียออกมาว่า มหาเธร์ทูลเกล้าถวายหนังสือลาออกต่อกษัตริย์มาเลเซียแล้ว

‘มูห์ยิดดิน’ อดีตลูกพรรคอัมโนและตัวเลือกที่ดีที่สุดของกษัตริย์

เส้นทางในอนาคตพรรคอัมโนจะกลับคืนสู่อำนาจ หรือรักษาความแข็งแกร่งของพรรคได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองกันต่อไป อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่พรรคอัมโนกลายมาเป็นฝ่ายค้าน สมาชิกของพรรค 5 คนทยอยลาออกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

นอกจากนี้ล่าสุด สำนักพระราชวังของมาเลเซียออกแถลงการณ์ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2020 ระบุว่า สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ ชาห์ แห่งมาเลเซียทรงแต่งตั้ง นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน อดีตรัฐมนตรีมหาดไทย พรรคเบอร์ซาตู ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซีย โดยกล่าวว่า มูห์ยิดดินเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมที่สุดแล้ว และหวังว่าชาวมาเลเซียจะเคารพการตัดสินใจจากทางวัง 

มูห์ยิดดินถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่มีการเลือกตั้งทั้งแบบรัฐสภา และแบบรัฐในเวลาเดียวกัน  เขาเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่หลากหลาย ตั้งแต่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐยะโฮร์ เป็นรองประธานพรรคปากาตัน ฮาราปัน เเละดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียตั้งแต่ปี 2009 จนถึงปี 2014 ตลอดจนเคยทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม

และอาจเหมาะสมที่สุดจริงๆ ก็ได้ เพราะมูห์ยิดดินได้รับความชื่นชอบจากทั้ง มหาเธร์ และ พรรคอัมโน เพราะเขาเคยเป็นสมาชิกพรรคอัมโน แต่ถูกขับออกจากพรรคเมื่อปี 2015 เนื่องจากตั้งคำถามต่อนาจิบ ราซัคเรื่องคดีทุจริต 1MDB  และอาจเป็นไปได้ว่า อำนาจของพรรคอัมโนกำลังเปลี่ยนผ่านมาสู่ตัวบุคคล อย่างตัวมหาเธร์เอง

มูห์ยิดดิน ยัสซิน

อ้างอิง: 

Babara Watson Anda:ประวัติศาสตร์มาเลเซีย มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, THE TOYOTA FOUNDATION, พิมพ์ครั้งที่2 : พฤศจิกายน 2551.

Turnbull, C. Mary ประวัติศาสตร์มาเลเซีย สิงคโปร์ และบูรไน = A History of Malaysia, Singapore and Burnei ทองสุก เกตุโรจน์, แปล กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2540

https://www.matichon.co.th/article/news_1148762

https://www.bbc.com/thai/international-44033143

https://www.bbc.com/thai/international-51610181

https://www.posttoday.com/world/565258

https://www.thairath.co.th/news/foreign/1779446

https://www.thairath.co.th/news/foreign/1783731

https://www.aljazeera.com/news/2020/02/200229085505647.html

Tags: , , , ,