มหาวิทยาลัยชื่อดังในสหราชอาณาจักรหลายแห่ง กำลังร่วมกันทดสอบระบบการเรียนการสอนออนไลน์ใหม่ เพื่อช่วยนักศึกษาชาวจีนให้เข้าถึงเอกสารประกอบการเรียน และศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาของตนเองได้ หลังเผชิญกับมาตรการคุมเข้มทางอินเทอร์เน็ตของจีน ที่ส่งผลให้นักศึกษาเข้าถึงเนื้อหาที่ “ได้รับอนุญาต” จากทางการจีนเท่านั้น
มาตรการคุมเข้มทางอินเทอร์เน็ต หรือ “ระบบเซนเซอร์” ของจีน สร้างความกังวลให้นักศึกษาในประเทศจีนอย่างมาก เนื่องจากมาตรการดังกล่าวได้ปิดกั้นเว็บไซต์และคัดกรองเนื้อหาบางส่วนที่ทางการจีนเห็นว่า “ไม่เหมาะสม” ได้ ซึ่งทำให้นักศึกษาไม่สามารถเข้าถึงบทความทางวิชาการบางประเภท บริษัทผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตของจีน Alibaba Cloud และ องค์กรผู้ให้บริการทางการศึกษาและงานวิจัยของสหราชอาณาจักร JISC จึงร่วมมือกันสร้างระบบเชื่อมต่อเสมือนจริงระหว่างนักศึกษาในจีนและมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร เพื่อรองรับการเรียนการสอนออนไลน์ใหม่ โดยเนื้อหาทั้งหมดจะ “อยู่ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยเท่านั้น” .
อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์เคอร์รี่ บราวน์ ผู้อำนวยการสถาบันเลาแห่งคิงส์คอลเลจ ออกมาแสดงความกังวลต่อเสรีภาพทางวิชาการ หลังมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรและนักวิชาการหันมาเริ่ม “เซนเซอร์ตัวเอง” มากขึ้น เนื่องจากมหาวิทยาลัยกลัวผลกระทบต่อจำนวนนักศึกษาชาวจีน ที่เป็นแหล่งรายได้ใหญ่ของมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร และอุปสรรคในการร่วมมือทางด้านวิชาการกับจีนในอนาคต
นอกจากนี้ บราวน์ ชี้ว่า มหาวิทยาลัยควรเริ่มใช้ “กลยุทธ์บริหารความเสี่ยง” ต่อรองกับจีนมากขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความต้องการของทางการจีนและเสรีภาพในการแสดงออกและวิชาการ บราวน์ ระบุว่า “มหาวิทยาลัยต้องกล้าที่จะ ‘ปฏิเสธ’ ข้อเรียกร้องหรือการกระทำของจีน ที่ละเมิดค่านิยมของเรา”
ทางด้านมหาวิทยาลัยที่เป็นผู้สนับสนุนระบบการเรียนการสอนใหม่นี้ ออกมายืนยันว่า ระบบดังกล่าวถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้แน่ใจว่า นักศึกษาที่อาศัยอยู่ในจีนขณะนี้ จะสามารถเข้าถึงเอกสารประกอบการเรียนครบถ้วนและสามารถสนับสนุนการศึกษาต่อให้พวกเขาสำเร็จการศึกษาได้ โดยที่มหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วยกับการเซนเซอร์เนื้อหาทุกกรณี
คาดว่าระบบดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ และพร้อมให้บริการในเดือนกันยายน
ที่มา:
https://www.bbc.com/news/education-53341217
ภาพ: REUTERS/Brian Snyder