ส.ส.อังกฤษ 322 ต่อ 306 เสียง ลงมติให้เลื่อนการลงมติข้อตกลงเบร็กซิตออกไป จนกว่าร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะผ่านออกมาได้แล้ว จึงค่อยหยิบข้อตกลงเบร็กซิตมาพิจารณา

การโหวตนี้มีขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม 2562 และเป็นวันที่สื่อในสหราชอาณาจักรขนานนามว่าเป็นสุดยอดวันเสาร์ (Super Saturday) เพราะเป็นวันเดดไลน์ที่สภาอังกฤษจะต้องผ่านข้อตกลงเบร็กซิตให้ได้หากจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปภายใน 31 ตุลาคมตามที่กำหนดกันไว้ นั่นจึงทำให้สมาชิกสภาอังกฤษต้องนัดประชุมกันวันเสาร์เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี บวกกับความตึงเครียดของสถานการณ์ จึงทำให้ชาวอังกฤษนัดชุมนุมใหญ่เพื่อเรียกร้องให้ทำประชามติเรื่องนี้ใหม่อีกครั้ง

แต่จากมติสภาครั้งนี้ ค่อนข้างชัดเจนว่า อังกฤษจะยังไม่สามารถออกจากการเป็นสมาชิกภาพยุโรปในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ได้ ขั้นตอนนับจากนี้ นายกรัฐมนตรีอังกฤษจะต้องเขียนคำร้องเพื่อขอเลื่อนเวลาเบร็กซิตออกไป โดยจอห์นสันก็ออกมาประกาศแล้วว่า ในการเลื่อนเวลาเบร็กซิตครั้งนี้ เขาจะไม่เจรจาต่อรองเงื่อนไขใดๆ กับสหภาพยุโรป

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เป็นคนที่รีบร้อนอยากดำเนินการให้เกิดเบร็กซิตได้เร็วที่สุด 

โดยเขาเพิ่งสรุปร่างข้อตกลงเบร็กซิตกับคณะเจรจาของสหภาพยุโรปได้สำเร็จเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา และพยายามอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้สภารับร่างในการประชุมเมื่อวันเสาร์ที่ 19 เขากล่าวในสภาว่า การยื้อเวลาไม่ใช่ทางออก สาธารณชนต้องการเห็นเบร็กซิตเกิดขึ้นเพื่อที่ประเทศจะได้ไปต่อ สิ่งที่จะดีที่สุดทั้งกับอังกฤษและอียู ก็คือแยกทางกันในวันที่ 31 ตุลาคม 

ก่อนการลงมติ เขากำหนดทางเลือกออกมาให้เหลือเพียงว่า หากไม่รับร่างเบร็กซิตฉบับของเขา ทางเลือกที่เหลือก็มีแต่ โนดีล หรือก็คือออกจากอียูไปแบบไม่มีข้อตกลง อย่างไรก็ดี ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับจอห์นสันบอกว่า การกำหนดทางเลือกให้เหลือแค่สองทางนี้นั้นไม่อาจทำได้จริง ส.ส.ฝ่ายต่างๆ จึงเตรียมแนวทางแปรญัติติมาสามแนวทาง 

แนวทางแรก (ซึ่งเป็นแนวทางที่ชนะมติ เรียกกันในชื่อเล่นว่า คำแปรญัตติเล็ตวิน หรือ Letwin Amendment) เสนอให้ชะลอการลงมติข้อตกลงเบร็กซิตออกไปจนกว่าจะมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบ 

แนวทางที่สอง คือเสนอให้ยกเลิกมาตรา 50 ตามสนธิสัญญาลิสบอน ซึ่งเป็นมาตราที่กำหนดกรอบเวลาที่สหราชอาณาจักรจะออกจากการเป็นสมาชิกอียู หรืออีกนัยหนึ่งก็คือให้ ส.ส. ยกเลิกเบร็กซิต 

ส่วนทางเลือกที่สาม คือการโหวตไม่รับร่างเบร็กซิตของบอริส จอห์นสัน ซึ่งจะมีผลให้ต้องเลื่อนเวลาเบร็กซิต และรอการเลือกตั้งใหม่

ก่อนหน้านี้ แม้จอห์นสันประกาศว่าจะรีบดำเนินการเบร็กซิตให้ได้ แม้จะต้อง ‘โนดีล’ ก็ตาม สภาอังกฤษก็แก้เกมด้วยการดัน ‘กฎหมายเบนน์’ ที่ระบุว่า หากสภาอังกฤษลงมติข้อตกลงเบร็กซิตไม่ได้ภายในวันที่ 19 ตุลาคม ก็ต้องยื่นคำร้องขอเลื่อนเวลาเบร็กซิตจากวันที่ 31 ตุลาคมออกไปอีกสามเดือน

หลังผลโหวตออกมาให้ชะลอการลงมติออกไป โดนัลด์ ทัสก์ ประธานคณะมนตรียุโรปก็ทวีตข้อความเมื่อช่วงหัวค่ำว่า เพิ่งได้คุยกับจอห์นสัน และ “กำลังรอจดหมาย” ขอเลื่อนเวลา

ด้าน จอร์จีนา ไรต์ นักวิจัยจาก The Institute for Government ประเมินสถานการณ์ว่าอียูจะตอบรับอย่างไร โดยคิดออกมาได้สี่แนวทาง คือ หนึ่ง ไม่ยอมให้เลื่อนเบร็กซิต นั่นหมายความว่า สหราชอาณาจักรจะออกจากอียูแบบโนดีลหรือไร้ข้อตกลงในวันที่ 31 ตุลาคม สองคือ สหภาพยุโรปจะรอเวลาเพื่อดูก่อนว่า สภาอังกฤษจะดำเนินการอย่างไรต่อแล้วค่อยตัดสินใจ สาม สหภาพยุโรปอาจจะเสนอให้เลื่อนเวลาแค่ระยะสั้น เช่นขยับกำหนดการออกไปจนถึงกลางพฤศจิกายนเพื่อให้สภาอังกฤษผ่านร่างกฎหมายต่างๆ เสียก่อน ซึ่งหากพ้นเดดไลน์นี้ไป ก็ต้องเข้าสู่ภาวะแบบโนดีล และแนวทางสุดท้ายคือ สหภาพยุโรปอาจจะยอมยืดเวลาออกไปได้นานจนถึงปี 2020 นักวิเคราะห์มองว่าแนวทางนี้อาจจะเป็นไปได้หากสมาชิกสภาบอกว่าต้องการทำประชามติรอบสอง

ทั้งนี้ หลังสภาโหวตให้เลื่อนการลงมติ บอริส จอห์นสัน ก็ประกาศกร้าวว่า “ผมจะไม่เจรจาต่อรองใดๆ กับยุโรปเรื่องการเลื่อนเวลา และกฎหมายก็ไม่ได้บังคับให้ผมต้องทำ” พร้อมกล่าวว่า เขายืนยันดังเดิมตลอดระยะเวลา 88 วันที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ว่าการยื้อเวลาเบร็กซิตออกไปจะสร้างผลเสียต่อสหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และเป็นผลร้ายต่อระบอบประชาธิปไตย

ที่มา: 

https://uk.reuters.com/article/uk-britain-eu-parliament-explainer/explainer-britains-super-saturday-brexit-showdown-in-parliament-idUKKBN1WY067?

https://www.standard.co.uk/news/politics/brexit-new-latest-donald-tusk-says-he-is-waiting-for-the-letter-after-speaking-to-boris-johnson-a4265946.html

Tags: , , , , ,