บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และ ฌ็อง โคลด ยุงเคอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ออกมาแถลงข่าวร่วมกันเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 ว่า ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงเบร็กซิต ที่บอกรายละเอียดเกี่ยวกับการออกจากสมาชิกภาพสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรเป็นที่เรียบรอยแล้ว 

ขั้นตอนถัดจากนี้คือ ทั้งสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปต้องร่างกฎหมายขึ้นมาให้สอดคล้องกับข้อตกลงเบร็กซิต แล้วให้รัฐสภาของทั้งสองฝ่ายพิจารณาบังคับใช้กฎหมาย

ฌ็อง โคลด ยุงเคอร์ กล่าวว่า ข้อตกลงนี้สมดุลและยุติธรรม แต่อย่างไรก็ดี บรรดานักการเมืองในสหราชอาณาจักรดูจะไม่เห็นด้วยกับรายละเอียดข้อตกลงนี้ 

เนื้อหาข้อตกลงฉบับบอริส จอห์นสัน คล้ายคลึงกับฉบับของเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนก่อน ข้อตกลงระบุว่า อังกฤษจะอยู่ภายใต้กติกาและหลักเกณฑ์ของสหภาพยุโรปไปจนถึงสิ้นปี 2020 หรืออาจนานกว่านั้น เพื่อให้เวลาภาคธุรกิจได้ปรับตัวได้ทัน โดยอังกฤษจะเป็นฝ่ายจ่ายค่าแยกตัว หรือ Divorce Bill จำนวน 33 พันล้านปอนด์ 

ส่วนที่แตกต่างค่อนข้างชัดเจนก็คือรายละเอียดเกี่ยวกับไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งพรรคสหประชาธิปไตย หรือ ดียูพี ประกาศแล้วว่าจะโหวตไม่รับข้อตกลงล่าสุดของบอริส จอห์นสัน ประเด็นที่เป็นปัญหาที่สุดเป็นเรื่องการจัดการชายแดนไอร์แลนด์เหนือกับอังกฤษว่าจะจัดการอย่างไร ซึ่งในร่างที่ผ่านมา มีมาตรการแบ็คสต็อป หรือ การปิดกั้นแนวชายแดนระหว่างอังกฤษกับไอร์แลนด์ โดยในข้อตกลงฉบับนี้ไม่ได้เขียนรายละเอียดเรื่องนี้เอาไว้

โดยข้อตกลงฉบับนี้ กำหนดให้ไอร์แลนด์เหนือใช้กฎการค้าที่สอดคล้องกับกฎของสหภาพยุโรป ในระยะแรกของเบร็กซิต ไอร์แลนดเหนือจะยังอยู่ในตลาดเดียวกับอียู แต่ขณะเดียวกันก็ต้องอยู่ใต้กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มของอังกฤษด้วย

แนวโน้มเวลานี้ ดูเหมือนบอริส จอห์นสัน จะพยายามทำให้เบร็กซิตเกิดขึ้นได้จริงภายในกำหนดเส้นตายวันที่ 31 ตุลาคม ท่ามกลางความหวังของหลายฝ่ายที่คิดตรงกันข้าม โดยลุ้นให้เลื่อนเวลาเส้นตายออกไป ดังที่มีความพยายามผลักดันกฎหมายเมื่อเดือนที่แล้ว กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องขอขยายเวลาเบร็กซิต หากสภาไม่สามารถเจรจาข้อตกลงได้ภายในวันที่ 19 ตุลาคม

สำหรับความคืบหน้าขั้นต่อไป ต้องรอลุ้นการประชุมสภาอังกฤษ วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคมนี้

 

ที่มา: 

Tags: , , , ,