เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (4 กันยายน) สภาสามัญและสภาสูงของอังกฤษ ลงมติเพื่อให้มีการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการเลื่อนเวลาเบร็กซิต เพื่อยับยั้งการออกจากสหภาพยุโรปโดยปราศจากข้อตกลง (no-deal Brexit) โดยประชุมกันดึกดื่นจนถึงตีหนึ่งครึ่ง เพื่อจะเร่งพิจารณากฎหมายให้เสร็จก่อนปิดสมัยประชุมสภาในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ ทำให้บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษประกาศกร้าวว่าจะให้ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่เดือนตุลาคม ซึ่งข้อเสนอนี้ก็แพ้โหวตไปแล้วเช่นกัน

นี่นับเป็นความพ่ายแพ้ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดหลังการเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษของบอริส จอห์นสัน หลังจากรัฐสภาอังกฤษมีมติ 328 ต่อ 301 เสียง ตามข้อเสนอที่ฝ่ายค้านและส.ส.กบฏในพรรคอนุรักษนิยม (the rebel Tories) 21 คน เสนอร่างกฎหมายเลื่อนเวลาเบร็กซิตออกไปสามเดือน จากกำหนดเดิมวันที่ 30 ตุลาคม เลื่อนไปจนถึง 31 มกราคมปีหน้า ซึ่งหากเลื่อนเวลาได้ ก็อาจจะสามารถยับยั้งการออกจากสหภาพยุโรปแบบ ‘ไร้ข้อตกลง’ ได้

ที่สภาโกลาหล มี ส.ส.ย้ายค่าย ประชุมดึกดื่นเร่งรีบเช่นนี้ เพราะก่อนหน้านี้ บอริส จอห์นสัน ใช้เทคนิคเสนอให้ระงับการประชุมสภา เพื่อให้สภามีเวลาถกกันน้อยลง เขายืนยันเต็มเหนี่ยวจะให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปในวันที่ 31 ตุลาคมให้ได้ อีกนัยหนึ่งคือ ส่งสัญญาณชัดว่า เขาพยายามจะทำให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปแบบ ‘ไร้ข้อตกลง’ ทำให้ตลอดสัปดาห์นี้ สมาชิกจากพรรคฝ่ายค้านและสมาชิกบางส่วนจากพรรครัฐบาลอย่างพรรคทอรี่หรือพรรคอนุรักษนิยมจำนวน 21 คน รวมตัวกันเสนอร่างกฎหมายที่จะป้องกันการออกจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลง (no-deal Brexit) 

การย้ายค่ายของ ส.ส. 21 คน ยังมีผลทำให้พรรคอนุรักษนิยมของบอริส จอห์นสัน ไม่มีเสียงข้างมากในสภาอีกต่อไป เมื่อจอห์นสันจะแก้เกมด้วยการประกาศว่าจะให้มีเลือกตั้งใหม่ หรือ snap election  โดยกล่าวว่า “ประชาชนของประเทศนี้จะต้องเลือก” ซึ่งจะต้องได้เสียงอย่างน้อย 2 ใน 3 ของทั้งสองสภา แต่เสียงที่ได้มามีเพียง 298 เสียงจาก 650 เสียง ซึ่งไม่พอที่จะประกาศยุบสภาเช่นกัน

ผู้นำพรรคแรงงานอย่างเจเรมี คอร์บิน บอกชัดเจนว่า พรรคของเขาไม่สนับสนุนให้ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ จนกว่าร่างกฎหมายยับยั้งการออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลงจะผ่าน ขณะเดียวกัน กลุ่มต่อต้านก็หวังที่จะผลักดันให้ร่างกฎหมายผ่านทุกขั้นตอนของรัฐสภาภายในสัปดาห์นี้ แม้ว่าจะเผชิญกับการต่อสู้อย่างดุเดือด 

อย่างไรก็ตาม ปัญหา Brexit ที่คุกรุ่นขึ้นมาอีกครั้งส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจของอังกฤษอย่างรุนแรง โดยธนาคารกลางอังกฤษประเมินว่า อังกฤษจะเข้าสู่สถานการณ์เลวร้ายที่สุด ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะหดตัวกว่า 5.5% และอาจจะลงสู่ระดับที่หดตัวมากกว่า 8%

นอกจากนั้น มีความกังวลว่าถ้าหากอังกฤษไม่สามารถยับยั้งการออกจากสหภาพยุโรปโดยไร้ข้อตกลงจะส่งผลต่อชาวยุโรปที่อาศัยอยู่ในอังกฤษกว่า 3.3 ล้านคนทันทีที่เดือนพฤศจิกายนเริ่มต้น แต่รัฐบาลอังกฤษเผยว่า ชาวยุโรปที่เข้ามาถึงอังกฤษก่อนสิ้นปี 2020 จะสามารถอยู่ต่อไปได้จนถึงปี 2023 เนื่องจากอังกฤษไม่มีกฎหมายรองรับการทำงานระหว่างประเทศสำหรับ Brexit แบบไร้ข้อตกลง

หลังจากการประชามติในปี 2016 ที่ชาวอังกฤษโหวตให้สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรปนั้น เดิมมีกำหนดที่วันที่ 29 มีนาคม 2019 แต่รายละเอียดของข้อตกลง (เช่นการจัดการเรื่องพรมแดน ประเด็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ฯลฯ) ยังไม่เป็นที่พอใจของสมาชิกสภาในอังกฤษ ทำให้ต้องเลื่อนมาแล้วถึงสองครั้ง คือ เลื่อนไปเป็นเดือนเมษายน และเดือนตุลาคม และมีผลให้เทเรซ่า เมย์ ประกาศลาออกด้วยเห็นว่าเสียงส่วนใหญ่ในสภาไม่สนับสนุนเธอ

ที่มา:

https://www.theguardian.com/politics/2019/sep/03/boris-johnson-suffers-commons-defeat-as-tories-turn-against-him

https://www.bbc.com/news/uk-49579480

https://www.aljazeera.com/news/2019/09/brexit-latest-updates-190903131130125.html

https://www.vox.com/2019/9/4/20849436/brexit-news-parliament-no-deal-boris-johnson-elections 

ภาพ Reauters

Tags: , ,