สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในสหภาพยุโรปดูไม่สู้ดีนัก หลังจากประเทศอิตาลีกลายเป็นศูนย์กลางของการระบาดและเริ่มแพร่กระจายสู่หลายประเทศข้างเคียง อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมัน และสเปน นำไปสู่การใช้มาตรการสร้าง ‘ระยะห่างทางสังคม (social distancing)’ ภาคบังคับ ไม่ว่าจะเป็นการปิดโรงเรียนไปจนถึงยกเลิกกิจกรรมที่ทำให้คนมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก
สิ่งที่ทำให้หลายคนประหลาดใจ คือท่าทีของรัฐบาลอังกฤษที่อ้างหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อยืนกรานว่าอังกฤษจะไม่ปิดโรงเรียน ไม่ห้ามการรวมกลุ่มทางสังคม และไม่ยกเลิกเที่ยวบิน แต่ขอความร่วมมือให้ประชาชนกักตัวเอง 7 วันหากมีอาการไอติดต่อกันสามถึงสี่ชั่วโมง หรือมีไข้สูงเกิน 37.8 องศาเซลเซียส ซึ่งอาการดังกล่าวถือเป็นอาการ ‘อย่างอ่อน’ ของการติดเชื้อโควิด-19 หากอาการไม่รุนแรงขึ้นก็ไม่มีความจำเป็นต้องโทรปรึกษาสายด่วน 111 และไม่จำเป็นต้องเข้าตรวจเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด
นโยบายของรัฐบาลอังกฤษซึ่งสวนทางกับประเทศเพื่อนบ้านและคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) คือผลผลิตจากส่วนผสมของแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ทฤษฎีสะกิด (Nudge Theory) และแนวคิดภูมิคุ้มกันรวมหมู่ (Herd Immunity) โดยมีเป้าหมายให้เกิดการระบาดอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามแบบจำลองจำนวนผู้ป่วยที่กระจายตัวแบบกราฟระฆังคว่ำ เพื่อจำกัด ‘จุดยอด (peak)’ ของจำนวนผู้ติดเชื้อให้ไม่เกินศักยภาพที่สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service) จะรับไหว ทั้งนี้ รัฐบาลคาดว่าการระบาดจะเกิดขึ้นตลอด 3 เดือนก่อนถึงจุดยอดซึ่งจะตรงกับช่วงฤดูร้อนพอดิบพอดี
ส่วนในปัจจุบันที่รัฐบาลอังกฤษเรียกว่า ‘ระยะถ่วงเวลา (delay phase)’ นโยบายสุขภาพสำคัญคือให้ประชาชนใจเย็นๆ ล้างมือจนเป็นนิสัย อย่าใช้มือสัมผัสหน้า ไม่จำเป็นต้องจับมือทักทาย รวมถึงกักตัวเองอย่างเคร่งครัดหากเริ่มมีอาการตามเกณฑ์
ทฤษฎีสะกิดสู้โควิด-19
‘ทฤษฎีสะกิด’ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางผ่านหนังสือชื่อเดียวกันโดยริชาร์ด เทเลอร์ (Richard Thaler) นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อไม่นานมานี้ และแคส ซันสไตน์ (Cass Sunstein) นักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์ โดยทั้งสองเสนอการสะกิดเป็นทางเลือกในการดำเนินนโยบายบางรูปแบบเนื่องจากมีประสิทธิผลมากกว่าและต้นทุนถูกกว่าหากเทียบกับการบังคับใช้กฎหมายตามแนวทางปกติ
การสะกิดคือการใช้ประโยชน์จากกระบวนการคิดของมนุษย์ โดยปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเพื่อผลักให้มนุษย์มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ รัฐบาลอังกฤษเชื่อมั่นในทฤษฎีนี้มากโดยมีทีมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรม (Behavioral Insights Team) หรือชื่อเล่นว่าหน่วยสะกิด (Nudge Unit) เป็นที่ปรึกษาใกล้ชิดแก่คณะรัฐมนตรี หน่วยงานดังกล่าวประสบความสำเร็จในการนำทฤษฎีไปใช้ในภาคปฏิบัติ โดยมีผลงานเช่นการส่งข้อความสั้นแจ้งเตือนเมื่อถึงฤดูกาลจ่ายภาษีที่ทำให้ภาครัฐเก็บเงินภาษีได้เยอะขึ้น เพิ่มอัตราการรับเด็กในกลุ่มโรงเรียนด้อยโอกาสในมหาวิทยาลัยชั้นนำ โดยให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีพื้นฐานใกล้เคียงกันเขียนจดหมายแนะนำเด็กๆ เหล่านั้นให้มาสมัคร ลดจำนวนการส่งตัวคนไข้ไปยังโรงพยาบาลที่มีคนไข้จำนวนมากโดยการแสดงหน้าจอแจ้งเตือนในระบบ
เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 หน่วยสะกิดก็แนะนำให้รัฐบาลใช้มาตรการส่งเสริมพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นการล้างมือ การปิดปากขณะไอ รวมถึงการกักกันตัวเองเมื่อรู้สึกตัวว่าป่วยไข้ รวมถึงแนะนำว่ายังไม่ถึงเวลาที่รัฐบาลอังกฤษจะต้องใช้มาตรการบังคับประชาชนให้อยู่ในบ้านเพราะการบังคับใช้มาตรการลักษณะดังกล่าวที่รวดเร็วเกินไปอาจทำให้สาธารณชนเกิดภาวะเหนื่อยหน่าย (Public Fatigue) กล่าวคือแม้ว่าประชาชนอาจสามารถทนอยู่กับบ้านได้สองถึงสามสัปดาห์ แต่ความเหนื่อยหน่ายจากการต้องอยู่ในบ้านจะทำให้คนเหล่านั้น ‘ทนไม่ไหว’ จนต้องออกมาเข้าสังคมซึ่งอาจจะชนกับช่วงเวลาที่โรคระบาดถึงจุดยอดพอดี
แบบจำลองการระบาดและการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
หากใครได้อ่านแผนการรับมือการระบาดโควิด-19 ของรัฐบาลอังกฤษ คงจะเห็นความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่ในแทบทุกกระบวนการตัดสินใจ ตั้งแต่การตัดสินใจไม่ปิดโรงเรียนที่รัฐบาลอธิบายว่าหากจะใช้มาตรการดังกล่าวจะต้องปิดโรงเรียนไม่น้อยกว่า 13 สัปดาห์โดยจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วย ณ จุดยอดได้ 10 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการกำหนดให้ผู้ที่มีอาการกักตัวเองที่บ้านมีประสิทธิภาพมากกว่า การปิดโรงเรียนในทางปฏิบัติก็ยังไม่ได้ปิดช่องว่างที่เหล่าเด็กๆ จะพบปะกันในชีวิตประจำวันอยู่ดี หรืออาจต้องถูกส่งไปอยู่กับปู่ย่าตายายซึ่งจะทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม เนื่องจากผู้สูงอายุมีอัตราการเสียชีวิตจากการติดโควิด-19 ในระดับสูง
รัฐบาลยังเชื่อว่าการห้ามกิจกรรมที่คนจะมารวมตัวกันจำนวนมากยังไม่มีความจำเป็น เพราะจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วย ณ จุดยอดได้เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ โดยรัฐบาลมองว่าโควิด-19 สามารถระบาดในคนกลุ่มเล็ก เช่น การนั่งดื่มในผับ ไม่แตกต่างจากการระบาดในคนกลุ่มใหญ่ อย่างไรก็ดี ฝั่งสกอตแลนด์มีความเห็นที่แตกต่างออกไป โดยห้ามไม่ให้จัดกิจกรรมที่จะมีคนเข้าร่วมมากกว่า 500 คน
ส่วนมาตรการยกเลิกเที่ยวบินนั้น ที่ปรึกษาทางการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญมองว่าหากต้องการควบคุมการระบาดให้มีประสิทธิผล จะต้องยกเลิกเที่ยวบินอย่างน้อย 95 เปอร์เซ็นต์แต่ในความเป็นจริงแล้ว มาตรการรัฐน่าจะสามารถประกาศหยุดเที่ยวบินได้ราว 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งหากประชาชนคนใดจำเป็นต้องเดินทางโดยเครื่องบิน รัฐบาลแนะนำให้ทำตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกโดยหลีกเลี่ยงจุดเสี่ยงต่อการติดเชื้อคือที่นั่งสองแถวหน้า และที่นั่งซึ่งใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19
แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษจะไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของแบบจำลองการระบาดที่ใช้ในการคาดการณ์จำนวนผู้ป่วย แต่สำนักข่าวเดอะ วอชิงตันโพสต์ (The Washington Post) ได้เผยแพร่บทความที่น่าสนใจเรื่องแบบจำลองของการระบาด โดยสร้างโรคสมมติที่ติดต่อได้ง่ายกว่าโควิด-19 แล้วลองเปรียบเทียบว่ามาตรการใดจะสามารถชะลอการระบาดและลดจำนวนผู้ป่วย ณ จุดยอดได้มากที่สุด โดยได้ข้อสรุปว่ามาตรการสร้างระยะห่างทางสังคมมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการ ‘ทำกราฟให้แบนลง (flatten the curve)’ หรือการกระจายจำนวนผู้ป่วยในแต่ละช่วงเวลาให้อยู่ภายใต้ศักยภาพที่ระบบการรักษาพยาบาลรองรับไหว
เซอร์ แพทริก วัลแลนซ์ (Sir Patrick Vallance) หัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลอังกฤษ หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการออกแบบกลยุทธ์รับมือโควิด-19 ของรัฐบาลอังกฤษ มองว่าฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดคือการมีผู้ติดเชื้อพร้อมกันเป็นจำนวนมากจนสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติรับไม่ไหว หัวใจของกลยุทธ์คือการค่อยๆ ปล่อยให้ประชากรอังกฤษที่แข็งแรงติดเชื้อโควิด-19 แล้วรักษาจนหายเพื่อจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) หากประชากรกลุ่มนี้มีจำนวนมากราว 60 เปอร์เซ็นต์ ก็จะกลายเป็นเกราะคุ้มกันการระบาดในอนาคต อีกทั้งยังช่วยคุ้มครองผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันอีกด้วย
การพนันครั้งใหญ่ และคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ
แม้ภาพที่รัฐบาลอังกฤษต้องการสื่อสารคือการตัดสินใจเชิงนโยบายที่อ้างอิงจากหลักการทางวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็มองว่าแบบจำลองหรือทฤษฎีที่รัฐบาลอังกฤษนำมาประยุกต์ใช้นั้นไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่แน่ชัด เช่น การใช้ทฤษฎีสะกิดในการจำกัดการระบาดของโรค หรือแม้แต่แนวคิดในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เองก็ยังไม่มีการยืนยันได้ว่าจะสามารถป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ในอนาคต
หลายคนจึงอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามว่าทำไมรัฐบาลอังกฤษถึงมั่นอกมั่นใจกับมาตรการที่อาจเรียกได้ว่า ‘นอกลู่นอกทาง’ หากเทียบกับมาตรการของประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่แนวทางการจัดการการระบาดขององค์การอนามัยโลกซึ่งเน้นมาตรการจำกัดการระบาดอย่างเข้มข้นเพื่อให้คนติดโรคน้อยที่สุด และรอให้มีการค้นพบวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติตามปกติ
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ 229 คนจากมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังรัฐบาลโดยเรียกร้องให้มีมาตรการที่เข้มข้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งระบุว่ามาตรการตอนนี้ “ทำให้หลายชีวิตต้องเสี่ยงโดยที่ไม่มีความจำเป็น” เช่นเดียวกับผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกที่กล่าวตำหนิรัฐบาลอังกฤษในเรื่องนโยบายไม่ตรวจเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง
แบบจำลองของรัฐบาลอังกฤษในปัจจุบันคาดว่าจะมีอัตราผู้เสียชีวิต 1 เปอร์เซ็นต์จากผู้ติดเชื้อทั้งหมด โดยการระบาดจะบรรเทาลงหลังจากที่ประชากรติดเชื้ออย่างน้อย 60 เปอร์เซ็นต์หรือราว 40 ล้านคน นั่นหมายความว่าประชาชน 400,000 ชีวิตจะต้องตายลงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันรวมหมู่ ล่าสุดบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษก็ได้ออกมาปรับท่าทีโดยระบุว่าอาจมีการเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการรับมือโควิด-19 เช่น การห้ามทำกิจกรรมที่มีคนมาร่วมจำนวนมาก เนื่องจากอัตราการติดเชื้อในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าที่ทำนายไว้
แม้ในเชิงสถิติการเสียชีวิต 1 เปอร์เซ็นต์จะไม่สูงมากนัก แต่การที่รัฐบาลออกมายอมรับว่าบางคนอาจต้องสูญเสียคนใกล้ชิดที่คุณรักก็ดูเป็นวิทยาศาสตร์ที่แสนจะเลือดเย็น ในขณะที่หลายคนก็ยังมีความหวังว่าจำนวนผู้เสียชีวิตมีโอกาสที่จะไม่สูงถึงขนาดนั้นหากภาครัฐกัดฟันใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดอย่างทันท่วงที
เอกสารประกอบการเขียน
UK government’s coronavirus advice – and why it gave it
Keep Calm and Wash Your Hands: Britain’s Strategy to Beat Virus
As Europe Shuts Down, Britain Takes a Different, and Contentious, Approach
The UK’s Covid-19 strategy dangerously leaves too many questions unanswered
Why is the government relying on nudge theory to fight coronavirus?
Coronavirus: science chief defends UK plan from criticism
Is Nudge Theory the Right Approach to Coronavirus?
Why outbreaks like coronavirus spread exponentially, and how to “flatten the curve”
Even while canceling mass gatherings, the U.K. is still aiming for deliberate ‘herd immunity’
Johnson set to ramp up UK response to coronavirus
ภาพ: REUTERS/Simon Dawson/Pool
Tags: โควิด-19, Nudge Theory, Herd Immunity, สหราชอาณาจักร