ศาลฎีกาของอังกฤษตัดสินว่า ครอบครัวและแพทย์ของผู้ป่วยที่ ‘สภาพผัก’ หรือเจ้าชาย-หญิงนิทรา ไม่ต้องขออนุญาตจากศาลเพื่อยุติการดูแลระยะสุดท้ายอีกต่อไป หากทั้งแพทย์และญาติเห็นชอบตรงกัน อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ครอบครัวและแพทย์เห็นไม่ตรงกัน ก็ยังคงต้องให้ศาลตัดสิน

ก่อนหน้านี้ ในสหราชอาณาจักรมีกฎว่า การถอดสายอาหารและของเหลวจากผู้ป่วยที่อยู่ในสภาพผักไม่สามารถทำได้ หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากศาลชำนัญพิเศษก่อน แต่กระบวนการยื่นเรื่องขออนุมัติก็ใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปี และยังทำให้ทางการมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทางกฎหมายหลายพันปอนด์

คำตัดสินนี้เริ่มจากกรณีที่ Mr.Y อดีตนักวิเคราะห์การเงินอายุ 52 ปี ซึ่งได้รับบาดเจ็บที่สมอง และไม่รู้สึกตัวเลยหลังจากที่หัวใจหยุดเต้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2017 ต้องใช้ท่อส่งอาหารเพื่อช่วยให้เขายังมีชีวิตอยู่ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ามันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะกลับมารู้สึกตัวได้อีกครั้ง และแม้จะเป็นไปได้ เขาก็จะเป็นคนพิการ ครอบครัวและแพทย์ลงความเห็นว่า ควรจะถอดท่ออาหารและยอมให้เขาตาย

The National Health Service Trust ยื่นคำร้องต่อศาลสูงเพื่อยืนยันว่า การเห็นชอบจากศาลนั้นไม่มีความจำเป็น ในกรณีที่ครอบครัวและแพทย์มีความเห็นตรงกัน ผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นเห็นด้วย แต่อัยการซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ที่ไม่สามารถตัดสินใจทางกฎหมายด้วยตัวเอง ยื่นอุทธรณ์ในนามของ Mr.Y

ก่อนที่คดีจะสิ้นสุด Mr. Y เสียชีวิตลง แต่ศาลฎีกาเห็นว่าการอุทธรณ์ควรดำเนินการต่อไป เพราะนี่เป็นประเด็นที่สำคัญ

เมื่อวันจันทร์ที่ 30 ก.ค. ผู้พิพากษาจิล เอ็ม.แบล็ค (Jill M. Black) ผู้เขียนคำตัดสินของศาลฎีกากล่าวว่า เพียงแค่ความเห็นที่ตรงกันของครอบครัวและแพทย์ของผู้ป่วยก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องให้ศาลตัดสิน และนี่ก็ไม่ได้ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรป

“ชีวิตคนไม่ควรถูกปล่อยทิ้งไปง่ายๆ แต่ก็เช่นเดียวกัน ที่ในบางครั้ง เราจำเป็นต้องปล่อย เพราะมันคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้”

ขณะที่ Care Not Killing กลุ่มต่อต้านการถอดเครื่องช่วยชีวิตออกมาประณามคำตัดสินนี้ โดยกล่าวว่า ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการที่สมองถูกทำลายไม่เหมือนกับผู้ป่วยสมองตาย

ทางด้านแพทย์จำนวนไม่น้อยยินดีกับคำตัดสินของศาล เพราะมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่อ่อนเพลียขั้นรุนแรงจนต้องอาศัยเครื่องช่วยชีวิตนานเกินกว่าความจำเป็น แต่โรงพยาบาลกระอักกระอ่วนที่จะดำเนินการทางกฎหมายเพื่อขออนุญาตจากศาล และขั้นตอนนี้มีค่าใช้จ่าย

นาตาลี โคซซา (Natalie Koussa) ผู้อำนวยการ Compassion in Dying องค์กรการกุศลที่ส่งเสริมการเตรียมตัวระยะสุดท้ายของชีวิตกล่าวว่า “กฎหมายนี้ยินยอมให้คนที่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่สุด ได้แก่คนที่พวกเขารักและคณะแพทย์ รู้สึกว่าได้รับการสนับสนุนและเสริมกำลังใจ จากการตัดสินใจที่ถูกต้องสำหรับคนไข้”

คำตัดสินนี้มีผลบังคับใช้กับอังกฤษและเวลส์ และเป็นไปในแนวทางเดียวกับอีกหลายประเทศในยุโรป เช่น เบลเยียม ฝรั่งเศ เยอรมนี โปรตุเกส ที่ไม่ต้องใช้คำสั่งศาลเพื่อถอนเครื่องช่วยชีวิตออกจากผู้ป่วยที่อยู่ในสภาพผัก ส่วนในไอร์แลนด์ยังคงต้องมีคำสั่งศาล ในสหรัฐอเมริกาขึ้นอยู่กับกฎหมายของรัฐนั้นๆ

อย่างไรก็ดี คำตัดสินของศาลฎีกาครั้งนี้ ใช้เฉพาะกรณีการยุติชีวิตผู้ป่วยที่อยู่ในสภาพผักเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงกรณีการตัดสินใจยุติชีวิตของผู้ป่วยในกรณีอื่นๆ และในสหราชอาณาจักร การการุณยฆาตยังถือเป็นความผิดที่อาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 14 ปี

 

ที่มาภาพ: Katarzyna Bialasiewicz /Gettyimages

ที่มา:

Tags: , ,