บ่อยครั้งที่การมีบัตรเครดิตสักใบดูจะเป็นเรื่องยาก ไหนจะต้องกรอกเอกสาร รอการอนุมัติ ยืนยันตัวตน รวมทั้งความอ่อนไหวเรื่องการใช้จ่าย ใบแจ้งหนี้ตรงกับที่เราใช้จ่ายไปไหม ไปต่างประเทศก็กลัวจะถูกแฮ็กบัตรเครดิต คอลเซ็นเตอร์ให้ถือสายรอนาน จะเอาแต้มแลกของรางวัล ก็ไม่รู้ว่าเรามีกี่แต้ม

สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาของผู้ใช้บัตรเครดิตมาเนิ่นนาน

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ พัฒนาแอปพลิเคชัน UChoose สำหรับลูกค้าผู้ใช้บัตรเครดิตในเครือกรุงศรี เพื่อบริหารจัดการการใช้บัตรเครดิตและแก้ปัญหาความยุ่งยากดังกล่าว โดยได้เปิดตัวไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ผ่านไปเพียงแค่ปีเดียว ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยตัวเลขดาวน์โหลดและลงทะเบียนแอปฯ UChoose ว่ามีมากถึง 1.2 ล้านคน และมียอดผู้ใช้งานเป็นประจำ (Active Users) ราว 3 แสนคนต่อวัน

 

แอปฯ ที่เข้าใจปัญหาของผู้ใช้บัตรเครดิต

กว่าจะมาเป็นแอปฯ UChoose ไม่ใช่เรื่องง่าย เริ่มแรกได้จ้างทีมคณะทำงาน D.School จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดมาสอนเรื่อง Design Thinking เพื่อเปลี่ยนวิธีคิดและการทำงาน โดยต้องพัฒนาแอปฯ ที่ง่าย สะดวก และรวดเร็ว สามารถมีฟีเจอร์ออกใหม่ทุกสองอาทิตย์ และในองค์กรก็ต้องมีการทำงานที่รวดเร็วและสามารถต่อสู้รับมือกับฟินเทคต่างๆ ได้

“เราตั้งใจสร้างแอปฯ สำหรับลูกค้าถือบัตรเครดิตและบัตรสินเชื่อส่วนบุคคลในเครือกรุงศรี คอมซูมเมอร์ เราพบปัญหาของลูกค้าและช่องทางการติดต่อ ก็คิดว่าจะมีเครื่องมือในการแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง ตอนแรกคาดว่าจะมีคนใช้แอปฯ แค่ 3-5 คน ซึ่งถือว่าเก่งแล้ว”

“เราดีไซน์แอปฯ จากความเข้าใจปัญหาของลูกค้า เนื่องจากข้อมูลในสเตตเมนท์กว่าส่งจะมาถึงมือลูกค้า ก็ไม่อัพเดทแล้ว ลูกค้าอยากรู้ข้อมูลล่าสุดว่าวงเงินเหลือเท่าไร ใช้จ่ายอะไรไปบ้าง มีข้อมูลเยอะมากที่เขาอยากรู้ บางครั้งคอลเซ็นเตอร์ก็ติดต่อยาก เราเลยรวบรวมทุกปัญหาและอุปสรรคมาพัฒนาเป็นแอปฯ UChoose”

ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

ฐากรยังได้เปิดเผยตัวเลขการเติบโตแบบก้าวกระโดดของแอปฯ Uchoose ในระยะเวลาเพียง 1 ปี ว่ามี มีผู้ดาวโหลดและลงทะเบียนใช้งาน 1.2 ล้านคน โดยเป็นคนที่อายุ 25-34 ปี มีสัดส่วน 51% รองลงมาคือคนอายุ 35-44 ปี มีสัดส่วน 25% คนอายุ 18-24 ปี มีสัดส่วน 11% ต่อมาเป็นคนที่มีอายุ 45-54 ปี มีสัดส่วน 9% และคนที่อายุ 55 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 4%

นอกจากนี้ยังอัปเดตแอปฯ ทั้งหมด 35 ครั้ง สำหรับการปรับแก้และเพิ่มฟีเจอร์ต่างๆ โดยมีผู้ใช้งาน 3 แสนคนต่อวัน มีลูกค้าเข้ามาข้อดูรายการที่ใช้จ่ายรวม 24 ล้านครั้งต่อปี และทุกครั้งที่ใช้บัตรเครดิต มีการแจ้งเตือนการใช้จ่ายจำนวน 22 ล้านครั้งต่อปี ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่า SMS ได้กว่า 8 ล้านบาท รวมทั้งมีลูกค้าสมัครใช้ E-Billing ประมาณ 6-7 หมื่นคน ช่วยลดต้นทุนการจัดส่งสเตตเมนต์ในรูปของเอกสาร และมีลูกค้า 7-8 หมื่นคนที่นำแต้มไปแลกของรางวัลผ่านแอปฯ UChoose โดยไม่ต้องผ่านคอลเซ็นเตอร์

 

การบริการ การตลาด และขยายฐานลูกค้า

ฐากรบอกว่า UChoose ไม่ได้เป็นเพียงแค่แอปพลิเคชันเพื่อการบริการลูกค้า แต่เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำการตลาดที่เน้นประสิทธิภาพในการบริหารจัดการข้อมูลลูกค้า (Big Data) เพื่อให้บริการที่ตรงใจลูกค้าที่สุด โดยมี 3 ปัจจัยที่ทำให้ UChoose ประสบความสำเร็จและเป็นกุญแจสู่การตลาดยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ

  1. ยกระดับการบริการ

ลงทะเบียนครั้งเดียว ก็สามารถเรียกดูข้อมูลของทุกบัตรในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ที่เป็นสมาชิกได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบโปรโมชั่นและสิทธิประโยชน์ต่างๆ การตรวจสอบยอดวงเงินคงเหลือและรายการใช้จ่ายแบบเรียลไทม์ การแจ้งเตือนการใช้บัตร และฟีเจอร์อื่นๆ ที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ถือบัตร

  1. เสริมประสิทธิภาพการตลาด

ด้วยฐานข้อมูลลูกค้าผ่านแอปฯ จะช่วยให้ส่งมอบโปรโมชั่นที่ตรงใจลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น เช่น การแจ้งเตือนโปรโมชั่นของร้านค้าที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับที่เราอยู่ในปัจจุบัน การวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้บัตร เพื่อนำเสนอแคมเปญส่งเสริมการตลาดตามความสนใจของลูกค้า การเชื่อมต่อระบบกับร้านค้าและพันธมิตรอื่นๆ ที่นำคะแนนสะสมบัตรเครดิตมาแลกผ่านแอปฯ ได้โดยตรง

  1. การขยายฐานลูกค้า

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ มีแผนจะขยายฐานลูกค้า โดยใช้ฐานข้อมูลลูกค้าและการเชื่อมต่อระบบที่มีประสิทธิภาพ มาช่วยออกบริการใหม่ๆ ผ่านแอปฯ UChoose หนึ่งในนั้นคือผู้ใช้บัตรเครดิตสามารถขอผ่อนชำระสินค้าและบริการผ่านบัตรเครดิต (Installment Plan On Demand) ผ่านแอปฯ UChoose ได้ และในอนาคต เมื่อโครงการ National Digital ID มีผลบังคับใช้ ก็มีแผนจะให้บริการสินเชื่อออนไลน์แบบโมบายแบงก์กิ้งผ่านแอปฯ เช่นกัน

 

มีอะไรใหม่ในปี 2018

สำหรับเป้าหมายในปี 2018 คือยอดผู้ใช้งาน 2 ล้านคน โดยนอกจากฟีเจอร์เดิมที่มีอยู่แล้วอย่างการดูข้อมูลใช้จ่ายทั่วไป ระยะเวลาเรียกเก็บ การใช้บาร์โคดชำระเงินที่ร้านสะดวกซื้อหรือธนาคาร การใช้แต้มในบัตรเครดิตแลกของรางวัล สเตตเมนต์แบบ E-Billing และการแจ้งเตือนทุกคนที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ในปี 2018 จะมีฟีเจอร์ใหม่ นั่นคือ

  1. การใช้แต้มแลกเป็นตั๋วหนังในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กับบริการ U Cinema โดยสมาชิกบัตรเครดิตกรุงศรีและกรุงศรี เฟิร์สช้อยส์ ทำผ่านแอปฯ ได้เลย สามารถเลือกเรื่อง รอบ และโรงได้ และใช้ QR Code แทนการใช้บัตรชมภาพยนตร์
  2. ชำระเงินผ่าน QR Code จากผู้ถือบัตร Visa และ Master Card โดยร้านค้าไม่จำเป็นต้องมีเครื่องรูดบัตร ใช้ QR Code สแกนจากบัตรเครดิตได้เลย
  3. กู้ยืมเงินออนไลน์ (Digital Lending) หากรัฐบาลอนุมัติให้ใช้ National Digital ID กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ก็ดำเนินการได้ทันที โดยลูกค้าทำการขออนุมัติผ่านแอปฯ ได้ ตั้งแต่กรอกข้อมูล ยืนยันตัวตน รอการอนุมัติ และถ้าผ่านการอนุมัติก็จะได้เป็น Visual Card ใช้ได้ทันที
  4. นำแต้มในบัตรเครดิตไปเป็น E-Coupon สแกนแลกของรางวัลตามที่ต่างๆ กับพันธมิตรของกรุงศรี คอนซูมเมอร์
  5.  การควบคุมการใช้บัตรเครดิตด้วยตัวเองผ่านแอปฯ UChoose ตั้งแต่วงเงินของบัตรดิตที่ปรับเปลี่ยนเองได้ การเลือกประเทศที่จะไปใช้บัตรเครดิตในการใช้จ่าย ป้องกันการถูกขโมยบัตรหรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ถือบัตรมากขึ้น

นอกจากนี้ ฐากรยังเผยถึงนโยบายเรื่อง QR Code ของกรุงศรีว่าจะแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

  1. ร้านค้าขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาเก็ต 
  2. ร้านค้าขนาดกลาง เช่น ร้านขายเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มี 4-5 สาขา
  3. ร้านค้าเดี่ยว เช่น ร้านกาแฟ ร้านขนม ร้านอาหาร
  4. วัดวาอาราม
  5. ร้านค้ารายย่อยตามตลาดนัด หรือร้านค้าริมถนน

“แต่ละธนาคารมีความถนัดไม่เหมือนกัน ของเราเน้นกลุ่มระดับกลางและระดับบนไว้ก่อน คือบริษัทใหญ่ เนื่องจากการทำ QR Code จำเป็นต้องลิงก์กับระบบหลังบ้านของเขาด้วย ซึ่งมันต้องใช้เวลาในการทำ เพราะต่อไปการ Cash on Delivery คนสั่งของ พอได้แล้วก็สแกนจ่ายเงินได้เลย ระบบก็ต้องลิงก์ไปหลังบ้านของบริษัทที่มาส่งของได้ทันที” ฐากรกล่าวทิ้งท้าย

Tags: , , , , ,