โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงท่าทีว่าจะไม่ยอมส่งมอบอำนาจแก่โจ ไบเดนหากตัวเองพ่ายแพ้เพราะมีการโกงเลือกตั้ง ถ้าเกิดการประท้วงและเหตุรุนแรงตามมา เขาอาจส่งทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ ถึงแม้ผู้นำทหารประกาศแล้วว่าไม่อยากให้ทหารยุ่งเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง

  การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในรอบนี้ มีขึ้นในบรรยากาศแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างร้อนแรง ภาวะโรคระบาดทำให้ชาวอเมริกันพากันใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าทางไปรษณีย์อย่างเป็นประวัติการณ์

  ประธานาธิบดีทรัมป์โวยว่า วิธีการออกเสียงแบบนี้มีช่องโหว่ให้โกงได้ และบอกเป็นนัยว่า เขาอาจไม่ยอมส่งมอบอำนาจถ้าตัวเองแพ้

  ด้วยเหตุที่ผลคะแนนในหลายมลรัฐอาจเฉือนกันแค่ฉิวเฉียด จึงคาดกันว่าอาจมีการร้องขอให้นับคะแนนใหม่อินุงตุงนัง ถึงตอนนั้น กองเชียร์ของแต่ละฝ่ายอาจออกมาประท้วง หากเกิดสถานการณ์ม็อบชนม็อบ ทหารอาจถูกสั่งให้เข้ารักษาความสงบ

หน่วยทหารเนชั่นแนลการ์ด

สหรัฐฯ มีกองกำลังสำหรับภารกิจภายในประเทศ เรียกว่า US. National Guard ทหารหน่วยนี้มีประจำการในทุกมลรัฐ อยู่ภายใต้สังกัดของรัฐบาลมลรัฐและรัฐบาลกลางควบคู่กัน

  ในระดับมลรัฐ หากเกิดเหตุรุนแรงจนเกินมือตำรวจ ผู้ว่าการมลรัฐมีอำนาจสั่งการให้เนชั่นแนลการ์ดเข้าช่วยงานของตำรวจได้ แต่ทหารหน่วยนี้ไม่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย ไม่อาจจับกุมฟ้องร้องกล่าวโทษดำเนินคดีประชาชน

  ที่ผ่านมา บางมลรัฐส่งหน่วยเนชั่นแนลการ์ดเข้าช่วยรักษาความสงบในเหตุ

ประท้วงรุนแรงเรื่องสีผิว บางมลรัฐใช้ทหารหน่วยนี้ช่วยตระเตรียมการเลือกตั้ง และบางมลรัฐกำลังจะใช้ทหารในวันเลือกตั้งด้วย เนื่องจากกำลังเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอเพราะไวรัสระบาด

ประธานาธิบดีมีอำนาจสั่ง

นอกจากผู้ว่าการมลรัฐฯ แล้ว ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีอำนาจสั่งใช้กองกำลังเนชั่นแนลการ์ดเช่นกัน ทรัมป์บอกเมื่อเดือนกันยายนว่า เขาอาจใช้อำนาจตามรัฐบัญญัติว่าด้วยการก่อกบฏ ปี 1807 ส่งทหารเข้าระงับยับยั้งเหตุจลาจลภายหลังการเลือกตั้ง 3 พฤศจิกายน

  ทรัมป์ไม่รับปากว่า เขาจะยอมส่งมอบอำนาจแต่โดยดีหรือไม่หากเขาเชื่อว่ามีการโกงการเลือกตั้ง ท่าทีเช่นนี้ทำให้หลายฝ่ายวิตกว่า เขาอาจใช้กำลังทหารในการระงับเหตุประท้วงที่อาจเกิดขึ้นตามมา

  ถึงแม้ผู้นำที่ได้รับอาณัติจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งมีอำนาจบังคับบัญชากองทัพตามหลักพลเรือนทรงอำนาจสูงสุด ทว่าการนำทหารเข้ายุ่งเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งมีความล่อแหลมที่จะละเมิดหลักความเป็นทหารอาชีพ

  พลเอกมาร์ก มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วม ซึ่งทรัมป์เสนอแต่งตั้งเมื่อปีที่แล้ว บอกว่า ในสถานการณ์ที่เกิดการโต้แย้งว่า ใครกันแน่เป็นฝ่ายชนะ ทหารขออยู่ห่างๆ

  มิลลีย์บอกว่าถ้าเป็นอย่างนั้น ศาลกับสภาคองเกรสเป็นองค์กรที่จะตอบปัญหาได้อย่างเหมาะสม ทหารไม่มีบทบาทในการชี้ขาดผลการเลือกตั้ง ไม่มีแม้แต่นิดเดียว ไม่ใช่บทบาทของทหาร

ทหารในการเมืองยุคทรัมป์

ตลอดวาระในตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์มักหันไปหาทหารเมื่อเกิดสถานการณ์ตึงเครียด เช่น ส่งทหารไปตรึงกำลังตามแนวพรมแดนที่ติดกับเม็กซิโกเพื่อป้องกันคลื่นคนเข้าเมือง ส่งทหารเข้าระงับเหตุจลาจลด้านเชื้อชาติ จนถึงภารกิจรับมือโคโรนาไวรัส

  ปีเตอร์ ฟีเวอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงภายใน มหาวิทยาลัยดุค เตือนว่า การ

ฝากความหวังกับทหารในยามเกิดวิกฤตจะทำให้ประชาชนคาดหวังอย่างผิดๆ ว่า ทหาร

จะช่วยแก้ปัญหาการเลือกตั้งได้

ฟีเวอร์บอกว่า ถ้าจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน ยังไม่รู้ผลว่าฝ่ายไหนชนะ ศรัทธาในประชาธิปไตยจะเสื่อมถอย ท้องถนนจะเต็มไปด้วยการประท้วง ถึงตอนนั้น ทหารจะถูกกดดันให้เป็นผู้ชี้ขาด

  แน่นอนว่า ทหารอเมริกันไม่ประสงค์ที่จะเล่นบทบาทเช่นนั้น นายทหารคนหนึ่งบอกกับรอยเตอร์ว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทหารเราก็คือ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายไปเลย

  ตามโพลของรอยเตอร์/อิปซอส ในระดับชาติ ไบเดนมีคะแนนนิยมนำหน้าทรัมป์อยู่ 10 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ดี ในหลายมลรัฐที่มีน้ำหนักชี้ชะตาผู้ชนะ คะแนนของทั้งสองฝ่ายสูสีกันมาก ชัยชนะจึงอาจพลิกเป็นของทรัมป์ อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2016

  ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี 2020 อาจไม่เพียงชี้ชะตานักการเมือง หากยังชี้ถึงสุขภาวะของระบอบประชาธิปไตยอเมริกันด้วย

อ้างอิง:

Council on Foreign Relations, 26 October 2020

Reuters, 30 October 2020

AP, 30 October 2020