สตาร์ตอัปไทยส่วนใหญ่มักหยิบยืมเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้งาน แต่มีเพียงน้อยรายที่จะมุ่งต่อยอดไอเดียจากเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) ไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเพราะการเรียนรู้ Deep Technology นั้นต้องใช้เวลาศึกษาวิจัยและพัฒนา ขั้นตอนนี้ก็ต้องอาศัยเงินทุนจำนวนไม่น้อย

ดิจิทัล เวนเจอร์ส (Digital Ventures) ผู้ศึกษาและพัฒนานวัตกรรมการทางเงินในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ จึงริเริ่มโครงการ U.Reka เพื่อค้นหาไอเดียและส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผ่านเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) ผลักดันให้เกิดสตาร์ตอัปที่นำเทคโนโลยีขั้นสูงไปประยุกต์ใช้และต่อยอด จนเกิดนวัตกรรมเป็นของตัวเอง

โดยได้ความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำเจ็ดแห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึง The Knowledge Exchange (KX) และ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย

อรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด

อรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด พูดถึงจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ว่า ในฐานะที่เป็นผู้ส่งเสริมระบบนิเวศสำหรับสตาร์ตอัปและการสร้างนวัตกรรม ก็พบว่าปัจจุบันการวิจัยและพัฒนาด้าน Deep Technology ในประเทศไทยยังมีความท้าทายในหลายส่วน เมื่อเทียบกับประเทศที่เป็น Innovation Hub ของโลกอย่างสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น ที่มีองค์ประกอบเอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม ทั้งการสนับสนุนจากภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคการศึกษา จึงอยากให้โครงการ U.REKA มีบทบาทช่วยเพิ่มขีดความสามารถในด้านการพัฒนานวัตกรรมให้กับประเทศในระยะยาว

ลักษณะกิจกรรมมุ่งเน้นที่กลุ่มอาจารย์ นักศึกษา นักวิจัย และผู้สนใจเทคโนโลยีชั้นสูง รวมกลุ่มกันนำเสนอไอเดียจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงหกด้านด้วยกัน ได้แก่ Artificial Intelligence (AI), Blockchain, Clouds & Security, Big Data & Internet of Things, VR & AR และ Quantum Computing

อรพงศ์อธิบายว่า การพัฒนา Deep Tech คือการสร้างเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่ใช่การยืมคนอื่นมาแล้วปรับใช้ ซึ่งประเทศไทยยังมีสตาร์ตอัปประเภทนี้น้อยมาก

อรพงศ์ยกตัวอย่างสตาร์ตอัปไทยที่ประยุกต์เอา Deep Tech มาใช้ ได้แก่ Meticuly สตาร์ตอัปทำชิ้นส่วนกระดูกทดแทน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคล โดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ

“Deep Tech ล่าสุด ที่ผมเห็นคือสตาร์ตอัปที่ทำชิ้นส่วนอวัยวะเทียมจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ปกติโรงพยาบาลจะซื้อชิ้นส่วนอวัยวะเทียมจากต่างประเทศ แต่บางครั้ง ด้วยเรื่องของขนาดที่ไม่เข้ากับคนไทย แต่ของ Meticuly ทำมาเพื่อคนไทยโดยเฉพาะ แบบนี้ผมว่าเป็นนวัตกรรมที่ใครก็เลียนแบบไม่ได้ ก็อยากให้นี้แบบนี้เยอะๆ ในบ้านเรา”

เริ่มต้นโจทย์ใหญ่ เน้น 3 อุตสาหกรรมหลักของไทย

ในระยะแรก U.Reka เน้นที่สามอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ได้แก่ การค้าปลีก การท่องเที่ยว และบริการทางการเงิน เพื่อนำไปต่อยอดและพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการ นำออกสู่ตลาดได้จริงในอนาคต

“เรามีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2.2 ล้านราย โดยหนึ่งล้านราย เป็นค้าปลีกและค้าส่ง และเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีอย่างรุนแรงจาก Marketplace รายใหญ่ที่แย่งชิงลูกค้าไป เพราะเขามีข้อมูลรับรู้พฤติกรรมลูกค้าหมด แต่ค้าปลีกไทยยังไม่มีตรงนี้ แล้วจะไปสู้ได้อย่างไร

“ส่วนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคิดเป็น 17 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในประเทศ แล้วเกี่ยวข้องกับร้านอาหาร โรงแรม การเดินทาง ถ้าทำตรงนี้ได้จะสร้างอนาคตของประเทศไทยได้เลย ส่วนบริการทางการเงิน เนื่องจากเราก็เป็นแบงก์ ก็อยากได้นวัตกรรมที่ตอบโจทย์เราด้วยเช่นกัน”

ด้านธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็บอกว่าทางไมโครซอฟท์จะให้การสนับสนุนในเชิงของการแบ่งปันความรู้ เทคนิคต่างๆ การทำตลาดโซลูชั่น รวมถึงจัดให้มีโครงการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีกับ Microsoft Technology Center ที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียอีกด้วย

เราให้ความสำคัญของโครงการนี้ในระยะยาว เราเชื่อว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้คนบนโลกใบนี้ประสบความสำเร็จได้ และช่วยพัฒนาสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น มันไม่ใช่แค่โครงการในระดับแค่ธนาคาร มหาวิทยาลัย แต่เรามองว่าเป็นโครงการในระดับประเทศ”

“เราจะมีพนักงานของไมโครซอฟท์สองคน คนหนึ่งเป็น Program Manager ในการประสานงาน และทำงานอย่างใกล้ชิดกับทางดิจิทัล เวนเจอร์ส และอีกคนเป็น Technology Specialist ช่วยดูแลด้านเทคโนโลยี มีการให้ข้อมูลและอบรมให้ทีมที่เข้ามาร่วมโครงการมีความรู้มากขึ้น รวมไปถึงการวางโปรแกรมการทำการตลาดเพื่อขายผลิตภัณฑ์”

“คนบ้านเรายังมีทักษะด้านดิจิทัลต่ำอยู่ เราอยากช่วยยกระดับตรงนี้ให้สูงขึ้น ในอีกทางเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้คุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ ทำให้เมื่อเขาเติบโตเป็นสตาร์ตอัป ก็มีโอกาสที่จะใช้เทคโนโลยีของเราได้ แต่นั่นเป็นเพียงผลพลอยได้ของเรามากกว่า เราไม่ได้ขายตรงหรือหากำไรจากโครงการนี้ แต่สิ่งสำคัญเป็นเรื่องของ Digital Deverlopment Skill”

โครงการ U.Reka แบ่งเป็นสามระยะ ได้แก่ การเสนอไอเดีย และทำตัวต้นแบบ ซึ่งจะได้งบประมาณ 200,000 บาท เพื่อเข้าสู่ระยะที่สองซึ่งเป็นส่วนของงานวิจัย ใช้ระยะเวลา 18-36 เดือน ภายใต้งบประมาณทีมละ 3-6 ล้านบาท และระยะที่สามเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด โดยได้เงินสนับสนุนสูงสุด 10 ล้านบาท

Deep Tech ไม่สามารถเกิดได้ในช่วงข้ามคืน ต้องใช้เวลา หวังว่าภายใน 3 ปี น่าจะเห็นผลจากโครงการนี้ ถ้าเฟสแล้วทำแล้วแก้ปัญหาได้จริง โปรแกรมไปได้ เราเชื่อว่าอนาคตจะมีพาร์ตเนอร์เยอะมากขึ้น และกลายเป็นโปรแกรมระดับประเทศที่จะช่วยสร้างนวัตกรรมได้จริง” อรพงศ์กล่าวทิ้งท้าย

Fact Box

โครงการ U.REKA เปิดรับสมัครกลุ่ม Startup เพื่อเข้าสู่กิจกรรม IDEATION BOOTCAMP ตั้งแต่วันนี้ - 15 พฤษภาคม 2561 ดูรายละเอียดการรับสมัครและดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.u-reka.co

Tags: , , , , ,