สตาร์ตอัปไทยส่วนใหญ่มักหยิบยืมเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้งาน แต่มีเพียงน้อยรายที่จะมุ่งต่อยอดไอเดียจากเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) ไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเพราะการเรียนรู้ Deep Technology นั้นต้องใช้เวลาศึกษาวิจัยและพัฒนา ขั้นตอนนี้ก็ต้องอาศัยเงินทุนจำนวนไม่น้อย
ดิจิทัล เวนเจอร์ส (Digital Ventures) ผู้ศึกษาและพัฒนานวัตกรรมการทางเงินในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ จึงริเริ่มโครงการ U.Reka เพื่อค้นหาไอเดียและส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผ่านเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) ผลักดันให้เกิดสตาร์ตอัปที่นำเทคโนโลยีขั้นสูงไปประยุกต์ใช้และต่อยอด จนเกิดนวัตกรรมเป็นของตัวเอง
โดยได้ความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำเจ็ดแห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึง The Knowledge Exchange (KX) และ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย
อรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด พูดถึงจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ว่า ในฐานะที่เป็นผู้ส่งเสริมระบบนิเวศสำหรับสตาร์ตอัปและการสร้างนวัตกรรม ก็พบว่าปัจจุบันการวิจัยและพัฒนาด้าน Deep Technology ในประเทศไทยยังมีความท้าทายในหลายส่วน เมื่อเทียบกับประเทศที่เป็น Innovation Hub ของโลกอย่างสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น ที่มีองค์ประกอบเอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม ทั้งการสนับสนุนจากภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคการศึกษา จึงอยากให้โครงการ U.REKA มีบทบาทช่วยเพิ่มขีดความสามารถในด้านการพัฒนานวัตกรรมให้กับประเทศในระยะยาว
ลักษณะกิจกรรมมุ่งเน้นที่กลุ่มอาจารย์ นักศึกษา นักวิจัย และผู้สนใจเทคโนโลยีชั้นสูง รวมกลุ่มกันนำเสนอไอเดียจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงหกด้านด้วยกัน ได้แก่ Artificial Intelligence (AI), Blockchain, Clouds & Security, Big Data & Internet of Things, VR & AR และ Quantum Computing
อรพงศ์อธิบายว่า การพัฒนา Deep Tech คือการสร้างเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่ใช่การยืมคนอื่นมาแล้วปรับใช้ ซึ่งประเทศไทยยังมีสตาร์ตอัปประเภทนี้น้อยมาก
อรพงศ์ยกตัวอย่างสตาร์ตอัปไทยที่ประยุกต์เอา Deep Tech มาใช้ ได้แก่ Meticuly สตาร์ตอัปทำชิ้นส่วนกระดูกทดแทน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคล โดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ
“Deep Tech ล่าสุด ที่ผมเห็นคือสตาร์ตอัปที่ทำชิ้นส่วนอวัยวะเทียมจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ปกติโรงพยาบาลจะซื้อชิ้นส่วนอวัยวะเทียมจากต่างประเทศ แต่บางครั้ง ด้วยเรื่องของขนาดที่ไม่เข้ากับคนไทย แต่ของ Meticuly ทำมาเพื่อคนไทยโดยเฉพาะ แบบนี้ผมว่าเป็นนวัตกรรมที่ใครก็เลียนแบบไม่ได้ ก็อยากให้นี้แบบนี้เยอะๆ ในบ้านเรา”
เริ่มต้นโจทย์ใหญ่ เน้น 3 อุตสาหกรรมหลักของไทย
ในระยะแรก U.Reka เน้นที่สามอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ได้แก่ การค้าปลีก การท่องเที่ยว และบริการทางการเงิน เพื่อนำไปต่อยอดและพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการ นำออกสู่ตลาดได้จริงในอนาคต
“เรามีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2.2 ล้านราย โดยหนึ่งล้านราย เป็นค้าปลีกและค้าส่ง และเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีอย่างรุนแรงจาก Marketplace รายใหญ่ที่แย่งชิงลูกค้าไป เพราะเขามีข้อมูลรับรู้พฤติกรรมลูกค้าหมด แต่ค้าปลีกไทยยังไม่มีตรงนี้ แล้วจะไปสู้ได้อย่างไร
“ส่วนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคิดเป็น 17 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในประเทศ แล้วเกี่ยวข้องกับร้านอาหาร โรงแรม การเดินทาง ถ้าทำตรงนี้ได้จะสร้างอนาคตของประเทศไทยได้เลย ส่วนบริการทางการเงิน เนื่องจากเราก็เป็นแบงก์ ก็อยากได้นวัตกรรมที่ตอบโจทย์เราด้วยเช่นกัน”
ด้านธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็บอกว่าทางไมโครซอฟท์จะให้การสนับสนุนในเชิงของการแบ่งปันความรู้ เทคนิคต่างๆ การทำตลาดโซลูชั่น รวมถึงจัดให้มีโครงการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีกับ Microsoft Technology Center ที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียอีกด้วย
“เราให้ความสำคัญของโครงการนี้ในระยะยาว เราเชื่อว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้คนบนโลกใบนี้ประสบความสำเร็จได้ และช่วยพัฒนาสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น มันไม่ใช่แค่โครงการในระดับแค่ธนาคาร มหาวิทยาลัย แต่เรามองว่าเป็นโครงการในระดับประเทศ”
“เราจะมีพนักงานของไมโครซอฟท์สองคน คนหนึ่งเป็น Program Manager ในการประสานงาน และทำงานอย่างใกล้ชิดกับทางดิจิทัล เวนเจอร์ส และอีกคนเป็น Technology Specialist ช่วยดูแลด้านเทคโนโลยี มีการให้ข้อมูลและอบรมให้ทีมที่เข้ามาร่วมโครงการมีความรู้มากขึ้น รวมไปถึงการวางโปรแกรมการทำการตลาดเพื่อขายผลิตภัณฑ์”
“คนบ้านเรายังมีทักษะด้านดิจิทัลต่ำอยู่ เราอยากช่วยยกระดับตรงนี้ให้สูงขึ้น ในอีกทางเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้คุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ ทำให้เมื่อเขาเติบโตเป็นสตาร์ตอัป ก็มีโอกาสที่จะใช้เทคโนโลยีของเราได้ แต่นั่นเป็นเพียงผลพลอยได้ของเรามากกว่า เราไม่ได้ขายตรงหรือหากำไรจากโครงการนี้ แต่สิ่งสำคัญเป็นเรื่องของ Digital Deverlopment Skill”
โครงการ U.Reka แบ่งเป็นสามระยะ ได้แก่ การเสนอไอเดีย และทำตัวต้นแบบ ซึ่งจะได้งบประมาณ 200,000 บาท เพื่อเข้าสู่ระยะที่สองซึ่งเป็นส่วนของงานวิจัย ใช้ระยะเวลา 18-36 เดือน ภายใต้งบประมาณทีมละ 3-6 ล้านบาท และระยะที่สามเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด โดยได้เงินสนับสนุนสูงสุด 10 ล้านบาท
“Deep Tech ไม่สามารถเกิดได้ในช่วงข้ามคืน ต้องใช้เวลา หวังว่าภายใน 3 ปี น่าจะเห็นผลจากโครงการนี้ ถ้าเฟสแล้วทำแล้วแก้ปัญหาได้จริง โปรแกรมไปได้ เราเชื่อว่าอนาคตจะมีพาร์ตเนอร์เยอะมากขึ้น และกลายเป็นโปรแกรมระดับประเทศที่จะช่วยสร้างนวัตกรรมได้จริง” อรพงศ์กล่าวทิ้งท้าย
Fact Box
โครงการ U.REKA เปิดรับสมัครกลุ่ม Startup เพื่อเข้าสู่กิจกรรม IDEATION BOOTCAMP ตั้งแต่วันนี้ - 15 พฤษภาคม 2561 ดูรายละเอียดการรับสมัครและดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.u-reka.co