ทุกวันนี้โลกทวิตเตอร์กลายเป็นพื้นที่สุดเสรีที่หลายคนใฝ่ฝัน เราสามารถเห็นเนื้อหาได้หลากหลายตั้งแต่การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเมืองการปกครอง การหวีดศิลปินดาราในดวงใจ เล่าเรื่องสัพเพเหระ ไปจนถึงเรื่องลึกเรื่องลับอย่างแอคเคาน์แอคเค่อทั้งหลาย แต่ก่อนที่บางเนื้อหาจะ ‘ไปสุด’ จนเกินควรและกลายเป็นการล่วงละเมิด หรือเป็นดาบสองคมไปไม่ว่าจะต่อสังคมโลกหรือตัวผู้ใช้เอง ทวิตเตอร์จึงพยายามสร้างพื้นที่ในการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย โดยในเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ได้จัดการกับเนื้อหาที่เป็นปัญหาดังนี้
- ไม่ต้องรอใครรายงาน ทวิตเตอร์จัดการเอง : ผู้ใช้ส่วนหนึ่งกดรีพอร์ตเนื้อหาที่ตนคิดว่าไม่เหมาะสม แต่ทวิตเตอร์ไม่ได้รอฟีดแบ็กจากผู้ใช้อย่างเดียว แต่ยังใช้เทคโนโลยีจัดการกับข้อความละเมิดบนทวิตเตอร์ ซึ่งปัจจุบันสามารถจัดการข้อความเหล่านั้นไปมากกว่าครึ่ง เทียบกับปี 2019 ที่จัดการได้แค่ 1 ใน 5 เท่านั้น
- หายไป 105% : นอกจากข้อความละเมิดที่ทวิตเตอร์คอยจัดการ สอดส่องแล้ว ทวิตเตอร์ยังได้ดำเนินการล็อค หรือ ระงับแอคเคาท์ทวิตเตอร์เพิ่มขึ้นอีก 105% ที่ละเมิดกฎของทวิตเตอร์ จึงไม่แปลกใจเลยว่าบางแอคเคาท์หายไปราวกับใครดีดนิ้ว
- มีคณะกรรมการคอยดูแล : เมื่อเดือนธันวาคม 2019 ที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ได้เพิ่มจำนวนและความหลากหลายของคณะกรรมการเพื่อความเชื่อมั่นและความปลอดภัย (Trust and Safety Council) ซึ่งจะมีทั้งผู้เชี่ยวชาญและองค์กรต่างๆ จากทั่วโลกเป็นกลุ่มมุ่งเน้นที่การให้คำปรึกษา เช่น การป้องกันการฆ่าตัวตายและสุขภาพจิต การล่วงละเมิดทางเพศ
- ฟีเจอร์ซ่อนการตอบกลับ : การซ่อนการตอบกลับ(hide replies) เป็นฟีเจอร์ตัวใหม่ที่เปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019 ซึ่งจะช่วยซ่อนคำตอบที่ผู้ทวีตคิดว่าไม่เกี่ยวข้องนอกหัวข้อหรือน่ารำคาญ ใช้ได้ทั้งบน iOS, Android, Twitter Lite และ twitter.com
- จัดการกับคอนเทนท์ที่มีการตัดแต่งหรือดัดแปลง : ล่าสุดนี้ทวิตเตอร์แถลงถึงกฎใหม่ว่า ทวิตเตอร์จะเริ่มติดป้ายจำแนกข้อความต่างๆ หากพบว่าคอนเทนท์ที่นำมาแชร์มีการตัดแต่ง หรือ ดัดแปลงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และตั้งใจหลอกลวง จะแสดงคำเตือนแก่ผู้คนก่อนที่จะรีทวีตหรือชอบทวีต โดยจะเริ่มตั้งแต่ งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2020 เป็นต้นไป
และเนื่องในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2020 นับเป็นวัน Safer Internet Day ทวิตเตอร์จึงนำเสนอทิปส์ง่ายๆ 5 ข้อในการใช้ทวิตเตอร์ให้ปลอดภัย ได้แก่
1. ยืนยันตัวตนสองชั้น ปลอดภัยคูณสองด้วย OTP
แทนที่จะป้อนเพียงรหัสผ่านเพื่อเข้าสู่ระบบ ต่อไปนี้จะต้องป้อนรหัส หรือใช้รหัสความปลอดภัยอีกหนึ่งชั้น ซึ่งขั้นที่เพิ่มมานี้จะช่วยให้แน่ใจว่าไม่มีใครแอบเอาแอคเคาท์เราไปล็อกอินแน่ๆ
เริ่มจากเปิดใช้การล็อกอิน และการตั้งค่ารหัสพาสเวิร์ดด้วยการยืนยันตัวตน 2 ขั้นตอน โดยวิธีนี้เรียกว่า 2FA (2 Factor Authentification) เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการส่งรหัสยืนยันการเข้าระบบ (OTP) ไปที่โทรศัพท์มือถือทุกครั้งเวลาล็อกอินเข้าใช้งาน ซึ่งรหัสที่ถูกส่งเข้าไปที่มือถือเท่านั้นจึงจะสามารถล็อกอินใช้งานแอคเคาท์ได้
2. ล็อกแอคเคาท์ เพื่อความส่วนตัว
การใช้งานทวิตเตอร์ หลังจากลงทะเบียนใช้งานและทวีตข้อความแล้ว ข้อความจะปรากฏเป็นสาธารณะ ทั้งคนที่ติดตามคุณหรือไม่ได้ติดตาม และแม้แต่คนที่ไม่ได้มีแอคเคาท์ใช้งานทวิตเตอร์ก็ยังสามารถอ่านข้อความได้ทุกคน
ดังนั้นการ ‘ล็อกแอคเคาท์’ จึงเป็นการป้องกันง่ายๆ อีกหนึ่งทาง สำหรับคนที่ไม่ต้องการให้ข้อความของตัวเองกลายเป็นไวรัลขึ้นมาโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว นั่นคือการตั้งค่าให้ข้อความสามารถเห็นได้เฉพาะคนที่ติดตามเท่านั้น และข้อความนั้นๆ จะไม่ไปปรากฏในหน้าการค้นหาของกูเกิลเพียงเข้าไปตั้งค่าแอคเคาท์ ส่วนข้อดีอีกหนึ่งอย่างคือ ใครก็ตามที่จะกดติดตามคุณจะต้องได้รับการตรวจสอบจากคุณก่อน ตั้งค่าง่ายๆที่ ‘ปกป้องทวีตของคุณ’ (Protect your Tweets)
3. ไม่อยากเห็นให้บล็อก จัดการพวกเกรียนและบูลลี่ได้อย่างง่ายดาย
ไม่อยากเห็นอะไรให้บล็อก เป็นเรื่องๆ ง่ายที่ทำได้บนทวิตเตอร์ โดยสามารถจำกัดบางแอคเคาท์ให้ไม่สามารถติดต่อ ไม่ได้เห็นข้อความที่ทวีต ด้วยการบล็อกแอคเคาท์เหล่านั้น หรือสามารถใช้ฟีเจอร์ ‘Mute’ ซ่อนการแสดงข้อความหน้าไทม์ไลน์ของได้โดยไม่ต้องเลิกกดติดตามหรือบล็อกแอคเคาท์นั้น นอกจากนี้ฟีเจอร์นี้ยังสามารถใช้ซ่อนคำ ข้อความ บทสนทนา ชื่อผู้ใช้งาน อีโมจิ และแฮชแท็กที่ไม่ต้องการเห็นได้ด้วย
และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโลกทวิตเตอร์มีผู้ใช้งานที่หลากหลาย รวมทั้งพวกเกรียน และชอบพูดจาบูลลี่คนอื่น หากพบข้อความ แอคเคาท์ ลิสต์ หรือแม้แต่การส่งข้อความโดยตรง (direct messages) ที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ และคิดว่าอาจจะก่อให้เกิดอันตรายกับผู้อื่นได้ ให้รีบรายงานมายังทวิตเตอร์ ทันที
4.ไม่แชร์ข้อมูลส่วนตัวและโลเคชั่นสุ่มสี่สุ่มห้า
แม้ทวิตเตอร์จะมีฟีเจอร์และฟังก์ชั่นเพิ่มความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งานอยู่หลายอย่าง แต่การแชร์ข้อมูลสาธาณะบนอินเทอร์เน็ตก็ไม่ใช่เรื่องดีนัก จงระมัดระวังในการแชร์ข้อมูลส่วนตัว เนื่องจากข้อมูลจะปรากฏบนสาธารณะ แม้แต่การแชร์โลเคชั่นเองก็มีความเสี่ยง
วิธีป้องกันง่ายๆ เพียงคลิกฟีเจอร์ Location sharing ของทวิตเตอร์ ที่มีตัวเลือกให้ระบุสถานที่ทั้งบนโปรไฟล์ และข้อความที่ทวิต หากอยากปิดฟังก์ชั่นก็แค่คลิกออก
5.ปลอดภัยไว้ก่อน คิดให้ดีก่อนทวีตข้อความ
โปรดจำไว้ให้ดีว่าเมื่อทวีตข้อความไปแล้ว ข้อความนั้นจะมีคนเห็น มีการรีทวีต มีการแชร์ต่อ ข้อความที่ทวีตจะปรากฏบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งข้อความนี้จะคงอยู่ตลอดไป โดยแม้จะลบทวีตไปแล้ว ก็สามารถย้อนกลับมาสืบค้นได้ในภายหลังเช่นกัน ดังนั้นหากอยากทวีตข้อความเชิงลบ หรือวิพากษ์วิจารณ์ด้วยถ้อยคำรุนแรง หยาบคาย ก็ต้องคิดให้ดี ปลอดภัยไว้ก่อนจะดีกว่า
นอกจากวิธีการง่ายๆ ที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ปลอดภัยมากขึ้นแล้ว ยังมีเรื่องน่ายินดีว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทีมงานของทวิตเตอร์ไม่ได้เพิกเฉย ซึ่งมีการเปิดเผยข้อมูลมาว่า 1 ปีที่ผ่านมานี้ ทวิตเตอร์ได้จัดการกับเนื้อหาที่มีการละเมิดบนอินเทอร์เน็ตทั่วโลก เช่น
ทั้งนี้ทวิตเตอร์ยังชวนให้ทุกคนร่วมกันติดแฮชแท็ก #วันการใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยขึ้น #SaferInternetDay และ #SID2020 ซึ่งสามารถใช้งานได้ใน 18 ภาษาทั่วโลก และ ยังมีอีโมจิที่ออกแบบพิเศษสำหรับโอกาสนี้อีกด้วย เพื่อส่งเสริมให้มีการสนทนาบนโลกอินเทอร์เน็ตด้วยความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น