อะไรคือสิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์หรือซีรีส์เรื่องหนึ่งกลายมาเป็นงานที่คนดูรัก? บทที่ดี ทีมงานคุณภาพและนักแสดงเก่งๆ ล้วนมีส่วนทำให้งานออกมาน่าติดตาม เป็นที่รักของคนดู แต่เมื่อเราลองมาคิดกันดีๆ แล้ว อีกสิ่งสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์หรือซีรีส์มีชีวิตขึ้นมาไม่น้อยไปกว่าตัวแปรอื่นๆ ก็คือโลเคชั่นของเรื่อง สำหรับผู้เขียน หนึ่งในซีรีส์ที่สามารถใช้เซ็ตติ้งของเรื่องได้มีประสิทธิมีภาพที่สุดในประวัติศาสตร์โทรทัศน์ก็คือซีรีส์สุดหลอนในตำนานอย่าง Twin Peaks
กำเนิด Twin Peaks
ปลายยุค 80s เดวิด ลินช์ ถือได้ว่าเป็นผู้กำกับที่เนื้อหอมที่สุดคนหนึ่งในโลก หลังจากสร้างผลงานหลอนโลกตะลึงอย่าง Erarserhead (1977) และหนังรางวัลอย่าง The Elephant Man (1980) และ Blue Velvet (1986) ขอเสนอต่างๆ ก็ถาโถมเข้ามาเขาจากทุกทิศทุกทาง หนึ่งในนั้นก็คือโปรเจ็คต์หนังประวัติชีวิตของดาราสาวชีวิตโลดโผนเช่นมาริลิน มอนโร โดยดัดแปลงมาจากหนังสือเรื่อง Goddess: The Secret Lives of Marilyn Monroe ของสตูดิโอวอร์เนอร์ บราเธอร์ส์งานนี้ทำให้เข้าได้มีโอกาสเจอกับมาร์ค ฟรอสต์ นักเขียนบทโทรทัศน์ประจำซีรีส์ชีวิตตำรวจในเมืองเล็กอย่าง Hill Street Blues เป็นครั้งแรก ทั้งสองคนร่วมมือกันปลุกปั้นโปรเจ็คต์ด้วยกัน ทำงานกันถูกคอจนถึงขั้นวางแผนสร้างหนังตลกกันอีกเรื่องชื่อ One Saliva Bubble หลังทำภาพยนตร์เรื่องมาริลิน มอนโรเสร็จ
แต่แล้วอยู่ดีๆ ทางวอร์เนอร์ฯ ก็บอกลินช์ว่าจำเป็นต้องยกเลิกโปรเจ็คต์ภาพยนตร์มาริลิน มอนโรกะทันหัน ส่วนภาพยนตร์เรื่อง One Saliva Bubble ที่ทั้งสองคนทุ่มเทเขียนก็มีอันต้องพับไปเช่นกัน ชั่วข้ามคืนลินช์และฟรอสต์กลายเป็นคนทำหนังว่างงาน ไม่รู้ชะตากรรมว่าอนาคตของตัวเองจะเป็นอย่างไรต่อ
ตอนนั้นเองโทนี่ แครนต์ซ เอเย่นต์ของลินช์ผู้เป็นแฟนตัวยงของภาพยนตร์เรื่อง Blue Velvet ของเขาก็ออกไอเดียว่า “ทำไมไม่ลองเอา Blue Velvet มาทำเป็นซีรีส์ดูล่ะ คนน่าจะชอบ” ในตอนแรกลินช์ไม่ซื้อไอเดียนี้เลย แต่แครนต์ซเองก็คอยตื๊อ จนลินช์ยอมเรียกฟรอสต์มาคุยเพื่อลองหาไอเดียกันดู และแล้ววันหนึ่งที่ทั้งสองคนนั่งคุยกันในร้านกาแฟร้านหนึ่งในแอลเอ ความสนใจของลินช์เรื่อง ‘ผู้หญิงชีวิตมีปัญหา’ เช่นมาริลิน มอนโรของ กับประสบการณ์ของฟรอสต์ในการเขียนซีรีส์ตำรวจเมืองเล็ก ก็คลิกกันขึ้นมาเป็นภาพจินตนาการภาพหนึ่ง
ทั้งสองคนเห็นเป็นภาพของศพๆ หนึ่งลอยอยู่ในทะเลสาบ เป็นศพของหญิงสาวที่ลอยมาตามน้ำ รอบๆทะเลสาบเป็นเมืองเล็กๆ ในทางตะวันตกเฉียงเหนือของอเมริกาในอ้อมกอดภูเขา ป่าสนและสายหมอกที่ชื่อว่า ‘Twin Peaks’
แล้วศพของหญิงสาวในทะเลสาบคนนั้นคือใคร? เธอคืออดีตดาวโรงเรียนประจำเมือง ลอร่า พาลเมอร์ (เชอริล ลี) นักเรียนสุดป็อปที่ชีวิตเบื้องหลังสุดเศร้า และความตายของเธอก็ได้เปิดเผยเรื่องลับของเมืองออกมา ภายใต้ฉากหน้าเมืองเงียบสงบในชนบท ทุกคนที่นี่ล้วนมีความลับดำมืดปกปิดเอาไว้ เรื่องทั้งหมดเล่าผ่านสายตาของ เดล คูเปอร์ (ไคล์ แมคลัคลาน) เจ้าหน้าที่เอฟบีไอหัวเห็ดผู้ได้รับมอบหมายให้มาสืบคดีนี้ จนพบว่าการตายของ ลอร่าอาจมีเรื่องเหนือธรรมชาติจากมิติ ‘ม่านแดง’ มาเกี่ยวข้อง พร้อมกับที่ตัวเองกลายเป็นส่วนหนึ่งของวงเวียนความสัมพันธ์นัวเนียของคนในเมืองอย่างไม่ทันตั้งตัวจนเป็นละครน้ำเน่าขึ้นมาซะอย่างนั้น เป็นการรวมกันของซีรีส์สามแนวในเรื่องเดียวอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน
Twin Peaks ออกอากาศเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 8 เมษายน ปี 1990 ทางช่อง ABC คืนนั้น 1 ใน 3 ของผู้ชมโทรทัศน์ทั้งสหรัฐอเมริกาเฝ้าจอดูตอนไพลอทของซีรีส์พร้อมกันทั่วประเทศ ชั่วข้ามคืน คนทั่วประเทศพูดกันปากต่อปากถึงซีรีส์สุดพิลึกเรื่องนี้จนยอดผู้ชมพุ่งสูงขึ้นไปอีกในสัปดาห์ต่อมา ถึงขั้นเอาชนะซีรีส์ในตำนานอย่าง Cheers ที่ฉายในเวลาเดียวกันขาดลอย ซีรีส์ฮิตจนได้รับการต่ออายุไปอีกหนึ่งซีซั่น และรายการ Saturday Night Live เอาไปล้อเลียนในปีเดียวกัน
ทว่าความสำเร็จชั่วข้ามคืนของซีรีส์ก็คงอยู่เพียงชั่วครู่ หลังสองตอนแรกออกฉาย ผู้ชมจำนวนมากเริ่มหนีกลับไปดู Cheers ที่ฉายในช่วงเวลาเดียวกัน และเมื่อทาง ABC บังคับให้ทีมงานเปิดปมว่าใครเป็นคนฆ่าลอร่าตั้งแต่ต้นซีซั่นสอง ยอดผู้ชมของซีรีส์ก็ตกฮวบจนสุดท้ายทาง ABC ก็ยกเลิกซีรีส์ชุดนี้ไปในที่สุด แม้แต่ความพยายามในการต่ออายุซีรีส์ของลินช์เช่นภาพยนตร์ขนาดยาวอย่าง Twin Peaks: Fire Walk with Me ก็โดนนักวิจารณ์รุมสับ จนลินช์และฟรอสต์เลือกวางมือจากจักรวาลนี้ไปในที่สุด
แต่ถึงซีรีส์ Twin Peaks จะออกอากาศอยู่เพียง 2 ปี ซีรีส์นี้กลับก่อให้เกิดผลกระทบกับวงการโทรทัศน์ในอเมริกาและผู้ชมทั่วโลกอย่างไม่น่าเชื่อ Twin Peaks พิสูจน์ให้สถานีโทรทัศน์ต่างๆ เห็นว่าซีรีส์ดราม่าอาชญากรรมผสมกับเรื่องลี้ลับเป็นทีต้องการของคนดู ทำให้เกิดโชว์แนวเดียวกันออกมาอีกจำนวนมาก เช่นซีรีส์ The X-Files ที่ออกอากาศในปี 1993 ส่วนตัวเมือง Twin Peaks ในเรื่องเองก็กลายมาเป็นต้นแบบของเมืองเล็กในซีรีส์หรือภาพยนตร์อเมริกันแนวเดียวกันเช่นเมืองในซีรีส์ Riverdale ทางช่องเน็ตฟลิกซ์หรือ Wayward Pines ของช่องฟ็อกซ์ ส่วนวิธีถ่ายทำซีรีส์ด้วยวิธีสเกลแบบภาพยนตร์ของลินช์ก็ได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้วงการทีวีสหรัฐฯ จนเกิดซีรีส์ที่มีคุณภาพงานสร้างทุนสูงที่เราได้ดูกันในปัจจุบันเช่น Breaking Bad หรือ Game of Thrones เป็นต้น
และแล้วในปี 2017—25 ปีให้หลังจาก Season 2 ลินช์และฟรอสต์ก็ชุบชีวิตซีรีส์นี้ขึ้นมาอีกครั้ง ประกาศสร้าง Season 3 ยาว 18 ตอนจบกับช่องโชว์ไทม์ ครั้งนี้ลินช์กุมบังเหียนกำกับเองทุกตอน ใส่ความเซอร์ไม่ยั้งจนนักวิจารณ์มอบให้เป็นหนึ่งในซีรีส์ที่ดีที่สุดของปี นักแสดงเก่าจากซีซันเดิมๆกลับมารับบทตัวละครที่คุ้นเคยกันคับคั่ง และที่ขาดไม่ได้ก็คือเมืองทวินพีคส์ที่รักของแฟนๆ ที่กลับมาสร้างความหลอนกันอีกครั้ง
เยือน Twin Peaks
ผู้เขียนฝันมานานแล้วว่าอยากไปเยือนโลเคชั่นของ Twin Peaks ให้ได้ซักครั้งในชีวิต ตั้งแต่ได้ดูสองซีซั่นดั้งเดิม ยิ่งซีซั่นใหม่ออกมาก็อยากไปให้ได้ จนกระทั่งผู้เขียนได้มีโอกาสไปเรียนป.โทภาพยนตร์ต่อที่เมืองลอสแอนเจลิส จึงได้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับโลก Twin Peaks โดยไม่รู้ตัว
อยู่ดีๆ วันหนึ่งผู้เขียนก็ได้มีโอกาสเรียนเวิร์กช็อปการแสดงกับเชอริล ลีและแกรี เฮิร์ชเบอร์เกอร์ผู้รับบทเป็นลอร่าและไมค์ เนลสันในเรื่อง ส่วนแมรี สวีนีย์ อดีตภารยาของลินช์ก็เป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยของผู้เขียน และไรลีย์ ลูกชายคนสุดท้องของลินช์ก็เป็นรุ่นน้องอยู่ที่โรงเรียนเช่นกัน ยิ่งแพ็กกี ลิปตันหนึ่งในนักแสดงหลักของเรื่องเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา ก็ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าได้เวลาที่ควรจะไปตามหาโลเคชั่นที่ถ่ายทำซีรีส์เรื่องนี้สักที เมื่อผู้เขียนปิดเทอมเลยไม่รอช้าชวนเพื่อนคนไทยขึ้นไปสำรวจเมืองที่ใช้เป็นโลเคชั่นด้วยกัน
ตามหาเมืองทวินพีคส์
จากการหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต Twin Peaks ถ่ายทำหลักๆ อยู่ในบริเวณเมืองสโนควอล์มี (Snoqualmie) ห่างจากตัวเมืองซีแอทเทิล รัฐวอชิงตัน ไปประมาณ 45 นาที พวกเราเลยบินไปลงที่ซีแอทเทิลก่อนแล้วเช่ารถขับไปที่สโนควอล์มีกัน
เมื่อดูในแผนที่ ผู้เขียนก็อดประหลาดใจไม่ได้ว่าจริงๆ แล้วโลเคชั่นที่ใช้ถ่ายทำแทบทุกแห่งอยู่ห่างกันเองไม่เกินสิบนาที ผู้เขียนจำได้ว่าในตอนที่ดูซีรีส์นี้เป็นครั้งแรกรู้สึกได้ว่าแต่ละโลเคชั่นอยู่ห่างกันหลายกิโลเมตร นี่เป็นตัวอย่างของการหาสถานที่ถ่ายทำของทีมงานมืออาชีพได้เป็นอย่างดี เพราะวิธีที่ดีที่สุดในการหาสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ก็คือการหาสถานที่ให้ได้จำนวนมากที่สุด ในระยะทางที่ใกล้กันที่สุด เพื่อประหยัดงบประมาณการถ่ายทำ ผลพลอยได้ของการที่โลเคชั่นในเรื่องอยู่ใกล้กันคือสะดวกกับนักท่องเที่ยวที่ต้องการไปตามรอยซีรีส์ด้วยเช่นกัน
เราขับรถออกมาจากซีแอทเทิลบนถนนสาย I-90 ออกไปทางตะวันออก ตลอดข้างทางเป็นป่าสนแน่นขนัด ที่ขอบฟ้ามีภูเขาต่างๆ ประปราย ผ่านไป 30 นาทีเราก็มาถึงสโนควอล์มี เราขับผ่านเมืองไปกันที่โลเคชั่นแรกของเรา จุดถ่ายทำป้ายทางเข้าเมืองทวินพีคส์
เรารู้สึกได้ถึงความหลอนเล็กๆ ของเมืองนี้ตั้งแต่แรกเริ่ม เรารู้สึกได้ทันทีว่าทริปครั้งนี้ต้องมีอะไรไม่ธรรมดาแน่นอน
จุดตั้งป้ายทางเข้าเมืองตั้งอยู่บนไหล่ทางของถนนเรย์นิก (Reinig Road) เลียบแม่น้ำสโนควอล์มี ด้วยความที่ตัวป้ายไม่อยู่ที่จุดถ่ายทำแล้ว ทำให้เราต้องใช้วิวจากในรูปถ่ายวนหาจุดนี้อยู่พักใหญ่ๆ แล้วในขณะที่เราวนไปวนมาอยู่นั้นเอง ก็มีหมาพันธ์อัลเซเชียนตัวยักษ์พุ่งออกมาจากบ้านข้างทางจนเราต้องเบรกรถกันตัวโก่ง แล้วเมื่อพวกเราวนกลับมา หมาตัวนั้นก็หายไปแล้วเหมือนกับไม่มีอยู่จริง พวกเรามองหน้ากัน ความหลอนมาเยือนพวกเรากันตั้งแต่หัววันเลยทีเดียว
หลังจากวนไปวนมาอยู่หลายสิบนาที ในที่สุดเราก็เจอโลเคชั่นที่ใช้ถ่ายตัวป้ายเรียบร้อย บรรยากาศของจุดตั้งป้ายในความเป็นจริงต่างกับในเรื่องจากหน้ามือเป็นหลังมือ ซีรีส์ถ่ายทำในช่วงฤดูใบไม้ร่วง / ฤดูหนาว ฟ้าหม่น ต้นไม้แห้งโกร๋นเห็นแม่น้ำ ภูเขาด้านหน้ามีหมอกปกคลุม แต่ผู้เขียนได้ไปเยือนเมืองนี้ในหน้าร้อน ต้นไม้ใบหนาเขียวขจีจนไม่เห็นแม่น้ำด้านหลัง
จากการหาข้อมูล พบว่าเมื่อซีซั่นสามกลับมาถ่ายทำที่นี่ ทางการเมืองสโนควอล์มีประกาศทำป้ายติดตั้งไว้ที่นี่ถาวร แต่แน่นอนเมื่อมวลมหาแฟนซีรีส์มาแวะถ่ายรูปบ่อยๆ ก็ต้องมีรถขับชนป้ายอยู่บ่อยๆ จนสุดท้ายทางเมืองเลยล้มเลิกการตั้งป้ายที่นี่ไป ผู้เขียนเองก็ไม่ทันได้เตรียมป้ายมา เลยทำได้แค่จินตนาการตำแหน่งของป้ายจากรูปอินโทรตอนเริ่มของซีรีส์ที่มีในมือถือ
จบจากป้าย เราก็ไปกันต่อที่สถานีตำรวจประจำเมืองทวินพีคส์ ห่างจากบริเวณที่ถ่ายทำป้ายไป 3 นาที
เราขับรถเลียบแม่น้ำมาจนถึงสะพานข้าม เราขับเลยไปจนเห็นทางแยกลงเขาเล็กๆ เราประคองรถกันลงไปจนถึงด้านล่าง ก่อนจะเห็นรถแรลลี่ซิ่งกันฝุ่นตลบอยู่ที่สนามแข่งรถด้านล่างสถานีตำรวจ
ใช่แล้วครับ ปัจจุบันอาคารที่เป็นสถานีตำรวจในซีรีส์เป็นโรงเรียนสอนขับรถแรลลี่ DirtFish ถึงแม้สภาพอาคารด้านนอกจะเป็นสีส้มแจ๊ดตามโลโก้ของบริษัท แต่โครงสร้างเหลี่ยมของอาคารยังคงสภาพเดิมเหมือนกับที่เราเห็นในซีรีส์เปี๊ยบ ไม่เพียงแค่นั้น ที่ลานจอดรถยังมีรถกระบะตำรวจประจำเมืองพร้อมลายจากซีรีส์ด้านข้างจอดอยู่ให้เราไปถ่ายรูปได้ตามสบาย
พอเปิดประตูเข้าไปข้างในก็จะเห็นว่าตัวตึกเปลี่ยนไปจากเมื่อ 25 ปีที่แล้วมาก ห้องโถงเดิมถูกทุบเพิ่มจนเป็นห้องกว้าง มีรถแรลลี่จอดอยู่หนึ่งคัน บนกำแพงมีชุดขับรถวางเรียงราย พอหันไปทางซ้าย เราก็ป๊ะกับโต๊ะรีเซปชั่นในตำนาน เราไม่ได้พบกับลูซี่ มอแรน พนักงานต้อนรับสุดโก๊ะประจำสถานีตำรวจในเรื่อง มีแต่พนักงานต้อนรับสาวประจำโรงเรียนที่ถามพวกเราว่ามาทำอะไรที่นี่กัน พวกเรายิ้มแห้งก่อนสารภาพว่าพวกเราเป็นแฟน Twin Peaks ตัวยง จะว่าอะไรมั้ยถ้าจะขอเดินดูข้างใน เราเตรียมใจว่าอาจจะโดนปฎิเสธ แต่พลันเธอยิ้มหวานแล้วบอกว่าเชิญเลย จริงๆ พวกเราเป็นกลุ่มที่สี่ที่มาเดินดูตั้งแต่เช้าแล้ว พวกเราขอบคุณเธอก่อนเดินลึกเข้าไปข้างในตัวตึก
บริเวณทางเดินด้านในยังคงสภาพเหมือนกับในซีรีส์ซีซั่นล่าสุดเป๊ะ แทบจะรู้สึกได้ว่าสารวัตรแฮร์รี่ ทรูแมนอาจจะเปิดประตูออกมาหาพวกเราได้ทุกเมื่อ พอเดินเข้ามาอีกหน่อย เราก็เห็นห้องของรองสารวัตรฮอว์ค ใน ซีซั่นสามเปิดอยู่ เราเลยแอบถ่ายรูปไว้หนึ่งใบก่อนออกมา น่าเสียดายที่ทางทีมงานโรงเรียนกำลังใช้ห้องประชุมใหญ่กันอยู่ พวกเราเลยไม่มีโอกาสได้เข้าไปดูห้องประชุมของจริงกัน
เมื่อเทียบกับภาพในซีรีส์ เราจะสังเกตได้ว่าทางทีมอาร์ตของซีซั่นสาม นำเฟอร์นิเจอร์ของโรงเรียนออกหมด แล้วตกแต่งสถานให้คล้ายเดิมกับเมื่อสองซีซันแรกให้ได้มากที่สุดเพื่อคงความเป็น Twin Peaks ดั้งเดิม ดูจากขนาดของอาคารแล้วน่าจะเป็นงานช้างพอควร ต้องขอคารวะความละเอียดพิถีพิถันของทีมงานมา ณ ที่นี้ด้วย
นอกจากด้านในของตัวตึกแล้ว เมื่อเราออกมาด้านนอก เราก็จะเห็นปล่องควันเก่าๆ อยู่ทางซ้ายใกล้ๆ กับสนามแรลลี่ นี่คือซากของ Weyerhaeuser Mill ที่ใช้เป็นโลเคชั่นของ Packard Saw Mill ในเรื่องนั่นเอง
Ronnette’s Bridge
ในตอนแรกของซีรีส์ รอนเน็ต พูลาสกี้ (ฟีบี ออกัสตีน) เพื่อนคนหนึ่งของลอร่าที่โดนลักพาตัวไปฆ่าพร้อมกัน โชคดีที่เธอหนีรอดออกมาได้แล้วเดินสติหลุดตลอดคืนจนมาถึงสะพานข้ามแม่น้ำ จนมีคนเจอเธอและพาเธอไปส่งโรงพยาบาลในที่สุด ในจักรวาล Twin Peaks สะพานดังกล่าวอยู่ระหว่างเขตแดนรัฐวอชิงตันกับไอดาโฮ ทำให้คดีนี้กลายเป็นคดีข้ามรัฐ ทำให้เอฟบีไอต้องส่งเจ้าหน้าที่คูเปอร์มาสืบคดีนี้นั่นเอง
ในชีวิตจริง สะพานนี้ชื่อ Reinig Bridge เป็นสะพานรถไฟเก่าที่อยู่เหนือแม่น้ำสโนคอวล์มี ตอนที่ถ่ายทำซีซั่นแรกบนสะพานยังมีรางรถไฟอยู่ แต่หลังจากไฟไหม้สะพานไปในปี 2002 ทางเมืองเลยปรับปรุงสะพานใหม่เอารางรถไฟออกแล้วเทปูนตลอดแนว ปัจจุบันสะพานนี้เป็นส่วนหนึ่งของทางเดินป่า Snoqualmie Valley Regional Trail
หลังจากเดินข้ามสะพานกัน พวกเราก็เห็นผู้ชายคนหนึ่งนั่งอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำด้านล่าง เราเลยเดินลงไปที่นั่นบ้าง
ผู้ชายคนนั้นเดินสวนพวกเราออกมาจากในป่า เป็นชายผิวขาวอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับเจมส์ เฮอร์ลีย์ (เจมส์ มาร์แชล) ในซีรีส์สองซีซั่นแรก เมื่อเราไปถึงริมน้ำเราก็เห็นตัวสะพานจากด้านล่าง บรรยากาศอบอุ่นเงียบสงบ เหมาะกับการเป็นจุดที่คู่รักวัยรุ่นในเรื่องสามารถมาแอบใช้เวลาด้วยกันได้เป็นอย่างดี ต่างจากบรรยากาศหลอนในเรื่องลิบลับ
ตอนนั้นเองท้องพวกเราก็เริ่มโครกคราก เราเลยตัดสินใจแวะเข้า North Bend เพื่อไปยังจุดหมายสำคัญอีกที่หนึ่งของทริปนี้ นั่นก็คือ Double R Diner
Double R Diner
ในซีรีส์ Double R Diner ถือว่าเป็นร้านอาหารรวมใจของชาวเมือง Twin Peaks ก็ว่าได้ ทุกๆ คนในเมืองมาที่นี่เพื่อมากินกาแฟและพายของ นอร์มา เจนนิงส์ (เพ็กกี ลิปตัน) ส่วนเชลลีย์ จอห์นสัน (เมดเช่น เอมิค) ชู้ลับของบ็อบบี บริกส์ (เดน่า แอชบรู๊ค) อดีตแฟนของลอร่าก็ทำงานเป็นสาวเสิร์ฟที่นี่
ที่ร้านอาหารนี้เองที่ซีนจำในซีรีส์เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นครั้งแรกที่คูเปอร์ได้ดื่มกาแฟในตำนานของที่นี่ ( “Damn fine coffee.”) ตอนที่เขากินพายเชอร์รี่ฝีมือนอร์มา (“This must be where pies go when they die.”) หรือจุดสรุปของความรักของนอร์มาและเอ็ดในซีซั่นสาม ที่ผู้ชมรอกันมานานกว่า 25 ปี
เราไปถึงที่นี่กันตอนบ่ายสองกว่า เราเดินผ่านนักท่องเที่ยวหลายคนที่ถ่ายรูปอยู่ที่หน้าป้ายไปที่ประตูร้าน พวกเราสูดหายใจลึกๆ ก่อนเปิดประตูเข้าไปด้านใน
เหมือนผู้เขียนเดินทะลุมิติเข้าไปในซีรีส์ ด้านในร้านสภาพเหมือนกับในซีรีส์แทบทุกอย่าง ลูกค้าในร้านเหมือนหลุดมาจากในเรื่อง พนักงานทุกคนใส่เสื้อลาย Twin Peaks บนผนังมีป้ายติดหราว่าที่นี่คือร้านพายเชอร์รี่ในตำนาน ที่หน้าร้านมีของฝากขาย มีรูปจากซีรีส์ติดอยู่เต็มผนัง ที่นี่แหละคือศูนย์กลางความเป็น Twin Peaks ของจริง
หลังจากหายอึ้ง พวกเราก็เดินไปนั่งที่โต๊ะทางด้านซ้ายของร้าน ใกล้กับโต๊ะที่นอร์มานั่งบ่อยๆ เมื่อนั่งลง พวกเราถึงได้เห็นว่าหัวหน้าพนักงานร้านในชีวิตจริงก็เลือกใช้โต๊ะนี้เป็นโต๊ะคำนวณบิลเหมือนกันกับนอร์มาในเรื่องเด๊ะ เราสั่งอาหารเที่ยงกันคนละจาน และแน่นอน พวกเราไม่ลืมปิดท้ายมื้อนี้ด้วยพายเชอร์รี่และกาแฟในตำนาน
ทางร้านในปัจจุบันเป็นคนละเจ้าของกับตอนที่ซีรีส์มาถ่ายทำเมื่อปี 1989 ด้านในร้านเคยไฟไหม้ไปตอนปี 2002 จนการตกแต่งภายในจากซีรีส์ต้นฉบับเสียหายไปหมดไม่เหลือเค้าเดิม โชคดีที่เมื่อซีซั่นสามกลับมาถ่ายที่นี่ เจ้าของร้านยอมให้ทางทีมงานเปลี่ยนโฉมด้านในร้านใหม่ให้เหมือนกับเมื่อ 25 ปีก่อน ทำให้พวกเราได้มีโอกาสสัมผัสร้านแบบดั้งเดิมอีกครั้ง
ทว่าเมื่อพูดถึงอาหารแล้ว ต้องขอรายงานว่าเป็นคนละเรื่องกับการตกแต่งภายในอย่างสิ้นเชิง เป็นที่น่าเสียดายว่ากาแฟในตำนานของที่นี่ไม่ต่างจากกาแฟสำเร็จรูปใส่ซอง ส่วนพายเชอร์รี่ที่ทางร้านนำมาเสิร์ฟก็เป็นพายสำเร็จรูป เป็นที่น่าผิดหวังของพวกเราจนต้องไปซื้อพายจากร้านเบเกอรี่ข้างๆ มาแก้มือ
แต่ถึงอาหารจะไม่อร่อย บรรยากาศในร้านก็คุ้มค่ากับการมาที่นี่สักครั้ง ยิ่งเมื่อพวกเราเดินไปเข้าห้องน้ำข้างหลัง เลยได้เห็นว่ามีรูปถ่ายติดอยู่เต็มกำแพง ทั้งรูปถ่ายเบื้องหลังการถ่ายทำ รูปถ่ายนักแสดงในเรื่อง ฯลฯ เป็นขุมทรัพย์มหากาฬที่ซ่อนอยู่หลังร้าน เป็นดิสเพลย์ที่แฟนๆ ทุกคนควรได้มาเห็น
จบจาก Double R Diner แล้ว เราก็ขับกันไปต่อที่เมืองสโนควอล์มีเพื่อไปดูไฮไลต์อีกอย่างหนึ่งของทัวร์นี้ นั่นคือน้ำตกยักษ์จากอินโทรเปิดเรื่องนั่นเอง
Snoqualmie Falls & Salish Lodge
เราจอดรถกันในลานจอดของโรงแรมใกล้ๆ ก่อนเดินเข้าไปใน Snoqualmie Falls Park จากดงต้นไม้ เราได้ยินเสียงน้ำตกดังมาแต่ไกล เราเดินไปหาเสียง จนสุดท้ายพวกเราก็โผล่ขึ้นมาที่จุดชมวิว ภาพที่เห็นทำให้พวกเราขนลุกซู่ไปตามๆกัน
น้ำตกสูง 82 เมตร สูงกว่าน้ำตกไนแองการา ปล่อยน้ำมหาศาลลงไปที่แม่น้ำด้านล่าง ไอเย็นจากละอองน้ำลอยขึ้นมาถึงจุดชมวิวที่พวกเรายืนอยู่ด้านบน ที่ด้านข้างของน้ำตก โรงแรม Salish Lodge ที่รับบทเป็น The Great Northern Hotel ในซีรีส์ตั้งตระหง่านอยู่บนแง่นผาอย่างสง่างาม
ตามตำนานของอินเดียนแดงเผ่าสโนควอล์มีที่อยู่ที่นี่มานับร้อยปี น้ำตกนี้ถือได้ว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ชาวเผ่าเชื่อกันว่าน้ำตกนี้เป็นสถานที่ที่เทพแห่งจันทราสร้างบรรพบุรุษของเผ่าขึ้นมา และละอองน้ำจากน้ำตกนั้นก็คือทางเชื่อมระหว่างโลกกับสวรรค์ ไม่น่าเแปลกใจเลยที่ลินช์จะเลือกใช้ที่นี่เป็นโลเคชั่นสำคัญในซีรีส์
หลังจากถ่ายรูปกันด้านบน พวกเราก็เดินฝ่าป่าสนและกอเฟิร์นกันลงไปด้านล่างของน้ำตก และในขณะที่เราเดินกันลงไปนั้นเอง พวกเราก็มีได้เจอโมเมนต์เซอร์ที่สุดของทริปราวกับพวกเราหลุดเข้าไปในซีรีส์จริงๆ
ที่ด้านหน้าของพวกเรา พระสงฆ์สองรูปห่มจีวรเหลืองอร่ามเดินมาทางพวกเราจากด้านล่างน้ำตก พระทั้งสองรูปเดินมากับฆราวาสหญิง ผู้เขียนเชื่อว่าพระทั้งสองรูปเป็นพระไทย ขณะผู้เขียนและเพื่อนเดินสวนกับท่าน พระทั้งสองรูปก็หันมามองหน้าพวกเรา ในใจของผู้เขียนลังเลว่าควรจะทักท่านดีหรือไม่ว่าพวกเราเป็นคนไทย แต่สุดท้ายพวกเราก็ตัดสินใจไม่พูดอะไร เดินผ่านท่านไปเงียบๆ เดินผ่านไปซักพักผู้เขียนก็หันไปมองด้านล่าง พระทั้งสองรูปเดินหายไปแล้ว
หลังจากถ่ายรูปด้านล่างกันเสร็จ พวกเราก็เดินกลับขึ้นมาที่ Salish Lodge ที่เราเห็นกันก่อนหน้านี้ ผู้เขียนอ่านรีวิวมาว่าที่นี่เป็นโรงแรมที่หรูที่สุดในเมือง อาหารที่นี่อร่อยมาก แต่เมื่อพวกเราเห็นราคาในเมนูแล้ว เราก็เลือกที่จะกินกันแค่กาแฟและซุปคนละถ้วยก่อนรีบถอนทัพออกมาจากโรงแรมกันอย่างรวดเร็ว
ก่อนเข้าที่พัก พวกเรามุ่งไปที่อีกแลนด์มาร์คหนึ่งของซีรีส์นั่นคือจุดชมวิว Snoqualmie Point Park
Snoqualmie Point Park
ในตอนแรกของซีรีส์ เจ้าหน้าที่คูเปอร์ได้เบาะแสเป็นวิดีโอม้วนหนึ่ง เป็นภาพบันทึกลอร่าและดอนน่า (ลาร่า ฟลินน์ บอยล์) เพื่อนสนิทไปปิคนิคด้วยกันบนยอดเขา คูเฟอร์สืบหาว่าใครเป็นคนถ่ายวิดีโอนี้ จนภาพวิดีโอกลายเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยเขาสืบคดีจนหาคนร้ายที่แท้จริงจนเจอ และยอดเขานั้นก็คือ Snoqualmie Point Park ที่เราเพิ่งมาถึงนั่นเอง
จากจุดชมวิวนี้สามารถมองเห็น Mount Si หรือภูเขา Twin Peaks ในเรื่องได้ชัดเจน น่าเสียดายว่าหลังถ่ายทำซีรีส์สำเร็จ บริเวณดังกล่าวก็ปรับปรุงใหม่จนไม่เหลือเค้าเดิม พวกเราได้แต่จินตนาการว่าจุดที่พวกเรายืนในรูปน่าจะเป็นจุดเดียวกันกับที่ลอร่าและดอนน่าเคยมาปิคนิคด้วยกันเมื่อ 27 ปีก่อน
จุดชมวิวน้ีสามารถเห็นเมืองได้โดยรอบ ถ้ามองดีๆเราสามารถเห็นปล่องควันของ Weyerhaeuser Mill ได้จากตรงนี้เลยทีเดียว
หลังลงจากจุดชมวิว เราก็ไปเช็คอินที่ AirBnb ของเราในคืนนี้ เป็น cabin หลังเล็กๆ ท่ามกลางป่าสนในฟาร์มริมทะเลสาบ สักพัก พระอาทิตย์ก็เริ่มลับขอบฟ้า ป่าสนรอบๆ บ้านของพวกเราก็เริ่มมืดลงๆ จนมองอะไรไม่เห็นผู้เขียนอดจินตนาการขึ้นมาไม่ได้ว่ากลางดึกคืนนี้อาจจะมีแขกไม่ได้รับเชิญจากมิติลึกลับ The Black Lodge ในเรื่องมาเยี่ยมพวกเรากันที่บ้านก็เป็นได้…
พักผ่อนกันชั่วครู่ พวกเราก็ขับรถจากที่พักเพื่อไปยังจุดหมายสุดท้ายของวัน ร้านเหล้าที่รับบทเป็น The Bang Bang Bar ในเมือง Fall City ทางเหนือของสโนควอล์มีไป 10 นาที
The Bang Bang Bar
ขับออกมาจากตัวบ้าน เราเห็นเลยว่าถนนส่วนมากที่นี่ไม่มีไฟถนน กลางคืนมืดสนิท มองเห็นแค่อะไรก็ตามที่ไฟหน้ารถส่องถึง ให้บรรยากาศหลอนเหมือนในซีรีส์มากๆ เราประคองทั้งรถและสติไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายเราก็ขับมาถึงที่ The Bang Bang Bar หรือร้านอาหาร The Roadhouse ในชีวิตจริง
ทางโปรดักชั่นใช้ตึกของ The Roadhouse ดั้งเดิมทุกอย่าง เพียงแค่เปลี่ยนป้ายร้านใหม่เท่านั้น จากการค้นข้อมูลพบว่าฉากด้านในร้านถ่ายทำที่หอประชุมอีกที่หนึ่งในซีแอทเทิล
แวะกลับมาที่ The Roadhouse กันในเช้าวันต่อมาเพื่อมากินอาหารเช้า หลังกินเสร็จพวกเราก็เดินกลับมาที่รถ แล้วก็เห็นว่าจริงๆ แล้วบ้านของสมาคมลับ The Bookhouse Boys ในเรื่องจริงๆ แล้วอยู่ข้างๆ กันกับ The Roadhouse เลย
เราขับรถออกจาก Fall City ไปทางตะวันตกอีก 2 ชั่วโมง เพื่อที่จะไปเยี่ยมโลเคชั่นสุดท้ายของทริป ณ ขอนไม้ยักษ์ริมน้ำ จุดเริ่มต้นเรื่องราวทั้งหมดของซีรีส์ Twin Peaks
Kiana Lodge
ในตอนแรกสุดของซีรีส์ พีท มาร์เทล ผู้จัดการของโรงเลื่อย Packard ออกจากบ้านไปตกปลาในทะเลสาบข้างบ้านตอนเช้า ขณะเดินอยู่ริมทะเลสาบ เขาก็เห็นว่ามีอะไรบางอย่างถูกห่อด้วยพลาสติกถูกวางอยู่ข้างขอนไม้ยักษ์ริมหาด เขาเข้าไปดูใกล้ๆ แล้วก็เห็นว่าสิ่งๆ นั้นคือร่างไร้วิญญาณของลอร่
ถึงในเรื่องจะบอกว่าขอนไม้ที่ว่าอยู่ใน Twin Peaks แต่ในชีวิตจริงแล้ว ตัวขอนไม้และบ้านของครอบครัว มาร์เทลอยู่ห่างจากสโนควอล์มีไปเกือบ 60 กม. โลเคชั่นนี้อยู่บนแหลม Sandy Hook ใกล้กับเมืองท่า Polsbo ทางตะวันตกของซีแอทเทิลตัวขอนไม้อยู่บนหาดของโรงแรม Kiana Lodge ซึ่งด้านในของโรงแรมเองก็ถูกใช้เป็นบ้านของครอบครัวมาร์เทลและตัวโรงแรม The Great Northern Hotel ด้วย
เมื่อเรามาถึง เราเดินทะลุตัวรีสอร์ทไปที่หาด เมื่อถึงทะเล เราก็เห็นขอนไม้อันเบ้อเริ่มตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ที่เดิมตั้งแต่ 27 ปีที่แล้ว ด้วยความดีใจ เราแวะเข้าไปถ่ายรูปกับขอนไม้หลายภาพก่อนเดินกลับออกมาขึ้นเฟอร์รีกลับซีแอทเทิลเป็นอันจบทริปตามรอย Twin Peaks ของพวกเรา
แต่…ถึงกายหยาบของผู้เขียนจะจาก Snoqualmie มาแล้ว ผู้เขียนก็ยังอดรู้สึกไม่ได้ว่า วิญญาณบางส่วนยังเราคงอยู่ที่นั่น ในห้องม่านแดง ท่ามกลางขุนเขา ป่าสน และสายหมอกแห่ง Twin Peaks