ผลเอ็กซิทโพลครั้งแรกของการเลือกตั้งประธานาธิบดีตูนีเซียในปีนี้ดูจะเหนือความคาดหมาย เมื่อชาวตูนีเซียเทคะแนนให้ผู้สมัครอิสระอย่าง คาอิส ไซเอด ศาสตราจารย์ทางกฎหมาย และนาบิล คารูอี สื่อมวลชนผู้ทรงอิทธิพล ที่กำลังถูกคุมขังระหว่างดำเนินคดีในข้อหาคอร์รัปชั่น
นี่นับเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 2 ของตูนีเซีย หลังจากการปฏิวัติอาหรับสปริงเมื่อปี 2011 มีผู้สมัครลงเลือกตั้งถึง 26 คน ในจำนวนนี้มี 2 คนเป็นผู้หญิง
เอ็กซิทโพลรอบแรกนี้ จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา โดยสำรวจจากชาวตูนิเซีย 7 ล้านคน ส่วนผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะประกาศในค่ำวันอังคารที่ 17 กันยายนนี้
โพลถูกจัดโดย Sigma Conseil ซึ่งคะแนนแคนดิเดทสองอันดับแรกไม่ได้เฉือนชนะกันอย่างเด็ดขาด นั่นหมายความว่า ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดทั้ง 2 คน จะไปสู่การเลือกตั้งรอบสอง โดยไซเอด ได้รับคะแนนเสียง 19.5% และคารูอี ได้รับคะแนนเสียง 15.5% ผลโพลชี้ให้เห็นความผิดหวังของประชาชนที่แผ่ขยายไปทั่วประเทศ หลังการปฏิวัติอาหรับสปริง ชาวตูนีเซียปฏิเสธนักการเมืองจากสองพรรคการเมือง นั่นคือ พรรค Nidaa Tounes และ พรรค Ennahda ที่ร่วมเป็นรัฐบาลผสมหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2014
คาอิส ไซเอด ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผู้มีคะแนนมาเป็นอันดับ 1 มีแนวคิดอนุรักษนิยม เขาลงสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีพรรคการเมืองสนับสนุน เข้าหาประชาชนด้วยการไปตามบ้านเพื่อพบผู้มีสิทธิเลือกตั้งและอธิบายนโยบายของเขาด้วยตัวเอง
ขณะที่อันดับ 2 นาบิล คารูอี เป็นนักธุรกิจและสื่อมวลชน ถูกคุมขังระหว่างดำเนินคดีในข้อหาฟอกเงินและโกงภาษี ซึ่งเขาให้การปฏิเสธ เขาก่อตั้งองค์กรการกุศลเพื่อต่อสู้กับความยากจน และออกอากาศในช่องทีวีของเขา มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาใช้องค์กรการกุศลและสื่อของตัวเองเพื่อประโยชน์ทางการเมือง
นอกจากนี้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งยังมี ยุซเซฟ ชาเฮด ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตูนีเซียตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งนโยบายแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของเขาและรัฐบาลเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า วิธีตัดการใช้จ่ายสาธารณะยิ่งซ้ำเติมให้เศรษฐกิจอ่อนแอและทำร้ายคนจน
หลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2014 ที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ตูนีเซียประสบปัญหาเศรษฐกิจ โดยมีอัตราว่างงานถึง 15% บัณฑิตจบใหม่ 1 ใน 3 ไม่มีงานทำ นอกจากนี้ เรื่องความปลอดภัยก็เป็นอีกประเด็นที่ชาวตูนีเซียต้องทนทุกข์ มีบ่อยครั้งที่เกิดเหตุก่อการร้าย และเหตุก่อการร้ายครั้งร้ายแรงที่สุดเมื่อปี 2015 ที่คร่าชีวิตนักท่องเที่ยวจำนวนมาก กระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจตามมา อีกทั้งการตอบสนองของรัฐบาลต่อความเดือดร้อนของประชาชนก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวตูนีเซียผิดหวังกับรัฐบาล โดย 2 ใน 3 ของชาวตูนีเซียกล่าวว่ารัฐบาลไม่สนใจความต้องการของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะพบว่า ชาวตูนีเซียมีความตั้งใจที่จะเลือกตั้งมากกว่าที่ผ่านมา
อ้างอิง:
https://carnegieendowment.org/publications/interactive/tunisian-elections-2019
https://www.bbc.com/news/world-africa-49650446
เครดิตรูป CREDITFETHI BELAID / AFP
Tags: เลือกตั้ง, Election, ตูนีเซีย, Tunisia