“สิ่งที่สำคัญมากบนโลกใบนี้คือความรัก ความสัมพันธ์ และการเชื่อมโยงระหว่างผู้คน และสิ่งที่หนังของผมแสดงก็คือเรื่องราวเหล่านี้”—ไฉ้ หมิง เลี่ยง

หนังฉายภาพของชายพิการที่ถูกปรนนิบัติพัดวีราวกับเป็นสิ่งของไร้ชีวิต เขานอนแน่นิ่งอยู่ตลอดเวลา ถูกเช็ดเท่าที่ผู้ดูแลเพศหญิงอยากจะเช็ด ถูกเติมเต็มอารมณ์ทางเพศเท่าที่ผู้ดูแลกระสันต์อยากจะช่วย ทางเดียวที่เขาสามารถแสดงอารมณ์ที่ยากจะตีความออกคงเป็นแววตาที่บ้างเลื่อนลอยบ้างรวดร้าวและมีน้ำตาคลอ

และหนังก็เล่าเรื่องของชายไร้บ้านไม่ทราบสัญชาติในกัวลาลัมเปอร์ เขาถูกซ้อมจนต้องระหกระเหิน กระทั่งมีชายหนุ่มอีกคนหนึ่งรับไปดูแลแบบมดไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม แม้กระทั่งช่วยถอดกางเกงให้ฉี่ คืนหนึ่งทั้งคู่พากันแบกฟูกนอนไปนอนในตึกร้างที่มีบ่อน้ำอยู่กลางตึก ชายไร้บ้านยากจนข้นแค้นแต่เต็มไปด้วยอิสรภาพเท่าที่ชนชั้นของเขาจะอนุญาตให้มี ผู้คนดูจะปรารถนาในตัวเขา ทั้งเจ๊เจ้าของร้านที่รับดูแลชายพิการ หญิงสาวที่เป็นลูกหลานหรือไม่ก็ลูกจ้างของเจ๊ ที่ได้แต่แอบมองเจ๊ใช้มือสำเร็จความใคร่ให้ชายพิการ รวมถึงชายหนุ่มที่ดูจะเป็นหัวหน้าแก๊งคนงานข้ามชาติที่รับเขาไปดูแล แม้จะพบในภายหลังว่าเขาแอบไปมีอะไรกับหญิงสาวจิ้มลิ้มคนนั้น

(แน่นอนว่าชายสองคนที่เป็นตัวเอกของเรื่องรับบทโดยหลี่คังเซิง นักแสดงเจ้าประจำของหนังไฉ้)

I Don’t Want to Sleep Alone (2006) เป็นภาพยนตร์โดยไฉ้ หมิง เลี่ยง ผู้กำกับชื่อดังชาวไต้หวันที่ถ่ายทำในมาเลเซีย ประเทศที่เขาเคยอยู่เมื่อตอนเด็กๆ ไฉ้บอกว่าตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่นเขาไม่ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซียมากนัก เช่นเดียวกันกับบรรดาคนงานต่างชาติหรือชนชั้นล่างในหนังเรื่องนี้ เกิดเป็นอารมณ์ความรู้สึกมวลมหาศาลถูกถ่ายทอดมาในหนังที่เนิบช้า สวยงาม ที่แทบจะปราศจากบทสนทนาเรื่องนี้

หนังเพิ่งมาฉายในประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2562 ในฐานะหนังปิดเทศกาล 2019 Taiwan LGBTQ Film Festival in Bangkok ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความแตกต่างหลากหลายทางเพศ รวมถึงวาระที่ไต้หวันเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ผ่านกฎหมายการแต่งงานเพศเดียวกัน ในวันฉายหนังที่สมาคมฝรั่งเศส เรามีโอกาสได้พูดคุยกับเขาเล็กน้อย เริ่มจากคำถามที่ว่าเขาคิดเห็นอย่างไรกับการได้ฉายหนังในบริบทของการเป็นหนังเควียร์

“ผมไม่ได้อยากพูดถึงเรื่อง LGBTQ อย่างเฉพาะเจาะจง การที่หนังสักเรื่องจะมีประเด็นเรื่องเควียร์มันเป็นเรื่องธรรมดามาก ไม่จำเป็นต้องเน้นย้ำหรือหยิบมันมาพูดถึงเป็นวาระยิ่งใหญ่ มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาเขียนอะไรแปะบนใบหน้าเพื่อจะบอกว่าคุณเป็นใคร ถ้าคุณเป็นเกย์จะรู้สึกว่าคำนี้มันเฉยๆ มาก แต่ถ้าคุณไม่ใช่เกย์ก็อาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องพิเศษ และวันไหนที่เราไม่ต้องมาพูดกันเรื่องคำนี้อีกแล้ว มันคงเป็นโลกที่สวยงามที่สุด”

ไฉ้ยังเสริมอีกว่า

“แต่ละคนก็มีทัศนคติที่แตกต่างกันนะ เช่น คนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ เขาก็อาจจะโฟกัสไปที่ LGBTQ Movement แต่ผมในฐานะผู้สร้างสรรค์งาน (Creator) ผมแค่ต้องการสะท้อนสิ่งที่ผมคิดและสิ่งที่ผมเคยสัมผัสออกมามากกว่า”

สิ่งที่หนังของไฉ้สะท้อนออกมาคือชีวิตผู้คนกับบรรยากาศของพื้นที่ที่พวกเขาอยู่ และสิ่งหนึ่งที่มักปรากฏอยู่ในหนังหลายๆ เรื่องของเขาคือตึกร้าง ตึกเก่าทรุดโทรมในเมืองใหญ่ ใน I Don’t Want to Sleep Alone ก็เช่นกัน ตึกร้างสูงใหญ่กลายเป็นวิมานลับ น้ำที่ท่วมขังอยู่ในตึกได้ถูกเวทมนตร์ของภาพยนตร์เสกให้เป็นสระน้ำในสรวงสวรรค์ของชายสองคน ถึงกับมีผีเสื้อกลางคืนบินเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสวรรค์มืดๆ ชื้นแฉะนั้นด้วย

“ตึกเหล่านี้จะว่าถูกทิ้งร้างก็ไม่ใช่ เพราะยังมีหลายคนที่เข้าไปอาศัยอยู่ในนั้น ผมอยากให้มันเป็นสัญลักษณ์ของผลกระทบจากเศรษฐกิจต่อการพัฒนาเมือง ในกัวลาลัมเปอร์และอีกหลายเมืองในเอเชีย มีตึกมากมายที่ไม่ถูกสร้างต่อหรือถูกปล่อยเอาไว้หลังจากพิษเศรษฐกิจตกต่ำช่วงปี 80s-90s และคนงานต่างชาติจำนวนมากที่เคยถูกจ้างงานมาสร้างตึกเหล่านี้หรือรองรับกิจการที่จะมาอยู่ในตึกเหล่านี้ ก็กลายเป็นคนไร้ที่ไป ขณะที่คนรวยๆ ย้ายไปอยู่ในที่ที่ดีกว่า คนยากไร้ต้องหาวิธีดิ้นรนเอาชีวิตรอดในแบบของตัวเอง หนึ่งในพื้นที่สำหรับพวกเขาก็คือตึกเหล่านั้น”

สำหรับไฉ้แล้ว องค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญที่สุดในหนัง (นอกจากหลี่คังเซิง) ก็คือโลเคชั่น เขาหาตึกแต่ละตึกหรือซอกมุมของเมืองด้วยความตั้งใจ และมันก็ดันมีเรื่องราวของสังคมประกอบอยู่ในสถานที่เหล่านั้นเต็มไปหมด ด้วยองค์ประกอบต่างๆ นี้เอง จึงไม่พ้นที่ผู้คนมักจะตีความหนังของเขาในเชิงการเมือง ซึ่งไฉ้เห็นว่า

“คนเราสามารถมีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ใครจะคิดยังไงก็ได้เลย แต่ผมไม่ได้อยากทำหนังการเมือง ผมแค่ต้องการสะท้อนภาพปรากฏการณ์ สะท้อนความจริงที่เกิดขึ้น เพราะในสังคมนี้เราต่างเห็นคนจน เราเห็นคนพิการ เราต่างเห็นความมืด มันก็เท่านั้น”

I Don’t Want to Sleep Alone ฉายภาพเหล่านี้อย่างน่าจดจำ เมื่อชนชั้นล่างกระหายเซ็กซ์แต่ในเมืองที่พวกเขาอยู่นั้น แม้แต่สถานที่จะมีเซ็กซ์ก็ยังหาได้ยากยิ่ง และแม้จะได้สถานที่เหมาะเจาะแล้วก็ตาม มันก็ดันเป็นวันที่ฝุ่นควันล้นเมืองจากไฟไหม้ป่า วิธีแก้ปัญหาเท่าที่จะทำได้คือการใช้ถ้วยพลาสติกกับยางรัดมาดัดแปลงเป็นหน้ากากกันฝุ่น ฉากเซ็กซ์ฉากนั้นจึงดูอิหลักอิเหลื่อ เพราะเมื่อทั้งคู่พยายามปลดหน้ากากออกเพื่อดื่มด่ำกับการจูบก็มีแต่ฝุ่นของเมืองเข้าจู่โจมเล่นงานจนไอโขลก ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ฝ่ายชายผู้พิการคนนั้นก็ยังคงนอนอยู่ที่เดิม เพิ่มเติมเพียงถูกคลุมด้วยพลาสติกไม่ให้ฝุ่นเข้าไปหาเขาได้มากนักเท่านั้น

เราเห็นระดับของทางเลือกที่น้อยนิดลดหลั่นกันไปในตัวละครแต่ละคน ไฉ้ถ่ายทอดมันออกมาโดยแทบไม่ต้องอาศัยบทสนทนาใดๆ หนังของเขาสามารถพาผู้ชมไปไกลทั้งในแง่อารมณ์ความรู้สึกหรือประเด็นสังคมการเมือง (หากคุณใฝ่จะมอง)

ไฉ้ยันชัดเจนว่าเขาไม่เชื่อใน dialog และไม่เชื่อใน screenplay “ผมอยากถ่ายอะไรก็ถ่าย หากคุณยังติดอยู่กับบทหนัง นั่นหมายถึงคุณยังติดอยู่ในกับดักของอุตสาหกรรมภาพยนตร์” เขาว่า ดังนั้นเวลากำกับ เขามักจะบรีฟนักแสดงอย่างคร่าวๆ ว่าตอนนี้พวกเขาควรจะทำอะไร นอกเหนือจากนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นบนหน้าจอคือการไหลไปของนักแสดงที่ทำหน้าที่ร่วมกับโลเคชั่นที่เขาตั้งใจเฟ้นหา

นั่นจึงยิ่งน่าอัศจรรย์เมื่อเราเห็นสิ่งที่นักแสดงถ่ายทอดออกมา เราแทบแยกไม่ออกเลยว่าส่วนไหนเป็นความตั้งใจของไฉ้ หรือส่วนไหนมาจากนักแสดง เมื่อเธอควานมือเข้าไปในกางเกงของชายพิการและทำหน้าแบบนั้น เธอคิดอะไร ตอนที่เขาไปแย่งน้ำชาจากถาดที่หญิงสาวกำลังจะไปเสิร์ฟ เขาทำไปด้วยความคิดแบบไหน หรือตอนที่ตัวละครครวญครางอยู่ในซอกตึกเธอครุ่นคิดถึงอะไรบ้าง ดีไม่ดี ผีเสื้อตัวนั้นอาจจะแค่บินผ่านมาเข้าฉากและหลี่คังเซิงก็หยิบมันมาเล่นด้วย (อันนี้ไม่น่าจะใช่) ฯลฯ

ท้ายที่สุดแล้ว เราคงไม่พูดถึงข้อนี้ไม่ได้ อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่เป็นเวทมนตร์ของหนังของไฉ้ก็คือดนตรี หลายเพลงให้กลิ่นอายของยุคเก่าและผู้ชมก็ต้องมนตร์ได้ไม่ยากเย็น ซึ่งเขาเล่าว่า

“เด็กรุ่นใหม่ๆ อาจจะไม่ค่อยรู้จักเพลงยุคเก่าๆ เพลงที่พวกคนแก่ฟัง หรือโอเปร่าจีน ผมอยากนำเสนอเพลงเหล่านี้ให้คนรุ่นใหม่ได้ฟังผ่านหนังของผม ผมเองชอบงานเก่าๆ หลายชิ้น ซึ่งสำหรับผม คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันดีกว่างานยุคนี้น่ะนะ ไม่ว่าจะเพลงหรือหนังก็ตาม ผมจึงพยายามใส่สิ่งเหล่านี้เข้าไปในหนังเท่าที่จะทำได้ และที่สุดแล้วคนเราก็อาจจะพบสิ่งใหม่ๆ ภายใต้งานเก่าก็ได้”

ด้วยเวลาอันจำกัดและการต้องแปลภาษาจีน-อังกฤษ เราจึงได้สนทนากับไฉ้ไม่มากนัก แต่อันที่จริงแม้ไม่ต้องประกอบกับปากคำจากผู้กำกับฯ หนังก็ทำงานกับเราอย่างเต็มที่ทั้งโดยตัวละคร ความสัมพันธ์ นักแสดง โลเคชั่น ดนตรี ทั้งหมดได้ร่วมกันสร้างบรรยากาศอย่างที่ยากจะหาได้ในหนังเรื่องอื่น และมันกลายเป็นหนังอีกหนึ่งเรื่องที่เราชอบสุดๆ ที่ได้ดูในปีนี้เลยทีเดียว

ขอขอบคุณ:

Documentary Club

Alliance francaise de Bangkok

และ Chiron

Fact Box

  • หลังถ่ายทำ I Don’t Want to Sleep Alone จบ ไฉ้หมิงเลี่ยงคิดว่าคงไม่ได้กลับไปที่มาเลเซียอีกแล้ว แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจลองส่งกองเซนเซอร์ดูเผื่อจะได้ฉาย ผลคือหนังของเขาไม่ผ่าน ซึ่งกรรมการส่งเหตุผลให้เขาประมาณ 8 ข้อ มีอยู่ 3 ข้อที่เขาจำได้คือ 1) ในหนังมีขยะมากเกินไป 2) ในหนังมีคนงานต่างชาติมากเกินไป 3) มีฉากหนึ่งที่หลี่คังเซิงเกิดการแข็งตัว ไฉ้ตัดสินใจส่งเหตุผลที่กรรมการมอบให้ไปให้สื่อฯ หลังจากที่มีการเผยแพร่ ทำให้เกิดข้อโต้เถียงในมาเลเซียเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของคนทำหนังและมาตรฐานของกองเซนเซอร์
  • เขาเล่าบนเวที Q&A ว่ามีสื่อฯ เคยถามเขาว่าจะรู้สึกอย่างไรหากคนดูชาวมาเลเซียหลับในโรงหนัง เขาตอบว่า “ก็ไม่รู้สึกอะไรหรอก ก็แค่ตอนไปฉายที่เทศกาลหนังในเวนิซ มีคนเขายืนปรบมือให้ทั้งโรงก็เท่านั้นเอง” เขายังเล่าติดตลกอีกว่ามีข่าวลือขำๆ เกี่ยวกับตอนที่ยื่นกองเซนเซอร์รอบสอง ว่าคงมีกรรมการบางคนที่หลับไปเลยไม่เห็นบางฉาก พอตื่นขึ้นมาก็เลยให้หนังผ่านๆ ไปให้จบเรื่อง
  • ไฉ้เล่าเพิ่มเติมว่าเขาตามความเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ค่อยทัน ถึงแม้จะเคยทำหนัง VR มาแล้วก็ตาม “ผมไม่ค่อยรู้จักเทคโนโลยีใหม่ๆ ผมไม่เคยไปแอปเปิลสโตร์หรือสถานที่แบบนั้น (หัวเราะ) เวลาจ่ายเงินในซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วเจอระบบไร้พนักงานผมก็จะทำไม่ค่อยเป็น เวลาไปสนามบินแล้วเจอระบบเช็คอินด้วยตัวเองก็จะงงๆ กับมัน ผมคิดว่าเราคงฝืนการเปลี่ยนแปลงของโลกนี้ไม่ได้ และถึงเราจะตามไม่ทันแต่เราก็คงจะเจอวิธีการใช้ชีวิตกับมันในแบบของตัวเอง”