โดนัลด์ ทรัมป์ ขู่จะนำสหรัฐอเมริกาถอนตัวจากข้อตกลงยุติการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านในสัปดาห์นี้ ถ้าทำจริงแล้วอิหร่านหวนคืนเส้นทางเดิม ตะวันออกกลางคงตึงเครียดด้วยการสร้างสมอาวุธและการก่อการร้าย

ในห้วงเวลานี้ นอกจากรอชมท่าทีลีลาของรัฐบาลทรัมป์ในการคลี่คลายวิกฤตเกาหลีเหนือ แล้ว โลกยังลุ้นด้วยว่า อเมริกาจะล้มกระดานข้อตกลงยุติการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านหรือเปล่า

ผู้ชุมนุมคนหนึ่งใส่หน้ากากโดนัลด์ ทรัมป์ มาเดินบริเวณทำเนียบขาว แสดงท่าทีต่อต้านนโยบายของทรัมป์ที่มีต่อดีลนิวเคลียร์อิหร่าน (ภาพถ่ายเมื่อ 13 ตุลาคม 2017 โดย REUTERS/Jim Bourg)

ประธานาธิบดีทรัมป์โวยว่า ข้อตกลงปี 2015 กับรัฐบาลเตหะรานมีช่องโหว่ ถ้าไม่ยอมทำข้อตกลงเสริมเพื่อแก้ไข ‘จุดบกพร่องต่างๆ’ สหรัฐฯ จะถอนตัวออกจากข้อตกลงซึ่งลงนามร่วมกับรัสเซีย จีน เยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ

จนถึงขณะนี้ อิหร่านยืนกรานปฏิเสธที่จะเจรจาใหม่เพื่อแก้ไขข้อตกลง เตหะรานเปรียบเปรยพฤติกรรมของสหรัฐฯในยุคทรัมป์ว่า อเมริกามาขอซื้อบ้าน อิหร่านยอมขายให้ อเมริกาย้ายเข้าอยู่เป็นที่เรียบร้อย ผ่านไปหลายปี ผู้ซื้อมาบอกผู้ขายว่า เรามาตกลงราคากันใหม่ดีกว่า

‘ยุตินิวเคลียร์’ แลก ‘เลิกคว่ำบาตร’

เป้าหมายของข้อตกลงฉบับนี้ คือ หยุดยั้งอิหร่านไม่ให้ผลิตวัสดุนิวเคลียร์ได้มากพอและดีพอที่จะใช้สร้างระเบิดได้

เนื้อหาหลักมีสามข้อ ได้แก่ ลดจำนวนเครื่องเหวี่ยงแยกมวลสารที่ใช้เสริมคุณภาพแร่ยูเรเนียมที่อิหร่านมีใช้อยู่ในขณะนั้น ลดจำนวนยูเรเนียมคุณภาพสูงที่อิหร่านเก็บสต็อกไว้ และกำหนดค่าความบริสุทธิ์ของยูเรเนียมที่ผลิตได้ให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงพอสำหรับทำระเบิด

ประเด็นหัวใจอยู่ที่การพิสูจน์ทราบการปฏิบัติตามข้อตกลง อิหร่านยอมให้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) เข้าตรวจสอบแหล่งพัฒนานิวเคลียร์อย่างทั่วถึงทุกซอกทุกมุมเป็นรายวัน แถมให้ตั้งกล้องวงจรปิดไว้สอดส่องในโรงเสริมคุณภาพยูเรเนียมซึ่งอยู่ใต้ดินด้วย

The Bushehr อิหร่าน

ภายในโรงงานนิวเคลียร์ The Bushehr ตั้งอยู่ห่างจากกรุงเตหะรานไปทางใต้ราว 1,200 กิโลเมตร (ภาพเมื่อ 26 ตุลาคม 2010, โดย REUTERS/Mehr News Agency/Majid Asgaripour)

ที่ผ่านมา ไอเออีเอบอกว่า ผู้ตรวจการหลายร้อยคนเข้าตรวจสอบทุกแหล่งที่จำเป็นต้องพิสูจน์โดยครบถ้วนแล้ว พบว่าอิหร่านทำตามข้อตกลงทุกประการ ความข้อนี้ หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ สรุปผลในทำนองเดียวกัน

แต่ทรัมป์บอกว่า ข้อตกลงที่สหรัฐฯ ลงนามในยุคประธานาธิบดี บารัค โอบามา ฉบับนี้ “เป็นหนึ่งในข้อตกลงที่แย่ที่สุดที่ผมเคยเห็น” เพราะไม่ครอบคลุมเรื่องโครงการขีปนาวุธ และเขาต้องการให้ต่ออายุข้อตกลงบางข้อซึ่งจะหมดอายุภายในปี 2025

เมื่อปี 2015 รัฐบาลเตหะรานยอมลงนาม เพราะต้องการให้สหรัฐฯ ยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เรื่องสำคัญ คือ การขายน้ำมันออกสู่ตลาดโลก

ฝ่ายสหรัฐฯ มีกำหนดที่จะต้องต่ออายุมาตรการระงับการคว่ำบาตรภายในวันที่ 12 พฤษภาคม ถ้าทรัมป์ไม่ยืดอายุให้ภายในสัปดาห์นี้ อิหร่านย่อมไม่มีเหตุผลที่จะทำตามข้อตกลงอีกต่อไป

ถ้าดีลนิวเคลียร์ล่ม สหรัฐฯ คว่ำบาตรอิหร่าน คาดกันว่า เตหะรานจะแก้เผ็ดด้วยการเล่นงานผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และบรรดาชาติพันธมิตรของอเมริกันในตะวันออกกลาง

ไพ่ในมือเตหะราน ข้อต่อรองสหรัฐอเมริกา

เตหะรานมีไพ่ในมือหลายใบที่จะใช้เป็นตัวต่อรองกับอเมริกาได้ ฝ่ายสหรัฐฯ ก็คงมองออก ไพ่ในมือที่ว่านี้ก็คือ ใช้พันธมิตรของอิหร่านในภูมิภาคเป็นตัวต่อรอง เพื่อไม่ให้ตัวเองตกอยู่ในสถานะเบี้ยล่าง เมื่อต้องเผชิญแรงกดดันจากอเมริกา

อิหร่านมีนักรบชีอะห์หลายพันคนเคลื่อนไหวอยู่ในอิรัก กองกำลังกลุ่มนี้ต้องการขับไล่สหรัฐฯ ออกจากอิรักอยู่แล้ว เตหะรานอาจหนุนให้พวกนักรบเข้าโจมตีทหารอเมริกันก็เป็นได้

ในซีเรีย อิหร่านมีพลพรรคฮิซบุลเลาะห์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองและกองกำลังในเลบานอน เข้าไปปฏิบัติการค้ำจุนรัฐบาลของประธานาธิบดี บาชาร์ อัลอัสซาด ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา อิสราเอล คู่ปรับของอิหร่าน บอกว่า เตหะรานติดอาวุธและฝึกทหารให้นักรบชีอะห์กลุ่มนี้อย่างน้อย 80,000 คน

อิสราเอล พันธมิตรของสหรัฐฯ ปะทะกับพวกนักรบชีอะห์ที่อิหร่านหนุนหลังในซีเรียมาแล้วหลายครั้ง เพราะไม่ต้องการให้อิหร่านหรือฮิซบุลเลาะห์เข้าไปมีบทบาททางทหารในซีเรีย เนื่องจากเป็นการคุกคามอิสราเอลซึ่งมีพรมแดนติดกับซีเรียทางทิศเหนือ

กองกำลังที่อิหร่านสนับสนุนยังอาจเล่นงานทหารอเมริกันราว 2,000 นาย ที่เข้าไปช่วยพวกนักรบชาวเคิร์ดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกของซีเรียด้วย

The Bushehr อิหร่าน

ภายด้านนอกโรงงานนิวเคลียร์ The Bushehr ตั้งอยู่ห่างจากกรุงเตหะรานไปทางใต้ราว 1,200 กิโลเมตร (ภาพเมื่อ 21 สิงหาคม 2010, โดย REUTERS/Raheb Homavandi)

ในเลบานอน ฝ่ายข่าวกรองของอิสราเอลกับสหรัฐฯ บอกว่า อิหร่านช่วยกลุ่มฮิซบุลเลาะห์สร้างโรงงานสำหรับผลิตจรวดนำวิถี หรือขีปนาวุธความแม่นยำสูง แม้ฮิซบุลเลาะห์บอกว่า ไม่ต้องการขัดแย้งกับอิสราเอล แต่ความตึงเครียดในกรณีอิหร่าน-สหรัฐฯ อาจนำไปสู่สงครามรอบใหม่ในเลบานอน

ฮิซบุลเลาะห์เคยประกาศว่า ถ้าอิสราเอลทำสงครามกับซีเรียหรือเลบานอน นักรบชีอะห์หลายหมื่นจากอิหร่านและอิรักจะมุ่งสู่เลบานอน ช่วยฮิซบุลเลาะห์รบกับอิสราเอล

เวลานี้ ฮิซบุลเลาะห์หันมาญาติดีกับฝ่ายตรงข้าม คือ รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเลบานอน ซาอัด อัลฮาริรี ซึ่งมีชาติตะวันตกหนุนหลัง แต่ถ้าข้อตกลงนิวเคลียร์ล่ม อิหร่านอาจกดดันให้ฮิซบุลเลาะห์ตัดไมตรีกับรัฐบาลเลบานอน แล้วประเทศนี้ก็จะวุ่นวายอีกครั้ง

กรณีของเยเมน แม้อิหร่านบอกปัดว่าไม่มีบทบาททางทหารในประเทศนี้ แต่สหรัฐฯ กับซาอุดิอาระเบียบอกว่า เตหะรานส่งอาวุธให้ฝ่ายกบฏ ซึ่งพวกกบฏเอาจรวดจากอิหร่านไปยิงใส่แหล่งผลิตน้ำมันของซาอุฯ เป็นการตอบโต้ที่รัฐบาลริยาดห์โจมตีทางอากาศในเยเมน

ถ้าดีลล่ม อิหร่านอาจเพิ่มการสนับสนุนแก่ฝ่ายกบฏในเยเมน นั่นอาจยั่วยุให้ซาอุดิอาระเบียและชาติอาหรับตอบโต้ทางการทหาร แล้วสถานการณ์ในคาบสมุทรอาหรับก็จะดูไม่จืด

ทางหนีทีไล่ หากสหรัฐฯ ผิดสัญญา

อิหร่านยังมีทางเลือกอีกสองอย่าง เอาไว้ต่อรองกับสหรัฐฯ เตหะรานจะเดินหมากอย่างไร ขึ้นกับท่าทีของมหาอำนาจอื่นๆ ด้วย

ทางเลือกแรก ถอนตัวออกจากการเป็นภาคีของสนธิสัญญาห้ามแพร่กระจายนิวเคลียร์ (เอ็นพีที) นั่นหมายความว่า อิหร่านเป็นอิสระจากกฎกติการะดับโลกที่ใช้ควบคุมการแพร่อาวุธปรมาณู

ทางเลือกที่สอง แม้ไม่ถอนตัวจากเอ็นพีที อิหร่านยังสามารถเสริมคุณภาพยูเรเนียมให้เข้มข้นขึ้นได้

อิหร่านเคยผลิตยูเรเนียมที่ระดับความเข้มข้น 20 เปอร์เซ็นต์ ยูเรเนียมสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้านั้นมีความเข้มข้นแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ก็ใช้ได้แล้ว แต่หลังจากทำข้อตกลง อิหร่านยอมลดระดับความเข้มข้นลงมาที่ 3.6 เปอร์เซ็นต์

หากจะทำระเบิดนิวเคลียร์ ยูเรเนียมต้องมีความเข้มข้น 80-90 เปอร์เซ็นต์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้อำนวยการองค์การพลังงานปรมาณูของอิหร่านบอกว่า ก่อนหน้าทำข้อตกลงกับนานาชาติ อิหร่านเคยมีขีดความสามารถที่จะผลิตที่ความเข้มข้นเกินกว่า 20 เปอร์เซ็นต์

อิหร่านจะงัดไพ่ใบไหนขึ้นมาเล่น ขึ้นกับว่าฝ่ายอื่นๆ ที่ร่วมลงนามในข้อตกลงจะมีท่าทีอย่างไรต่อการถอนตัวของสหรัฐฯ

เตหะรานจะต้องประเมินว่า ฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษ จะยังคงทำธุรกิจในอิหร่านต่อไปไหม รัสเซียซึ่งเป็นมิตรกับอิหร่านจะถือหางรัฐบาลเตหะรานในเกมนี้หรือเปล่า และจีนจะอ้าแขนรับอิหร่านเข้าร่วมแผนการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางในระดับใด

เหล่านี้เป็นการประเมินที่จะตอบคำถามว่า ถ้าอเมริกาคว่ำบาตร อิหร่านยังมี ‘แพชูชีพ’ ที่จะทดแทนการถูกสหรัฐฯ บีบคั้นทางเศรษฐกิจหรือไม่ และแพชูชีพเหล่านี้จะช่วยชดเชยผลประโยชน์ที่สูญเสียไปเพราะเหตุดีลล่มได้มากน้อยแค่ไหน

ต้องคอยดูกันว่า ทรัมป์จะคว่ำดีลอิหร่านตามคำขู่หรือไม่ จนถึงขณะนี้ มีแต่ฝ่ายอเมริกาที่อยากรื้อข้อตกลง ประเทศอื่นๆ ที่ร่วมลงนามต่างอยากเห็นข้อตกลงนี้เดินหน้าต่อไป.

 

ภาพเปิด: บริเวณอดีตสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเตหะราน  (ภาพเมื่อกุมภาพันธ์ 2007 โดย REUTERS/Morteza Nikoubazl)

อ้างอิง:

Tags: , , ,