รางวัลโนเบล สาขาเคมี ปีนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกมอบให้กับฟรานเซส เอช. อาร์โนลด์ (Frances H. Arnold) จากผลงาน ‘วิวัฒนาการประดิษฐ์ของเอนไซม์ (directed evolution of enzymes)’ และอีกครึ่งหนึ่งมอบให้กับนักเคมีสองคน ได้แก่ จอร์จ พี.สมิธ (George P. Smith) และเซอร์เกรกอรี พี. วินเทอร์ (Gregory P. Winter) สำหรับผลงานเทคนิค ฟาจดิสเพลย์ (phage display) ซึ่งเป็นเทคนิคที่เรียนรู้จากการวิวัฒนาการของ ‘ฟาจ’ หรือ ไวรัสกินแบคทีเรียที่พัฒนาโปรตีนบนผิวของมันให้ตามทันวิวัฒนาการโปรตีนบนผิวของแบคทีเรีย แล้วนำเทคนิคนี้มาจำลองกระบวนการสร้างโปรตีนบนผิวแอนติบอดีขึ้นมาจับเป้าหมายได้เจาะจงมากขึ้น

คณะกรรมการอธิบายว่า มอบรางวัลให้กับผลงานที่แสดงให้เห็นถึงพลังของวิวัฒนาการ และให้กับนักวิทยาศาสตร์ที่ประยุกต์หลักการเดียวกับดาร์วิน ซึ่งเปลี่ยนและคัดเลือกพันธุกรรมในหลอดทดลอง เพื่อพัฒนาโปรตีนที่ช่วยแก้ปัญหาทางเคมีของมนุษยชาติ

ผลจากการคิดค้นของพวกเขาถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (greener) ผลิตวัสดุใหม่ และสร้างเชื้อเพลิงชีวภาพที่ยั่งยืน ลดการเกิดโรคและรักษาชีวิต

ฟรานเซส เอช. อาร์โนลด์ แห่งสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้รับรางวัลจากผลงาน ‘วิวัฒนาการประดิษฐ์ของเอนไซม์ (directed evolution of enzymes)’ ที่นำเสนอครั้งแรกในปี 1993 เทคนิควิศวกรรมเอนไซม์นี้ได้ช่วยผลิตเอนไซม์ที่นำมาใช้ประโยชน์ในแวดวงต่างๆ ตั้งแต่เชื้อเพลิงชีวภาพ การแพทย์ และวัสดุ

อาร์โนลด์เป็นผู้หญิงคนที่ 5 ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี

ส่วน จอร์จ พี. สมิธ จากมหาวิทยาลัยมิซซูรี สหรัฐอเมริกา พัฒนาวิธีที่เรียกว่าฟาจดิสเพลย์ (phage display) ซึ่ง แบคทีรีโอฟาจ (bacteriophage) หรือ ไวรัสกินแบคทีเรีย ถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาโปรตีนใหม่ได้

ต่อยอดจากงานของสมิธ ก็คือ เซอร์เกรกอรี พี.วินเทอร์ สถาบันวิจัยด้านชีวโมเลกุล (MRC Laboratory of Molecular Biology) สหราชอาณาจักร ผู้ใช้เทคนิคฟาจดิสเพลย์ข้างต้น นำมาสร้างสารชีวโมเลกุลชนิดใหม่ๆ รวมถึงแอนติบอดีที่สามารถป้องกันโรคภัยต่างๆ ได้เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยา นับตั้งแต่นั้นมามีการใช้ฟาจดิสเพลย์ผลิตแอนติบอดี ซึ่งสามารถถอนพิษ ต่อสู้กับโรคภูมิแพ้ตนเอง และรักษามะเร็งระยะแพร่กระจายได้

 

ที่มาภาพ: Dr Graham Beards [CC BY-SA 3.0 or GFDL], via Wikimedia Commons

ที่มา:

Tags: , , , , , , ,