ข่าวร้ายแพร่เร็วกว่าข่าวดีเสมอ สัปดาห์นี้มีเรื่องราวที่ทำให้ สมชัย ศรีสุทธิยากร ถึงกับต้องอุ้มพระพุทธรูปปางอภัยทาน พร้อมหอบข้าวของออกจากสำนักงาน ส่วนพี่หมื่นโป๊บที่กำลังดังทะลุฟ้าก็มาโดนแบล็คเมล์ด้วยแชทปริศนา ที่เจ้าตัวต้องรีบอธิบายว่า เป็นเพราะตนเป็นคนมีเมตตาต่างหาก ตามมาด้วยเรื่องที่ชาวพิสูจน์อักษรและคนเขียนหนังสือยิ้มแห้งไปตามกันกับการปรู๊ฟผิดของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ไปจนถึงเรื่องสั่นคลอนเฟซบุ๊กครั้งใหญ่ กับกระแส #deletefacebook

 

พี่หมื่นโป๊ปเกือบงานเข้า หลังโดนขุดชอบทักแชทหาสาวๆ

กระแสละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ ดังจนฉุดไม่อยู่ นอกจากฮิตทั่วบ้านทั่วเมือง ฮิตข้ามประเทศแล้ว พระเอกหนุ่ม โป๊ป-ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ หรือพี่หมื่นของแฟนๆ ละคร ก็กลายเป็นพระเอกคิวทองขึ้นมาทันที ส่งผลถึงงานอีเวนท์ที่วิ่งชนกันถึง 3-4 งานในวันเดียว ไปที่ไหนก็มีแฟนคลับตามไปให้กำลังใจจนห้างแตกมาแล้ว

แต่พี่หมื่นโป๊ปก็เกือบงานเข้า เมื่อตลอดสัปดาห์เกิดกระแสว่อนโลกโซเชียลว่า พระเอกหนุ่มชอบแชทผ่านทางไลน์และไอจี หาสาวๆ หลายคน ซึ่งต้นตอการขุดก็มาจากเพจ ‘นักล่าเนตไอดอล รีเทิร์น’ ที่เผยแพร่ภาพข้อความแชท ซึ่งระบุว่าเป็นของผู้หญิงคนหนึ่ง โดยอ้างว่าหนุ่มโป๊ปมีพฤติกรรมชอบส่งข้อความหาสาวๆ ผ่านทางไลน์และไอจีเป็นจำนวนมาก พร้อมกับมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับสาวมากหน้าหลายตา รวมทั้งภาพหนุ่มโป๊ปกำลังนอนอยู่บนเตียง และภายในภาพมีกระโปรงผู้หญิงอยู่ด้วย

เรื่องนี้ทำให้พี่หมื่นโป๊ปต้องออกมาแก้ข่าว โดยพูดในงานอีเวนท์หนึ่ง เจ้าตัวยอมรับว่าเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง เคยคบกับผู้หญิงมาหลายคน แต่ไม่เคยหลอกหรือไปบังคับใคร ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้น ยอมรับทุกอย่าง แต่เป็นเรื่องของอดีต พร้อมทั้งฝากประโยคเด็ดไว้ว่า ตนไม่ใช่คนเจ้าชู้ แค่เป็นคนมีเมตตา

ขณะที่ระหว่างไปงานบวงสรวงละครที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ อ.เมือง จ.ลพบุรี เจ้าตัวก็โฟนอินตอบคำถามกับรายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ เจ้าตัวยอมรับว่าเคยส่งข้อความไปคุยกับสาวหลายคนจริง หรือบางคนทักมา ก็ตอบกลับไปบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องในอดีต กับคนที่เคยรู้จัก ซึ่งไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไร ก็ต้องยอมรับและทำใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

งานนี้น่าจะเป็นแค่กระแสเตะตัดขาความดังของพี่หมื่นโป๊ปเท่านั้น เพราะถึงอย่างไรบรรดาแฟนคลับต่างก็ให้กำลังใจ และไม่มีทีท่าจะลดลง สังเกตได้จากไอจี @popezaap มีคนฟอลโลว์แล้ว 2.6 ล้านคน (ตัวเลขวันที่ 23 มีนาคม 2561)

 

หรือ ‘เฟซบุ๊ก’ แต้มบุญหมด เผือกร้อนจากนักแฉ Cambridge Analytica

กระแส #deletefacebook แพร่สะพัด แถม อีลอน มัสก์ ยังมาเย้ยหยัน เรียกได้ว่าเป็นสัปดาห์ที่ไม่ง่ายเลยสำหรับ ‘เฟซบุ๊ก’ และ ‘มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก’ ที่ต้องรับกรรมจากนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลอันหละหลวม ทำให้ตอนนี้กำลังโดนหลายฝ่ายรุมสกรัม หลังมีการแฉข้อมูลก้องโลกที่เรียกกันว่า ข้อมูลฉาว เคมบริดจ์ แอนะลีติกา (Cambridge Analytic Scandal)

เคมบริดจ์ แอนะลีติกา เป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลในลอนดอน ที่ได้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 50 ล้านคนไปโดยไม่ได้รับความยินยอมใดๆ จากเจ้าของข้อมูล และเพิ่งโดนแฉว่า ทางบริษัทนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ แล้วใช้ข้อมูลที่เจาะจงโฆษณาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ให้แก่โดนัลด์ ทรัมป์

ทั้งนี้ พบว่า บริษัทเคมบริดส์ แอนะลีติกา มีโรเบิร์ต เมอร์เซอร์ (Robert Mercer) มหาเศรษฐีซึ่งเป็นผู้บริจาคเงินรายใหญ่ที่สุดของทรัมป์ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธาธิบดี 2016 และสตีฟ แบนนอน (Steve Bannon) อดีตประธานฝ่ายยุทธศาสตร์ของทรัมป์ เป็นกรรมการบริหารของบริษัท

เผือกร้อนจึงมาตกที่เฟซบุ๊ก เพราะช่องทางที่ เคมบริดจ์ แอนะลีติกา ได้ข้อมูลไป มาจาก อเล็กซานเดอร์ โคแกน (Aleksandr Kogan) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาชาวรัสเซีย-อเมริกันจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เมื่อปี 2014 ที่มีแอปสำหรับทำควิซทดสอบทางจิตวิทยา ที่เชื่อมต่อถึงผู้ใช้ผ่านทางเฟซบุ๊ก

ส่วนคนที่ออกมาแฉเรื่องนี้ คือ หนุ่มหัวชมพู คริสโตเฟอร์ วายลี (Christopher Wylie) อดีตพนักงานของเคมบริดจ์ แอนะลีติกา วัย 28 ปี นั่นเอง เขาบอกว่า คนใช้งานแอปที่ว่า จะถูกดูดข้อมูลส่วนตัวไป แต่ไม่แค่นั้น แอปนี้ยังล้วงข้อมูลของเพื่อนไปได้ด้วย ข้อมูลที่ว่านี้ ก็เช่น ชื่อ ที่อยู่ วันเกิด เพศ การไลก์ ฯลฯ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บอกว่าสามารถบอกตัวตนของบุคคลนั้นได้ดี และเพียงพอที่จะกำหนดรูปแบบของข้อความหาเสียงเลือกตั้ง ด้านเคมบริดส์ แอนะลีติกา แย้งสิ่งที่ไวลีพูด บอกว่าบริษัทไม่ได้เอาข้อมูลที่ได้นี้ไปใช้วิเคราะห์ในแคมเปญของทรัมป์เลย

เฟซบุ๊กรู้เรื่องนี้เมื่อสองปีก่อน และก็สั่งให้เคมบริดจ์ แอนะลีติกา และศาสตราจารย์โคแกนลบข้อมูลทั้งหมด แต่ก็เพิ่งพบว่าบริษัทไม่ยอมทำตาม ทางบริษัทจึงมีมาตรการระงับการใช้งานของทีมงานที่เกี่ยวข้องกับเคมบริดจ์ แอนะลึติกา และบริษัท Strategic Communications Laboratories (SCL) ที่เกี่ยวพันกับการวิเคราะห์ข้อมูลในแคมเปญหาเสียงของทรัมป์ รวมถึงแบนไวลี อดีตพนักงานผู้ออกมาแฉด้วย

เมื่อเป็นข่าวโครมคราม ซัคเคอร์เบิร์กก็เขียนข้อความทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 22 มี.ค. อธิบายว่า ตอนเฟซบุ๊กเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2007 วิสัยทัศน์เริ่มแรกคือการสร้างสังคมผ่านแอป ดังนั้น จึงให้มีการบอกวันเกิดของเพื่อน บอกแผนที่ว่าเพื่อนเราอยู่ที่ไหน พร้อมมีรูปภาพ และเพื่อให้เครือข่ายสังคมสมบูรณ์ จึงอนุญาตให้แอปต่างๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ไม่ใช่แค่ของบุคคล แต่ยังรวมถึงข้อมูลของเครือข่ายเพื่อนๆ ผ่านไป 7 ปี ในปี 2014 เฟซบุ๊กจึงหันมาปรับนโยบายใหม่ ไม่ยอมให้แอปต่างๆ เข้าถึงข้อมูลของ เพื่อน ได้ดังเคย

จนปี 2015 เฟซบุ๊กถึงได้รู้จากนักข่าวของหนังสือพิมพ์การ์เดียนว่าศาสตราจารย์โคแกนเอาข้อมูลที่ได้นั้นไปขายให้เคมบริดจ์ แอนะลีติกา สิ่งที่เฟซบุ๊กทำ คือแบนแอปของศาสตราจารย์โคแกน และเรียกร้องให้ลบข้อมูลทิ้งไป ผ่านไปสองปี เรื่องก็มาแดงอีกครั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าทางบริษัทไม่ได้ลบข้อมูลเหล่านั้น ซัคเคอร์เบิร์กแสดงความเสียใจว่า เรื่องนี้ทำลายความเชื่อมั่นที่ผู้ใช้มีต่อเฟซบุ๊ก และเป็นสิ่งที่เฟซบุ๊กจะเร่งแก้ไข โดยจะมีมาตรการเข้มงวดขึ้น

จากเรื่องนี้ ก็มีผู้ใช้เฟซบุ๊กในสหรัฐฯ ไปยื่นฟ้องศาลว่าได้รับความเสียหายจากการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งทนายความก็แนะนำให้คนอื่นๆ ทำในแบบเดียวกัน แถมตลอดสัปดาห์ นักลงทุนก็เทขายหุ้นเฟซบุ๊กจนทำให้มูลค่าบริษัทลดลงฮวบฮาบ จากเมื่อวันจันทร์ที่ 19 มี.ค. มีมูลค่าต่อหุ้นอยู่ที่ 176.80 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงเหลือ 159.30 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มูลค่ารวมลดฮวบไป 58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ เวลานี้ก็เป็นโอกาสที่หลายฝ่ายมารุมสกรัมเฟซบุ๊กด้วย โดยมีความเคลื่อนไหวเป็นกระแสติดแฮชแท็ก #deletefacebook ที่ก็ริเริ่มโดยผู้ก่อตั้งวอทส์แอป Whatsapp (ซึ่งขายวอทส์แอปให้เฟซบุ๊กไปเมื่อปี 2014 ในมูลค่า 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนอีลอน มัสก์ ก็ร่วมสมทบด้วยการระงับเพจของ Tesla และ SpaceX ที่มีผู้ติดตามถึง 2.5 ล้านรายไปแล้ว แถมยังเขียนบททวิตเตอร์ว่า “Whats Facebook?”

‘แซว-แซ็ว’ รอยยิ้มแห้งๆ ของเหล่านักพิสูจน์อักษร เมื่อพจนานุกรมพิมพ์ผิด

ถูกแซวยับเยินอีกครั้ง เมื่อสำนักงานราชบัณฑิตยสภาออกประกาศว่า คำว่า ‘แซ็ว’ ในตัวเล่มพจนานุกรม ฉบับปี 2554 นั้น เป็นผลมาจากการ ‘พิมพ์ผิด’ แท้จริงเขียน ‘แซว’ นั้นถูกแล้ว

ประกาศฉบับนี้มาพร้อมกับการระบุให้ใช้ คะ ค่ะ นะคะ ให้ถูกต้อง แต่ที่เป็นประเด็นก็คือการ ‘พิมพ์ผิด’ และ ‘พิสูจน์อักษรตกหล่น’ ที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่งในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ที่มีหลายหน่วยงานใช้เป็นหลักยึดในการใช้ภาษาไทย

ที่ได้รับผลกระทบที่สุดน่าจะเป็นองค์กรที่ทำงานกับตัวหนังสือเป็นหลัก เหล่านักพิสูจน์อักษรทั่วราชอาณาจักรพยายามจัดการกับปัญหานี้ บางองค์กรเลือกใช้ แซ็ว ตามราชบัณฑิตยสภา บางที่ก็ใช้ แซว ตามสมัยนิยม ซึ่งแน่นอนว่า สำหรับกลุ่มแรกคงต้องกลับไปใช้ แซว ทั้งในส่วนที่แปลว่ากระเซ้า รวมถึง นกแซงแซว และ เพลงอีแซว ด้วย

หากยังจำกันได้ ประเด็น ‘แซว-แซ็ว’ เคยเป็นกระแสมาแล้วเมื่อปี 2560 เมื่อเพจ ‘คำไทย’ หยิบเรื่องความขัดแย้งระหว่างคำที่คนเคยชินกับคำในพจนานุกรมขึ้นมาเสนอ และชาวเน็ตก็เข้าร่วมถกเถียง ความเห็นแตกออกเป็นสองฝ่ายหลักๆ ฝ่ายหนึ่งเห็นด้วยกับการใช้ไม้ไต่คู้ ซึ่งตามหลักภาษาแล้วคือการกำหนดให้ออกเสียงสั้น และในภาษาพูดเราก็ออกเสียงสั้นจริงๆ

ขณะที่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการสะกดคำตามการออกเสียง เพราะจะยิ่งนำมาซึ่งความยุ่งยากในคำอื่นๆ ที่ออกเสียงไม่ตรงกับคำเขียน ทั้งยังมีผู้สังเกตพบว่า ในตัวเล่มใช้ ‘แซ็ว’ ก็จริง แต่ในเว็บไซต์ของราชบัณฑิตสภา (http://www.royin.go.th/dictionary/) กลับใช้ ‘แซว’—ไม่ตรงกันเสียอย่างนั้น และในที่สุดความจริงก็เปิดเผย

เหตุการณ์นี้ยิ่งทำให้ผู้คนเลือกใช้พจนานุกรมของราชบัณฑิตยสภาเป็นหลักยึดกันน้อยลง เพราะที่ผ่านมาก็มีหลายกรณีที่อยู่ในความสับสน โดยเฉพาะการบัญญัติศัพท์ที่มาจากภาษาอังกฤษ อย่าง คอมพิวเตอร์=เครื่องคณิตกรณ์ หรือการถอดเสียงจากตัวอักษรโรมัน เช่น ‘อัปเดต-อัพเดต’ ‘พีค-พีก’ เป็นต้น

อาจเป็นเพราะกระบวนการทำงานกับภาษาที่ไม่ค่อยยืดหยุ่น ทำให้ผู้คนติดภาพลักษณ์เช่นนี้ของราชบัณฑิตยสภา จนบางครั้งนำมาซึ่งความเข้าใจผิด เช่นกรณี ‘กระด้างภัณฑ์’ ‘ละมุนภัณฑ์’ และ ‘แท่งหรรษา’ ซึ่งราชบัณฑิตยสภาออกประกาศชี้แจงว่า นี่ไม่ใช่ศัพท์บัญญัติของทางสำนักงาน โดยศัพท์บัญญัติที่ถูกต้องของ hardware คือ 1. ส่วนเครื่อง 2. ส่วนอุปกรณ์ ทับศัพท์ว่า ฮาร์ดแวร์ ส่วน software บัญญัติว่า ส่วนชุดคำสั่ง ทับศัพท์ว่า ซอฟต์แวร์ ส่วนคำว่า joystick บัญญัติไว้ว่า ก้านควบคุม ทับศัพท์ว่า จอยสติ๊ก ทั้งนี้ ผู้ใช้สามารถเลือกใช้คำไทยที่บัญญัติขึ้นหรือใช้คำทับศัพท์ก็ได้ ซึ่งคงไม่ต้องเดาให้ยากว่าคนเลือกใช้แบบไหนมากกว่ากัน

โลกหมุนมาไกลมากแล้ว ถึงเวลาหรือยังที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาจะลองเปลี่ยนลุคจากคุณท่านสูงอายุในชุดผ้าไหมไปเป็นลุคอื่นดูบ้าง?

มาตรา 44 เด้ง ‘สมชัย’ พ้น กกต.

สำหรับคอการเมืองจำนวนหนึ่ง สิ่งที่ทำให้ ‘สมชัย ศรีสุทธิยากร’ กลายเป็นชื่อหนึ่งในตำนาน คือบทกวี ‘หอเอียง’ อันลือลั่นส่งตรงจากอิตาลีเมื่อปี 2557 ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรที่กำหนดให้เลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามไปด้วย

สี่ปีผ่านไปไวปานกามนิตหนุ่ม สมชัยโลดแล่นทำหน้าที่หนึ่งในห้าเสือ กกต. ในห้วงเวลาของรัฐบาล คสช. อย่างมีสีสัน โดยถูกมองว่าอยู่ในฝั่ง ‘กองหนุน’ และได้รับก้อนอิฐก้อนปูนไปไม่น้อยจากฝั่ง ‘เอาเลือกตั้ง’

แต่ฉับพลันหลังจากมีข่าวว่า กกต. จะถูก ‘รีเซ็ต’ จนกระทั่งถูก ‘เซ็ตซีโร่’ ในห้วงปลายปี 2560 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2561 บทบาทของอาจารย์สมชัยก็ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ขัดหูขัดตาใครบางคนมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งนำมาสู่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2561 ปลดสมชัยพ้นจากตำแหน่ง กกต. ด้วยเหตุผลว่า “มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในกรณีการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงความเห็นของตนเกี่ยวกับกระบวนการและกำหนดการการเลือกตั้ง”

นอกจากนี้ยังระบุว่า การสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นเลขาฯ กกต. โดยไม่ลาออกจากการเป็น กกต. เสียก่อนนั้น “ถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์”

ในทัศนะของกูรูการเมือง คำสั่งหัวหน้า คสช. ครั้งนี้ช่วยลบรอยด่างพร้อยในอดีตให้สมชัยได้ไม่น้อย และยิ่งทำให้สื่อมวลชนติดตามความคิดความเห็นของสมชัยอย่างใจจดใจจ่อ เพราะนับจากนี้ บทบาทของเขา น่าจะไม่ใช่ ‘กองหนุน’ อีกต่อไป

สมชัยเข้าไปเก็บของใช้ส่วนตัวที่สำนักงาน กกต. ในช่วงบ่ายของวันที่ 23 มี.ค. และเดินอำลาเจ้าหน้าที่ กกต. ตั้งแต่ชั้น 9 จนถึงชั้น 1 โดยไร้เงา กกต. ที่เหลืออีกสี่คน พร้อมกับอุ้มพระพุทธรูปปางอภัยทานที่รองเลขาธิการ กกต. มอบให้ตอนที่เข้ามาทำงาน และบอกว่า หลังพ้นจากตำแหน่งแล้วจะอภัยให้ทุกอย่าง ปล่อยวาง ไม่ถือโทษโกรธเคืองใคร

อย่างไรก็ตาม แม้จะ ‘ไม่ถือโทษโกรธเคือง’ แต่เชื่อได้ว่านับจากนี้เป็นต้นไป สมชัยจะส่งเสียง ‘กระทุ้ง’ ขบวนการแม่น้ำห้าสายดังและบ่อยกว่าเดิม และน่าจะขัดหูขัดตาใครหลายคนยิ่งกว่าตอนที่อยู่ในตำแหน่ง กกต. เสียด้วยซ้ำ

‘ผมไม่เสียใจ’ มือระเบิดในเท็กซัสสารภาพก่อนบอมบ์ตัวตาย

“ผมหวังว่าตัวเองจะเสียใจ แต่กลับไม่รู้สึก”

หลังเกิดซีรีส์ระเบิดปริศนาครั้งแล้วครั้งเล่าในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บ 5 คน สัปดาห์ที่ผ่านมา มาร์ค แอนโทนี คอนดิตต์ (Mark Anthony Conditt) หนุ่มอเมริกันวัย 24 ปี ซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นผู้สร้างและจัดส่งระเบิดเหล่านี้ไปทางพัสดุไปรษณีย์ ก็อัดคลิปเปิดเผยว่าเขาคือผู้ก่อเหตุ จากนั้นก็ระเบิดปลิดชีพตัวเอง

คอนดิตต์ใช้สมาร์ตโฟนอัดวิดีโอความยาว 25 นาที เนื้อหาเป็นคำสารภาพและระบายความคับแค้นใจ เขาอธิบายตัวเองว่ามีปัญหาทางจิต และเหตุก็มาจากชีวิตในวัยเด็ก

ระเบิดลูกล่าสุด พบบนสายพานลำเลียงในอาคารจำหน่ายพัสดุของ FedEx ซึ่งคอนดิตต์โทษตัวเองผ่านคลิปวิดีโอว่า การเดินเข้าไปส่งของในสำนักงานของ FedEx เท่ากับเป็นการช่วยตำรวจทำงาน เพราะมันทำให้ภาพตัวเขาไปติดอยู่ในกล้องวิดีโอของ FedEx แถมยังทำให้เห็นป้ายทะเบียนรถยนต์ จนทำให้ตำรวจตามตัวเจอ

ความในใจที่ถ่ายทอดผ่านวิดีโอความยาว 25 นาทีนั้น ถ่ายไว้เมื่อราวสามทุ่มของคืนวันอังคารที่ 20 มี.ค. เขาพูดด้วยว่า ถ้าตำรวจจะเข้ามาจับตัวเขา เขาจะเดินเข้าไประเบิดฆ่าตัวตายกลางฝูงชนในร้านแมคโดนัลด์

ตำรวจเฝ้ารอจู่โจมขณะเขาอยู่ในรถยนต์ ที่สุดท้ายแล้ว เขาขับหนีก่อนจะตกที่ร่องน้ำริมทาง แล้วระเบิดตัวเองภายในรถยนต์คันนั้นเองในช่วงเช้ามืดของวันพุธ

นับแต่ 2 มี.ค.ที่พบระเบิดลูกแรก ก็สร้างความหวาดกลัวให้แก่ชาวรัฐเท็กซัส เพราะไม่รู้ว่ามีพัสดุอีกจำนวนเท่าไรที่วางระเบิดเอาไว้ ก่อนหน้านี้ทางการรัฐเท็กซัสต้องประกาศค่าหัว 1 แสนดอลลาร์ (3.2 ล้านบาท) สำหรับผู้ชี้เบาะแสนำจับคนร้าย

จนถึงตอนนี้ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าอะไรเป็นแรงจูงใจให้เขาทำเช่นนี้ และเขาใช้หลักในการเลือกเป้าหมายอย่างไร ทางการตัดข้อสงสัยเรื่องการก่อการร้ายออกไป ส่วนประเด็นอื่นๆ เท่าที่รู้ก็คือเขากำลังว่างงาน และข้อมูลที่พอรู้จักตัวเขามากขึ้น ก็มาจากบล็อกส่วนตัวเมื่อ 5 ปีก่อนที่เขาเขียนขึ้นในวิชาเกี่ยวกับการปกครองในสหรัฐฯ ที่ทำให้พอให้เห็นความคิดของเขา เช่น เขานิยามตัวเองว่าเป็นอนุรักษนิยม แต่ก็บอกว่าไม่ได้มีข้อมูลพอที่จะอธิบายจุดยืนของตัวเอง และบอกว่าการรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ ทั้งนี้ ยังไม่พบเบาะแสเกี่ยวกับความเกลียดชังใดๆ ที่พอจะสรุปได้ว่าเป็นแรงจูงใจของการก่อเหตุ

Tags: , , , , , , ,