พอพูดถึงอิหร่านแล้ว แน่นอนว่าภาพแรกที่มักจะปรากฏในความคิดของหลายๆ คน คงเป็นภาพของมัสยิดสีชมพูที่ประดับด้วยกระจกสีละลานตา มัสยิดอันโด่งดังแห่งเมืองชีราซ อาจเป็นภาพแทนของอิหร่านในสายตาของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ซึ่งที่จริงแล้วก็อยู่ในลิสต์ของฉันด้วยเช่นกัน แต่ก็เช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ ที่เราเห็นจนเฝือในโลกไซเบอร์ อะไรที่เห็นมากไป…เราก็อดไม่ได้ที่จะคาดหวัง และเมื่อหวังไว้มากก็มีแนวโน้มที่จะผิดหวังมากตามไปด้วย
นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมพอได้มาพบกับอิสฟาฮานแล้ว ฉันถึงตกหลุมรักเมืองนี้แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ถ้าเทียบกับเมืองหลักอื่นๆ ของอิหร่านอย่างเตหะรานหรือชีราซ อิสฟาฮานอาจไม่ได้มีสถานที่ท่องเที่ยวระดับบล็อกบัสเตอร์ แต่ก็มีเสน่ห์ในแบบที่น่ารักกำลังดี ดูพองามแบบไม่เกินควร
หกชั่วโมงบนรถบัสจากชีราซมาถึงอิสฟาฮานก็ทำให้เหนี่อยและหงุดหงิดได้อยู่ แต่เมื่อไกด์หนุ่มนามอาเหม็ดมารับเราไปยังจุดหมายแห่งแรก และเมื่อได้เห็นมหาวิหารวองค์ (Vank Cathedral) กับตาตัวเอง ความเหน็ดเหนื่อยก็หายเป็นปลิดทิ้ง เพราะความเรืองรองของจิตรกรรมเฟรสโก้ประดับทองด้านในที่ซ่อนอยู่ในสถาปัตยกรรมแบบเรียบที่สุดด้านนอกนั้นช่างเป็นอะไรที่เหนือความคาดหมาย
The Holy Savior Cathedral หรือที่เรียกกันว่า ‘วองค์’ ซึ่งเป็นภาษาอาร์เมเนียน แปลได้ว่า ‘คอนแวนต์’ นี้สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 16 เพื่ออุทิศให้แก่ชาวอาร์เมเนียนที่หนีภัยสงครามออตโตมันมาอาศัยอยู่ที่นี่ ในบริเวณเดียวกันยังมีที่ตั้งของอนุสาวรีย์ ห้องสมุด และพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ของชาวอาร์เมเนียนที่อาศัยอยู่ในอิสฟาฮาน รวมถึงเรื่องราวของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของชาวอาร์เมเนียนในตุรกีด้วย
ดูจากร่องรอยของชาวอาร์เมเนียในอิหร่านและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกแล้วได้แต่คิดว่าชาวอาร์เมเนียนี้ช่างเป็นชนชาติที่น่าสงสาร และเมื่อไหร่กันที่มนุษย์จะรู้จักเรียนรู้จากอดีต… คิดไปคิดมาฟ้าก็เริ่มมืดลงเรื่อยๆ อาเหม็ดจึงส่งสัญญาณบอกว่าถึงเวลาที่ต้องไปต่อ
หลังจากฝ่ารถติดช่วงเวลาเร่งด่วนของอิสฟาฮานเข้ามาถึงใจกลางเมืองได้ เราก็มาถึงสะพานคาจู (Khaju) หนึ่งในสะพานที่เชื่อมสองฝั่งของแม่น้ำซอยันเดห์เข้าด้วยกัน อาเหม็ดเล่าอย่างภาคภูมิใจว่า สะพานส่วนใหญ่ของอิสฟาฮานนั้น นอกจากจะออกแบบอย่างสวยงามและใช้เป็นทางเชื่อมต่อแล้ว สะพานในอิสฟาฮานมักจะมีอีกหนึ่งหน้าที่ นั่นคือเป็นเขื่อนกั้นน้ำด้วย
แต่จากการสังเกตการณ์ส่วนตัว ดูเหมือนว่าสะพานโบราณในวันนี้จะมีหน้าที่เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างในฐานะแหล่งสันทนาการของคนท้องถิ่น คือเป็นที่สวีทหวานของเหล่าคู่รัก ซอกหลืบของสะพานยังเป็นที่แฮงก์เอาต์ เป็นเวทีแสดงดนตรีสด รวมถึงเป็นสนามกีฬาขนาดย่อมด้วย ประหนึ่งว่าประชากรครึ่งหนึ่งของเมืองได้มาร่วมกันอยู่ตรงนี้ แต่เมื่อคิดถึงความจริงที่ว่าอิสฟาฮานเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของอิหร่าน และมีประชากรมากถึงสองล้านคนแล้ว ความคิดตั้งต้นอาจจะเป็นเรื่องเกินจริงไปสักหน่อย
เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากเติมพลังด้วยอาหารเช้าแบบเปอร์เซียแท้ อาเหม็ดและรถสีขาวของเขา (บ้านเมืองนี้เหมือนจะขับกันแต่รถสีขาวเท่านั้น) ก็โฉบมารับเราไปยังจุดหมายแรกของวัน นั่นคือ เชเฮล โซทุน (Chehel Sotoun) พระราชวังสมัยราชวงศ์ซาฟาวิดที่อาเหม็ดบอกว่า แปลว่า ‘Festival Palace’ ชื่อของพระราชวังที่แปลได้ว่า ‘เสาสี่สิบต้น’ นั้นสะท้อนถึงเชาวน์ปัญญาของผู้ก่อตั้งที่หมายรวมถึงภาพสะท้อนของเสาทั้ง 20 ต้นในสระน้ำที่อยู่ตรงกลางด้วยนั่นเอง
ชาวเปอร์เซียเป็นชนชาติที่ให้ความสำคัญกับสวนมาก และความหลงใหลนั้นก็สะท้อนผ่านความสวยงามของพระราชวังแห่งนี้ที่ดูจะออกแบบให้เข้ากับสวนสวยระดับมรดกโลกของยูเนสโกที่อยู่รายรอบ นอกจากเสาไม้สุดอลังการและเทคนิคการสลักเสลาที่ยังคงมีร่องรอยของอดีตให้เห็น สิ่งที่น่าทึ่งที่สุดน่าจะเป็นภาพเฟรสโก้ที่อยู่ด้านใน ซึ่งเป็นภาพของ ‘เฟสติวัล’ แบบเปอร์เซียดั้งเดิมก่อนที่จะเข้าสู่ยุคอิสลามอย่างเต็มตัว… ช่างดูครึกครื้นและสนุกสนานเสียจนเราแทบจะไม่เชื่อเมื่ออาเหม็ดเล่าให้ฟังว่า ในยุคนี้ วัยรุ่นอิหร่านไม่ได้รับอนุญาตให้เต้นในคอนเสิร์ตด้วยซ้ำ “เราทำได้แค่นั่งฟัง”
พักจิบชากันเล็กน้อย เราเดินต่อมาสู่จัตุรัส Naqsh-E Jahan จัตุรัสที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลกที่มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งอยู่รวมกันในที่เดียว (ส่วนใหญ่สร้างในยุคราชวงศ์ซาฟาวิด) ทั้ง Shah Mosque ทางด้านทิศใต้ Sheikh Lotf Allah Mosque ทางด้านทิศตะวันออก และพระราชวัง Ali Kapu ทางด้านทิศตะวันตก และแกรนด์บาซาร์หรือตลาดที่ล้อมจัตุรัสอยู่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ละที่ก็มีจุดเด่นแตกต่างกันออกไป
ถ้าอยากชมความงามจากสถาปัตยกรรมด้านนอก แนะนำ Shah Mosque ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในมาสเตอร์พีซของสถาปัตยกรรมแบบเปอร์เซียนแท้
แต่ถ้าอยากเห็นสถาปัตยกรรมภายในสุดอลังการ ก็ควรเข้าชม Sheikh Lotf Allah Mosque ที่มีจิตรกรรมเพดานสีทองอร่ามตาอยู่ภายใต้โดมขนาดใหญ่
ส่วนพระราชวัง Ali Kapu มีไฮไลต์อยู่ที่ภาพเฟรสโก้ของเหล่าสตรีเปอร์เซียและห้องดนตรีหรือ Music Hall ที่สลักเสลาขึ้นมาอย่างอลังการเพื่อสุนทรียะและฟังก์ชั่น นั่นคือการสะท้อนเสียงดนตรีที่บรรเลงในห้องนี้ให้ไพเราะมากขึ้น แม้จะอยู่ชั้นบนสุด แต่ก็นับว่าคุ้มกับการไต่บันไดขึ้นไปอยู่ไม่น้อย และจากพระราชวัง Ali Kapu แห่งนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถชมวิวของจัตุรัสได้จากมุมสูงด้วย แต่ถ้าเป็นสายงานคราฟต์หรือช้อปปิ้ง แน่นอนว่าแกรนด์บาซาร์เป็นสถานที่ออกร้านของเหล่าช่างฝีมือที่เรียกได้ว่าเป็นสวรรค์เลยทีเดียว
ส่วนที่เราชอบมากที่สุดในจัตุรัสอันกว้างใหญ่แห่งนี้ คือบรรยากาศโดยรวมในช่วงเย็น เมื่อแสงแดดเริ่มเบาบางลง และเมื่อเหล่าพ่อค้าและช่างฝีมือเริ่มทะยอยกลับมาเปิดร้านหลังจากหยุดพักในช่วงบ่าย เมื่อนั้นเองที่จัตุรัสแห่งนี้เริ่มมีชีวิตชีวาขึ้นมา นักท่องเที่ยวเดินกันขวักไขว่ ชาวท้องถิ่นออกมานั่งเล่นรับลม เสียงกรุ๋งกริ๋งของรถม้าและเสียงปึงปังเป็นจังหวะของบรรดาช่างที่ทำงานอยู่ในร้านบรรเลงเป็นจังหวะคู่ไปกับเสียงเรียกละหมาดในตอนเย็น ใครจะไปคิดว่าประเทศที่อยู่ระหว่างอิรักและอัฟกานิสถานจะสงบสุขและงดงามเช่นนี้
วันสุดท้าย เราเลือกปิดท้ายด้วยการเยี่ยมชม Jameh Mosque มัสยิดที่เคยเป็นวิหารบูชาไฟของศาสนาโซโรอัสเตอร์มาก่อน
มัสยิดที่สร้างขึ้นในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 8 แห่งนี้ถือเป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในอิหร่าน และเช่นเดียวกับประเทศอิหร่านเอง มัสยิดแห่งนี้ต้องฟันฝ่าอุปสรรคและคลื่นความผันผวนเปลี่ยนแปลงมากมายจนกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ และแม้จะเป็นมัสยิดที่ไม่ได้มีรายละเอียดตกแต่งแบบถี่ยิบเหมือนมัสยิดแห่งอื่นๆ ในอิหร่านที่เราเคยพบเจอ แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า ที่นี่แหละสะท้อนความเป็นอิหร่านในยุคปัจจุบันได้ชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะปรัชญา ‘ความงามจากภายใน’
สำหรับฉันแล้ว อิสฟาฮานเป็นตัวแทนของความอลังการแบบไม่ประเจิดประเจ้อ…เป็นความงามที่ไม่ได้เรียกร้องความสนใจ แต่ถ้าใครตกลงใจมาแล้ว ที่นี่ก็พร้อมอ้าแขนต้อนรับเสมอ
Tags: Iran, อิสฟาฮาน, Isfahan