เมืองที่เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องดูใหญ่โต แทบเดินไม่ทั่วในสายตาเมื่อครั้งที่ผมเป็นเด็ก พอโตเป็นผู้ใหญ่มันกลับกลายเป็นเมืองซึ่งดูเล็ก ทรุดโทรม และเงียบเหงา สี่แยกหอนาฬิกาที่ในอดีตเคยเป็นด่านหน้า รถทุกคันต้องแล่นผ่านเมื่อเข้าสู่เทศบาลเมือง จากตรงนั้นไปตลาดสดหรือสถานีรถไฟวันนี้ดูไม่ไกลเลย รู้สึกเหมือนเดินเพียงไม่กี่สิบก้าวก็ถึง ผิดกับครั้งยังเป็นเด็ก ผมต้องร้องวอนแม่ให้พาขึ้นนั่งรถตุ๊กๆ หรือสามล้อหัวกบไป เพราะมันไกลเกินจะเดินไหว

ย่านตลาดเมืองตรังไม่คึกคักเหมือนวันวาน ผู้คนชาวเมืองก็ดูแปลกหน้าแปลกตา ร้านค้าที่เคยคับคั่งไปด้วยลูกค้าในยุคเฟื่องฟู วันนี้ดูเงียบหงอย หลายร้านที่เคยคุ้นตากลับเปลี่ยนไป เหลือเพียงป้ายชื่อร้านที่ยังพอให้จดจำได้ แต่สภาพของร้านแทบไม่เหลืออะไรให้รำลึกถึง

ผมกลับมาบ้านเกิดอีกครั้งเพื่อมาเคารพศพป้า หรือ ‘อี๊’ ที่ผมเรียกติดปาก อี๊ที่ผมคุ้นหน้าคุ้นตามาตั้งแต่วัยเด็ก เพราะบ้านอยู่ติดกัน รู้ว่าเป็นพี่สาวของแม่ แต่รายละเอียดมากกว่านั้นผมไม่เคยใส่ใจถามไถ่ เรื่องเกี่ยวกับครอบครัวของเรามักไม่มีใครพูดเล่า นอกจากใครสักคนจะเอ่ยถามขึ้นมา

งานศพอี๊จัดที่สมาคมฮกเกี้ยน เข้าใจว่าง่ายและสะดวกกว่าจัดงานพิธีที่บ้านแบบที่เขานิยมกันในสมัยก่อน ตอนที่ยายและแม่ผมเสีย เราก็จัดพิธีศพกันที่บ้าน ที่ตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน วางโลงศพไว้กลางบ้าน แล้วกางเต็นท์คร่อมทางเท้ากินพื้นที่ไปเกือบครึ่งถนน คล้าย private party มีเสียงร้องไห้และความโศกเศร้าก็เฉพาะช่วงยายและแม่สิ้นใจ ตอนทำพิธีรดน้ำศพ อีกครั้งหนึ่งในวันเคลื่อนศพไปสุสาน ส่วนช่วงวันเวลาที่เหลือจะดูคล้ายงานรื่นเริงเสียมากกว่า มีคนแวะเวียนมาที่งานศพตลอดทั้งวัน ในครัวเตรียมอาหารพร้อมทั้งสามมื้อ เช้า-กลางวัน-เย็น บางครั้งก็มีมื้อดึก สำหรับใครที่ยังอยู่เฝ้าศพ ใครที่ว่าคือคนที่นั่งดื่มเหล้า หรือเล่นไพ่

งานศพอี๊เรียบง่ายกว่านั้น โลงศพวางอยู่ในศาลา ด้านนอกมีโต๊ะคล้ายโต๊ะจีนไว้รับรองแขก มีอาหารเตรียมไว้สองมื้อ มื้อเพลสำหรับพระตอนกลางวัน และอีกมื้อในตอนเย็น มีพิธีสวดศพประมาณหนึ่งทุ่ม ครึ่งชั่วโมงก็เสร็จ จากนั้นบรรดาญาติมิตรจะนั่งคุยกันต่อ ราวสามทุ่มก็แยกย้ายกันกลับ

เมืองมันเริ่มหมดยุค ญาติคนหนึ่งของผมเปรยในวงสนทนา เขายกตัวอย่างตำบลหยงสตาร์ ในอำเภอปะเหลียน ซึ่งในอดีตเคยรุ่งเรือง เพราะมีท่าเรือ มีเรือสินค้าจากสิงคโปร์หรือมาเลเซียเข้ามาเทียบท่า แต่ก่อนหยงสตาร์เคยมีโรงหนังถึงสองโรง ทั้งที่เป็นชุมชนตำบลเล็กๆ ถัดขึ้นมาคือตำบลท่าข้าม บ้านเกิดของผม ที่มีโรงหนังแค่เพียงโรงเดียว ฉายวันละรอบตอนสองทุ่ม ก่อนนี้เคยคึกคักทุกช่วงเทศกาลหรืองานประจำปี ท่าข้ามมีท่าเรือรองรับผู้คนจากเกาะหมู (เกาะสุกร) ให้เดินทางไปมาหาสู่หรือเป็นทางผ่านไปที่อื่น แล้ววันหนึ่งท่าข้ามก็เงียบเหงา หมดยุคไปเหมือนกับหยงสตาร์ เมื่อผู้คนบนเกาะหมูหันไปใช้ท่าเรือตะเสะในเขตอำเภอย่านตาขาวแทน

ราคายางที่ตกต่ำเหลือกิโลกรัมละสามสิบกว่าบาท ก็มีส่วนทำให้ความคึกคักของเมือง-ไม่ว่าส่วนไหนของตรัง-จางหายไปได้เหมือนกัน

\

เมืองและนามสกุล ‘ทับเที่ยง’

อำเภอเมืองของจังหวัดตรัง มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ‘ทับเที่ยง’ มีที่มาเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จถึงจังหวัดตรังในเวลาตอนเที่ยง จึงได้สร้างที่ประทับตอนเที่ยงขึ้น และกลายเป็นชื่อตำบลทับเที่ยง ปัจจุบันเป็นตำบลอยู่ในเขตเทศบาลนครตรัง

ส่วนนามสกุล ‘ทับเที่ยง’ สืบข้อมูลจากเพจตระกูลทับเที่ยง พบว่าเป็นนามสกุลที่ปรากฏขึ้นพร้อมๆ กับเมืองทับเที่ยงเมื่อ 103 ปีก่อน เป็นตระกูลซึ่งมาจากเมืองไถ่ซาน ประเทศจีน มาตั้งรกรากอยู่ที่หนองยวน ในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 เมื่อเริ่มมีพระราชบัญญัตินามสกุล กำนันมวยตุง เป็นคนนำนามสกุลของชาวตรังจำนวน 436 สกุลไปยื่นขอจดนามสกุล โดยตัวกำนันเองได้ยื่นขอใช้นามสกุล ‘ทับเที่ยง’ ในลำดับที่ 432 ยื่นต่อพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ขณะดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ต และได้รับอนุญาตให้ใช้นามสกุล ‘ทับเที่ยง’ ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2458

ยายของผม เป็นคนจากตระกูล ‘ทับเที่ยง’ บ้านเดิมอยู่ที่หนวงยวน ผมยังเกิดทันได้เห็นยาย ซึ่งย้ายมาพักอยู่บ้านที่ท่าข้ามในบ้านหลังตรงกลางระหว่างบ้านป้ากับบ้านผม เพียงแต่ผมไม่สนิทกับยาย เพราะหน้าตาแกไม่ค่อยรับแขก ออกจะดุด้วยซ้ำในสายตาผม กระทั่งเพิ่งมารู้เมื่อไม่นานมานี้เองว่า ที่ยายย้ายมาพักใกล้บ้านเราก็เพราะยายป่วย และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

และเรื่องราวเกี่ยวกับยาย ผมก็เพิ่งมารับรู้ในวงสนทนาของญาติในงานศพอี๊นี่เอง

ยายของผม มีชื่อและหน้าตาเป็นคนจีน มีสามี 3 คน แต่ยังคงใช้นามสกุลทับเที่ยงของตนเอง มีลูกสองคนกับสามีคนแรก คือลุง (เสียชีวิตแล้ว) และอี๊ที่เพิ่งเสียชีวิต แม่ของผมเป็นลูกคนเดียวจากสามีคนที่สองของยาย หลังจากนั้นยายก็ย้ายออกจากหนองยวนไปอยู่กับสามีคนที่สามที่ตำบลทุ่งยาว อำเภอปะเหลียน และมีลูกชายอีกสองคน ซึ่งเป็นน้าของผม อี๊กับแม่ของผมก็โยกย้ายตามยายไปทุ่งยาวด้วย ก่อนแม่จะเจอกับพ่อ และแต่งงานมาอยู่ที่ท่าข้าม

ฟังญาติๆ เล่าถึงยายว่าเป็นคนรวยและใจดี แต่ตอนเป็นเด็กผมไม่รู้สึกอย่างนั้น ตอนที่ฟังเรื่องเล่ายังคิดอยู่ในใจว่ายายเปรี้ยวมาก

นอกจากยายแล้ว ก็มีอี๊ แม่ของผม และน้า-ลูกชายคนสุดท้องที่ใช้นามสกุล ‘ทับเที่ยง’ ส่วนลุงและน้าชายอีกคนใช้นามสกุลของสามียาย    

ข่าวการตาย

ในกรุงเทพฯ แต่ก่อนเคยนิยมการแจ้งข่าวการตายผ่านทางโฆษณาย่อยในหนังสือพิมพ์ แต่ที่จังหวัดตรังมีธรรมเนียมปฏิบัติที่แตกต่าง นั่นคือ ใช้ใบประกาศเป็นสื่อในการบอกกล่าวคนทั่วไป

ไพจิตร จันทร์ผ่อง เจ้าของโรงพิมพ์จิตรอักษร ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า สมัยก่อนโทรศัพท์ไม่ค่อยจะมีใช้กัน การเดินทางไปแจ้งข่าวให้แต่ละบ้านรับรู้ก็ต้องใช้เวลาเยอะ ดังนั้นจึงใช้วิธีพิมพ์ใบประกาศ เป็นการบอกต่อๆ กัน เมื่อก่อนตามร้านกาแฟจะมีบอร์ดให้ติดแผ่นประกาศเหล่านี้ แต่สมัยนี้ร้านกาแฟเหลือน้อยแล้ว คนส่วนใหญ่จึงนิยมไปติดตามผนังอาคารในย่านตลาดที่มีคนสัญจรพลุกพล่าน ใบประกาศเหล่านี้คนตรังนิยมอ่านกัน อาจเพราะความอยากรู้ว่าตนเองรู้จักคนตายหรือไม่

 

จำนวนใบประกาศที่สั่งพิมพ์ขึ้นอยู่กับเจ้าภาพว่ารู้จักคนเยอะหรือไม่ แต่เฉลี่ยอยู่ที่ 50 ถึง 200 แผ่น ค่าพิมพ์แผ่นละ 10 บาทสำหรับโปสเตอร์ธรรมดาสีขาวดำและไม่มีรูป แต่ถ้ามีรูปสีด้วยก็ตกแผ่นละ 15 บาท

โรงพิมพ์ใหญ่ๆ ในจังหวัดตรังมีอยู่ไม่ถึงสิบแห่ง จิตรอักษรเป็นโรงพิมพ์ที่แยกตัวจากกวีการพิมพ์มาเปิดเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว กวีการพิมพ์ และโรงพิมพ์กว้องว้า นับเป็นกิจการเก่าแก่ลำดับต้นๆ ในเมืองตรัง ที่ให้บริการด้านการพิมพ์มานานกว่า 50 ปีแล้ว

อาหารกลายเป็นจุดขาย

อาหารเช้าที่โฮสเท็ลเหมือนจะเวิร์ก มีวัตถุดิบอย่างขนมปัง ไข่ไก่ ไส้กรอก แฮมไว้ให้ลูกค้าทำเอง แต่มันไม่ค่อยเวิร์ก เพราะนอกจากผมไม่คุ้นกับอุปกรณ์ครัวที่เขามีให้แล้ว ท้ายที่สุดแล้วยังต้องเก็บล้างทุกอย่างเองด้วย วันถัดมาก็เลยต้องออกไปตระเวนหาอะไรกินเอง

สมัยเป็นเด็กที่ท่าข้าม ตอนเช้าๆ ผมชอบกินขนมโป่ง ที่คนขายวัยใกล้เคียงกันเดินถือถาดขนมเข้าไปในบ้านส่งให้ถึงในครัวอย่างเป็นกันเอง ชาวบ้านละแวกนั้นถือวิสาสะกันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ จะไปหาใครก็ถือวิสาสะเดินเข้าไปจากหน้าบ้านทะลุถึงหลังบ้าน ตะโกนเรียก ถ้าใครที่อยากเจอไม่อยู่ก็เดินกลับออกมา

พูดถึงขนมโป่ง ผมเองก็เพิ่งนึกชื่อของมันออก ลักษณะคล้ายแพนเค้ก มีแป้งและไข่เป็นส่วนผสมหลัก ทอดบนกระทะแบน พอด้านที่ติดกระทะเริ่มกรอบเกรียมก็ม้วนเข้าด้วยกัน ผมชอบกินเนื้อสีเหลืองนวล นิ่มๆ ด้านใน ค่อยๆ ละเลียดกินด้วยถึงจะอร่อย น่าจะมีที่ท่าข้ามแห่งเดียวที่มีขายสมัยนั้น เพราะหลังจากนั้นผมไม่เคยเห็นขนมโป่งที่ไหนอีกเลย

ขนมจีนน้ำยาก็นับเป็นอาหารเช้าของผม รวมถึงเป็นของว่างในตอนค่ำได้ด้วย คนจังหวัดตรังสรรหาของกินได้ตลอดเช้าถึงดึกดื่น ความชอบของแต่ละคนอาจไม่คล้ายกัน แต่ของกินมีหลากหลายให้เลือก ทั้งที่เป็นอาหารท้องถิ่นจริงๆ และอาหารทั่วไป แบบที่สื่อออนไลน์นิยมไปรีวิวกินกัน ‘ตัวแตก’ นั่นคือเรื่องจริง

ว่าแต่ว่า ถ้าจังหวัดตรังไม่มีอาหารเป็นจุดขาย แล้วใครจะมาเที่ยวตรัง ผมตั้งคำถามนี้กับพนักงานที่โฮสเท็ล เธอทำหน้างง จากนั้นพูดตอบเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว ทะเล ชายหาด ถ้ำ เกาะ แล้ววกกลับมาที่เทศกาลหมูย่างเมืองตรัง   

บ้านเก่าเมืองแก่

เมื่อปี 2559 คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา ทายาทเจ้าของสิริบรรณ-ร้านเครื่องเขียนเก่าแก่ของทับเที่ยง เคยเขียนเล่าผ่านสื่อว่า เวลากลับไปเยี่ยมบ้านเกิดทีไร เธอมักเป็นต้องหาเรื่องออกไปเที่ยวทะเล น้ำตก หรือทุ่งนาป่าเขาเสียทุกครั้ง เพราะในเมืองไม่ค่อยมีอะไรให้ดูชม กระทั่งวันหนึ่งเธอบังเอิญผ่านไปเห็นอาคารห้องแถวเก่าที่ได้รับการตกแต่งเสียใหม่เป็น ‘ร้านโกปี้คืนชีพ’ และ street art บนผนังตึก ก่อนที่เธอจะเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรม ‘นิทรรศ์ทับเที่ยง ย่านเก่า เงาอดีต’ ซึ่งเทศบาลนครตรังได้จำลองหอศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยมาจัดแสดงแบบผสมผสาน รวมทั้งมีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ย้อนรอย ‘เสด็จพระราชดำเนินข้ามสหัสวรรษปี 2000’ การเสวนา ‘วรรณศิลป์ ถิ่นตรัง’ และการถ่ายภาพหมู่ย้อนยุคสมาคมจีนจังหวัดตรังเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี

ทับเที่ยงเปลี่ยนหน้าตาไปเยอะ สภาพความเป็นเมืองขยายตัว ถนนซอกซอยที่แต่ก่อนเคยดูเป็นโครงข่ายจำง่าย ทุกวันนี้มันแยกย่อยเป็นโครงข่ายใหม่ที่ชวนให้นึกภาพไม่ออกในช่วงเวลาสั้นๆ อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมสากลแบบคนเมืองแทรกซึม ทั้งร้านสะดวกซื้อ ศูนย์การค้า ร้านกาแฟ ร้านคราฟต์เบียร์ ฯลฯ

ทว่าความเก่าและแก่ของเมืองยังคงปรากฏให้เห็นจากสภาพของอาคาร โดยเฉพาะในย่านตลาดสด ที่แทบไม่มีการบูรณะหรือซ่อมแซมให้ความสวยงามกลับคืนมาเช่นเดิม

 

 

ผมชอบแสงไฟสีเหลืองส้มที่เปิดให้ความสว่างตามซอกซอย โดยเฉพาะตอนพลบค่ำ ที่แสงนวลนั้นตัดกับสีฟ้าคล้ำของท้องฟ้า มันคือภาพและบรรยากาศติดตาติดความรู้สึก ชวนให้คิดถึงบ้าน

เป็นความทรงจำเก่าๆ สมัยวัยเด็ก ที่ครั้งหนึ่งผมเคยแอบหนีไปดูหนังในเมือง แล้วไม่มีรถโดยสารกลับท่าข้าม ต้องไปยืนโบกรถ ทุกวันนี้ยังจำไม่ลืมว่า หิว และคิดถึงบ้านมากที่สุด

สถาปัตยกรรมทรงค่า

มีการเสนอชื่ออาคารเก่าแก่ของเมืองตรังต่อสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่ปลายปี 2559 เพื่อส่งเข้าประกวดในงาน สถาปนิก’60 รางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2560 ผลการตัดสินปรากฏว่า ร้านสิริบรรณ (เก่า) ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลป์สถาปัตย์ดีเด่น ประเภทอาคารพาณิชย์ ร้านดังกล่าว นายกำเตรา จรูญทรัพย์และภรรยา สร้างบ้านหลังนี้โดยได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมของปีนัง เป็นอาคารตึกแถวสองชั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างนีโอ-คลาสสิกจีน และสมัยใหม่

ส่วนโรงแรมจริงจริง บ้านไทรงาม และบ้านโบราณ 2486 ได้รับประกาศนียบัตร อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งล้วนเป็นอาคารที่ได้รับอิทธิพลด้านรูปแบบสถาปัตยกรรมจากปีนังทั้งสิ้น นั่นเพราะเมื่อก่อนนี้ ทับเที่ยงมีการติดต่อค้าขายกับปีนังนั่นเอง

 

 

บอกลา

หลังพิธีสวด โลงศพของอี๊ถูกเคลื่อนย้ายขึ้นรถบรรทุกในตอนบ่าย ออกจากศาลาของสมาคมฮกเกี้ยนไปยังวัดอีกแห่งเพื่อทำพิธีฌาปณกิจ

ครั้งงานศพของแม่ผม มีญาติและชาวบ้านช่วยกันแบกหาม เป็นพิธีแห่ศพจากบ้านไปยังสุสาน ผมเดินปนอยู่กับพี่น้อง ที่ทั้งโศกเศร้าและร้อนแดด เรามีโอกาสได้ดูหน้าแม่เป็นครั้งสุดท้าย และต้องผละออกจากเตาเผาก่อนที่เขาจะเริ่มจุดไฟ

ผมบอกลาอี๊ และฝากอี๊บอกแม่-ถ้ามีโอกาสได้เจอกัน-ว่าผมคิดถึง

แต่มานึกอีกที แม่ผมก็เสียมานานกว่า 40 ปีแล้ว ไม่รู้ว่าพี่กับน้องคู่นี้จะจำกันได้หรือเปล่า

 

 

Tags: , , , ,