“เพี้ยง! หายปวดรึยัง” ผมเคยเห็นผู้ใหญ่อุ้มเด็กเล็กขึ้นมาปลอบว่า “ปวดตรงไหนเอ่ย เดี๋ยว ‘เป่า’ ให้หาย” พร้อมกับก้มลงไปทำท่าเป่าตรงบริเวณที่เด็กคนนั้นโดนกระทบกระแทกจนร้องปวด หลายคนก็น่าจะเคยเห็นเช่นเดียวกับผม หรือแม้แต่เคยโอ๋เด็กเล็กที่บ้านด้วยวิธีเดียวกันนี้ แสดงให้เห็นว่าเราคุ้นเคยกับ “หมอเป่า” จนกระทั่งภูมิปัญญานี้แฝงอยู่ในชีวิตประจำวันโดยไม่รู้ตัว
หรืออย่างน้อยการเป่าก็ไม่ได้เป็นเพียงการพ่นลมออกจากปากเท่านั้น แต่ยังมีนัยยะของการขับไล่สิ่งที่ทำให้เกิดอาการนั้นออกไป หรือบรรเทาอาการให้ลดลง เพราะเมื่อลมปากไปกระทบกับสิ่งของน้ำหนักเบา สิ่งนั้นก็จะกระเด็นไปข้างหน้า เช่น การเป่าหนังยางในการเล่นเป่ากบ หรือเมื่อลมปากไปกระทบกับของที่กำลังร้อน ของนั้นก็จะเย็นลง เช่น การเป่าอาหารที่เพิ่งประกอบเสร็จใหม่ๆ นอกจากนี้เมื่อซ้อนคำว่า ‘ปัด’ ไว้ข้างหน้าเป็น ‘ปัดเป่า’ จะทำให้มีความหมายถึง “แก้ความลำบากขัดข้องให้หมดไป” อีกด้วย
คาถา
หมอเป่าเป็นภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านที่รักษาโรคด้วยการเป่าคาถา ซึ่งสืบทอดความรู้มาจากบรรพบุรุษ และโรคที่เชื่อว่าสามารถรักษาได้ ส่วนใหญ่เป็นโรคผิวหนัง ได้แก่ แผลสัตว์กัด แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลเริม/งูสวัด บ้างก็ต่อยอดเพิ่มเติมว่าสามารถรักษาแผลเรื้อรัง มะเร็งที่ผิวหนัง รวมถึงเป่ากระดูกที่หักให้เชื่อมติดกันก็มี
ซึ่งขั้นตอนการรักษาเริ่มตั้งแต่การไหว้ครูและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อน เพื่อบอกกล่าวเจ้าของวิชา และขอให้พิธีกรรมการรักษาสัมฤทธิ์ผล คนป่วยอาจจะต้องตั้งพานครูใส่ดอกไม้ธูปเทียนและค่าครูด้วย แต่หมอบางคนก็เพียงแค่ให้คนป่วยอธิษฐานในใจ หลังจากนั้นหมอเป่าถึงกล่าวนะโม 3 จบ ท่องคาถา แล้วลงมือรักษาตามโรคที่แต่ละคนเชี่ยวชาญ เช่น
- หมอเริม/งูสวัด รักษาด้วยการพ่นน้ำมนต์หรือเหล้าขาว หรือเสกเป่าบริเวณที่มีอาการ โดยหมอจะท่องคาถาขณะเตรียมน้ำมนต์ จากนั้นหมอจะดื่มและอมน้ำมนต์ไว้ขณะกล่าวคาถาอีกคาถาหนึ่ง ก่อนเป่าพ่นลงบนแผล
- หมอดับพิษไฟ รักษาด้วยการพ่นข้าวสารเคี้ยวละเอียด น้ำ หรือเหล้าขาวลงบนบริเวณที่มีอาการ หมอจะท่องคาถาขณะอมข้าวสาร น้ำ หรือเหล้าขาวไว้ จากนั้นจึงพ่นลงบนแผลเป็นอันเสร็จพิธี
จะเห็นว่าหมอเป่ามีการรักษาทั้งทางกาย (biological) คือ การพ่นไม่ว่าจะเป็นน้ำมนต์ ข้าวสาร น้ำ หรือเหล้าขาวตรงตำแหน่งที่มีอาการ เปรียบเสมือนยาที่หมอที่โรงพยาบาลจ่ายกลับให้ไปกินที่บ้าน และทางจิตวิญญาณ (spiritual) คือ การอาศัยอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และการเป่าคาถารักษาคนป่วย เพราะคนป่วยและญาติอาจมีความเชื่อเกี่ยวกับกลไกการเกิดโรคที่ต่างออกไปจากหมอที่โรงพยาบาล เช่น เคราะห์กรรม หรือโดนของมา
ทำให้ทุกฝ่ายสบายใจมากขึ้น จึงเป็นการรักษาทางด้านจิตใจและครอบครัว (psychological-social) ร่วมกันไปด้วย
หมอเป่ามีการรักษาทั้งทางกาย (biological) และทางจิตวิญญาณ (spiritual) จึงเป็นการรักษาทางด้านจิตใจและครอบครัว (psychological-social) ร่วมกันไปด้วย
เชื้อโรค
“อย่างกับสวนสัตว์” เป็นคำที่ผมใช้เปรียบเปรยเวลาย้อมเสมหะคนไข้มาส่องดูภายใต้กล้องจุลทรรศน์แล้วเห็นเชื้อแบคทีเรียหน้าตาหลากหลาย ทั้งตัวกลม-ตัวแท่ง อยู่กันเป็นคู่-เป็นเส้น-เป็นกลุ่มปะปนอยู่กับเซลล์เยื่อบุกระพุ้งแก้มบนสไลด์ คล้ายกับการพบเห็นสัตว์หลายชนิดในสวนสัตว์ ซึ่งเมื่อบอกกับเพื่อนแบบนี้ก็รู้ทันทีเลยว่าเสมหะที่เก็บมาได้นั้นปนเปื้อนกับเชื้อในปาก ถ้าหากต้องการ ‘จับเชื้อ’ ให้ได้ว่าเชื้อที่ก่อโรคปอดอักเสบของคนไข้เป็นเชื้ออะไรจริงๆ ก็ต้องกลับไปเก็บตัวอย่างมาย้อมสไลด์ใหม่
เพราะในปากของเรามีเชื้อจุลินทรีย์มากถึง 50 ชนิด ในปริมาณ 1 พันล้านตัว (เลข 1 ตามด้วยศูนย์อีก 8 ตัว!) ต่อ 1 มิลลิลิตร
ส่วนถ้าจะระบุถึงชื่อเชื้อเหล่านี้ก็อาจอ้างอิงจากการศึกษาระบาดวิทยาของโรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อจากแผลมนุษย์กัด (human bite) ว่าเกิดจากเชื้อทั้งกลุ่มที่ใช้อากาศและไม่ใช้อากาศในการเติบโต อันได้แก่ streptococci, Staphylococcus aureus, Eikenella, Fusobacterium, Peptostreptococcus, Prevotella และ Porphyromonas spp. ซึ่งปกติแล้วถือเป็นเชื้อที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ (normal flora) ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด แต่เมื่อฟันเขี้ยวเจาะทะลุชั้นผิวหนัง ก็เท่ากับได้ทำลายผนังบ้าน หรือกลไกการป้องกันทางกายภาพของร่างกายไป พร้อมกับนำเชื้อฝังลงไปถึงก้นแผลด้วย ทำให้เชื้อธรรมดากลับกลายเป็นเชื้อก่อโรคไป
ไม่ต่างจากการที่หมอเป่าอมน้ำมนต์หรือเหล้าขาวพร้อมกับท่องคาถาไปด้วย ทำให้เชื้อเหล่านี้ถูกพ่นลงตรงผิวหนังที่เป็นแผลอยู่ก่อนแล้ว ก็คล้ายกับการที่ประตูหน้าต่างถูกเปิดทิ้งไว้ พอโจรเดินผ่านมาเห็นพอดี ก็สบช่องปีนเข้าไปขโมยของในบ้านโดยไม่ต้องงัดแงะแกะประตูหน้าต่างให้เสียเวลา
ก่อให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อแทรกซ้อนตามมา
การที่หมอเป่าอมน้ำมนต์หรือเหล้าขาวพร้อมกับท่องคาถาไปด้วย ทำให้เชื้อเหล่านี้ถูกพ่นลงตรงผิวหนังที่เป็นแผลอยู่ก่อนแล้ว ก็คล้ายกับการที่ประตูหน้าต่างถูกเปิดทิ้งไว้
อาจมีหลายคนเชื่อว่าเหล้าขาวน่าจะทำให้น้ำมนต์ที่หมอเป่าพ่นออกมาปราศจากเชื้อโรค รวมถึงฆ่าเชื้อโรคที่ก่อโรคตรงผิวหนังได้ เหมือนแอลกอฮอล์ที่ใช้ล้างแผล แต่ถ้าพลิกฉลากดูข้างขวดแอลกอฮอล์สีฟ้าแล้วจะพบว่ามีความเข้มข้นสูงถึง 70% จึงจะมีประสิทธิภาพครอบคลุมเชื้อก่อโรคส่วนใหญ่ ในขณะที่เหล้าขาวมีปริมาณดีกรีต่ำกว่านี้
สำหรับในปี 2561 ที่ผ่านมา มีข่าวคนไข้แผลติดเชื้อแทรกซ้อนจากการเป่าแผลอย่างน้อยสามรายด้วยกัน สองรายแรกเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม เป็นคนไข้โรคงูสวัด ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง รักษาด้วยการกินยาฆ่าเชื้อไวรัสเพียงอย่างเดียว เมื่อไปรักษากับหมอเป่าจึงเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนขึ้นมา และคนไข้อีกคนเป็นแผลน้ำร้อนลวก ซึ่งเป็นแผลที่เชื่อกันว่าสะอาด (น้ำร้อนทำลายผิวหนังและฆ่าเชื้อโรคไปแล้ว) รักษาด้วยการทำแผลต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อ
ส่วนรายที่ 3 เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม อาจยังจำกันได้เพราะเป็นกรณีที่ติดแฮชแทก #ลูกโดนตะขาบกัด #น้อง3เดือน แล้วเกิดข้อถกเถียงกันในสังคมออนไลน์ว่าอาการติดเชื้อรุนแรงเกิดจากการไปรักษากับหมอเป่า หรือเพราะโรงพยาบาลที่แม่พาไปรักษารอบแรกให้การรักษาไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ ในกรณีแมงหรือแมลงกัดจะต้องล้างแผลให้สะอาดและระมัดระวังการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นตามมา
หาร 2
ดังนั้น ในการทำพิธีปัดเป่าของหมอเป่า สิ่งที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่าอีกอย่างหนึ่งที่ถูกเป่าลงไปด้วยก็คือ ‘เชื้อโรคง ที่อาศัยอยู่ในช่องปากของหมอเป่าด้วย ยิ่งถ้าคนป่วยเป็นเด็กเล็ก ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่เดิมก็อาจทำให้ติดเชื้อรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ หากยังต้องการรักษากับหมอเป่าอยู่ อาจเพื่อความสบายใจ หรือเป็นการรักษาทางเลือกย่อมเป็นการตัดสินใจของคนไข้เอง แต่ถ้าเป็นไปได้ผมแนะนำให้ ‘หาร 2’ พบกันครึ่งทาง หมายความว่าเมื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ก็ขอให้หมอ ‘เป่า’ เฉพาะคาถาเพียงอย่างเดียว จากนั้นจึงมาทำแผลภายใต้การควบคุมด้านความสะอาดที่โรงพยาบาลและพบหมอเพื่อตรวจรักษาเพิ่มเติม
ส่วนกรณีที่มีญาติแนะนำให้ไปรักษาอาการเจ็บป่วยกับหมอเป่า แต่เราไม่เห็นด้วย ก็ต้องทำความเข้าใจกับผู้ใหญ่ท่านนั้น เพราะความหวังดีอาจกลายเป็นความประสงค์ร้ายโดยไม่ได้ตั้งใจ
Tags: โรคผิวหนัง, หมอเป่า, ติดเชื้อ, การแพทย์, เชื้อโรค, เริม, งูสวัด