ดูเหมือนคำถาม privacy หรือ security จะยังคงอินเทรนด์เสมอ เพราะล่าสุดรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ก็ท้าพิสูจน์คำถามนี้ด้วยการติดตามการสนทนา (chat) สถานที่ (location) และข้อมูลอื่นๆ อาทิ รายชื่อติดต่อ ไมโครโฟน แกลเลอรี ฯลฯ ของผู้ที่ติดตั้งแอปฯ ที่มีชื่อว่า ‘ToTok’ ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
แอปฯ ToTok มียอดการดาวน์โหลดเป็นล้านครั้ง แม้จะมีอายุเพียงไม่กี่เดือน โดยมีผู้ใช้ส่วนใหญ่อยู่ในยูเออีและพันธมิตรทั้ง 7 ในคาบสมุทรอาหรับ นอกจากนั้น ยูเออีได้ปิดกั้นการใช้งานเฟสไทม์ (FaceTime) ของแอปเปิล (Apple) หรือวอทส์แอป (WhatsApp) ของเฟซบุ๊ก (Facebook) ทำให้แอปฯ ToTok เป็นทางเลือกเดียวสำหรับพลเมืองหรือชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศ เพื่อโทรออกนอกประเทศฟรี ซึ่งส่งผลให้ผู้ใช้หลายล้านคนเต็มใจที่จะดาวน์โหลดและติดตั้งแอปฯ รวมถึงอนุญาตให้ใช้งานคุณสมบัติต่างๆ โดยไม่รู้ตัว
โดยมีหลายฝ่ายสงสัยว่าที่ผ่านมาการเฝ้าระวังของรัฐบาลยูเออีอาจจะใช้วิธีการที่เรียกว่า ‘zero day’ โดยมีเป้าหมายในการหาช่องโหว่ของกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและผู้ที่ต้องการเฝ้าระวัง แต่วิธีนี้มีราคาแพงจนทำให้รัฐบาลหันมาหาวิธีเฝ้าระวังผ่านแอปฯ Totok ที่ผู้ใช้จำต้องยอมติดตั้ง
ด้าน Patrick Wardle ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ อธิบายว่า แอปฯ อ้างว่าสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการสื่อสาร ทั้งๆ ที่ความอัจฉริยะของแอปฯ เหมือนถือกำเนิดมาเพื่อการเป็นสปาย เพราะแอปฯ ไม่มีช่องโหว่ ไม่มีหลังบ้าน และไม่มีมัลแวร์ ทำให้แอปสามารถรับข้อมูลเชิงลึกของผู้ใช้ผ่านฟังก์ชั่นทั่วไป
ในขณะที่ผู้ให้บริการแอปฯ Totok ไม่ได้ตอบโต้โดยตรงต่อการรายงานข่าวของสื่อ แต่อธิบายเกี่ยวกับ ‘ข่าวลือ’ ว่าหนึ่งในเป้าหมายของการสร้างแอปฯ คือการสร้างแพลตฟอร์มการสนทนาที่น่าเชื่อถือ โดยมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงสำหรับการปกป้องข้อมูลผู้ใช้และความเป็นส่วนตัวซึ่งสอดคล้องกับข้อกฎหมายทั้งในและต่างประเทศ พร้อมยืนยันว่าสาเหตุที่แอปฯ ไม่สามารถใช้งานได้ชั่วคราวเป็นเพียงปัญหาทางเทคนิคเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม รายงานจากสำนักข่าวเดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส อ้างถึงข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ว่า Breej Holding ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแอปฯ Totok นั้นเป็นบริษัทในเครือของ DarkMatter ซึ่งเป็นบริษัทด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ของยูเออีที่จ้างงานอดีตซีไอเอและและนักวิเคราะห์ความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับนานาชาติ รวมถึงมีความใกล้ชิดอย่างยิ่งกับรัฐบาลยูเออี
ทั้งนี้ สำนักข่าวยังยืนยันว่าอีเมลติดต่อแอปฯ Totok ที่ส่งผ่านทางเว็บไซต์และสถานทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในวอชิงตันดีซียังไม่มีการตอบกลับ
ที่มา
https://www.theguardian.com/world/2019/dec/23/totok-popular-chat-app-spying-tool-uae-government
ภาพ: REUTERS/Christopher Pike
Tags: ยูเออี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ToTok