เป็นเวลาหลายปีแล้วที่มหาวิทยาลัยแพทย์ในโตเกียวได้ปรับให้คะแนนสอบเข้าของเหล่าผู้สมัครเพศหญิงลดลง เพื่อทำให้จำนวนนักศึกษาหญิงน้อยลง โดยคณะกรรมการได้ใช้วิธีการใส่ค่าสัมประสิทธิ์คงที่ (fixed coefficient) เข้าไปในผลคะแนนสอบเหล่านี้
หนังสือพิมพ์โยมิอุริ ชิมบุนรายงานว่า การค้นพบครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างที่ทางการได้เข้าสอบสวนเหตุที่มหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียว (Tokyo Medical University) ถูกกล่าวหาว่าช่วยเหลือให้ลูกชายของข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการเข้าเรียนได้
มหาวิทยาลัยเริ่มลดคะแนนของสอบเข้าของผู้สมัครเพศหญิงให้ต่ำลงตั้งแต่ปี 2011 หลังจากที่ผลการสอบเมื่อปี 2010 มีผู้หญิงสอบเข้าได้มากขึ้น ในปี 2010 ผู้สมัครกว่า 40% เป็นเพศหญิง คิดเป็นสองเท่าจากปีก่อนหน้า
จากนั้น มหาวิทยาลัยก็พยายามรักษาสัดส่วนของผู้หญิงที่สอบเข้าได้ในแต่ละปีให้อยู่ที่ 30% ต่อปี
“เมื่อแต่งงานและมีลูก ผู้หญิงมักจะลาออกหลังจากเรียนจบและออกจากการเป็นแพทย์” แหล่งข่าวกล่าว “มีเสียงสนับสนุนเป็นเอกฉันท์ในมหาวิทยาลัยที่แพทย์ผู้ชายทำงานอยู่ ซึ่งมักจะต้องทำงานฉุกเฉินและต้องทำงานติดต่อกันนานในแต่ละกะ”
หนังสือพิมพ์ระบุว่า คะแนนของผู้สมัครหญิงถูกหักออกไปโดยคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งขึ้น
ในปี 2018 สัดส่วนของผู้หญิงที่สอบเข้าได้ในการสอบครั้งแรกอยู่ที่ 14.5% ของผู้สมัครเพศหญิงทั้งหมด ส่วนผู้ชายอยู่ที่ 18.9% ในการสอบครั้งที่ 2 มีผู้หญิงสอบเข้าได้ 2.9% ส่วนผู้ชายอยู่ที่ 8.8%
โดยทั่วไป ผู้หญิงชาวญี่ปุ่นมีการศึกษาสูง แต่เมื่อต้องอยู่ในประเทศที่เรียกร้องให้คนทำงานติดต่อกันยาวนาน พวกเธอจึงจำเป็นต้องออกจากงานเมื่อแต่งงาน
กรณีที่เกิดขึ้นนี้ สวนทางกับการที่ ชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรี มีนโยบาย ‘womenomics’ ที่กระตุ้นให้ผู้หญิงทำงานมากขึ้น และส่งเสริมผู้หญิงให้ได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายที่กลับก้าวหน้าช้ามาก
ที่มา:
- https://www.channelnewsasia.com/news/asia/tokyo-med-school-women-out-alter-test-scores-japan-10582676
- http://www.asiaone.com/world/tokyo-medical-school-altered-test-scores-keep-women-out
- https://www.scmp.com/news/asia/east-asia/article/2157917/probe-launched-after-tokyo-medical-university-altered-test