ใครที่เคยไปเยือนอินเดียหรือเคยอ่าน/ดูสารคดีท่องเที่ยวเกี่ยวกับที่นั่น น่าจะคุ้นเคยกับภาพที่คนอินเดียขับถ่ายตามที่สาธารณะต่างๆ เช่น ข้างถนน ในตรอกซอกซอย ริมทางรถไฟ ในทุ่ง ในป่า หรือในแม่น้ำ นั่นเป็นเพราะคนอินเดียจำนวนมาก (โดยเฉพาะในชนบท) ไม่มีห้องน้ำในบ้าน จึงต้องออกมาขับถ่ายข้างนอก จนมีคำกล่าวว่า “ทุกที่ถือเป็นห้องน้ำสำหรับชาวอินเดีย” สิ่งนี้สร้างชื่อเสียงด้านลบต่ออินเดียเป็นอย่างมาก (และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หลายคนไม่กล้าไปเที่ยว) ที่ผ่านมารัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมทีพยายามรณรงค์เรื่องนี้ แต่ไม่บรรลุเป้าหมายสักเท่าไร

หากหนังถือเป็น Soft Power ที่ช่วยปลูกฝังแนวคิดหรืออุดมการณ์ให้แก่ประชาชน ก็ต้องถือว่าหนังเรื่อง Toilet: Ek Prem Katha (2017, 155 นาที, ผู้กำกับ – ชรี นารายัน ซิงห์) หรือชื่ออังกฤษว่า Toilet: A Love Story ทำหน้าที่นี้ได้อย่างดีเยี่ยม เนื่องจากหนังเรื่องนี้ซึ่งประสบความสำเร็จด้านรายได้อย่างมากในอินเดีย (รวมถึงในไทยที่ยืนโรงฉายเป็นเวลานาน) ทำให้เรื่องสุขอนามัยและการขับถ่ายในห้องน้ำกลายเป็นประเด็นสาธารณะที่ได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมากจนนายกรัฐมนตรีโมทีเอ่ยปากชม

Toilet – Ek Prem Katha เริ่มต้นเหมือนหนังอินเดียแนวโรแมนติกคอเมดีทั่วไป นั่นคือ หมาวัดตกหลุมรักดอกฟ้า มีการจีบกัน เป็นแฟนกัน ผิดใจกัน มีการง้อขอคืนดี จนสุดท้ายก็ได้แต่งงานกัน และแน่นอน มีฉากร้องเพลงเต้นรำแทรกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง สำหรับตัวเอกของหนังเรื่องนี้ได้แก่ คีชาฟ (รับบทโดยอัคเชย์ กุมาร) เจ้าของร้านจักรยาน กับจายา (ภูมี เพดเนการ์) หญิงสาวหัวสมัยใหม่ เขาพยายามพิชิตใจเธอแต่ต้องพบกับอุปสรรคหลายอย่าง เช่น เขามองตัวเองว่าไม่คู่ควรกับเธอเพราะเขามีฐานะยากจน อายุเยอะ และมีการศึกษาน้อยกว่าเธอ นอกจากนั้นพ่อของเขายังยึดติดในความเชื่อโบราณจนบังคับให้เขาหาภรรยาที่มีนิ้วโป้งติดกันสองข้าง แต่ด้วยความพยายามทำให้ทั้งคู่ครองรักกันได้สำเร็จ

 

ครึ่งหลังของหนังเปลี่ยนไปเล่าถึงประเด็นที่หนักด้วยท่าทีที่ซีเรียสมากขึ้น เมื่อจายาที่ย้ายไปอยู่บ้านของคีชาฟและพบว่า ในหมู่บ้านของเขาไม่มีห้องน้ำอยู่เลย ทำให้ผู้หญิงทุกคนต้องออกไปขับถ่ายที่ทุ่งหญ้านอกหมู่บ้านตอนเช้ามืดทุกวัน สร้างความลำบากให้จายาอย่างมากเพราะต้องเดินเป็นระยะทางไกลทุกวัน และต้องเสี่ยงต่อการที่ผู้ชายเดินมาเห็น

จายาขอให้คีชาฟสร้างห้องน้ำในบ้าน แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะทำง่ายกลับยุ่งยากมากกว่าที่คิด เพราะมันขัดกับความเชื่อของคนในหมู่บ้านที่มองว่า การสร้างห้องน้ำในบ้านเป็นการนำสิ่งสกปรกเข้ามาในบ้านจนชาวบ้านพากันคัดค้าน ในขณะที่จายาก็กดดันว่า ถ้าสร้างห้องน้ำไม่สำเร็จเธอจะฟ้องหย่า การฟ้องหย่าดังกล่าวได้กลายเป็นข่าวเด่นที่คนทั้งประเทศจับตามอง — และแล้วสถานการณ์ที่เริ่มต้นแบบเล็กๆ อย่างการสร้างห้องน้ำห้องเดียวกลับลุกลามเป็นสถานการณ์ระดับชาติ ความ ‘ไปกันใหญ่’ นี้ยังรวมถึงตัวหนังเองด้วย เพราะจากที่เริ่มด้วยการเป็นหนังโรแมนติกคอเมดี แต่ต่อมามันก็เปลี่ยนเป็นหนังแนวสะท้อนสังคม โดยกล่าวถึงทั้งเรื่องความเชื่อโบราณที่ส่งผลต่อคนในชุมชน สิทธิสตรีในอินเดีย ระบบการเมืองและราชการในอินเดียที่มีปัญหา เป็นต้น

ประเด็นที่เห็นได้ชัดในหนังคือการต่อสู้ระหว่างความเชื่อสมัยเก่า vs สมัยใหม่ โดยพราหมณ์และเหล่าผู้หลักผู้ใหญ่ได้ยกพระคัมภีร์มาอ้างว่า การมีห้องน้ำถือเป็นเรื่องผิดร้ายแรง โดยไม่สนใจว่าโลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปถึงไหน หรือมันจะทำให้ผู้คนลำบากเพียงใด (ผู้ที่ลำบากที่สุดคือผู้หญิงที่ต้องเดินไปถ่ายที่ทุ่งหญ้าไกลๆ ตอนเช้ามืด แล้วถ้าเกิดปวดระหว่างวันก็ต้องอดกลั้นจนหายปวดไปเอง ในขณะที่ผู้ชายสามารถขับถ่ายที่ไหนเวลาใดก็ได้) ทำให้คีชาฟต้องนำพระคัมภีร์มาเถียงกลับโดยอ้างว่าทั้งหมดนี้เป็นการตีความตามใจผู้แปลและไม่สอดคล้องกับโลกความเป็นจริง ควรต้องปรับปรุงแก้ไข

การต่อสู้กับความเชื่อเก่าๆ ที่อยู่ยงคงกระพันมานานหลายร้อยปีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแค่เรื่องสร้างห้องน้ำยังทำให้ตัวเอกต้องพยายามขนาดนี้ ไม่ต้องพูดถึงความเชื่ออื่นๆ ที่ครอบงำสังคมมานาน กว่าจะคัดง้างได้ก็คงเหนื่อยกว่าที่เห็นในหนังหลายเท่า และเป็นภารกิจที่เหน็ดเหนื่อยของคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันที่ความเชื่อเก่าและแนวคิดสมัยใหม่กำลังต่อสู้และหักล้างกันอย่างไม่หยุดหย่อน

อีกประเด็นที่เห็นได้ชัดคือแนวคิดเฟมินิสม์ และการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีของหนัง โดยตัวเอกของเรื่องอย่างจายานั้นไม่ใช่นางเอกประเภทแพสซีฟหรือยอมให้ถูกกระทำ แต่เป็นคนหัวก้าวหน้า มีการศึกษา และกล้าที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง ทั้งการเรียกร้องให้สร้างห้องน้ำและการฟ้องหย่า ซึ่งลักษณะดังกล่าวกลับทำให้เธอถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามของหมู่บ้านที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง น่าสนใจว่านอกเหนือจากผู้ชายแล้ว ผู้หญิงยังมีส่วนในการยินยอมให้เกิดแนวคิดไม่สร้างห้องน้ำและกดขี่กันเอง  ดังที่ตัวละครในหนังกล่าวขึ้นว่า “ผู้หญิงเป็นศัตรูที่น่ากลัวสำหรับตัวเธอเอง”

นอกจากนั้น ผู้ชมยังจะได้เห็นถึงระบบราชการของอินเดียที่ล่าช้าและเต็มไปด้วยการทุจริต นอกเหนือจากชาวบ้านบางกลุ่มไม่ยินยอมแล้ว สาเหตุที่โครงการสร้างส้วมในชนบทไม่คืบหน้าถึงไหน ยังเกิดจากระบบราชการที่ขาดประสิทธิภาพและไม่ทำงานเชิงรุก คีชาฟกล่าวขึ้นว่า “การแก้ปัญหาจะคืบหน้าก็ต่อเมื่อผู้รับผิดชอบมองว่ามันเป็นปัญหาของตัวเอง” และเมื่อหัวหน้างานล็อคกุญแจประตูห้องน้ำทุกห้อง ถึงตอนนั้นผู้รับผิดชอบจึงมองว่าห้องน้ำถือเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องรีบแก้ไข บวกกับเรื่องของคีชาฟได้กลายเป็นข่าวดังทั่วประเทศ จึงทำให้เกิดการสร้างห้องน้ำในหมู่บ้านทั่วประเทศในที่สุด

อีกประเด็นที่หนังทิ้งไว้ให้คิดคือการแก้ปัญหาแบบขอไปทีกับการแก้ปัญหาแบบจริงจัง ที่ผ่านมา คีชาฟเองก็แก้ปัญหาเรื่องห้องน้ำแบบขอไปทีมาตลอด เช่น การพาจายาไปเข้าห้องน้ำในบ้านคนป่วย รวมถึงเข้าห้องน้ำบนรถไฟที่จอดรอผู้โดยสารในสถานีทุกวัน จนสุดท้ายคีชาฟก็ได้พบว่ามันเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน เขาจึงตัดสินใจเผชิญหน้ากับปัญหา แล้วแก้ไขมันอย่างจริงจัง ซึ่งการกระทำของคีชาฟถือเป็นการสะท้อนถึงการทำงานของหน่วยงานรัฐที่ควรจะเลิกแก้ปัญหาแบบขอไปทีแล้วเปลี่ยนมาจัดการอย่างจริงจังเสียที

สำหรับตอนจบของหนังอาจมีบางคนรู้สึกขัดใจที่หนังลงเอยในแง่ดีเกินเหตุและแสดงให้เห็นว่าทุกปัญหาสามารถแก้ได้ด้วยความรักและความเข้าใจ แต่ก็เข้าใจได้ว่าผู้สร้างต้องการให้กำลังใจผู้ชม ว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมสามารถทำได้จริงและเริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยการเปลี่ยนแปลงสิ่งรอบตัว

ดังเช่นตัวเอกของหนังเรื่องนี้ ที่เพียงแค่ต้องการสร้างห้องน้ำ แต่มันกลับกลายเป็นการปฏิวัติระบบของทั้งประเทศในท้ายที่สุด

FACT BOX:

Toilet – Ek Prem Katha ยังคงยืนโรงฉายที่ เมเจอร์ สุขุมวิท รอบ 12.00 น. ขอเชิญผู้สนใจไปรับชมกันได้

Tags: , , , , ,