หลังธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ชวนให้คนที่รู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ไม่เป็นธรรมออกมารวมตัวกันในเวลา 17.00 น. ของวันที่ 14 ธ.ค. ที่สกายวอล์ก BTS สนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งก็ปรากฏว่ามีผู้ที่ออกมาไม่ใช่น้อย The Momentum สุ่มถามพวกเขาถึงการเคลื่อนไหวในครั้งต่อๆ ไปว่าหากต้องชุมนุมลงถนนจริงๆ พวกเขามีความคิดเห็นอย่างไร จะไปร่วมด้วยหรือไม่ เพราะอะไร
“ผมคิดว่าในเมื่อสภาฯ สู้ไปแล้วมันไม่ยุติธรรม เราก็ต้องใช้วิธีอื่น เพราะว่าเขาก็เล่นแบบไม่ยุติธรรมเหมือนกัน แม้กฎหมายจะเขียนไว้ แต่มันไม่ถูกบังคับใช้อย่างเท่าเทียม ทำให้รู้สึกเหมือนถูกกลั่นแกล้งทางกฎหมาย แต่การลงถนนมันก็ต้องมีขอบเขตว่า เราจะต้องลงเพื่อสัญลักษณ์ ไม่ใช่เพื่อความรุนแรง หรือสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น”
“วันนี้ที่มาก็เพราะอยากให้คนรุ่นใหม่เห็นว่าคนมีอายุก็ยังมีหัวสมัยใหม่อยู่ ไม่ใช่อยู่แต่กับเรื่องเก่าๆ แต่จริงๆ แล้วมันไม่สมควรจะมีแบบนี้นะ ถ้าเกิดว่ามันมีความยุติธรรมอยู่ในประเทศนี้ แต่เราจะนิ่งเงียบให้อีกฝ่ายหนึ่งทำตามใจชอบไม่ได้ ตอนนี้มันกลายเป็นว่า พวกของคุณทำอะไรก็ถูกหมด พวกตรงข้ามทำอะไรก็ผิดหมด”
“เราไม่แน่ใจว่าคนที่รักษากฎหมายเขามีความยุติธรรมพอรึยัง เลยเป็นสิ่งที่ทำให้เรามาอยู่ตรงนี้กันค่ะ บางคนบอกว่าเรามาเพราะธนาธร แต่จริงๆ เราออกมาเพราะเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชนเอง ส่วนตัวคิดว่าควรออกมาตั้งนานแล้วค่ะ คนไทยรู้สึกเข็ดเพราะคิดว่าการประท้วงมันจะทำให้บ้านเมืองไม่สงบ เกิดความรุนแรง แต่จริงๆ ความรุนแรงที่เห็นมาตลอด ไม่ได้เกิดจากประชาชน แต่เกิดจากคนที่ต้องการจะปิดปากประชาชน”
(ซ้าย)
“อยากจะลงหรือไม่ลง ในระบอบประชาธิปไตยมันควรจะทำได้ ทุกฝ่ายมีสิทธิ์ที่จะลงถนน ไม่ว่าจะฝ่ายไหน สีไหน เขาก็มีสิทธิ์ นี่คือกติกาของฝ่ายประชาชน ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งสิทธิพื้นฐานของประชาชนก็ควรมีสิทธิ์ที่จะแสดงออก ประเทศที่มันไม่ได้มีการแสดงออก มันผิดปกติ ไม่ว่าคุณจะประท้วงเรื่องขยะเหม็น ประท้วงเรื่องอะไร คุณก็มีสิทธิ์ที่จะแสดงออก นี่มันปี 2019 แล้ว มันมาถึงขั้นนี้แล้ว ประเทศอื่นเขาทำกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ของไทยเรามันกลับทำเหมือนเป็นเรื่องแปลกใหม่
“ผมออกมาชุมนุมตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 ตั้งแต่ผมอายุ 11 ขวบ 6 ตุลา 2519 ผมก็อยู่หน้าธรรมศาสตร์ อยู่หน้าสนามหลวง ผมเห็นคนแขวนคอตาย พฤษภาทมิฬผมก็อยู่ เพราะฉะนั้น ผมมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ คราวนี้ผมว่ายังง่าย เมื่อเทียบกับสมัยก่อน มีคนตายเยอะกว่านี้ ผมว่าเขาไม่กล้าหรอก หรือถ้าจะกล้าทำก็ช่วยไม่ได้ แต่ว่ามันเปลี่ยนไปมาก
“การเมืองในประเทศที่เขาพัฒนาไปไกลแล้ว เกิดเหตุการณ์มามากกว่าเราเยอะ ตายเป็นหลายแสน หลายล้านคน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่อยากให้เกิดความรุนแรงขึ้น แต่ถ้ามันต้องมีมันก็ช่วยไม่ได้ และคงไม่ได้เกิดปีนี้หรือปีหน้า ในอีกสิบปีข้างหน้ามันก็อาจจะเกิดขึ้นอีก เพราะว่ามันก็คือการพัฒนาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ตราบใดที่ระบบยังเป็นอย่างนี้ มันก็จะต้องเกิดการชุมนุมขึ้นอีก”
(ขวา)
“เราควรจะต้องมาแสดงความคิดเห็นของเราให้ทุกคนได้ทราบ แล้วก็หาจุดร่วมด้วยกัน เราไม่ได้ทำผิดกฎหมายอะไร เพียงแต่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ที่เรามา เพราะเราจะมาเรียกร้องให้เขารับรู้ถึงความคิดเห็นของเรา เราไม่ต้องการความรุนแรงอยู่แล้ว เขามีหน้าที่ที่จะต้องฟัง ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ถ้าเราไม่ออกมา เขาก็ไม่รู้ว่าเราคิดเห็นอย่างไร คนกลุ่มหนึ่งคิดเห็นอย่างไร ควรจะต้องมีการปรับปรุงกันอย่างมาก
“ในความคิดเห็นของเรา ถ้าพวกเรามัวแต่กลัว พวกเขาก็จะกล้า แล้วถ้าเกิดว่าเรากล้าขึ้นมา เขาก็คงจะต้องกลัวพวกเราบ้าง”
“ประชาชนจะต้องมีสิทธิเสรีภาพในการจะพูด จะคิด หรือแสดงออกว่าเราไม่ได้รับความยุติธรรม การออกมารวมตัวกัน มันเป็นการเรียกร้องสิทธิของเรา คิดว่าสถานการณ์ตอนนี้ก็น่าถึงจุดจุดนั้นแล้วนะคะ อยากให้เขาฟังเสียงประชาชน จริงๆ เราชุมนุมโดยสันติค่ะ เรียกร้องสิทธิที่ทุกคนพึงจะเรียกร้องได้ ไม่ได้มาทำความเสียหาย แต่ถ้ามันจะต้องลงถนนจริงๆ ก็ต้องดูเหตุผลว่าคืออะไร ออกมาเพื่ออะไร เรียกร้องอะไร ถ้ามีเหตุผลที่หนักแน่นเพียงพอ ถ้าเราเห็นด้วยก็จะออกมาแน่นอนค่ะ”
“ผมสนับสนุนการชุมนุมครั้งนี้ แต่คิดว่ายังเร็วไปที่จะลงถนน เพราะมีโอกาสที่จะเกิดรัฐประหารซ้อน และเกิดเป็น คสช. 2 อีก เขาจะอยู่อีกกี่ปีก็อยู่ที่เขาเลย ไม่ได้อยู่ที่เราแล้ว การลงถนนจะต้องมีจุดแตกหักที่รุนแรงกว่านี้ มากกว่าในเชิงตัวบุคคลหรือในเชิงตัวพรรค ผมเป็นผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ แต่ว่าถ้าเราลงถนนด้วยเหตุผลในเชิงปัจเจกที่ตัวบุคคลหรือพรรค มันยึดโยงตัวบุคคลมากเกินไป แต่ในอนาคต ถ้ามันมีจุดหักเหที่มากกว่านี้ ก็สมควรแล้วที่ต้องลงถนน
“ผมว่าตอนนี้อยู่ที่คุณธนาธรแล้วแหละ ถ้าคุณธนาธรนำ ผมว่าคนไป ผมก็จะไปครับ ไปเพราะผมไม่อยากทนแล้วไง แต่ถามเหตุผล อย่างที่ผมบอกก่อนหน้านี้ มันยังไม่ถึงจุดแตกหัก และมันยังยึดโยงอยู่กับตัวบุคคลและพรรคอยู่ แต่ถ้าคุณธนาธรนำ – ผมลง
“ผมไม่ได้มองว่าการสูญเสียเป็นสิ่งที่ดีนะ แต่ถ้ามันจะต้องมีอะไรที่สูญเสีย เคสที่ดีที่สุด คือการไม่ได้สูญเสียในชีวิตคน เคสที่ดีที่สุดคือเสียในรูปแบบของเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งอันนี้มันคือมีความสูญเสียอยู่แล้ว”
(ซ้าย)
“ลงถนนได้ แต่ต้องดูสถานการณ์ก่อนว่าอันตรายไหม เพราะที่บ้านเป็นห่วง ไม่อยากให้ลง ไปเชียร์ได้ แต่ก็ไม่อยากให้ออกนอกหน้ามาก เพราะกลัวจะเกิดอันตรายต่อตัวเอง ซึ่งอาจจะมาเชียร์แบบเงียบๆ ไม่ได้ลงถนนแบบจริงจัง เพราะติดทำงานด้วย เลยต้องดูสถานการณ์ด้วยว่าเป็นอย่างไร
“กลัวเป็นเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนปีนั้น ที่เกิดเหตุการณ์บ้านเมืองไฟไหม้ ถ้ามันเป็นการชุมนุมเรียบง่าย ไม่เกิดอันตรายแบบปีนั้น มันอาจจะน่าสนใจ แต่ถ้าเหมือนปีนั้น กลัวจะเกิดการ Shutdown Bangkok ก็จะไม่โอเค มันอาจจะทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนปีนั้น ซึ่งที่บ้านเคยไปเชียร์แล้วเรารู้สึกไม่โอเค”
“แต่ว่า ‘วิ่งไล่ลุง’ ไปแน่นอน (หัวเราะ) มันเหมือนการวิ่งเพื่อสุขภาพด้วย มันน่าสนใจ น่าสนุกดี เลยจะไป กิจกรรมวิ่งไล่ลุงมันไม่ได้ดูเลวร้าย แต่ว่าลงถนนนั้น เรายังไม่รู้ว่ามันจะเป็นยังไง มันจะรุนแรงหรือเปล่า วิ่งไล่ลุงมันดูเฮฮา ดูสนุก เราเลยจะไปแน่นอน”
(ขวา)
“ไม่ลง เพราะถ้าลงถนน กลัวจะสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น ไม่อยากให้การมาเชียร์ของเราไปสร้างความเดือดร้อน”
“ส่วนตัวคือชอบคุณธนาธรอยู่แล้ว ชอบในนโยบายพรรค ตอนนี้ มองในทางเศรษฐกิจคือไม่ไหวจริงๆ ที่บ้านขายของไม่ได้ราคา เลยตัดสินใจมา”
“กลัวจะเกิดเหตุการณ์แบบฮ่องกง กลัวเหตุการณ์จะบานปลาย คิดว่าจัดเป็นแฟลชม็อบแบบนี้ก็โอเค เหมือนให้ประชาชนส่วนหนึ่งได้ระบายความคับข้องใจออกมา เหมือนได้ลดความรู้สึกในใจ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี มันเป็นสิทธิตามกฎหมายอยู่แล้ว ถ้าไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใครก็โอเค
“ผมมองว่าคนควรจะออกมาลงถนนกันตั้งนานแล้ว ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น รู้สึกว่าคนไทยใจเย็นมาก เกิดอะไรขึ้นก็คิดแต่แฮชแท็กในโซเชียล ออกมาแบบนี้ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
(ถามว่า ถ้าปักหลักประท้วงบนถนน ถือว่าโอเคไหม) “มันจะเกิดความเสียหาย เดี๋ยวเขาเอา มาตรา 44 มาใช้อีก ผมไม่อยากให้เป็นแบบนั้น แต่ถ้าถึงที่สุดแล้วถ้ารัฐบาลจะใช้วิธีแบบที่มันไม่แฟร์สำหรับพวกเราที่ออกมาชุมนุมเรียกร้อง เราคงต้องสู้แล้วแหละครับ”
Tags: การชุมนุม