ว่ากันว่าเวลาจะผ่านไปเร็วเมื่อเรามีความสุข เช่น ช่วงเวลาปิดเทอมอันแสนสั้น และเดินช้าลงเวลาที่เรามีความทุกข์ เช่น การประชุมที่มองนาฬิกาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เข็มก็ไม่เคลื่อนเสียที หรืออย่างล่าสุดก็อาจเป็นยามที่เราติดแหง็กอยู่ในรถบนถนนลาดพร้าว ที่เพิ่งได้รับการอัปเกรดระดับความวินาศสันตะโรด้วยการปิดช่องทางจราจรเพื่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง

ในเมื่อเวลาของเรามีความไหลลื่นไม่คงที่ ก็น่าพิจารณาไม่น้อยว่าแท้จริงแล้วคำที่เราใช้แบ่งเวลาเป็นส่วนย่อยๆ มาจากไหน แล้วทำไมแบ่งแบบนี้

นาที

คำว่านาที ภาษาอังกฤษใช้คำว่า minute คำนี้มาจากคำว่า minuta ในภาษาละติน แปลว่า เล็ก เป็นญาติๆ กับ minuscule (เล็กจิ๋ว) และ diminutive (เล็กจิ๋ว)

ที่คำว่า เล็ก กลายมาใช้เรียก นาที ได้นั้น ต้องขอบคุณทอเลมี (Ptolemy) นักคณิตศาสตร์ในยุคโบราณ สมัยนั้นทอเลมีแบ่งวงกลมออกเป็น 60 ส่วนและเรียกแต่ละส่วนนี้ว่า pars minuta prima หมายถึง ส่วนย่อยอันดับแรก ต่อมาเมื่อคำว่า minuta ถูกเอามาใช้กับเวลา จึงหมายถึงส่วนย่อย 60 ส่วนของหนึ่งชั่วโมง หรือที่ในปัจจุบันเรียกกันว่า นาที นั่นเอง

อันที่จริงแล้ว นอกจากส่วนย่อยอันดับแรก ยังมีส่วนย่อยอันดับสองด้วย นั่นก็คือการหยิบเอาวงกลมที่แบ่งเป็น 60 ส่วนแล้วมาหนึ่งส่วน (นาที) แล้วแบ่งย่อยลงไปอีกออกเป็น 60 ส่วนย่อย ส่วนที่หั่นซอยขึ้นใหม่นี้ ในสมัยนั้นเรียกว่า secunda minute หรือส่วนย่อยอันดับสอง และเป็นที่มาว่าทำไมเราเรียกวินาทีว่า second เหมือนคำที่แปลว่า อันดับสอง

ชั่วโมง

คำว่า hour ที่หมายถึง ชั่วโมง มาจากคำกรีก hora แต่เดิมไม่ได้หมายถึงระยะเวลา 60 นาทีแต่อย่างใด แต่มีความหมายกว้างๆ หมายถึง ช่วงเวลา หรือ ฤดูกาล (ในปกรณัมกรีกมีกลุ่มเทพีชื่อ Horae เป็นบุคลาธิษฐานของฤดูกาลด้วย)

ต่อมาคำนี้นำมาใช้หมายถึงช่วงเวลาหนึ่งใน 12 นับตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนลับขอบฟ้า แต่ด้วยแต่ละวันดวงอาทิตย์ขึ้นและตกช้าเร็วต่างกันไป ในสมัยนั้นคำว่า hour ก็อาจสั้นหรือยาวกว่า 60 นาทีก็ได้ ต่อมาในยุคกลาง คำว่า hour จึงถึงมาเป็นระยะเวลา 60 นาทีอย่างในปัจจุบัน

คำว่า hour นี้อันที่จริงแล้วยังเป็นญาติกับคำว่า horoscope มาจาก hora ที่แปลว่า เวลา และ skopos หมายถึง ผู้ดู รวมแล้วหมายถึงการดูเวลาเกิด และกลายมาเป็นการดูดวงประจำราศีอย่างในปัจจุบัน

วัน

ระยะเวลาหนึ่งวันหรือ 24 ชั่วโมงภาษาอังกฤษใช้คำว่า day คำนี้ไม่ได้รับมาจากภาษากรีกหรือโรมันอย่าง minute และ hour แต่มาจากคำว่า dæg ในภาษาอังกฤษเก่า เป็นญาติกับคำว่า Tag ในภาษาเยอรมันที่แปลว่า วัน

แรกเริ่มเดิมที คำนี้หมายถึง กลางวัน ช่วงที่ดวงอาทิตย์ยังส่องแสงอยู่ (ตรงข้ามกับกลางคืน) แต่ต่อมาความหมายขยายกว้างขึ้นจนหมายถึงเวลา 24 ชั่วโมง หรือหนึ่งวันอย่างในปัจจุบัน

ที่น่าสนใจคืออันที่จริงแล้วคำว่า dæg หรือ day นี้ยังซ่อนอยู่ในชื่อดอกเดซี่ด้วย เพราะคำว่า daisy มาจาก dæg ที่แปลว่า กลางวัน รวมกับ eage ที่แปลว่า ตา และกลายมาเป็นคำว่า eye ในปัจจุบัน ได้ความหมายรวมว่า ดวงตาของตะวัน ว่ากันว่าที่เรียกแบบนี้เพราะดอกเดซี่จะบานและเผยให้เห็นเกสรสีเหลืองด้านในเฉพาะตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนตกดินนั่นเอง

เดือน

ภาษาอังกฤษเรียกเดือนว่า month คำนี้มาจากคำในภาษาอังกฤษเก่าที่เป็นญาติกับคำว่า moon ที่หมายถึง ดวงจันทร์

ที่ดวงจันทร์กับระยะเวลาหนึ่งเดือนมาโยงกันก็เพราะคนแต่ก่อนนับวันเวลาจากการดูข้างคืนข้างแรม หรือที่ภาษาไทยเรียก ดิถี ด้วย ด้วยความที่ระยะเวลานับจากข้างขึ้นวันแรกจนบรรจบมาที่จุดเริ่มต้นอีกครั้งอยู่ที่ราว 30 วัน ดังนั้น คำที่ใช้เรียกระยะเวลา 30 วันและดวงจันทร์ในภาษาอังกฤษจึงเป็นญาติกัน

ปี

คำว่า ปี ภาษาอังกฤษใช้คำว่า year มาจากคำในภาษาอังกฤษเก่าว่า gear หมายถึง ปี หรือ ฤดูกาล ที่น่าสนใจคือคำนี้มีต้นตอมาจากรากในภาษาโพรโตอินโดยูโรเปียนเดียวกับคำว่า hora ในภาษากรีกที่กลายมาเป็นคำว่า hour ในภาษาอังกฤษ

นอกเหนือจากระยะเวลา 365 หรือ 366 วันแล้ว year เมื่อเติม s ยังใช้หมายถึง อายุ ได้อีกด้วย เช่น She is wise beyond her years. ก็จะหมายถึง ผู้หญิงคนนี้มีความฉลาดเข้าใจโลกเกินวัย

แต่ก่อนนอกจากคำว่า year แล้ว ภาษาอังกฤษยังใช้คำว่า Twelvemonth หมายถึง ปี ได้อีกด้วย แปลตรงตัวคือ 12 เดือน แต่ปัจจุบันแทบไม่เจอแล้ว

 

 

บรรณานุกรม

  • http://www.etymonline.com/
  • American Heritage Dictionary of the English Language
  • Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
  • Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
  • Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.
  • Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.
  • Oxford Advanced Learners’ Dictionary
  • Shipley, Joseph T. The Origins of English Words: A Discursive Dictionary of Indo-European Roots. John Hopkins University Press: Maryland, 1984.
  • Shorter Oxford English Dictionary
  • The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.
  • Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.
Tags: , ,