This page is intentionally left blank นิทรรศการล่าสุดของปรัชญา พิณทอง คิวเรทโดยธนาวิ โชติประดิษฐ ที่แม้แต่ชื่อนิทรรศการศิลปินก็ไม่ได้สร้างขึ้นมาใหม่ แต่กลับหยิบยืมมาอย่างมีนัยยะสำคัญจากระเบียบแบบแผนการทำหนังสือราชการ หนังสือสัญญาหรือการพิมพ์หนังสือโดยทั่วไปที่ต้องประกาศเจตจำนงให้ชัดเจนว่าบริเวณนี้จงใจให้ว่าง ไม่ได้ว่างเพราะเกิดจากปัญหาทางเทคนิคอื่นใด แต่ว่างอย่างจงใจ เป็นความว่างที่เหมือนจะว่าง แต่ก็ไม่ได้ว่างในทางกายภาพเพราะมีตัวอักษร แต่ก็แจ้งชัดให้เห็นว่าว่างในเชิงความคิด สภาวะก้ำกึ่งนี้ราวกับจะเล่นล้อกับการปรากฏแต่ก็เหมือนไม่ปรากฏ มีอยู่แต่เหมือนไม่มี

ชื่อนิทรรศการดังกล่าวส่งสารมาแต่อ้อนแต่ออก ว่าต้องการพูดถึงสิ่งที่ถูก “จงใจให้ว่าง” สิ่งซึ่งถูกละเลยไม่ได้รับความใส่ใจ ไร้แยแสและความแชเชือน ซึ่งที่จริงแล้วการที่มันถูกจงใจให้เห็นว่าว่างอาจเป็นเพราะมันคือสิ่งที่ไม่ได้รับความสลักความสำคัญอันใด หรือแม้กระทั่งอาจเป็นเพราะมันไม่ใช่มนุษย์ มันจึงถูกมองว่าว่าง

นิทรรศการในครั้งนี้ชักชวนให้เราทบทวนเพื่อใคร่ครวญเกี่ยวกับโครงสร้างและเครือข่ายอันทรงอำนาจของโลกศิลปะ แรงงานของผู้คนเบื้องหลังที่เกี่ยวข้องและคำถามที่ว่าอะไรทำให้ศิลปะเป็นศิลปะ โดยหากพิจารณาใคร่ครวญเรื่องโครงสร้างและเครือข่ายของโลกศิลปะ เข้ากับทฤษฎีเครือข่ายผู้กระทำ (actor – network theory) ของบรูโน ลาตูร์ (Bruno Latour) ที่เสนอฐานวิธีคิดให้หันมาพิจารณามนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์อย่างเท่าเทียม ผ่านการเปลี่ยนมุมมองเชิงภววิทยาของสิ่งต่างๆ ที่ทำการศึกษา ไปสู่มุมมองแบบพหุภววิทยาที่พ้นไปจากแนวทางการศึกษาแบบเดิมๆ ที่มุ่งแสวงหาความรู้แบบมนุษย์นิยม ตลอดจนมองการเกิดขึ้นของสิ่งต่างๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ในสังคมอย่างไม่เสมอกัน

การเปลี่ยนมุมมองเชิงภววิทยาของฐานวิธีคิดดังกล่าวนี้ ได้ปลดปล่อยความคิดเรื่องผู้กระทำให้เป็นอิสระจากมนุษย์ ทำให้สิ่งที่สามารถหันเหหรือปรับเปลี่ยนการกระทำ (action) ในระบบ สามารถครอบครองสถานะของผู้กระทำการ (actor) ได้ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ วัตถุสิ่งของ ตัวบท บริบท และเทคโนโลยี ภายใต้หลักการที่ว่าภายในระบบหนึ่งๆ ผู้กระทำไม่อาจแยกตัวเองออกจากเครือข่ายได้เพราะผู้กระทำเหล่านั้นจะต้องกระทำการผ่านเครือข่ายและดำรงอยู่ในเครือข่ายอย่างเท่าเทียมกันในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเสมอ โดยการกระทำต่างๆ ในเครือข่ายจะมีลักษณะเป็นส่วนรวมแบบหนึ่งที่ถักทอเป็นเครือข่าย มีปฏิสัมพันธ์และอยู่ภายใต้อิทธิพลระหว่างกัน และผู้กระทำการแต่ละหน่วยที่เข้ามารวมกันนั้นต่างก็มีคุณลักษณะเฉพาะเป็นของตนเองด้วยเช่นกัน หากลองมองนิทรรศการด้วยมุมมองข้างต้นแล้ว นิทรรศการของปรัชญาได้ชักชวนให้เราคิดคำนึงถึงผู้กระทำอื่นๆ ที่ประกอบกันเป็นโครงสร้างและเครือข่ายของโลกศิลปะซึ่งมักถูกบัดบังภายใต้เงาศิลปะและภายใต้ร่มศิลปิน

โดยในนิทรรศการ ปรัชญาได้นำสิ่งของที่มีอยู่แล้วแต่เดิม (found object) จำนวนสี่ชิ้นอันประกอบไปด้วยผนังสีขาว ตัวกั้นที่จอดรถ เอกสารบันทึกเหตุการณ์ประจำวัน และกล่องเก็บเอกสารมาจัดแสดงแปลงโฉมโดยการตั้งชื่อและสลายความเป็นอะไรของวัตถุที่มีอยู่แล้วอย่างดาษดื่นทั่วไป โดยการชี้ชวนให้พิจารณาสิ่งเก่าเดิมเหล่านี้ในมุมมองใหม่ๆ โดยอาจมองว่ามันมีสถานะที่เทียบเท่ากับมนุษย์ในโลกศิลปะ

ปรัชญาแปลงเปลี่ยนผนังสีขาวพื้นๆ ธรรมดาสามัญให้กลายเป็น สีขาว 4SEASONS A1000 เล่นแร่แปรผนังขาวที่แต่เดิมเป็นเพียงฉากพื้นหลังรองรับความสร้างสรรค์พิลึกพิลั่นจนถึงความพิเรนท์ออกนอกลู่นอกทางของบรรดาศิลปะและศิลปิน แต่ในครั้งนี้มันกลับแสดงตนในฐานะของตัวมันเองอย่างภาคภูมิสมเกียรติ เป็นผนังขาวที่โออ่ากว้างขวางครอบคลุมกินพื้นที่ทั้งหมดภายในห้องจัดแสดง ผนังขาวได้กลายร่างมาเป็นผู้กระทำที่มีความสำคัญไม่แตกต่างไปจากศิลปิน เพราะสิ่งใดๆ ที่อยู่ภายใต้ร่มเงาโอบล้อมแห่งผนังขาวของหอศิลป์ก็อาจถือได้ว่าคืองานศิลปะ ดังนั้นแล้ว ผนังขาวนี้ต่างหากที่เป็นผู้ทำการแปรเปลี่ยนให้วัตถุสามัญธรรมดาทั่วๆ ไปกลายเป็นงานศิลปะที่ทรงคุณค่า แปลงโฉมจากสิ่งสามัญกลายกลับเป็นความงามตามมาตรฐานทางสุนทรียศาสตร์ ผนังขาวจึงมีบทบาทสำคัญเทียบเท่าศิลปินในการเสกสรรค์ปั้นแต่งวัตถุเป็นศิลปะ

ขณะที่ตัวกั้นที่จอดรถจากคอนกรีต (จากลานจอดรถ 123 ปาร์กกิ้งซึ่งเป็นที่ตั้งของบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่) จำนวน 8 แท่ง แต่ละแท่งขนาด 245 x7 x7 ซม. น้ำหนัก 29 กก. ได้ชวนให้เราขยายภูมิทัศน์ของหอศิลป์ว่าไม่ได้มีเพียงแค่ห้องจัดแสดงอาคารหลักเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปยังอาคารลานจอดรถและยังอาจนับรวมไปถึงยามหรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับลานจอดรถผู้อยู่เบื้องหลังและขับเคลื่อนความเป็นไปของหอศิลป์อันทรงคุณค่า

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นหนึ่งในผู้กระทำภายในเครือข่ายไม่แตกต่างไปจากศิลปินและงานศิลปะ อีกทั้งปรัชญาเชิญชวนให้มองดูตัวกั้นที่จอดรถคอนกรีตหนาหนัก ทึบตัน แช่นิ่ง กับลานจอดรถโล่งๆ ว่า ที่จริงแล้วมันมีอำนาจแบบแผนบางอย่างในการสั่งการให้มนุษย์ต้องปฏิบัติตามโดยการหยุดและจอดรถตามสภาพบังคับของพื้นที่ มันจึงควบคุมและกำกับความเป็นระเบียบเรียบร้อยของมนุษย์ รวมถึงมันยังเป็นตัวการหนึ่งที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจเข้าชมงานศิลปะของผู้ชมและอาจมีผลต่อรายได้ของหอศิลป์

สิ่งที่น่าสนใจคือปรัชญาไม่ได้นำมาเพียงแค่ตัวกั้นที่จอดรถเท่านั้น แต่ยังนำที่จอดรถเข้ามาด้วย นี่อาจถือได้ว่าเป็นการปรากฏที่ไม่ปรากฏเพราะเห็นแต่เพียงตัวกั้นที่จอดรถ พื้นที่จึงว่างอย่างจงใจจนอาจลืมไปว่าเป็นที่จอดรถที่ตั้งอยู่ภายในห้องจัดแสดง ปรัชญายังได้ทำการขยับสับเปลี่ยนตำแหน่งที่จัดแสดงตัวกั้นที่จอดรถนี้ทุกวัน โดยมีรูปแบบการวางที่กั้นลานจอดรถทั้งหมด 9 แบบ เมื่อครบทั้ง 9 แบบก็จะวนกลับมาซ้ำใหม่ ตัวกั้นที่จอดรถและพื้นที่จอดรถจึงราวกับมีชีวิตของมันเอง ไม่ได้ตายซากอยู่อย่างนิ่งเฉย ปรัชญายังเล่นล้อกับพื้นที่ว่างและพื้นที่สี่เหลี่ยมโดยการมองหาความเป็นไปได้ภายใต้ข้อจำกัดว่าระหว่างพื้นที่สี่เหลี่ยมและเส้นอีกแปดเส้นภายใต้เงื่อนไขว่าพื้นที่ต้องสามารถบรรจุรถได้ตามมาตรฐานลานจอดรถทั่วไปจะมีความเป็นได้ที่จะจัดวางกี่แบบ

องค์ประกอบอีกสองชิ้นคือ เอกสารบันทึกเหตุการณ์ประจำวันจำนวน 67 ชุด และ กล่องเก็บเอกสารจดหมายเหตุจำนวน 7 ใบ ที่ศิลปินได้ทำเรื่องขอยืมมาจัดแสดงจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป โดยปรัชญาได้นำสิ่งที่อยู่ภายใน แหวกล้วงไปหยิบเอาของจากข้างในออกมาวางไว้ข้างนอก

เป็นอีกครั้งที่ปรัชญาชวนให้เราคิดคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญในโครงสร้างและเครือข่ายของโลกศิลปะคือสมุดบันทึก กล่องเอกสาร เจ้าหน้าที่หอศิลป์ผู้ทำการบันทึกและในระหว่างการทำเรื่องขอหยิบยืม ขั้นตอนกระบวนการนี้ยังได้เปิดเผยให้เห็นถึงเนื้อในปูมหลังของโลกศิลปะ หอศิลป์และระเบียบราชการ สมุดเล่มเล็กที่เรียงรายทับถมจับต้องเปิดอ่านได้นี้จึงเผยให้เห็นถึงแรงงานผู้อยู่เบื้องหลังอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งยังชี้ให้เห็นระเบียบแบบแผนของมาตรฐานการดูแลผลงานและส่องไฟไปยังผู้สอดส่องปกป้องคุ้มภัยโลกศิลปะที่อาจถูกมองข้ามจากผู้ชม ทั้งสมุดบันทึก กล่องเก็บเอกสารและเจ้าหน้าที่ผู้ทำการบันทึกจึงถูกให้ความสำคัญในฐานะผู้กระทำในเครือข่ายและโครงสร้างของโลกศิลปะนั่นเอง

นอกจากนี้ รูปแบบการเข้าชมนิทรรศการยังแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงจากนิทรรศการศิลปะทั่วไปกล่าวคือไม่มีคำประกาศและคำชี้นำกำกับผู้ชม มีเพียงการ์ดหรือแผ่นกระดาษใบเล็กๆ ซึ่งบรรจุคำสำคัญต่างๆ ในโลกศิลปะเพื่อให้ผู้ชมตีความ ถอดรหัสและใส่รหัสด้วยตนเองโดยไม่มีการแปลความหรือตีความใดที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดและถูกต้องสมบูรณ์พร้อม เพราะทุกการตีความย่อมมาจากมุมมองเพียงมุมหนึ่งมุมเดียวเท่านั้น ไม่มีใครสามารถสถาปนาอำนาจการตีความของตนจนขึ้นแท่นเป็นที่สุดของการตีความและใช้อธิบายนิทรรศการนี้ได้อย่างหมดจด

ภายใต้เงื้อมงำของอำนาจทมิฬเผด็จการทหารที่ครองเมืองด้วยควันปืนอยู่ นิทรรศการศิลปะเล็กๆ นี้กลับส่องแสงแห่งวิถีประชาธิปไตยที่มอบเสรีภาพให้ผู้ชมสามารถเลือกสรรค์ตีความงานศิลปะได้ตามใจตน ผู้ชมถูกกระตุ้นและผลักภาระให้คิดเอาเอง ในเชิงการเมือง นิทรรศการจึงประกาศตนสานต่ออุดมการณ์วิถีทางประชาธิปไตยอันแสนสั้นในประเทศที่เรียกร้องการเชื่อฟังเดินตามกราบกรานและคลานเข่านี้

ในท้ายที่สุด อาจกล่าวได้ว่าหากอาศัยมุมมองแบบที่ไม่ยึดศิลปะ ศิลปินเป็นเพียงศูนย์กลางเดียวในโลกศิลปะ งานของปรัชญาได้ชวนคิดพิจารณาและอนุญาตให้สิ่งอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์อย่างผนังกำแพงขาว ตัวกั้นที่จอดรถ ลานอาคารจอดรถ สมุดบันทึกประจำวันและวัตถุต่างๆ หรือมนุษย์ผู้อยู่เบื้องหลังอื่นๆ อาทิ เจ้าหน้าที่หอศิลป์ ยามผู้รักษาความปลอดภัยถูกรวบรวมเข้ามาเป็นส่วนรวม (whole) สามารถกลายเป็นผู้กระทำได้ภายในเครือข่ายอย่างเป็นระบบของโลกศิลปะตลอดจนมีเจตจำนงเป็นของตนเอง

ขอบคุณวิสุทธิ์ เวชวราภรณ์สำหรับคำแนะนำ

อ้างอิง

  • Latour, B. We Have Never Been Modern, translated by Catherine Porter. (USA: Harvard University Press,1993), 13.
  • โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์. “ศาสตร์-อศาสตร์: มานุษยวิทยา ณ จุดเปลี่ยนทางภววิทยา” ใน ศาสตร์ อศาสตร์: เข้ามาข้างนอก ออกไปข้างใน. (กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์, 2559), 125-126.
Tags: , , , , , ,