เมื่อใดก็ตามที่การเมืองไทยเกิดประเด็นข้อถกเถียงกันในเรื่องของข้อกฎหมาย เกิดปัญหาความขัดแย้งกันของผลประโยชน์ต่างๆ ปัญหาอาจคลี่คลายได้โดยง่าย หากว่ากฎหมายที่เข้ามาจัดการกับเรื่องนั้นพอที่จะ ‘ยุติธรรม’ ในแง่ของการนำไปสู่การแบ่งปันผลประโยชน์อย่างสมดุล หรือส่งเสริมสิทธิเสรีภาพให้กับคนกลุ่มเปราะบาง หรือเป็นบทบัญญัติที่เป็นกรอบจำกัดอำนาจรัฐ เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การกล่าวแก่อีกฝ่ายให้ยุติปัญหาและยอมรับผลลัพธ์ของกฎหมายนั้นว่า ‘กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย’ ย่อมเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล

ตรงกันข้าม หากกฎหมายนั้นมีลักษณะเป็นการค้ำจุน สนับสนุน ระบอบการเมืองแห่งการกดขี่ กดทับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ให้มีแต่ ‘เสียกับเสีย’ ขณะเดียวกัน ก็ให้อำนาจแก่คนกลุ่มหนึ่งอย่างล้นเกิน จนสามารถทำลาย หรือใช้ความรุนแรงต่อคนอื่นๆ อย่างชอบธรรม คำพูดของผู้มีอำนาจที่ว่า ‘กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย’ ย่อมไม่สู้จะสมเหตุสมผลเท่าใด เพราะมีแต่จะสร้างความเข้าใจว่าคำพูดดังกล่าวเป็นเพื่อให้ผู้อยู่ใต้อำนาจต้องสยบยอมและเชื่องต่ออำนาจเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อความยุติธรรม 

คำถามคือ อะไรพอจะเป็นบทสรุปให้กับเรื่องนี้ได้บ้าง และกฎหมายควรต้องเป็นกฎหมายเสมอไปหรือไม่

‘กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย’

แวดวงวิชาการนิติศาสตร์ไทยได้รับอิทธิพลจากกลุ่มสำนักคิดกฎหมายบ้านเมือง (Legal Positivism) ซึ่งมักมีคำอธิบายว่า “กฎหมายเป็นคำสั่งของรัฐ” และรัฐถือเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดไม่ตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ใด กฎหมายของรัฐเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดไม่มีกฎหมายอื่นเหนือกว่า “กฎเกณฑ์ที่ได้บัญญัติขึ้นโดยความจำนงจงใจเท่านั้นที่เป็นกฎหมายที่แท้จริง” (Only deliberately made law is real law) กฎหมายจึงถือเป็นเรื่องเจตจำนง (Will) ของมนุษย์ มิใช่เรื่องของเหตุผล หรือสามัญสำนึก (Common sense) ของมนุษย์ ดังนั้น กฎหมายจะมีเนื้อความอย่างไรก็ได้ มีความยุติธรรมหรือไม่ ระบบกฎหมายจะไม่อนุญาตให้นำเรื่องนี้ไปพิจารณา เพราะกฎหมายถือเป็นระบบเหตุผลเกี่ยวกับความยุติธรรมอยู่แล้วในตัวเอง เป็นกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมสูงสุดและถูกต้องเสมอ

ทั้งนี้ คำอธิบายข้างต้นกำเนิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 เพื่อจัดการกับความขัดแย้งระหว่างกฎเกณฑ์ของรัฐ และกฎเกณฑ์อื่นๆ เช่น คำสอนทางศาสนา กฎเกณฑ์ทางศีลธรรมที่ถูกมองว่าไม่ชัดเจน สลับซับซ้อน เลื่อนลอย และเป็นนามธรรม จนเป็นเหตุให้ผู้ที่อ้างว่าตนมีศีลธรรมสูงส่งฉกฉวยโอกาส อ้างกฎเกณฑ์เหล่านั้นมาแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว ดังนั้น เพื่อให้กฎหมายมีความชัดเจนแน่นอน คล้ายกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่กำลังเจริญก้าวหน้าอย่างมากในช่วงนั้น สำนักกฎหมายบ้านเมืองจึงต่อสู้ช่วงชิงพื้นที่การกำหนดคำนิยามว่าอะไรเป็นกฎหมายที่แท้จริง ให้เหลือเพียงกฎเกณฑ์ที่แตะต้องได้คือ กฎเกณฑ์คำสั่งของผู้มีอำนาจรัฐเท่านั้น 

ด้วยเหตุดังกล่าว ไม่แปลกที่หลายคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีอำนาจ จะเน้นย้ำอยู่เสมอว่า กฎหมายจึงต้องเป็นกฎหมาย เพื่อจะนำไปสู่ ‘ความยุติธรรมตามกฎหมาย’ (legal justice) ความยุติธรรมที่ยึดเอาบทบัญญัติกฎหมายเป็นเกณฑ์วินิจฉัย การแสวงหาความยุติธรรมโดยไม่อ้างอิงอยู่กับตัวบทบัญญัติกฎหมาย หรือไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ จึงมักกลายเป็นเรื่องที่ผิดในสังคมที่ฐานความคิดทางกฎหมายเช่นนี้ฝังรากลึกลงไปในวัฒนธรรม และการเมือง 

ความอิหลักอิเหลื่อทางศีลธรรม

การยอมรับความคิดที่ว่า ‘กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย’ หรือกฎหมายเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น โดยไม่ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความยุติธรรมและคุณค่าอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงกับสิทธิมนุษยชนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือหลักมนุษยธรรม อาจทำให้สังคมนั้นต้องเผชิญหน้ากับภาวะอิหลักอิเหลื่อทางศีลธรรม และความโกลาหลอย่างรุนแรง อาทิ หากสังคมใดยอมรับกฎหมาย โดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม สังคมนั้นก็ต้องยอมรับผลของกฎหมายนูแรมเบิร์ก (Nuremberg Law) ที่นำไปสู่การสังหารหมู่และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวอย่างเป็นระบบ เนื่องจากการกำหนดให้คนเยอรมันที่มีสายเลือดอารยันเท่านั้นที่จะเป็นพลเมืองและมีสิทธิทางการเมืองโดยสมบูรณ์ เพื่อตอบสนองความเชื่อที่ว่า เยอรมนีจะต้องประสบความสำเร็จได้อีกครั้ง หากปราศจากชาวยิวที่คอยแต่จะสร้างความอ่อนแอ เป็นพิษ หรือทำลายความบริสุทธิ์ของเยอรมนี

เป็นไปได้หรือที่เราจะยอมรับกฎหมายนิรโทษกรรมที่ผู้กระทำความรุนแรงตราออกเพื่อลบล้างความผิดของตนเอง หลังจากการสั่งให้ทหาร ตำรวจ ใช้กำลังอาวุธเข้าสังหารหมู่ประชาชนผู้ชุมนุมทางการเมือง โดยไม่สนใจแม้แต่ความเป็นมนุษย์ของเหยื่อ เพียงเพื่อแลกมากับความสงบ และ ‘ความสามัคคีของคนในชาติ’ ดังเช่น กรณีผลของการตราพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคม 2535 ให้มีผลยกเว้นความผิดแก่ตนเองของ พลเอกสุจินดา คราประยูร และพวก ซึ่งได้สั่งให้ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนในเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ 2535’

หรือเราจะยอมปฏิเสธคุณค่า วิถีชีวิต วัฒนธรรม จารีตประเพณีของชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่าเขา และไล่รื้อให้คนในชุมชนต้องมาอาศัยอยู่ในเมือง หรือ ณ ที่ห่างไกลจากถิ่นกำเนิด เพียงเพื่อการปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่า โดยไม่สนใจไยดีชีวิตของพวกเขา และให้กลุ่มนายทุนเข้ารับมอบสัมปทานป่าไม้แทน

และแม้กระทั่งในภาวะที่ประชาชนต้องแบกรับภาระมากมายจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เราจะยอมรับให้มีการลงโทษกับคนที่ไม่มีแอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ ตามคำพูดของโฆษก ศบค. จริงหรือ  

เผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ทางคุณค่า

สำหรับใคร หรือนักกฎหมายคนใด ที่ยังคงยึดมั่นถือมั่น กับคำว่า ‘กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย’ อาจต้องยอมรับกฎหมายเหล่านั้น โดยไม่แสวงหาความยุติธรรมในลักษณะอื่นๆ อีก และปล่อยให้กลไกของกฎหมายเหล่านั้นทำงานไป แม้จะขัดกับเหตุผลของตนเองหรือสามัญสำนึกมากเพียงใดก็ตาม

ในทางกลับกัน หากใครที่ยังคงมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอย่างรู้ซึ้ง ไม่ใช่เพียงการมองลงไปเพื่อสงสาร หรือมีมนุษยธรรม ตระหนักถึงสิ่งที่มนุษย์พึงปฏิบัติต่อกัน ในแง่ที่ว่าถ้าเราเป็น ‘เขา’ เราต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างไร ล้วนต้องไม่ยอมรับขัดต่อสำนึกความยุติธรรมข้างต้นทั้งหมด ไม่ต่างจากการเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ทางคุณค่าของกฎหมาย

เมื่อกฎหมายที่ถูกอ้างว่าเป็นเครื่องมือการแสวงหาความยุติธรรม ได้ทำลายความยุติธรรมในตัวมันเอง การมีสำนึกความยุติธรรมย่อมสำคัญกว่าการยึดติดกับบทบัญญัติกฎหมาย หน้าที่ของผู้แสวงหาความยุติธรรม คือการวิพากษ์ระบบกฎหมายด้วยข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่กฎหมายเป็นสาเหตุของความอยุติธรรม เพื่อการสร้างสรรค์สังคมที่เป็นธรรม และเปิดโปงความหน้าไหว้หลังหลอกของระบบกฎหมายที่ถูกกลุ่มผู้มีอำนาจใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้แก่การกดขี่ประชาชน หรือแม้กระทั่งการทำลายชีวิตของประชาชน ด้วยความหวังว่าระบบกฎหมายและสังคมจะดีกว่านี้ได้

เพราะบางทีก็ปรากฏข้อเท็จจริงออกมาให้เห็นแล้วว่า ในสังคมบางแห่ง ประสิทธิภาพของรัฐ มักเกิดขึ้นหรือถูกกระตุ้นด้วยพลังแห่งการด่าของประชาชน

ทุกสังคมยังคงต้องการกฎหมายที่ยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม การเสนอข้างต้นไม่ได้เป็นการปฏิเสธกฎหมายอย่างสิ้นเชิง หรือปรามาสว่ากฎหมายถือเป็นสิ่งชั่วร้ายแต่อย่างใด ตรงกันข้าม หากผู้คนในสังคมหรือนักกฎหมายไม่กล้าหาญพอที่จะกล่าวว่า ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นจริงในสังคมเป็น ‘ความอยุติธรรม’ หรือเลือกที่จะพูดแต่ด้านดีของกฎหมาย ขณะที่ตัวเองหันหลัง ไม่สนใจและวางเฉยต่อความอยุติธรรมที่มีผ้าคลุมเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘กฎหมาย’ ย่อมทำให้ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมต้องเผชิญปัญหาความชอบธรรมมากกว่าการเข้าไปตั้งคำถามและตรวจสอบปัญหาความอยุติธรรมที่กฎหมายได้เข้าไปมีส่วนในการทำให้มันเกิดขึ้นเสียเอง ทั้งๆ ที่ กฎหมายควรจะเป็นเครื่องมือที่รัฐใช้เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาค

เนื่องจากสุดท้ายแล้ว กฎหมายยังคงเป็นสิ่งสำคัญในการปกครองบ้านเมืองและเป็นกรอบจำกัดอำนาจของผู้ปกครองบ้านเมืองให้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน เพียงแต่กฎหมายนั้นก็ควรต้องถูกขัดเกลาโดยคุณค่าของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสอดคล้องกับหลักมนุษยธรรมไปพร้อมๆ กันด้วย

 

อ้างอิง

Heideman, Richard D. Legalizing Hate: The Significance of the Nuremberg Laws and the Post-War Nuremberg Trials. Loyola of Los Angeles International and Comparative Law Review, 39, 2016-2017, p. 5-24.

จรัญ โฆษณานันท์, ความเสื่อมและการฟื้นตัวของปรัชญากฎหมายธรรมชาติ, นิติปรัชญา Legal Philosophy, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2558) หน้า 149 – 150.

เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว. มองสิทธิมนุษยชนไทยผ่านการ (ไม่) หาความจริงและการ (ไม่รับผิด), ป๋วยกับสังคมไทยในวิกฤตเปลี่ยนผ่าน.” ใน ประจักษ์ ก้องกีรติ, ปกป้อง จันวิทย์, บรรณาธิการ.  (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2558). หน้า 111-141

ข่าวสด, นักกฎหมายเตือน ขู่เอาผิดไม่โหลด หมอชนะ-ไทยชนะ ขัดรัฐธรรมนูญ, ข่าวสดออนไลน์ 7 มกราคม 2564. https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_5685729 (สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2564)

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย, กฎหมายของฮิตเลอร์ (2), ไทยรัฐออนไลน์, 7 พฤศจิการยน 2560 https://www.thairath.co.th/news/foreign/1117995 (สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2564)

ปรีดี เกษมทรัพย์, ความคิดสำนักกฎหมายบ้านเมือง, นิติปรัชญา, พิมพ์ครั้งที่ 5, (กรุงเทพฯ: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543) หน้า 231 – 247.

สมยศ เชื้อไทย, ความรู้นิติปรัชญาเบื้องต้น, พิมพ์ครั้งที่ 7 (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2545). หน้า 144 – 159.

Tags: , ,